Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

Back to the Root – Lom Lay

"ลมเล" อาหารทะเลแห้งสายแฟ ผลผลิตในช่วง Quarantine ของ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ ดีไซเนอร์/สไตลิสต์ ผู้ได้แรงบันดาลใจจากซีรีส์ Itaewon Class
Interview

คนส่วนใหญ่ในแวดวงแฟชั่นต้องเปลี่ยนแพลนใหม่ในชีวิตเมื่อวิกฤตโควิด-19 เข้ามาประชิดตัวส่วนดีไซเนอร์สไตลิสต์อิสระอาจารย์พิเศษประจำคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรอดีตครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ประจำแบรนด์ไลฟ์สไตล์และแฟชั่น Everyday Karmakamet อย่างไอซ์-ศรันรัตน์พรรจิรเจริญนั้นได้ทำการตัดสินใจเปลี่ยนแผนในชีวิตมาทำงานอิสระอย่างเต็มตัวตั้งแต่ก่อนหน้าที่วิกฤตครั้งใหญ่จะมาถึงได้ไม่นานแต่เมื่อต้องเจอกับมรสุมครั้งใหญ่ที่ทุกคนต่างบาดเจ็บกันถ้วนหน้าขึ้นชื่อว่าครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ผู้ปั้นแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จมานักต่อนักการมุ่งหน้ากลับสู่บ้านเกิดของเขาในอำเภอดอนสักจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงได้ถือกำเนิด “ลมเล” ผลิตผลใหม่จากท้องทะเลที่เขากลั่นทุกประสบการณ์ที่เคยผ่านมามาสร้างรายได้ให้ครอบครัวและชาวบ้านในท้องถิ่นได้มีรายได้และได้เรียนรู้วิถีใหม่ในการค้าขายอาหารทะเลแห้งผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์

     “หลังมาทำงานอิสระเต็มตัวตอนแรกกะว่า จะทำแบรนด์ตัวเอง โดยจะหุ้นกับเพื่อนจะไปทำ exhibition กัน เราเป็นคนทำเสื้อมาตลอดชีวิต ถึงอย่างไรเราก็ต้องทำเสื้อผ้าแหละ อยากทำยูนิฟอร์มสายเก๋ที่มีไดเร็กชั่นความเป็นไทย มีหลายอย่างมากที่กำลังเซ็ตไว้ แต่ก็ต้องพับโปรเจ็กต์ไปก่อน เพราะมาเจอกับโควิด 

     …ตอนกลับไปอยู่บ้านช่วงแรกๆ ก็ได้แต่อยู่บ้านเฉยๆ วิ่งออกกำลังกายไป ไม่รู้ทำอะไร แล้วไม่รู้จักใครด้วย เพราะตอนเด็กๆ เราเรียนที่บ้านถึงแค่ชั้นป.6 แล้วแม่ก็ส่งมาเรียนโรงเรียนประจำต่างๆ แล้วเราก็ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาตลอด ก็เลยไม่รู้จักใครเลย รู้จักแค่ญาติพี่น้อง”

     ไอซ์เล่าให้เราฟังว่า ชีวิตระหว่างช่วง lockdown ในบ้านเกิดแทบไม่เคยรู้จักคำว่า “หิว” เพราะที่นั่นอาหารการกินสมบูรณ์พร้อม
 
     “ชีวิตที่บ้านเป็นแบบในน้ำมีปลา ในนามีข้าวที่แท้จริงมาก ทุกๆ เช้าจะมีคนมาขายปลา ขายปู ขายกุ้งถึงหน้าบ้าน เรียกว่า ที่บ้านแทบจะไม่มีไก่กินเลย กินกันแต่ปลา เพราะมันหาง่าย แล้วยังราคาถูกมากด้วย แล้วด้วยความที่บ้านเราอยู่ตรงทะเลอยู่แล้ว บางวันพ่อเขาว่างจากทำงาน เขาก็ไปจับปลาของเขาเองมาอีก

     …ระหว่างช่วงโควิด-19 ชาวบ้านทุกคนดำเนินชีวิตกันแบบปกติ แต่เขาก็ระวังตัวนะ เพียงแต่คนที่ขายของเขาก็ขายไม่ได้ ไม่มีคนมาซื้อ เศรษฐกิจไม่ดี ทุกอย่างนิ่ง ชะลอตัวทั้งหมด โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องนำเข้า หรือรับซื้อโดยนายทุนขนาดใหญ่จะนิ่งเงียบทุกที่ แต่พวกอาหารทะเลที่ทำขายกันเอง ทำกินกันเองในหมู่บ้านก็ทำกันเป็นปกติเลยครับ อย่างที่บ้านไอซ์เขาก็จะทำกะปิเก็บไว้ใช้เอง บางทีก็จะทำกะปิเก็บไว้เป็นร้อยๆ พันๆ กิโลฯ แล้วเขาจะสุมไว้ในโอ่ง ปีไหนได้น้อยก็เอาของเก่ามาใช้ คนใต้เขากินกันจริงจัง แล้วทุกเมนูเป็นเมนูกะปิ

“บ้านคุณป้าทำแพปลา แพกุ้งขนาดเล็ก เป็นการจับปลาชายฝั่งที่ไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เราได้เห็นความยั่งยืนของความไม่ over scale ของการทำทุกอย่าง เช่น ได้ปลาชนิดนี้มา 30 ตัว จำนวนแค่นี้โรงงานไม่รับหรอก เขารับเป็นพันตัว แล้วพอเอามาขายในหมู่บ้านขายไม่หมดก็ตากแห้งเก็บไว้เพื่อให้ลูกให้หลานกิน แล้วการทำแบบนี้ทำให้เกิดความละเมียดละมุน ของที่ทำก็จะอร่อยแตกต่างจากที่อื่น แล้วจะว่าไปการถนอมอาหารจริงๆ มันเป็นการเอาตัวรอดของคนไทยเหมือนกันนะ”

     ดีไซเนอร์และสไตลิสต์ผู้เคยหยิบจับแต่ผ้า และของสวยๆงามๆ ไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่า ตัวเองจะเข้ามาจับงานปั้นแบรนด์อาหารที่ไม่ใช่อาหารหรูหราขึ้นห้าง แต่เป็นของกินของใช้ที่ทุกบ้านต้องมีติดครัว 

     “พอเราไปค้นพบสิ่งนี้ก็เลยอยากลองทำอะไรบางอย่าง แล้วประจวบกับตกกลางคืนมาดูซีรีส์เรื่อง Itaewon Class  ก็เลยได้แรงบันดาลใจจากเถ้าแก่พัคแซรอยเลย (หัวเราะ) แล้วเราก็อยากช่วยป้าเขาเราก็ลองให้เขาทำขายขึ้นมา อย่างตัวกะปิที่เก็บไว้เป็นโอ่งๆ นี่ก็ทำขายสิ เพราะมันอร่อยจริงๆ มันคือกะปิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ราคามันจะสูงกว่ากะปิของที่อื่นๆ ที่อาจจะมีเผือกผสมให้ได้ปริมาณเยอะ แต่กะปิของที่นี่เป็นกุ้งเคยเอามาตำล้วนๆ เลย เวลาทำอาหารใส่นิดเดียวก็อร่อยแล้ว 

     …ทางบ้านเขาก็บอกว่า ลุยเลย เพราะเขารู้จักเราดีในฐานะลูกหลานที่มาเรียนในกรุงเทพฯ แล้วเขาก็เห็นว่าเราไปพัฒนาให้คนอื่นมาเยอะ ทั้งทำโครงการให้แบบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำโครงการให้ภาคเหนือ เขาเลยเชื่อใจเรา แล้วกว่าจะออกมาได้ใช้เวลาทดลองพอสมควรเลย เราไปอยู่บ้านมาเดือนกว่า เพิ่งตอนก่อนกลับเองนะที่เราเพิ่งปล่อยโปรดักต์ต่างๆ ออกมา ลองทำน้ำพริกส่งมาให้เพื่อนที่กรุงเทพฯ กิน คนที่สั่งไปกินทุกคนสั่งซ้ำกันหมด รู้สึกดีใจมาก เพราะการทำของอาหารขาย การ repeat คือ ความฟินที่สุดเลย”

     วิธีการปั้นแบรนด์ของพื้นถิ่นให้ดูมีสไตล์ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักออกแบบคนนี้เพราะเคยผ่านการทำแบรนด์ดิ้งให้กับไลฟ์สไตล์คาเฟ่เก๋ไก๋รวมถึงเคยทำงานที่ต้องใช้ผ้าบาติกท้องถิ่นมาปรับโฉมให้ดูทันสมัยมาแล้ว

     “ตอนแรกสไตลิ่งออกมาดู luxury มากมาย ก็ต้องพยายามปรับทุกอย่างให้มันมีความชาวบ้าน เข้าถึงง่าย วิธีการโพสต์รูปลงในโซเชียลพยายามไม่ใส่เท็กซ์เยอะ ไม่ทำให้คนรู้สึกปวดหัว อยากให้เห็นแล้วรู้สึกว่ามันน่ากิน น่าเอามาใช้ ซึ่งจริงๆ สิ่งเหล่านี้มันเข้าถึงคนรุ่นใหม่ยากมากอยู่แล้ว เราต้องจัดการคอนเท็นต์เป็นคอนเท็นต์หลัก คอนเท็นต์ย่อย คอนเท็นต์ซัพพอร์ต เพื่อที่จะทำให้คนรู้สึกคล้อยตาม และอยากได้ อยากกิน อยากสัมผัสรสชาติ เราก็เลยทำมีทั้งการทำเมนูอาหารของแม่ของป้าแจกสูตรอาหารในเพจ ลมเลเพื่อให้ดูมีความหมุนเวียนของแบรนด์ หมุนเวียนของบรรยากาศว่า โปรดักต์ของเราเป็นของโลคัลจริงๆ 

     …วิธีการถ่ายรูปก็คือของในบ้านก็เอามาวางถ่าย ทำสไตลิ่ง พยายามเลือกโทนสีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรือประมงนั่นแหละ พร็อพที่ใช้ไม่ต้องดู luxury  ไม่ต้องเอาของเก่าเก็บสวยงาม ไปซื้อถ้วยชามราคา 20-30 บาทมา เวลาถ่ายรูปส่งมาเอาเท่านี้นะ เดี๋ยวจะไปวางเลย์ให้ เราก็บรีฟเขาไป สอนเขา แล้วให้น้องสาวอยู่ที่บ้านกับคุณแม่ถ่ายรูปส่งมา

     …แล้วช่วงสองเดือนแรกไอซ์จะเป็นคนตอบลูกค้าเองก่อนสอง แล้วเดี๋ยวจะโยนไปให้ทางบ้านทำแล้ว เราคอยมอนิเตอร์ให้ก่อนเหมือนเป็น research วิธีการขาย สมมติลูกค้าถามมาแบบนี้ เราควรจะตอบแบบไหน เราต้องสร้างเซอร์วิสให้เขาไปเลย สมมติ น้องสาวหรือหลานเป็นคนดูต่อเขาจะได้รู้วิธีการตอบ เพราะการเซอร์วิสลูกค้าสำคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะทำโปรดักต์ดีขนาดไหน ถ้าลูกค้าได้รับไม่ดีก็จบ”

     จากธุรกิจภายในครัวเรือนที่เกิดจากความว่างยามกักตัวกลายเป็นกิจการที่จริงจังถึงขั้นฝันว่า จะเข้าวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ระหว่างทางที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นผู้ปั้นแบรนด์ก็พยายามวางรากฐานทุกอย่างให้เป็นไปตามทิศทางที่วางไว้

     “อันดับแรกเราขาย ingredient ก่อน ทำให้ป้าๆ เขาเห็นความเป็นไปได้ก่อน  ซึ่งเราเห็นเวลาเขานั่งแพ็คของแล้วเขาก็ยิ้มนะ เขาเริ่มอินกับเราแล้ว แปลว่าต่อไปถ้าเราอยากได้โปรดักต์อย่างอื่น เช่น ผงกุ้งแห้งโรยข้าว อยากได้รสชาติประมาณนี้ เขาก็จะอยากทำให้ แต่ถ้าไปบอกเขาว่า ฉันจ้างทำน้ำพริกแบบนี้ เขาก็จะทำแบบงงๆ เรามองว่า การที่แม่ ป้า และน้าเขาเริ่มอิน แล้วคนแถวๆ บ้านมาเริ่มทำ มันจะกลายเป็นอุตสาหกรรมชุมชนในอนาคตได้ ไตรมาสแรกจึงขายของแห้งก่อน ไตรมาสสองเดี๋ยวว่ากัน

     …ท็อปโปรดักต์ตอนนี้ คือ กะปิกับกุ้งแห้ง กุ้งแห้งเราตัวใหญ่ตระการ เป็นกุ้งแห้งจากโรงงานของคุณน้า เป็นโรงงานเล็กๆ ตากกันเอง วีคที่แล้วพวกปลาตัวเล็กตัวน้อย วีคนี้ไม่มีแล้วนะ เพราะว่าคลื่นลมแรงออกทะเลไม่ได้ เราจะทำวีคกันต่อวีคก่อน 

     …แล้วก้าวต่อไปเราจะเอากะปิเข้าห้าง เพราะว่ามองว่า แพ็คเกจเราตระการพอ เราจะเอาโปรดักต์นี้เพื่อให้แบรนด์มันไปอยู่ใน Gourmet Market จะเป็น OTOP แก๊งแรกๆ ของ Gourmet ที่ดูพรีเมี่ยมได้  จะลองดีลดู เพราะเรามีคอนเท็นต์ของแบรนด์ เรามีรากเหง้า แล้วโปรดักต์เราดีน่ะ ตอนนี้ก็เลยมองว่า ไม่อยากทำหลากหลายโปรดักต์จนเกินไป  ไม่อย่างนั้นคนจะงง เราลองขายสัก 3 อย่างก่อน แล้วเดี๋ยวอันไหนดี ไม่ดี ค่อยถอดออก แล้วก็มีโปรดักต์ที่เป็นโปรดักต์ซัพพอร์ต เป็นของ seasonal แทรกๆ เข้าไปก่อน”                

     จากแบรนด์ที่ทำแก้เหงา จึงกลายเป็นสิ่งที่หลอมรวมทั้งครอบครัวเข้าด้วยกัน และน่าจะสามารถสร้างอาชีพในชุมชนได้ในภายภาคหน้าอีกด้วย

“พอได้ทำแล้ว ฟี้ดแบ็คที่ได้ คือ แม่บอกว่า เขาทำสิ่งนี้เพื่อจะฝึกสกิลล์สมองให้ไม่รู้สึกว่า เขาเป็นคนว่างงาน เขาก็แฮปปี้ แล้วแม่ยังบอกว่า สมมติถ้าในอนาคตแบรนด์เราไปได้ดี เด็กแถวนี้ก็สามารถมีงานทำได้โดยที่ไม่ต้องไปไหนไกล ไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น”

     เมื่อสิ่งที่วางรากฐานไว้มั่นคงพอก็ถึงเวลาที่ผู้ก่อตั้งจะมาสานฝันของตัวเองต่อไป และคอยประคับประคองให้แบรนด์วัตถุดิบท้องถิ่นที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงวิกฤตกลายเป็นแบรนด์ที่เติบโต และได้รับการยอมรับในกลุ่มคนในวงกว้างขึ้น 

┃Photography : Lom Lay 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม