ทวีศักดิ์ สมานมิตร แห่งแบรนด์ AB-NORMAL อีกหนึ่งดีไซเนอร์ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไทยผ่านเสื้อผ้าร่วมสมัย โดยนำรายละเอียดการนุ่งห่มแบบดั้งเดิมมาประยุกต์และผสมผสานในงานออกแบบ จนได้เป็นคอลเล็กชั่นที่สนุกสนานและแปลกตา ผ้าทอมือจากชุมชนบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี คือโจทย์การทำงานของดีไซเนอร์ผู้หลงใหลในสตรีทแฟชั่น
“ด้วยพื้นที่นี้เป็นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ หนึ่งในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น คือ การทอผ้าที่ยังคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมไว้ ไม่มีการแต่งเติมลวดลายจากภายนอกให้เกินงาม ซึ่งผ้าทอได้ทำออกมาเป็นผ้าซิ่น โสร่ง และผ้าขาวม้าที่มีความโดดเด่นด้วยลายตะแกรงเล็ก-ใหญ่ ลายตารางเล็ก-ใหญ่ ลายเม็ดพุทรา และลายลูกตาล ทั้งหมดล้วนทอจากกี่กระตุกโบราณ
ด้วยการคงไว้ซึ่งวิธีการทอเก่าแก่แบบนี้ ผ้าทอมือของชุมชนบ้านม่วงจึงเป็นที่รู้จักและเป็นสินค้าสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในปีพ.ศ. 2549”
ด้วยความโดดเด่นของลวดลายผ้าทอมือและการนุ่งห่มแบบชาวมอญบ้านม่วงที่ทวีศักดิ์นำมาต่อยอดในการออกแบบ จึงไม่มีชื่อใดที่เหมาะสมสำหรับคอลเล็กชั่นนี้ไปมากกว่าชื่อของชุมชน “คอลเล็กชั่น BAN MUANG FALL 2021 ได้แรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายของชาวมอญบ้านม่วงในอดีตที่ชาวบ้านนิยมนุ่งผ้าซิ่น โสร่ง และผ้าขาวม้า ใส่เสื้อคอกลมที่ไม่มีกระดุม แต่ใช้ผ้าในตัวเสื้อกลับเป็นไส้ไก่ และผูกแทนการใช้กระดุม รวมถึงการนำผ้าทอมาพับห่มแบบสไบ หรือพาดบ่า ผมจึงนำผ้า และวิธีการใช้งานของผ้าดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เป็นดีเทลในการออกแบบเสื้อผ้าให้เข้ากับยุคนี้มากขึ้นในแนวสตรีทสไตล์”
โดยเขาได้นำดีเอ็นเอของแบรนด์ AB-NORMAL ที่ชัดเจนในแนว Simple Chic มาประยุกต์เข้ากับผ้าทอมือเพื่อสร้างความร่วมสมัย
“ภาพรวมเสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นนี้จะออกมาในรูปแบบโอเว่อร์ไซส์ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ประกอบกับตัวเองเป็นคนที่ชอบเล่นกับลายริ้ว และลายสก็อต รวมถึงชื่นชอบการจับคู่สีเป็นทุนอยู่แล้ว คอลเล็กชั่นนี้จึงออกมาได้โดยไม่ยากนัก อาจมีคำถามว่าทำไมถึงเลือกทำเป็น Fall Collection ทั้งๆ ที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน คำตอบ คือ คนส่วนใหญ่จะมองว่า ผ้าเหล่านี้เหมาะที่จะนำมาทำเสื้อผ้าลำลองใส่สบายๆ ในหน้าร้อนมากกว่า แต่ผมอยากนำเสนออีกมุมมองหนึ่งที่ดูเป็นสากลมากขึ้น โดยใช้วิธีการกลับซับในด้วยผ้ายืดเนื้อหนามีน้ำหนักกับเกือบทุกไอเท็มในคอลเล็กชั่นนี้ ทำให้ภาพรวมออกมาดูแปลกตากว่าการใช้ผ้านุ่งหรือผ้าขาวม้าในรูปแบบเดิมๆ”
การทำงานในครั้งนี้ไม่เพียงมีปลายทางเป็นเสื้อผ้าร่วมสมัยที่พร้อมส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศไทยและทุกมุมโลก หากยังแสดงให้เห็นความร่วมมือที่แข็งแรงจากทุกภาคส่วนในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ด้วย
“ผมต้องขอขอบคุณชาวบ้านที่ช่วยกันทอผ้าตามลายและสีที่ผมต้องการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ขอบคุณผู้นำชุมชน คุณครูจิตรอารีย์ กระเครือ และคุณสอางค์ พรหมอินทร์ ที่ช่วยประสานงานรวมถึงให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เรายังไม่ได้พบกันซึ่งๆ หน้า เลยทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในสถานการณ์ที่คับขันเช่นนี้ โดยเรามีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องทำการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นมาเพื่อใช้ในการถ่ายแบบก่อน แล้วจึงกลับไปทำเวิร์กช็อปสอนทำแพตเทิร์นให้กับชุมชนภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 บรรเทา หรือสิ้นสุดลง”
Text : Prim S.
Photography : Somkiat K.