Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Culture / Travel

The Beauty along the River Nile – อียิปต์ ดินแดนแห่งอารยธรรมอันน่าค้นหา

ชื่นชมวิหารสุดอลังการ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ระหว่างทางไปกับนักเดินทางผู้มีมุมมองละเอียดลึกซึ้ง
Culture / Travel

ความยืนยาวของอารยธรรมโบราณกว่า 4,000 ปี พีระมิดที่ยิ่งใหญ่ตระการตา หุบผากษัตริย์ซึ่งซ่อนประวัติศาสตร์ ความลึกลับ ความเชื่อในชีวิตโลกหน้า คำสาปเบื้องหลังสุสานของกษัตริย์และราชินีในอดีตกาลและทรัพย์สมบัติอันมหาศาล ตลอดจนแม่น้ำไนล์ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนท่ามกลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง  สิ่งเหล่านี้ทำให้อียิปต์เป็นประเทศในฝันของผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉันเอง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ฉันมาเยือนอียิปต์ และมีอะไรต่อมิอะไรที่เราไม่ได้ดูเมื่อมาครั้งแรก

From Luxor to Esna

เราออกเดินทางจากลักซอร์แต่เช้าเพื่อจะไปอัสวาน สาเหตุที่ออกแต่เช้าเพราะเราวางแผนที่จะแวะวิหารสำคัญๆ สองหลังที่อยู่ระหว่างทาง และด้วยความที่เราตั้งใจจะแวะเที่ยวนี่เองที่ทำให้เราต้องใช้ถนนสาย 75 M เส้นทางเลียบแม่น้ำตัดผ่านเข้าไปในชุมชน แทนที่จะเป็นทางเส้นทางสายลักซอร์-อัสวาน ผ่ากลางทะเลทรายที่ใช้เวลาเดินทางแค่ 3 ชั่วโมงนิดๆ เส้น 75 M นี้สองข้างทางริมฝั่งเขียวขจี แลดูอุดมสมบูรณ์มาก มีทั้งไร่อ้อย ข้าวโพด กะหล่ำปลี  กะหล่ำดอกยักษ์ และที่สวยที่สุด คือ ต้นปาล์มและอินทผลัม เขาว่ากันว่า ต้นปาล์มในอียิปต์มีตั้ง 13 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ Doum Palm หรือ Date Palm หรืออินทผลัม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจแถวสิวะ โอเอซิสทางตะวันตกของไคโรปลูกกันเยอะมาก นับเป็นที่แปลกประหลาดลึกลับเป็นที่สุด เพราะแค่มีต้นปาล์มบริเวณนั้นก็ดูสวย ดูชุ่มฉ่ำขึ้นมาในทันใด   

ยิ่งประกอบกับภาพชาวบ้านที่ยังใส่จาลาเบียะฮ์ โพกหัว ขี่ลา ภาพถ่ายขาวดำโบราณของ  Lehnert & Landrock ลอยผ่านหน้ามาในทันใด น่าเสียดายที่ฉันไม่มีฝีมือในการถ่ายภาพจากบนรถ มือไม่นิ่งพอ และยิ่งทุกครั้งที่ผ่านหมู่บ้านถนนมีลูกระนาดให้รถชะลอตัวลง แม้รถจะวิ่งช้า แต่ก็ถ่ายรูปไม่ได้อยู่ดี เพราะจะกระเด้งไปมาตามจังหวะของลูกระนาดนั้น  

ริมฝั่งแม่น้ำไนล์เรียงรายไปด้วยสถานที่สำคัญในสมัยฟาโรห์อิก และหนึ่งในนั้นคือ วิหารเอสนา อยู่ในเมืองชื่อเดียวกันทางใต้ของลักซอร์ไปประมาณ 60 กิโลเมตรบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ วิหารเอสนา อุทิศให้กับเทพคนุม หนึ่งในเทพเจ้าสำคัญของอียิปต์โบราณ ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์และคอยดูแลรักษาแม่น้ำไนล์  ทั้งยังเชื่อว่า เป็นผู้สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว  เทพคนุมเป็นเทพบุรุษที่มีพระเศียรเป็นแกะตัวผู้ที่มีเขาขนาดใหญ่  สวมศิราภรณ์  โดยอุทิศร่วมกับเทพีไนธ์  Neith และ  Heka ลูกชายของเทพคนุม   เทพี Satet  และ เทพี Menhet  ซึ่งเป็นหนึ่งในภรรยาของเทพคนุม  วิหารเอสนาเริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่ 18  ในยุคอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) และมาเสร็จสมบูรณ์ในยุคปโตเลมาอิกในสมัยของปโตเลมีที่ 6 (Philometor) และปโตเลมีที่ 8 (Euergetes) น้องชายที่แย่งชิงอำนาจกัน  และสร้างต่อเนื่องมาถึงยุคโรมันราวปีค.ศ. 40-250

เอสนาในอดีต คือ เมืองโบราณเลโทโปลิส (Letopolis)  อันเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เก่า ก่อนจะมาเป็นเมือง Ta-senet และกลายมาเป็นหมู่บ้านเอสนาในปัจจุบัน ที่เป็นโบราณสถานขนาดเล็กต่ำจากพื้นถนนลงไปเป็นหลุมลึกกว่า 10 เมตรใจกลางเมืองใหม่ หากจะไปชมวิหารต้องไต่บันไดลงไปหลายสิบขั้น เรื่องของเรื่อง คือ เมื่ออาณาจักรอียิปต์ล่มสลาย  วิหารและโบราณสถานหลายพันแห่งถูกทิ้งร้าง ถูกทรายทับถมจนแทบไม่รู้ว่ามีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตซ่อนอยู่ วิหารเอสนาก็เช่นกันทรายทับถมไม่แต่เพียงตัวโบราณสถาน แต่รวมถึงบริเวณโดยรอบ ต่อมามีคนอพยพเข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่เหนือวิหารเก่าแก่ที่หลับใหลอยู่ใต้ผืนทราย

จนกระทั่งในปีค.ศ. 1843 จึงได้มีการค้นพบซากโบราณสถานแห่งนี้  อาคารที่ขุดค้นและบูรณะแล้วเป็นเพียงส่วนหน้า หรือส่วนของห้องโถงไฮโปสไตล์  (Hypostyle Hall)  ซึ่งเป็นลักษณะของห้องโถงหน้าที่เต็มไปด้วยเสาคอยรองรับหลังคา

ถึงแม้จะเป็นอาคารแค่หลังเดียวที่ได้รับการขุดค้นและอนุรักษ์แล้วในขณะนี้  แต่เอสนาก็เปล่งประกายความงามที่โดดเด่นด้วยภาพสลักที่ละเอียดยิบทั้งผนัง   เสา และเพดาน  เป็นภาพเล่าเรื่องที่ชัดเจนและยังคงมีร่องรอยของสีที่ทาฉายแม้เวลาจะผ่านไปเป็นพันปี   เสาที่ค้ำวิหารจำนวน 24  ต้นก็มีความพิเศษตรงหัวเสาที่ทำเป็นดอกบัว และต้นปาล์มแต่ละต้นจะมีลวดลายที่ไม่ซ้ำกันเลย  ยิ่งเมื่อแสงอาทิตย์ส่องแสงรำไรผ่านหน้าทางเข้าเข้ามา ด้านในจะมลังเมลืองเหมือนอยู่ในความฝัน  สวยจนลืมหายใจ

ผนังด้านข้างที่สูงกว่า 10 เมตร สูงขนาดที่เราต้องแหงนคอตั้งบ่าเพื่อชมภาพสลักทั้งหมด  ทำให้เรารู้สึกตัวเล็กนิดเดียว เป็นภาพสลักจักรพรรดิโรมันแต่งกายแบบฟาโรห์ถวายเครื่องบรรณาการต่อเทพเจ้าอียิปต์  ผนังด้านเหนือเป็นรูปสลักจักรพรรดิคอมโมดัสกำลังตกปลาท่ามกลางพุ่มต้นปาปิรุสเคียงข้างเทพคนุม     

ด้านข้างประตูทางเข้ายังมีบทสรรเสริญเทพคนุม บทแรกเป็นบทสวดยามเช้าเพื่อปลุกเทพคนุมจากความหลับใหล และยังมีบทสวดสรรเสริญเทพคนุมในฐานะเทพผู้สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก บนเพดานของวิหารเอสนา ทางฝั่งเหนือสลักภาพที่เกี่ยวเนื่องกับดาราศาสตร์ของอียิปต์ เมื่อไม่นานมานี้ทีมนักโบราณคดีชาวอียิปต์และเยอรมัน ที่กำลังทำการบูรณะซ่อมแซมวิหารได้ค้นพบจารึกที่พูดถึงชื่อกลุ่มดาวต่างๆ อาทิ  Orion’s Belt , Alpha Draconis หรือ ดาวมังกร  กลุ่มดาวกระบวยใหญ่  แต่ก็มีบางชื่อที่นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับกลุ่มดาวใด ส่วนฝั่งใต้ของเพดานสลักเป็นภาพจักรราศีของโรมัน  

Mythical Edfu  

จากเอสนาเราข้ามกลับมาใช้ถนน 75 M  ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ จุดหมายคือเมืองเอ็ดฟู (Edfu) ที่ตั้งของวิหารแห่งเทพฮอรัส (เทพที่มีหัวเป็นเหยี่ยว) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตก ทำให้เราต้องข้ามแม่น้ำไนล์กลับไปกลับมาหลายรอบ  เมืองเอ็ดฟูใหญ่กว่าเอสนา และดูจะสนุกสนาน วุ่นวายน่าถ่ายรูปมาก แต่เราไม่ได้แวะเพราะต้องทำเวลา วิหารเอ็ดฟูสร้างขึ้นในช่วงราชวงศ์ปโตเลเมอิก ระหว่าง 237-57 ปีก่อนคริสตกาล  (ในช่วงเฮเลนนิสติก ถ้านับตามแบบกรีก)  ร่วมสมัยกับวิหารหลายๆแห่งริมแม่น้ำไนล์  ทั้งคม ออมโบ (Kom Ombo)  พิเลย์ (Philae)  และวิหารเดนดารา ซึ่งอยู่เหนือลักซอร์ขึ้นไปอีก  เริ่มสร้างในสมัยฟาโรห์ปโตเลมีที่3 Euergetes  จนมาเสร็จสมบูรณ์ในสมัย ปโตเลมีที่ 12 Auretes  โดยสร้างตรงบริเวณที่เคยเป็นวิหารเก่าในสมัยราชวงศ์ใหม่  ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของเมืองเบฮ์เดต  Behdet  และวิหารเก่าที่เคยอยู่ที่นี่ก็อุทิศในเทพฮอรัสในชื่อ ฮอรัสแห่งเบฮ์เดต

เช่นเดียวกับโบราณสถานส่วนใหญ่ของอียิปต์ที่กาลเวลาทำให้ทรายทับถมจนมิด คนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานรอบๆ มีเพียงส่วนบนของ Pylon ที่สูงจากพื้นดินหลายสิบเมตรเป็นส่วนเล็กๆ ที่โผล่ขึ้นมา และได้รับความสนใจจากนักสำรวจชาวฝรั่งเศสในปีค.ศ.1798 การขุดค้นเริ่มขึ้นในปีค.ศ. 1860 โดยนักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศส  Auguste Mariette  และนั่นทำให้วิหารเอ็ดฟูได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง วิหารเอ็ดฟูเองต่างจากวิหารเอสนาที่เราจากมา ตรงที่ทั้งสมบูรณ์ ใหญ่โต ลึกลับและดูศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ทางเข้ามี Pylon ขนาดใหญ่ (Pylon ในสถาปัตยกรรมอียิปต์ คือ ประตูทางเข้าที่จะมีหอสูง 2 ข้างของทางเข้า ด้านหน้าจะมีภาพสลักขนาดใหญ่ ) ตระหง่านขนาดต้องแหงนคอตั้งบ่า นึกภาพว่า ต้องขุดค้นลึกขนาดไหนกว่าจะได้เห็นอาคารสมบูรณ์ขนาดนี้ จาก Pylon แรกเดินผ่านโถงเสาสองข้างเข้าไปอีกจะเจอ Pylon ที่ 2 ซึ่งจะมีรูปปั้นเหยี่ยวต่างแบบ แสดงถึงการอุทิศให้เทพฮอรัส เทพแห่งท้องฟ้าและโอรสของเทพโอสิริส กับเทพีไอซิส 

ตัววิหารเอ็ดฟูเต็มไปด้วยด้วยห้องเล็กห้องน้อย 9 ห้องที่เรียงรายอยู่โดยรอบห้องทำพิธีกลาง ทางเดินและบันไดหินมืดมิดวกวน สามารถไปโผล่ตรงนั้นตรงนี้ได้ บางครั้งเหมือนจะเดินขึ้นไปบนหลังคา แต่แล้วก็วกกลับลงมาโผล่ด้านหน้า ด้านในแม้จะติดไฟแต่ก็เป็นแสงสลัวๆ  บางช่วงแผงไฟเสียก็จะมืดหาย ในความซับซ้อนของวิหารประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยมากทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ตามลำพังตลอดเวลา จนบางครั้งอดรู้สึกวังเวง และขนลุกไม่ได้  ผนังแคบๆ ตรงบันไดสลักรูปเทพเจ้าสูงเท่าคนเหมือนเราเดินเคียงข้างไปกับเทพเจ้าไม่ว่าจะไปทางไหน ทางเดินโดยรอบห้องกลางจะพาเราไปยังห้องเล็กๆ ที่สูงหลายเมตร ผนังเต็มไปด้วยภาพสลักเต็มพรืด ภาพสลักที่นี่ถือว่า มีความสำคัญ เพราะเป็นเสมือนบันทึกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งบทสรรเสริญเทพเจ้า ตำนานความขัดแย้งระหว่างเทพ เทศกาลสำคัญๆ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวของเมืองและวิหารหลังเก่า  

นอกจากนี้ในจารึกบนผนังยังกล่าวถึงเทศกาลแห่งชัยชนะ  (Heb Nekhtet) เป็นงานประจำปีเพื่อเฉลิมฉลองเทพฮอรัสที่จัดขึ้นที่วิหารเอ็ดฟู ในเดือนที่หกตามปฏิทินอียิปต์ (หรือเดือนที่สองของ  Season of the Emergence )  โดยมีการแสดงเรื่องชัยชนะของฮอรัสที่มีต่อเซ็ท  (น้องชายของโอสิริสที่ฆ่าพี่ชาย โดยฉีกร่างเป็นชิ้นๆ และโปรยไปตามที่ต่างๆ  ไอซิสต้องไปตามเก็บชิ้นส่วนของโอสิริสมาประกอบขึ้นใหม่ ) โดยองค์ฟาโรห์จะเล่นเป็นเทพฮอรัสด้วยพระองค์เอง  ส่วนเซ็ทปฏิปักษ์ของพระองค์จะอยู่ในรูปของฮิปโปโปเตมัส  ในการแสดงองค์ฟาโรห์จะแทงฮิปโปตายด้วยฉมวก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่า เทพฮอรัสได้ชัยชนะเหนือเซ็ท  ทั้งนี้บางปีองค์ฟาโรห์อาจจะมอบหมายให้พระผู้ใหญ่แสดงแทนและฮิปโปก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์มีชีวิตจริงๆ อาจจะเป็นแค่ตุ๊กตา และเทศกาลสำคัญอีกเทศกาลหนึ่งที่มีการเฉลิมฉลองใหญ่ที่เอ็ดฟูก็คือ เทศกาลการฉลองการขึ้นครองราชย์ของเหยี่ยวศักดิ์สิทธิ์ (Festival of the Coronation of the Sacred Falcon)  ซึ่งจารึกไว้บนผนังด้านในเช่นเดียวกัน

ห้องกลางของวิหารนั้นเป็นห้องที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจสำคัญของวิหารเพราะเป็นที่ตั้งของรูปสลักเทพสำคัญ และเป็นสถานที่ที่ทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวิหารแห่งนี้  และมีแต่พระผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ และสำคัญที่สุดเท่านั้นถึงจะเข้ามายังห้องทำพิธีนี้ได้ แม้แต่ปัจจุบันนี้เขาก็ยังกั้นไว้ไม่ให้เข้า  ไม่เหมือนที่วิหารลักซอร์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเหยียบย่ำจนทำลายมนตราแห่งความศักดิ์สิทธิ์ไปหมด เราใช้เวลาที่เอ็ดฟูไปนานกว่าที่คาดหมายไว้มาก  เพราะมีอะไรให้ดูให้ชมมากมาย  

ติดตามบทความฉบับเต็มได้ในนิตยสารลิปส์ฉบับเดือนกันยายน 2564 

Text & Photography : Sivika Prakobsantisukh

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม