Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

ผ่า “ซีรีส์การแพทย์”

ทำไมดูจบแล้วยัง​ “มูฟออน” ไม่ได้ ?
Culture / Entertainment

ซีรีส์ Grey’s Anatomy เพิ่งจบซีซั่นที่ 16 แล้ว Hospital Playlist ของฝั่งเกาหลีก็ปิดซีซั่นแรกตามไปด้วยเรตติ้ง สวยงาม แม้จะดูจนถึงอีพีสุดท้ายกันแล้ว แต่แฟน ๆ ก็ยังวนเวียนคิดถึง และทั้งสองเรื่องนี้ก็เป็นหลักฐานชิ้นเยี่ยมที่ยืนยันว่า ซีรีส์หรือละครการแพทย์ (Medical Drama / Series) ยังคงได้รับความนิยมจากคนดูเสมอมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน


     เมื่อเรื่องราวการแพทย์ วิทยาศาสตร์ การดูแลสุขภาพ การเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วย ทั้งหมดผสมผสานคลุกเคล้า เข้ากับสีสันชีวิตผู้คนหลากหลายในสถานที่ซึ่งชีวิตถือกำเนิด ชีวิตถูกจากพราก แผลในร่างกายถูกรักษา และจิตใจได้รับการ บำบัด ก่อเกิดเป็นความบันเทิงซึ่งมีรสชาติเฉพาะตัว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือมีความรู้เรื่องการแพทย์ ซีรีส์เหล่านั้นทำให้คนดูเชื่อมโยงและเข้าถึงได้ กระทั่งไม่สามารถมูฟออนไปได้ง่าย ๆ เพราะอะไร ? ไหนลองไป “วินิจฉัย” กันดูทีซ

Grey’s Anatomy
ดราม่าดกดื่นของคุณหมอ

Grey’s Anatomy (ABC)

     นำเสนอต่อเนื่องยาวนาน จนตัวละครเอกเติบโตจากแพทย์ฝึกหัดกลายเป็นอาจารย์หมอ! 

     ออกอากาศครั้งแรกในปี 2005 โดย ชอนดา ไรม์ส โปรดิวเซอร์ อยากทำซีรีส์การแพทย์สักเรื่องที่โทนแตกต่างจาก E.R. ซึ่งโด่งดังทั่วโลกอยู่ในช่วงนั้น เมื่อ E.R.  นำเสนอเรื่องราวในห้องฉุกเฉินที่รวดเร็วเร่งรีบ เพราะทุกวินาทีคือ ความเป็นความตายของผู้คน Grey’s Anatomy จึงขอฉีกไปชูประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตของเหล่านักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำโรงพยาบาล
     ตัวละครเอกของเรื่องคือ หมอเมเรดิธ เกรย์​ นอกจากรับมือกับงานสุดหินแล้ว ยังต้องแบกรับปัญหาครอบครัว รวมทั้งมีความกดดันเพราะแม่เป็นศัลยแพทย์ชื่อดังที่ใคร ๆ รู้จัก ขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวของเธอกับอาจารย์หมอ ก็เป็นเรื่องซึ่งไม่สมควร เมื่อเวลาผ่านไปตัวละครและเรื่องราวก็พัฒนาเปลี่ยนแปลง กลายเป็น Grey’s Anatomy ที่อุดมด้วยเรื่องดราม่าอย่างเหนือคาดหมาย นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์ได้รับความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะซีซั่นแรก ๆ คนดูจำนวนหนึ่งผูกพันและเติบโตมาพร้อมกับตัวละคร ขณะผู้สันทัดกรณี (บางคน) คิดว่า นี่คือ หนึ่งในรายการโทรทัศน์ ที่ดีที่สุด แต่มักจะถูกมองข้ามจากบรรดานักวิจารณ์​
     15 ปีต่อมา Grey’s Anatomy ซีซั่นที่ 16 ออกอากาศจนจบแล้วทางช่อง ABC ก่อนจะส่งให้แฟน ๆ Netflix อเมริกันได้ดู ส่วนแฟนชาวไทยก็ต้องรอหน่อย ตอนนี้ก็ดูซีซั่น 14-15 ไปพลาง ๆ ก่อน และตราบใดที่ เอลเลน ปอมปิโอ ยังคงรับแสดงเป็นหมอเกรย์ได้อยู่ ทีมงานซีรีส์เรื่องนี้ก็ประกาศที่จะสร้างปีต่อไปออกมา รอดูได้เลย 

Hospital Playlist
เพลงชีวิตของกลุ่มเพื่อนรัก

Hospital Playlist (TVN)

     ซีรีส์ยอดนิยมซึ่งแฟนชาวไทยเพิ่งได้ดูจบไปพร้อมกับทางเกาหลีผ่าน Netflix ผลงานของผู้กำกับ ชินวอนโฮ และคนเขียนบท อีอูจอง ซึ่งเคยร่วมกันทำซีรีส์ Reply จนประสบความสำเร็จอย่างสูง
     นำแสดงโดย โจจองซอก, ยูยอนซอก, จองคยองโฮ, คิมแดมยอง และ จอนมีโด ในบทบาทของ 5 หมอหนุ่มสาว ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ก่อนจะโคจรกลับมาทำงานร่วมโรงพยาบาลเดียวกันอีกครั้งในวัย 40 ปี Hospital Playlist นำเสนอภาพการทำงานของแพทย์ในแต่ละวัน ทั้งยังสะท้อนความเป็น “คนธรรมดา” ของพวกเขาเหล่านั้นด้วย
     เสน่ห์ของซีรีส์คือ มีรสชาติดราม่า คอเมดี้และฟีลกู๊ดผสมผสานกัน อาจไม่หวือหวามาก แต่ก็ดึงดูดให้ติดตามไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องมิตรภาพอันอบอุ่นระหว่างเพื่อน ทั้งยังแต่งแต้มกลิ่นอายย้อนยุคเข้ามาผ่านทางเพลง โปรดิวเซอร์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องดนตรีของซีรีส์บอกว่า พวกเขาตั้งใจนำเพลงป๊อปเกาหลีเก่า ๆ ซึ่งมีเนื้อหาความหมายดี ๆ รวมทั้งเนื้อเพลงคล้องจองสวยงามมาทำใหม่ให้เป็นเพลงย้อนยุคที่แต่งแต้มสไตล์ทันสมัยเข้าไปด้วย 
     ตอนนี้หลายคนที่ยังมูฟออนไม่ได้อาจจะอยากวาร์ปไปปีหน้า จะได้ดูซีซั่นที่ 2 ต่อ 

ทำไมต้องซีรีส์การแพทย์ ? 

Dr. Romantic (SBS) & Chicago Med (NBC)

     เหตุผลหนึ่งที่ซีรีส์การแพทย์สามารถครองใจผู้ชมได้เสมอมา ศาสตราจารย์จอร์จ อิกคอส ประธานแผนกจิตเวชศาสตร์ของสมาคมแพทย์อังกฤษ ได้บอกกับบีบีซีว่าเพราะ เรามักจะชอบดูเรื่องราวที่ผู้คน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยไม่สบาย ด้วยคิดว่า ในชีวิตจริงอาจจะต้องเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กันแบบนั้น 
     ซีรีส์การแพทย์จึงเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองผ่านชีวิตของผู้อื่น เมื่อเพิ่มเติมความตื่นเต้นและน่าทึ่ง เข้าไปในเรื่องราวของคนธรรมดา ๆ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สัมผัสเข้าถึงได้ง่าย​และชวนติดตาม ไม่เหมือนเรื่องซึ่งไกลตัวมาก ๆ อย่างเช่น ฟิสิกส์นิวเคลียร์ เป็นต้น
     เพราะว่ามนุษย์นั้นกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับตัวเองเสมอ แม้จะไม่มีงานวิจัยใด ๆ บอกอย่างแน่ชัดว่า ซีรีส์การแพทย์ได้ช่วยพัฒนาความเข้าใจในเรื่องการแพทย์หรือให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพกับผู้คนมากยิ่งขึ้นก็ตาม
     ซีรีส์เหล่านี้ยังได้เปิดเผยโลกแห่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งเคยเป็นสิ่งลึกลับสำหรับคนนอก การทำให้คนทั่วไปสัมผัสเข้าถึงได้ รวมถึงการอธิบายศัพท์แสงการแพทย์ที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือเลือกกิจวัตรประจำวันของแพทย์ในมุมที่น่าติดตามมานำเสนอ ฯลฯ นั่นก็จะเป็นสิ่งที่ให้ซีรีส์การแพทย์มีคนชมชอบมากขึ้น
     ด้าน ยุนซุกจิน นักวิจารณ์ละครโทรทัศน์ชาวเกาหลีให้สัมภาษณ์กับ เดอะ คอเรีย เฮรัลด์ ว่า เรื่องราวจากโรงพยาบาลมีหลายองค์ประกอบซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดหรือกลายเป็นประเด็นดราม่าที่น่าติดตาม ไม่แค่เรื่องราวชีวิตที่แขวนบนเส้นด้ายบาง ๆ ระหว่างความเป็นความตาย แต่ในโรงพยาบาลยังมีความขัดแย้งอื่น อย่างเช่น การกดขี่และอำนาจซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้

     ส่วนศาสตราจารย์ยุน ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีเกาหลีสมัยใหม่แห่งมหาวิทยาลัยชุงนัมยังชี้ให้เห็นว่า ซีรีส์การแพทย์ไม่ได้นำเสนอแค่ตัวละครที่เป็นแพทย์ในอุดมคติผู้คิดถึงชีวิตคนไข้เหนืออื่นใด แต่ซีรีส์ปัจจุบันยังได้ใส่รายละเอียดต่าง ๆ เข้าไปทำให้คนดูได้เห็นชีวิตประจำวันซึ่งเกิดขึ้นในโรงพยาบาล รวมทั้งทำให้มองคุณหมอ พยาบาล ฯลฯ ในมุมของความเป็นปุถุชนคนธรรมดามากยิ่งขึ้นจึงสัมผัสเข้าถึงและชื่นชอบได้ง่ายขึ้น

เรื่องไหนต้องดู ! 

E.R. (NBC) & House (Fox)

     นอกจาก 2 เรื่องที่พูดถึงข้างต้นแล้ว ยังมีซีรีส์การแพทย์เก่าใหม่อีกมากซึ่งไม่ควรพลาดชม อย่างเช่น

     E.R. (ปี 1994-2009) หนึ่งในซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด นอกจากเรตติ้งสูงลิ่วแล้วก็ยังเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ มีรางวัลมากมายการันตีคุณภาพ รวมทั้งรางวัลเอ็มมี่และลูกโลกทองคำ เล่าเรื่องราวของกลุ่มแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินอันวุ่นวาย นอกจากต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในเรื่องงานแล้ว พวกเขายังต้องดิ้นรนเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตส่วนตัว เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ไมเคิล ไครช์ตัน นักเขียนชื่อดัง เป็นงานซึ่งทำให้ จอร์จ คลูนีย์ ในบทบาท ดร.ดัก รอส กลายเป็นดาวเด่น ร่วมด้วยนักแสดงคุณภาพอีกมากมาย 
     House หรือ House M.D. (ปี 2004-2012) เรียกได้ว่าเป็นเชอร์ล็อก โฮล์มส์ในชุดกาวน์ ตัวละครเอกคือ ดร.เฮาส์ (นำแสดงโดย ฮิวจ์ ลอรี) ผู้ทำลายภาพลักษณ์หมอในความคิดผู้คนเกือบทุกข้อ เพราะเขาติดยา ยียวนกวนประสาท ขวานผ่าซาก ฯลฯ แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาคือ อัจฉริยะซึ่งสามารถวินิจฉัยและไขคดียาก ๆ ทำให้คนดูได้ค้นพบความลึกลับทางการแพทย์ ​เรื่องราวและตัวละครเอกที่ไม่ได้เป็น “ฮีโร่” ในแบบซึ่งใคร ๆ คาดหวัง เป็นสิ่งแตกต่างที่ดึงดูดให้ House M.D.น่าติดตามอย่างสนุกสนานตื่นเต้น 

     มาฝั่งเกาหลีกันบ้าง ก่อนที่ Hospital Playlist จะมาก็มี Dr. Romantic (ปี 2016 – 2020) ที่ทำให้คนดูติดงอมแงมประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้ง 2 ซีซั่น ด้วยเรื่องของคุณหมอขั้นเทพ สุดยอดฝีมือผู้อัดแน่นด้วยอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่าง อาจารย์คิม (รับบทโดย ฮันซอกกยู) รวมทั้งบรรดาลูกศิษย์ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ ที่ต่างจังหวัด ซึ่งทุกวันศุกร์จะงานยุ่งสุด ๆ เนื้อหาในส่วนการแพทย์ของเรื่องนี้เข้มข้น แต่ก็ไม่น่าเบื่อ มีประเด็นเรื่องการต่อสู้กับอำนาจมาให้ได้เปิดโลก
     เพิ่มความเป็นแฟนพันธ์แท้ซีรีส์การแพทย์ให้เข้มข้นด้วย Scrubs, Nurse Jackie, Private Practice, M*A*S*H, General Hospital, The Resident, Pure Genius, Chicago Med, Code Black ฯลฯ ฝ่ายเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมมากยังรวมถึง Doctors, Doctor Stranger, Good Doctor เป็นต้น
     ในช่วงเวลาที่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาด ซีรีส์การแพทย์เหล่านี้อาจทำให้เราเข้าใจงานของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังอาจเป็นแรงบันดาลใจให้อยากช่วยแบ่งเบาภาระของบรรดา “ฮีโร่” เหล่านั้น ด้วยการดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม