การสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่เน้นถึงธรรมชาติของผืนผ้าและเอกลักษณ์ของผู้รังสรรค์ในท้องถิ่นคือจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัยของธีระฉันทสวัสดิ์ดีไซเนอร์ในโครงการพัฒนาออกแบบลายผ้าร่วมสมัยไทยชายแดนใต้สู่สากลที่ร่วมงานในโครงการนี้ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
ธีระเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาผ้าท้องถิ่นและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยที่ผ่านสารพันโจทย์ผ้าท้าทายมาแล้วนับไม่ถ้วนที่ผ่านมาเขาได้ลงพื้นที่คลุกคลีกับกลุ่มผู้ผลิตผ้าทั่วประเทศอยู่เสมอจึงไม่น่าแปลกใจที่การร่วมทำงานในคอลเล็กชั่นนี้เขายังคงเลือกดึงตัวตนของผู้ประกอบการผ้าบาติกออกมาได้อย่างชัดเจนแต่ไม่ทิ้งความร่วมสมัยอันเป็นโจทย์สำคัญ
“เมื่อก่อนเขายังทำผ้าบาติกสีสดกันอยู่ และเป็นคู่สีที่ตัดกัน เราจึงต้องนำเรื่องเทรนด์สีที่ได้จากการวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ของคนไทย ซึ่งมาจากการที่เราชอบท่องโซเชียลฯ และเดินงานโอทอปจนจับจุดได้ว่าช่วงเวลานั้นคนสนใจอะไร ชอบอะไร สีอะไรที่คนกำลังให้ความสนใจ แล้วนำมาวิเคราะห์ทำรีเสิร์ช คิดเผื่อไปอีก 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า แล้วมานำ Mood Board ใส่ชาร์ตสีไล่โทนตามเทรนด์สีที่ตัวเองได้วิเคราะห์เอาไปแจกให้กลุ่มชาวบ้าน ถ้าเฉดสีไล่ระดับต่างกันมากเท่าไร จะยิ่งทำให้ผลงานมีมิติมากยิ่งขึ้น
…แต่ช่วงโควิดต้องมาทำการบ้านเรื่องเทรนด์สีใหม่ เพราะเราเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยสังเกตจากการโพสต์ในโซเชียลมีเดียที่หลายๆ คนต้องเก็บตัวอยู่บ้าน พอผ่านไปสักพักคนก็เริ่มอยากไปเที่ยวทะเล เที่ยวป่า เราจึงหาโทนสีใหม่ ที่เป็นโทนสีธรรมชาติ เป็นสีที่สบายตา อบอุ่น กลายเป็นโทนสีฟ้าคราม กรมท่า แต่เพิ่มเขียวมรกต และเขียวมิ้นต์ลงไป และมีสีเอิร์ธโทนที่ออกเป็นสีตุ่น แทนที่จะเป็นสีสดตามที่ได้วิเคราะห์มาก่อนหน้านี้”
เมื่อทำความเข้าใจเรื่องสีตามเทรนด์ที่ได้วิเคราะห์แล้วธีระเลือกดึงความเป็นตัวตนของผู้ประกอบการแต่ละรายเผยลงบนลายผ้าบาติกด้วยวิธีการในแบบที่แต่ละคนถนัด
“เราจะไม่ได้คิดคอนเซ็ปต์ให้ทุกชุมชนไปทำให้เหมือนกันทุกกลุ่ม เพราะแต่ละพื้นที่มีวิธีการทำที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงใช้วิธีที่ว่า คุณเก่งเทคนิคอะไรแล้วขมวดความสามารถของผู้ประกอบการให้มันดูร่วมสมัยตามแบบฉบับที่เราคิดเอาไว้คร่าวๆ แล้วปล่อยให้พวกเขาทำงานของเขาไป ส่งงานมาให้ตรวจบ่อยๆ แต่ขอเป็นโทนสีตามเทรนด์ที่เราให้ไป โดยไม่มีการยัดเยียดความเป็นดีไซเนอร์ว่า เธอต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ชาวบ้านเขาจะไม่สนุก งานอะไรก็แล้วแต่ ถ้าสนุกและรีแลกซ์กับมัน งานจะออกมาดี ดังนั้นทุกครั้งที่บอกโจทย์ไปเราจะไกด์ไลน์ให้ แต่เขาต้องดึง expression ของตัวเองออกมา เราอยากรู้ด้วยว่าอินเนอร์ของเขาเป็นอย่างไร
…มีกลุ่มหนึ่งเป็นคุณลุงผู้ชาย เขาทำลายผ้าเป็นแบบแข็งๆ ไม่เคยใช้วิธีปาดสีเลย เขาบอกว่าไม่กล้า เราก็บอกว่า ลุงทำเลย อยากเห็น ไม่น่าเชื่อว่า พอเขาปาดสีออกมาในแบบตัวตนของเขาแล้วมันสวยมาก ครั้งนี้เลยให้คุณลุงวาดลายดอกไม้ ก็สวยมากอีกเช่นกัน ซึ่งผ้าบาติกของแต่ละกลุ่มก็ออกมาสวยงามมากในแบบที่มีตัวตนของเขาเอง”
หลังจากได้ผืนผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์ของผู้ประกอบการแต่ละรายแล้วธีระนำผืนผ้าเหล่านี้มาประยุกต์กับคอนเซ็ปต์ของตัวเองซึ่งในปีนี้ได้แรงบันดาลใจจากผ้าปาเต๊ะและผ้าชวาที่เขาได้เห็นในนิทรรศการผ้าบาติกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯเยือนชวา
“การชมนิทรรศการครั้งนั้นได้ inspiration จนซื้อหนังสือกลับมาศึกษาต่อ เพราะอยากพลิกฟื้นความสวยงามของผ้าโบราณเหล่านี้ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น และกลายเป็นที่มาของคอลเล็กชั่นนี้ ที่ใช้การพิมพ์ลายผ้าที่ดูเป็น Oriental และ Exotic พิมพ์ลงบนผืนผ้าบาติกของผู้ประกอบการในแต่ละเจ้า ซึ่งมันมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายอย่าง”
เนื่องจากลายผ้าที่พิมพ์ลงบนผ้าบาติกมันจะคล้ายคลึงกับผ้าถุงปาเต๊ะและผลที่ออกมากลับเป็นไปตามที่ธีระกลัวในตอนแรกการแก้ปัญหาจึงอยู่ที่การทำแพตเทิร์นการตัดเย็บที่เน้นเรื่องโครงสร้างของชุดซึ่งกลายมาเป็นซิลลูเอ็ตต์ในบางชุดแปลกใหม่สำหรับตัวเขาเองที่ไม่เคยทำมาก่อน
“แพตเทิร์นการตัดเย็บที่เน้นโครงสร้างชุดในคอลเล็กชั่นนี้ก้าวไปอีกสเต็ปหนึ่ง เพื่อให้เกิดรูปแบบที่แปลกใหม่ ผืนผ้าที่ทำเสร็จแล้วเหมือนผ้าถุงบ้านเรา เลยลองจับจีบ จับเดรปให้โครงสร้างดูแปลกออกไป ก็กลายเป็นอีกลุคหนึ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ด้วยความที่เราทำงานอยู่คนเดียว ทำให้บางครั้งมองดูชุดแล้วไม่ชินตาเท่าไร เลยลองสลับชิ้นนั้นชิ้น มิกซ์แอนด์แมตช์สลับกันไปมา แล้วถ่ายรูปส่งให้เพื่อนๆ ช่วยดู แล้วฟีดแบ็คกลับมาว่า ลุคนี้ประหลาดดีไม่เคยเห็น”
ธีระเล่าว่าการทำคอลเล็กชั่นนี้ตรงกับช่วงปิดโควิดพอดีทำให้ผู้ประกอบการผ้าท้องถิ่นแทบทุกรายขายของไม่ได้เขาจึงเกิดความคิดในการนำผ้าพื้นถิ่นอื่นๆมาประกอบเพิ่มเติมในคอลเลคชั่นนี้เพื่อเป็นการอุดหนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอื่นๆด้วย
“ครั้งนี้ท้าทายตรงที่ว่า พอเกิดโควิด ผู้ประกอบการต่างไม่มีรายได้กัน เราคิดว่าช่วยกระจายรายได้ให้พวกเขาดีกว่า จึงสั่งผ้ามาจากหลายที่ใช้ผ้าพื้นที่ใช้เพ้นต์บาติกจากหลายจังหวัด และใช้ผ้าไหมลายดอกจากอีกหลายจังหวัดมาตัดต่อ คือเราพยายามหาทางช่วยเขาเท่าที่เราช่วยได้ แม้จะช่วยได้สักสี่ห้าเจ้าก็ยังดี”
หลังจากทำงานในโครงการนี้ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีธีระได้เห็นพัฒนาการของผู้ประกอบการผ้าบาติกที่เคยได้ร่วมงานกันซึ่งพัฒนางานจนมีความร่วมสมัยและตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
“เขาเติบโตไปในเส้นทางของเขา มีคาแร็กเตอร์ที่ไม่เหมือนกับกลุ่มโอทอปเดิมๆ เห็นได้ชัดว่าเขามีความร่วมสมัย ใส่ได้จริง เพราะจริงๆ แล้ว คนที่มาเดินงานโอทอป เขาไม่ได้ต้องการเสื้อผ้าที่มีดีไซน์เยอะ ผ้าท้องถิ่นมีความสวยงามอยู่แล้ว เราออกแบบเรียบๆ เป็นเสื้อที่ใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน”
…มีอยู่เจ้าหนึ่งทอผ้าฝ้ายลายยากมากแล้วขายแต่ผ้า เราบอกว่าลองเอาไปตัดเป็นเสื้อดูสิ เราออกแบบให้เป็นเสื้อตัวโคร่งๆ ผู้ประกอบการเลยลองทำมาขาย 3 ตัว แล้วตั้งราคาขายให้ตัวละหมื่นกว่าบาท ตอนแรกเขาไม่กล้าขายราคานี้ เราบอกว่าลองขายดูก่อน ปรากฏว่าเขาขายได้หมดเลยในงานนั้น หลังจากนั้นก็เลยตัดมาอีก 10 ตัว เอามาขายอีก เขาก็ขายหมด”
แม้ผลสำเร็จของการพัฒนาผ้าท้องถิ่นไทยอาจวัดได้ง่ายจากรายได้ที่ขายของได้ของผู้ประกอบการแต่ผลสำเร็จที่แท้จริงตามความคิดของธีระนั้นไม่ใช่เพียงแค่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น
“เราดีใจที่เป็นกลไกเล็กๆ ที่ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือ อนาคตของผ้าไทย ตอนนี้ลูกหลานคนทอผ้าเข้ามาทำงานในเมืองกันหมด เราก็กลับมาคิดว่าต่อไปอีกสิบปีจะเป็นอย่างไร จนได้มาออกแบบงานผ้าทอให้กับพี่คนหนึ่งที่อยู่เชียงคาน พี่เขาทอผ้าได้สวย ราคาดี เมื่อออกแบบผ้าทอให้เขาจนถูกคัดเลือกให้ไปออกงานที่งาน Tokyo Gift หลังจากที่กลับมาพี่เขามีออเดอร์จากหลายประเทศ ส่วนงานทางด้านเอกสารก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งออก ลูกสาวที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ก็กลับมาช่วย รวมถึงลูกสาวคนเล็กที่เพิ่งเรียนจบก็กำลังจะสานงานทอผ้าต่อจากพี่เขา
…วันหนึ่งพี่คนนี้ถ่ายรูปส่งมาให้ดูว่า ลูกสาวคนเล็ก กำลังนั่งทอผ้าอยู่ คือเขาเริ่มมองเห็นแล้วว่ากลับมาอยู่ที่บ้านก็สร้างรายได้ได้เหมือนกันด้วยรูปแบบการทอผ้าที่ร่วมสมัย มีออเดอร์จากในประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ จัดการกับเวลาให้ได้ ทำงานอย่างมีระบบ ส่งงานตามออเดอร์ให้ตรงเวลา อีกอย่างครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าคือสิ่งที่พวกเขามีความสุขที่สุด
…นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เราดีใจและเริ่มมีความหวังเล็กๆว่าต่อไปผ้าพื้นถิ่นของไทยจะเดินต่อไปได้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา”
┃Text : Charnporn K.
┃Photography : Somkiat K.