Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Culture / Travel

6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาต้นแบบ ต่อยอดศาสตร์พระราชา

สืบสาน รักษา ต่อยอด … ราษฎรพอใจ รายได้เพิ่มพูน
Culture / Travel

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพของประชาชน ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 5,000 โครงการ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมแผนงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งในด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความมั่นคงทางสังคม 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นอีกหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หารูปแบบการพัฒนาดิน น้ำ ป่า อาชีพที่เหมาะสมภายใต้บริบทภูมิสังคมและภูมิประเทศ 

โดยภาคใต้มี ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส, ภาคกลางมี ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี, ภาคตะวันออกมี ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. ฉะเชิงเทรา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร และภาคเหนือมี ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง เป็นเสมือน ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ’ ที่มีชีวิตเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ ทั้งด้านการเพาะปลูก ประมง ปศุสัตว์  การส่งเสริมอาชีพ รวมถึงการฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประกอบอาชีพได้ครบทุกด้าน ปัจจุบันหลายพื้นที่ขยายผลสู่การพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานไว้ ซึ่งจากสถิติการศึกษาดูงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง ตั้งแต่ปี 2560-2564 มีผู้เข้าเยี่ยมชม จำนวน 4,977,829 คน และเข้ารับการอบรมในอาชีพสาขาต่าง ๆ รวม 79,765 คน ทั้งหมดนี้มีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์มากถึงร้อยละ 85.53 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังคงทำหน้าที่สนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่องตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นการขยายผลอย่างครบวงจร นับตั้งแต่การส่งเสริมการผลิตไปสู่ผู้บริโภค ดังนั้นการพัฒนากลไกการตลาดในผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของประชาชนที่ได้รับการขยายผลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังเช่นที่ ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีการจัดตั้งร้านค้าจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง รวมถึงโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ  ทั่วทุกมิภาคของประเทศมาจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อเป็นอย่างดี 

สำหรับสินค้าที่นำมาจำหน่ายมีหลากหลายประเภท ทั้งประเภทงานหัตถกรรม งานศิลปาชีพซึ่งเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ผ้าย้อมครามผสมสีจากวัสดุธรรมชาติ เครื่องประดับจากต้นกระจูด ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ การแปรรูปผลผลิต เช่น ไอศกรีมนมแพะ อาหารทะเล นอกจากนั้นยังมีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ และวัสดุอุปกรณ์การเพาะปลูก ฯลฯ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปอีกช่องทางหนึ่งด้วย 

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือในการดำเนินงานสนองพระราชดำริ สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ ติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงการเผยแพร่แนวพระราชดำริตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ จึงร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึง 2564 จำนวน 93 โครงการ จากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกว่า 2,000 คน เฉพาะการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านส่งเสริมอาชีพ และด้านบูรณาการอื่น ๆ ซึ่งได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น อย่างเช่นการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ นอกจากประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว ยังก่อให้เกิดอาชีพหลากหลายตามมาทั้งเกษตรกรรม ประมง การเลี้ยงสัตว์ หรืออาชีพบริการต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว ค้าขาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้านส่งเสริมอาชีพ ประชาชนได้รับความรู้และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดการประกอบอาชีพได้หลากหลาย สำหรับด้านบูรณาการ ประชาชนสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และยังพบว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ภาระหนี้สินก็ลดลง มีเงินเก็บสำรองใช้ยามจำเป็น รวมถึงมีทุนสำหรับการต่อยอดในการประกอบอาชีพเพิ่มเติมได้อีกด้วย นับเป็นประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม