Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

The Symphony of Glory – อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ

นักประพันธ์เพลงคลาสสิกผู้กวาดรางวัลในเวทีโลกมามากมาย และเป้าหมายใหม่ในการผลักดันดนตรีคลาสสิกในไทยให้ไปไกลกว่าเดิม
Interview

เมื่อกล่าวถึงนักประพันธ์เพลงคลาสสิกชื่อดังของเมืองไทย ก็ปรากฏชื่อของอาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์เพลงคลาสสิก คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการดนตรีคลาสสิกระดับโลก ในฐานะนักประพันธ์เพลงคลาสสิกมืออาชีพ ที่ได้รับรางวัลสำคัญต่างๆ ในระดับนานาชาติมาอย่างมากมาย นับเนื่องจากก้าวแรกแห่งความสำเร็จ กับการได้รับรางวัลสำคัญในเวทีระดับโลก อย่าง Toru Takemitsu Composition Award ในปีค.ศ. 2004 จากผลงานการประพันธ์เพลงชื่อ “Phenomenon” บทเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค
     รวมถึงรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ในปีค.ศ. 2007 รางวัลชนะเลิศ The Annapolis Charter 300 International Composers Competition Prize จากผลงานเพลงชื่อ “ไตรศตวรรษ” เป็นรางวัลใหญ่ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองเมืองแอนนาโพลิส ในโอกาสครบรอบ 300 ปี รางวัล Guggenheim Fellowship จาก Guggenheim Foundation และ รางวัล Barlow Prize ซึ่งอาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญเป็นชาวเอเชียคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
     ความสำเร็จมากมายของอาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ได้รับการยอมรับ และกล่าวขานใน Los Angeles Times ว่าเป็น “นักประพันธ์เพลงที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสีสันสำหรับวงออร์เคสตรา” บทเพลงของเขายังได้รับการกล่าวขานจากหนังสือพิมพ์ Chicago Sun Times ว่า “มีเสน่ห์อย่างสมบูรณ์ยิ่ง” นั่นเพราะการวางเสียงเครื่องดนตรี และเสียงประสานได้อย่างมีชั้นเชิง ราวกับจิตรกรระบายสีลงบนผืนผ้าใบ โดย วงออร์เคสตราที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ Pacific Symphony Melbourne Symphony Orchestra ฯลฯ ได้นำผลงานของเขาไปบรรเลงแสดงคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะบทเพลง  “Phenomenon” นับเป็นบทเพลงดังที่ทำให้คนทั่วโลกแจ้งประจักษ์ในฝีมือของคนไทย

     เส้นทางชีวิตของ อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ราวกับถูกชะตาฟ้ากำหนด โดยทุกอย่างได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งเขายังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา และได้เข้าร่วมเล่นดนตรีกับวงโยธวาทิตที่โรงเรียนหอวังในวัยเพียง 13 ปี พร้อมเลือกศึกษาต่อคณะศึกษาศาสตร์ เอกดนตรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรียนเปียโนกับอาจารย์ Kit Young ผู้แนะนำให้เรียนด้านการประพันธ์เพลงกับอาจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นาน 2 ปี ก่อนได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Illinois State University และศึกษาต่อปริญญาเอกที่ University of Missouri at Kansas City

     “การไปเรียนปริญญาเอกมันเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต ที่ทำให้ผมเลือกเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกอาชีพ เพราะอาจารย์ที่สอนเราเขาเป็น Composer ที่ประกอบอาชีพเป็นนักแต่งเพลงจริงๆ เขาก็แสดงให้เราเห็นเลยว่าอาชีพนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ อยู่ได้ แล้วก็มีความมั่นคง ซึ่งการเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิก คนจ้างเป็นผู้ตัดสินว่าอยากได้ผลงานของเรามากเท่าไร และมีมูลค่าเป็นเท่าไร แต่การเป็นศิลปิน เราไม่หวังร่ำรวย เราไม่แสวงหาผลกำไร แต่เราต้องเลี้ยงตัวเองได้ และต้องมีจุดยืน นั่นหมายความว่าเราแต่งเพลงแบบไหน ผมไม่ได้เขียนเพลงตามแฟชั่น หรือยุคสมัย ผมเขียนเพลงที่เป็นตัวเอง เขียนเพลงที่อยากจะสื่อให้คนฟังรับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร เราอยากจะบอกอะไรกับคนฟัง”
     จากท่วงทำนองการประพันธ์เพลงของอาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์-เจริญ ที่มีวิธีการผสมผสานเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์ ทั้งความหนัก เบา และสีสันของบทเพลงที่มีจังหวะปลุกเร้า แปลกใหม่และแตกต่างด้วยบรรยากาศที่สร้างจินตนาการอันไม่สิ้นสุด เขาจึงถูกจัดเป็น Orchestra Composer นักประพันธ์บทเพลงคลาสสิกขนาดใหญ่ ที่มีความละเอียดซับซ้อนสำหรับวงออร์เคสตรา
     “ในตอนนั้นผมทำงานเป็นกึ่งๆ ฟรีแลนซ์ เราเป็นอาร์ติสต์เราทำงานที่สตูดิโอที่บ้านได้ ยิ่งได้ทำงานเป็น Composer ประจำวงออร์เคสตราก็ยิ่งสนุกมาก ซึ่งผมได้ทำงานกับวง Pacific Symphony ที่ Orange County ซึ่งก็เป็นวงออร์เคสตราขนาดใหญ่อันดับ 3 ของแคลิฟอร์เนีย รองมาจาก San Francisco Symphony และ Los Angeles Philharmonic เราก็ได้ทำงานหลายอย่างมาก ไม่ได้แต่งเพลงเพียงอย่างเดียว มันก็มีหลายอย่างให้ทำ ทั้งทำ Community Outreach ทำ Social Engagement และได้ออกไปพบปะบุคคลต่างๆ
     …ชาวต่างชาติเขาจะมีความนิยมชมชอบเวลาได้พบปะกับศิลปินนะครับ เขาจะรู้สึกว่า ชีวิตศิลปินเหล่านี้น่าสนใจ เขาจะพยายามถามไถ่เกี่ยวกับชีวิตเรา คุยเรื่องงานของเรา ท้ายที่สุดก็พยายามซัพพอร์ต คือเหมือนถ้าย้อนกลับไปในยุคสมัยก่อน อย่างโมสาร์ทก็จะได้รับเชิญให้ไปบรรเลงดนตรี ซึ่ง Prince หรือขุนนางต่างๆ ก็จะดูแลศิลปิน ศิลปินก็แต่งเพลงมอบความรื่นรมย์ใจให้ แต่ประเทศเราอาจจะไม่ได้มีค่านิยมในแบบนั้น ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าเราไม่เห็นคุณค่านะครับ แต่มันเป็นวิธีการตีมูลค่ามากกว่า
     …อย่างที่สหรัฐอเมริกาเองจะมีองค์การกองทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติ (National Endowment for the Arts) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลอเมริกา ที่สนับสนุน และให้เงินทุนโครงการด้านการสร้างสรรค์ศิลปะ เขาจะสนับสนุนศิลปินให้สร้างสรรค์ผลงาน เพราะมันคือสมบัติของประเทศ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะได้รับการสนับสนุน และผลักดันต่อยอดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ให้กับวงการ และขับเคลื่อนศิลปินคลื่นลูกใหม่ของประเทศไทย เพื่อจะได้สร้างวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกให้กับประเทศชาติต่อไป”

     อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ใช้ชีวิต และทำงานเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกอาชีพอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามานานกว่า 17 ปี โดยเป็นทั้งนักประพันธ์เพลงประจำวงออร์เครสตราชื่อก้องโลก ทำโครงการดนตรีกับการพัฒนาชุมชน และยังเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกมืออาชีพคนไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลสำคัญต่างๆ ในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย และสำหรับในวันนี้นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างสูงสุด ด้วยล่าสุด อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ได้รับเลือกจาก American Academy of Arts and Letters ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ก่อตั้งโดยเหล่าศิลปิน นักประพันธ์ และสถาปนิก รวมทั้งนักเขียนชั้นนำของอเมริกา มีเป้าหมายสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ทั้งด้านดนตรี และศิลปะ ให้รับรางวัล The Charles Ives Awards สาขาการประพันธ์เพลง (Charles Ives Fellowship) ซึ่ง อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ นับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์กรมา 123 ปี สำหรับเพลงที่อาจารย์ ดร.ณรงค์ ส่งเข้าประกวด ได้แก่ เพลง Luminary และเพลง Volcanic Breath
     “สำหรับรางวัลนี้ที่ได้รับ ก็ดีใจมากครับที่เราสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติได้ ในที่สุดเราสามารถพิสูจน์ และได้แสดงศักยภาพให้คนทั่วโลกได้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถมาก เราไปยืนอยู่ในเวทีระดับนานาชาติได้ เพียงแต่ว่ามันต้องมีโอกาส มันต้องมีการเตรียมตัวอย่างเป็นระบบ

“สิ่งที่ผมมุ่งหวังคือ ‘ผมต้องไม่ใช่คนไทยคนสุดท้าย’ ที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งผมก็อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ และช่วยผลักดันต่อไป เพราะถ้าเราช่วยให้คนๆ หนึ่งให้ประสบความสำเร็จได้อีก ก็เป็นเรื่องที่ดี”

     ปัจจุบัน อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ดำรงตำแหน่ง คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งยังเป็นศิลปินนักประพันธ์เพลงคลาสสิก และสอนสาขาวิชาการประพันธ์ดนตรี เป็นผู้ริเริ่มจัดการแข่งขัน Thailand International Composition Festival เพื่อขับเคลื่อน และพัฒนาวงการเพลงคลาสสิกในประเทศ สร้างเวทีเชื่อมโยงระหว่างนักประพันธ์เพลงชาวไทย และวงการดนตรีคลาสสิกนานาชาติ เปิดโอกาสให้นักประพันธ์เพลงชาวไทยได้แสดงศักยภาพในเวทีโลก
     “ผมย้ายกลับมาเป็นคณบดีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะงานเราเปลี่ยนไปหมด ตอนนั้นได้รับการทาบทามให้กลับมาเพื่อจะมาสมัครเป็นคณบดี ก็กลับมาอยู่ไทยสักประมาณ 3 เดือน ก็สมัคร แล้วก็ผ่านกระบวนการสรรหา กรรมการทุกคนบอกว่า การที่เราได้เป็นคณบดีเพราะว่าเรามีมุมมองที่ไม่เหมือนคนอื่น สิ่งที่เราพูดมันเป็นเรื่องใหม่ที่มหาวิทยาลัยไทยไม่มี และไม่มีศิลปินมารันงานสถานศึกษาจริงๆ ซึ่งผมบอกว่า

“จิตวิญญาณของการเป็นครูดนตรีที่ดี แปลว่าคุณจะต้องเป็นนักดนตรีที่เก่งก่อน แล้วเชี่ยวชาญทางด้านการสอน ไม่ใช่คนที่เล่นดนตรีไม่ได้แล้วไปสอน คุณก็จะไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี อะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ”

     โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับ Top 100 ของมหาวิทยาลัยโลก ในสาขา Performing Arts โดย QS World University Subject Rankings 2021
     “ซึ่งก็ต้องบอกว่าในเวลา 3 ปี สิ่งที่เราเริ่มทำมันเริ่มค่อยๆ ออกดอกออกผล มันก็เห็นแล้วว่าการที่เราไปทำโครงการกับต่างชาติ การที่เรามีเพลงออกไปแสดง เรามีผู้บริหารที่เป็นอาร์ติสต์จริงๆ ที่เขาวิ่งไปทำคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ มันสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น คือรากฐานมันแข็งแรงแล้ว เราตั้งเป้า ไว้แล้วว่าภายใน 3 ปี หรือ 5 ปี เราต้องเป็น Top 50 โดยผมมุ่งมั่นว่าจะทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นสถาบันดนตรีชั้นนำในระดับนานาชาติให้ได้
     …สำหรับแวดวงดนตรีคลาสสิกในไทยที่ผ่านมาสังคมอาจจะยังไม่พร้อม ยังไม่มีการสร้างฐานคนดู ก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ดนตรีคลาสสิกให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น จัดลานกิจกรรมแสดงดนตรีให้ทุกคนสามารถ Enjoy และเข้าถึงได้ ให้ทุกคนได้ซึมซับ ค่อยๆ ปรับทัศนคติ ให้เขารู้สึกว่าเขาจับต้องได้ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าใครดูซีรีส์เกาหลี หรือหนังอนิเมชั่นญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่ามีเพลงคลาสสิกเต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้น การฟังเพลงคลาสสิก ไม่ได้แปลว่าเราต้องไปดู Symphony Orchestra ในโรงแสดงคอนเสิร์ตทุกครั้ง เพราะแท้จริงแล้วเพลงคลาสสิกอยู่รอบตัวเรา”

Photography : S.Guy
Styling : Anansit K.
Make up & Hair : Tachapol S.
Wearing : The Kooples

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม