Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Creation from Isolation by Daneenart Burakasikorn

จากความว้าวุ่นช่วงวิกฤตโควิดฯ สู่งานศิลปะแอ็บสแตร็กจากฝีแปรงแฟชั่นสไตลิสต์ชั้นนำ
Art & Design / Culture

ถ้าหากไม่มีโควิด-19 ที่ทำให้กองถ่ายแฟชั่นต้องหยุดพักการถ่ายทำเราคงไม่ได้ชื่นชมผลงานภาพเขียนแอ็บสแตร็กอันทรงพลังไม่แพ้งานสไตลิ่งของเติ้ม-ดนีย์นาถบุรกสิกรสไตลิสต์ฝีมือดีผู้ถือเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของนิตยสาร Lips เส้นสายและสีสันที่ระบายความว้าวุ่นใจในยามต้องหยุดความคิดสร้างสรรค์ในการทำแฟชั่นเซ็ตถูกถ่ายทอดลงบนแคนวาสว่างเปล่ากลายเป็นความยุ่งเหยิงที่มีชั้นเชิงและมีแรงดึงดูดอย่างประหลาด 

     ดนีย์นาถคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงแฟชั่นมานานนับ 10 ปีน้อยคนจะรู้ว่านอกเหนือจากงานสไตลิ่งที่จัดจ้านสิ่งที่แฝงอยู่ในตัวเธอคือความเป็นศิลปินที่ซึมซับผ่านสายเลือดเข้ามาในตัวเธออย่างเงียบเชียบจุดประกายให้เธอเลือกเรียนด้าน Fine Arts อย่างจริงจังที่เมลเบิร์นก่อนจะเปล่งประกายอีกครั้งเมื่อได้หยิบพู่กันหลังจากร้างลามาเป็น 10 ปี  

     “ครั้งแรกที่เติ้มเพ้นต์คงเป็นสมัยเรียนวิชาศิลปะตอนชั้นประถมที่โรงเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์ คุณพ่อเติ้มเองก็ชอบวาดรูป เขาเรียนเพาะช่างมา เขาก็ให้เราวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เราก็วาดการ์ตูนญี่ปุ่นตาหวานไป แล้วไม่รู้ว่า ลึกๆ จะเกี่ยวกับที่เราชอบศิลปะหรือเปล่า แต่คุณทวดของเติ้มเป็นคนวาดภาพจิตรกรรมบนกำแพงวัดพระแก้ว คุณปู่ก็ชอบเพ้นต์ภาพสีน้ำมันเป็นภาพพอร์ตเทรตคนในครอบครัว ส่วนคุณพ่อเติ้มเป็นศิลปินจัด เขาเรียนเพาะช่าง และเป็นนักดนตรี ไว้ผมทรงแอฟโฟรแนว 70s เขาทำกีต้าร์เองด้วย ซึ่งเราน่าจะได้รับสายเลือดศิลปินมาจากพ่อพอสมควร 

     …ตอนที่ตัดสินใจเรียน Fine Art เติ้มมี conflict กับคุณแม่ด้วย เพราะคุณแม่บอกให้เรียนกราฟิกดีไซน์ แต่เราก็ยืนยันขอเรียน Fine Art เพราะเราไม่ชอบอะไรที่ตีกรอบเป๊ะๆ ชอบอิสระ เส้นสายฟรีฟอร์มมากกว่า เลยเลือกเรียน Fine Art ที่ Monash University ในเมลเบิร์น เริ่มจากเรียน Visual Art ต่อมาค่อยเลือกแยกสายออกไป เติ้มเลือกเรียน Fine Art โดยตรงไปเลย เรียนทั้งเพ้นต์ติ้ง ภาพพิมพ์ ประติมากรรม เรียนการทำงานศิลปะด้วยมือทั้งหมด 

     …จนกระทั่งได้มาฝึกงานที่ Lips ยังจำได้ว่า พี่ศักดิ์น่ารักมากพาเราเดินดูทุกแผนก แต่พอเขาถามเราอยากทำอะไรเราก็ยังไม่รู้นะ ตอนแรกๆ ก็ได้ฝึกวาดภาพประกอบ เราเอาภาพแฟชั่นมาทำคอลลาจแล้วเอาด้ายเย็บทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นถึงได้เริ่มทำงานแฟชั่นอย่างจริงจังขึ้นเรื่อยๆ”

     สไตลิสต์แถวหน้าย้อนเล่าถึงความผูกพันกับนิตยสาร Lips ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เธอได้รู้จักครูแนะแนวในชีวิตหลายท่าน ณัฐประกอบสันติสุข ช่างภาพแฟชั่นชั้นนำคือหนึ่งในครูและผู้ร่วมงานที่ทำงานเข้าขากันได้ดีทั้งในการออกกองถ่ายแฟชั่นรวมถึงเว็บไซต์ oranyidea.com   เว็บไซต์เกี่ยวกับแฟชั่นศิลปะและงานดีไซน์ที่ทั้งสองปลุกปั้นมาด้วยกันแล้วก็ยังเป็นช่างภาพผู้นี้นี่แหละที่แนะนำให้เธอกลับมาเพ้นต์อีกครั้ง  

     “ช่วงโควิดทำให้เรารู้ว่า เราไม่สามารถทำอาชีพเดียวได้อีกต่อไปแล้ว New Normal ทำให้เราต้องปรับตัว ยิ่งเราเป็นคนไฮเปอร์อยู่แล้ว ขอให้ได้ออกจากบ้านไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ยังดี พี่ณัฐก็แนะนำให้หาอะไรทำได้แล้ว จนกระทั่งกลับมาเพ้นต์ เดชะบุญที่ร้านสมใจ ร้านเครื่องเขียนไม่ปิด เราก็เลยไปร้านสมใจอาทิตย์ละ 3-4 วัน ไปซื้อแคนวาส ซื้อสีกลับมานั่งวาดที่บ้าน รูปแรกที่เพ้นต์เป็นซีรีส์สีม่วง พี่ณัฐเห็นก็เชียร์ให้เพ้นต์ไปลง oranyidea.com เว็บไซต์แฟชั่น ศิลปะ และงานดีไซน์ที่เราทำกัน ทีนี้ก็ต้องไม่ใช่แค่รูปสองรูปแล้ว ก็เลยเพ้นต์ขึ้นมาเป็นซีรีส์ แล้วพี่ณัฐก็มาถ่ายรูปงานให้เพื่อเอาไปลงเว็บไซต์”

     เมื่อได้แรงยุจากครูและเพื่อนร่วมงานที่รู้สไตล์กันมานานงานเพ้นต์ที่เคยเป็นเหมือนการระบายความอัดอั้นจึงเริ่มกลายเป็นความหลงใหลอีกอย่างที่สามารถลิงค์เข้ากับแฟชั่นซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรักได้

     “สมัยเรียนศิลปะจะมีวิชา Composition ซึ่งพอนำมาใช้กับงานถ่ายแฟชั่นเราก็จะรู้ว่า นางแบบควรจะจัดวางไว้ตรงไหนของภาพ องค์ประกอบอื่นๆ ควรจะอยู่ตรงไหน เรื่องสีก็ด้วยควรจะแต่งตัวสีประมาณไหน โลเกชั่นสีอะไร ตรงนี้ก็ลิงค์กันได้ มันอยู่ในตัวเรามาตลอด

     …ย้อนไปสมัยเรียนศิลปะเราก็วาดรูปแอ็บสแตร็กแบบนี้แหละค่ะ เราทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้ยึดติดว่าจะวาดออกมาเป็นแนวไหน ไม่เคยฟิกซ์ตัวเอง ไม่เคยสเกตช์ด้วย เพราะรู้สึกว่า งานจะออกมาดูไม่เป็นธรรมชาติ แค่รู้ว่าจะใช้สีประมาณนี้ บางรูปเพ้นต์อยู่ 4-5 รอบไม่ชอบก็เพ้นต์ทับ แต่บางรูปเพ้นต์ทีเดียวชอบแล้วก็พอ บางครั้งเราก็ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่ารูปนี้เสร็จหรือยัง 

     …ภาพที่สวยสำหรับศิลปะแบบแอ็บสแตร็ก  จริงๆ  แล้วเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะคำว่า “สวย” เป็นเรื่องปัจเจก แล้วก็ยังเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วย อย่างในยุคหนึ่งผู้หญิงที่งามต้องอ้วนอย่างที่เห็นในภาพวาดนู้ดก็ ซึ่งถ้าจะเอานางแบบสมัยนี้ไปเป็นแบบก็คงไม่ได้ นั่นคือเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความงามก็เปลี่ยนไป ดังนั้น ความงามแท้จริงต้องไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องประกอบด้วยทั้งความจริง ความดี ความลึกซึ้ง เพราะถ้าสวยแต่ไม่มีคุณค่าใด มันก็แค่ดูสวย เท่านั้นเอง ดูๆ ไปก็เบื่อ แต่ศิลปะที่งามแม้จริงดูแล้วจะไม่มีเบื่อ เพราะยิ่งดูก็ยิ่งเห็นความงาม

“การดูภาพวาด มันเป็นภาษาภาพที่ต้องอาศัยการฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นภาพเหมือนจริง หรือภาพแอ็บสแตร็ก ต้องฝึกดูบ่อยๆ และดูแบบเปิดใจ อย่าปิดกั้น อย่าคิดว่า เราจะต้องรู้เรื่องหรืออะไร แต่ทำจิตใจให้ละเอียดอ่อน ดูแล้วคิดว่าเรารู้สึกอย่างไร”

     …ถ้ารูปนี้ดูแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ผ่าน อาจจะมีบางรูปที่คลื่นส่งกับคลื่นรับตรงกัน เราก็ดูรูปนั้นซ้ำได้ แล้วก็ไม่จำเป็นว่าต้องเข้าใจ หรือต้องชอบทุกรูป อันนี้เป็นเรื่องปกติ เช่นตอนแรก 100 รูป เราอาจจะชอบซัก 3 – 4 รูป แต่เมื่อเราไปดูซ้ำ ครั้งต่อมาเราอาจจะชอบเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 – 20 รูปก็ได้ ทีนี้เมื่อดูบ่อยๆ แล้ว ก็จะเกิดทักษะทางใจ ครั้งต่อๆ ไปก็จะดูได้เข้าใจมากขึ้นค่ะ เติ้มว่า มันคือเสน่ห์ของภาพแอ็บสแตร็ก”

     งานศิลปะไม่มีถูกหรือผิดงานที่ดีอาจจะดูกันที่องค์ประกอบสีหรือเรื่องราวเบื้องหลังเช่นเดียวกับโมเม้นต์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆระหว่างสนทนาเมื่อลำแสงอาทิตย์สาดส่องผ่านช่องมู่ลี่มากระทบงานเพ้นต์ซีรีส์สีน้ำเงินแดงที่ทับซ้อนกันจนเกิดเป็นสีม่วงที่น่าเกรงขามเว้นช่องว่างสีขาวให้มีจังหวะหายใจภาพตรงหน้าคืองานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวใหม่ขึ้นสดๆร้อนๆในชั่วขณะหนึ่ง

     แต่ถึงกระนั้นขั้นตอนก่อนวาดก็ต้องอาศัยการวางแผนซึ่งเรามองว่าการทำงานของเธอไม่ต่างจากการทำงานสไตลิสต์ที่เมื่อได้แรงบันดาลใจแล้วจึงกำหนดมู้ดแอนด์โทนของภาพให้ได้ตามแต่อารมณ์จะนำพาไป

     “เวลาก่อนเพ้นต์เติ้มจะชอบเข้าไปดูแฟชั่นโชว์ก่อน จะเป็นคอลเล็กชั่นปีไหนก็ได้ไล่ดูไปเรื่อยๆ เท่าที่ดูโชว์ก่อนเพ้นต์น่าจะเป็น Dries Van Noten, Loewe, Givenchy และ Valentino Couture พอเราเห็นสีสันของเสื้อผ้าที่เขาแม็ตช์บนรันเวย์ เราก็แคปภาพเก็บไว้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเพ้นต์ 

     …เราจะกำหนดธีมสีก่อนเราจะเอาสีมาตั้งเรียงกันว่า เราชอบโทนสีแบบไหน ส่วนอื่นๆ นั้นเราด้นสดตรงนั้นเลย ถ้าไม่ชอบก็เพ้นต์ทับไปจนกว่าเราจะเริ่มชอบมัน บางอันปาดไปนิดเดียวชอบแล้วก็จะไม่แต่งเพิ่ม ส่วนตัวเราชอบการเพ้นต์เลเยอร์ทับกันหลายๆ ชั้นมันดูมีเสน่ห์ดี บางทีมีคนถามว่า รูปนี้เสร็จเมื่อไร บางทีเราก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่โดยเฉลี่ยเราใช้เวลา 1 อาทิตย์ต่อรูป แต่ช่วงหลังๆ  1-4 วันก็ได้แล้วนะ พอเพ้นต์ไปถี่ๆ ก็เหมือนมันเข้ามือไปเอง

     …ส่วนตัวชอบเพ้นต์รูปไซส์ใหญ่ๆ เพราะรูปเราต้องใช้กับสเปซที่ใหญ่หน่อยถึงจะเหมาะ ด้วยความเป็นแอ็บสแตร็คและสโตรกที่รุนแรง เพ้นต์รูปเล็กๆ บางทีก็ไม่หนำใจนะคะ ส่วนเรื่องเทคนิคก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละซีรีส์ อย่างซีรีส์สีน้ำเงิน และสีฟ้า เราใช้เกรียงปาด ส่วนซีรีส์สีแดง และสีเขียวด้านขวาสุดใช้พู่กัน หลังๆ รูปใหญ่ๆ  จะใช้วิธีวางแคนวาสแล้วเพ้นต์กับพื้นเลย รู้สึกว่า เราปาดฝีแปรงได้คล่องกว่า มีพื้นที่ให้เราเคลื่อนไหวไปเพ้นต์ตามแต่ละมุมของภาพได้ง่ายกว่า”

     เราเอ่ยถามว่าคิดว่างานเพ้นต์ของเธอใกล้เคียงกับผลงานแฟชั่นดีไซเนอร์คนไหนเธอนิ่งประมวลผลในใจอยู่สักพักก่อนจะเฉลยว่า

“ชอบ Ann Demeulemeester มาตลอด แต่งานเพ้นต์ของเติ้มไม่คล้ายงานเขาเท่าไร ถ้าเป็นงานเพ้นต์น่าจะใกล้เคียงกับ Dries Van Noten มากกว่าด้วยโทนสีอะไรต่างๆ”

     สำหรับเธอแล้วแต่ไหนแต่ไรมาแฟชั่นกับงานศิลปะเป็นเรื่องเดียวกันอย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้ถึงแม้จะห่างหายจากงานเพ้นต์มาขลุกอยู่แต่กับงานแฟชั่นสไตลิ่งมานานแต่ความเป็นศิลปินก็ยังคงคุกรุ่นอยู่ในตัวเธอมาตลอดกระแสตอบรับจากการโพสต์งานภาพเขียนลงในโซเชียลได้ไม่นานก็มีคนติดต่อขอเข้าชมงานจนกระทั่งขอซื้อทำให้งานอดิเรกช่วงกักตัวกำลังจะกลายเป็นงานนิทรรศการแสดงเดี่ยวในเร็วๆนี้ 

     “ตอนแรกกะจะเพ้นต์เล่นๆ แต่พอเอางานลงในเว็บไซต์ oranyidea.com หลังจากที่พี่ณัฐถ่ายรูปงานเราให้พี่ณัฐก็ส่งไปให้เจ้าของแกลเลอรี่ชื่อ PLAY art house ดู ตอนแรกก็คิดว่า เขาคงไม่สนใจหรอก แต่พอหลังจากช่วงโควิดแป้บหนึ่ง เจ้าของแกลเลอรี่ก็โทรมาหาพี่ณัฐบอกว่า เราสนใจจะมาแสดงงานนิทรรศการที่แกลเลอรี่ของเขาไหม ซึ่งเราเองก็ดีใจมาก เพราะเราไม่เคยมีนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเองมาก่อน นอกจากงานแสดงตอนเรียนจบ หลังจากนั้นก็เริ่มเพ้นต์มากขึ้นๆ

     …ก็แปลกดีที่เราทำแฟชั่นสไตลิสต์ด้วย แล้วก็เพ้นต์ด้วย เอาจริงๆ ก็ดีเหมือนกัน เพราะอายุเราก็ไม่ใช่เด็กๆ แล้ว เราจะขนของแบกของไปถ่ายงานได้อีกกี่ปีกัน  พอมีงานสำรองที่ทำให้เราได้อยู่คนเดียวก็ดีเหมือนกัน เลยตั้งใจคอลเล็กชั่นที่จะแสดงว่า Isolated : A Beauty of Mess เพราะรู้สึกว่า มันก็ปลีกวิเวกดี เพราะหลังๆ เวลาเพื่อนชวนไปไหนเราก็ไม่ค่อยไป งานที่จะแสดงก็คงเน้นงานที่ใช้เทคนิควาดด้วยแปรง เปลี่ยนคอลเล็กชั่นไปจากงานแรกที่เราทำ”

     หลังจากงานนิทรรศการจบลงเราคงได้เห็นเธอนำงานศิลปะมาผสมผสานกับการทดลองครั้งใหม่ที่สนุกและท้าทาย

     “มีคนมาชวนทำ collab เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ เติ้มว่า มันก็ครอสกันได้ ไม่ว่าจะเป็น ลายผ้า หรือเสื้อผ้า แอ็กเซสซอรี่ต่างๆ หรือ stationary จะเอารูปเพ้นต์ของตัวเองมาประกบกับงานแฟชั่นสไตลิ่งของเราด้วย กะว่า จะทำงานดาร์กๆ ไปเลย อยากเอางานสองศาสตร์มารวมกัน แล้วในอนาคตสตูดิโอน่าจะเป็นพื้นที่แสดงงานให้คนที่มาขอดูงานเราได้เข้ามาดูได้ และน่าจะทำงานเพ้นต์ต่อไป เพราะมันก็สนุกดี และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์”

ติดตามผลงานศิลปะของดนีย์นาถได้ใน IG : daneenart.art

นิทรรศการ Isolated : A Beauty of Mess
จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. – 25 ต.ค. นี้ 
ที่ PLAY art house ถนนทรงวาด 

┃Photography : Somkiat K. 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม