Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion / Trends

‘Sustainable Material’ วัสดุทางเลือกสำหรับเทรนด์แฟชั่นรักษ์โลก!

วัสดุทดแทนในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ถูกคิดขึ้นเพื่อเทรนด์แฟชั่นยั่งยืน
Fashion / Trends

อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมลำดับที่ 2 ที่สร้างมลภาวะให้กับโลกของเรามากที่สุด ทำให้คนทั้งในและนอกวงการแฟชั่นคอยผลักดันให้เกิดเทรนด์ ‘Sustainable Fashion’ หรือ ‘เทรนด์แฟชั่นรักษ์โลก’ ขึ้นมา ไม่แปลกหรอกที่ปัจจุบันหลายคนนั้นจะคุ้นหูกับคำๆ นี้เพราะแบรนด์และแฟชั่นดีไซเนอร์หลายๆ คนได้ช่วยกันด้วยวิธีและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นรบกวนสิ่งแวดล้อมและโลกให้น้อยที่สุด 

สาเหตุหลักเป็นเพราะกระบวนการในการผลิตเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นขึ้นมาแต่ละชิ้นนั้นมีขั้นตอนที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นยั่งยืนและรบกวนโลกของเราให้น้อยที่สุดคือการที่แบรนด์และดีไซเนอร์หันมาใช้วัสดุที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้าฝ้าย และโพลีเอสเตอร์ 

ลำพังวัสดุเหล่านั้นไม่สามารถทดแทนหลายๆ วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่เคยใช้ในการผลิตสินค้าแฟชั่นได้ ทำให้แบรนด์และดีไซเนอร์หลายๆ คนเลยหันมาใช้และค้นหาวัสดุทางเลือกเพื่อสร้างผลงานแฟชั่นให้สมบูรณ์แบบที่สุด วันนี้ LIPS เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เหล่าดีไซเนอร์รักษ์โลกหลายๆ คนเลือกใช้ วัสดุทางเลือกเหล่านั้นจะมีอะไรบ้างไปดูกัน!

Grape Leather

เริ่มกันที่วัสดุแรกที่เราเพิ่งเห็นในโชว์ของ Stella McCartney Autumn/Winter 2022 อย่าง ‘Grape Leather’ หรือหนังที่ทำมาจากองุ่น วัสดุชนิดนี้เกิดขึ้นจากบริษัทวัสดุชีวภาพที่ชื่อว่า ‘Vegea’ ที่ใช้ผลพลอยได้จากการผลิตไวน์ ผลิตน้ำมันพืช และเส้นใยธรรมชาติที่เหลือจากการเกษตรมาผลิตเป็นหนังที่สังเคราะห์จากพืชชนิดนี้สร้างทางเลือกให้กับเทรนด์แฟชั่นรักษ์โลกได้เป็นอย่างดี 

ถึงแม้ว่าในมุมมองของผู้บริโภค Grape Leather จะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเหมือนหนังสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ แต่การที่นำสิ่งเหลือใช้จากการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทำให้แบรดน์แฟชั่นหลายๆ แบรนด์นั้นหันมาใช้หนังทางเลือกประเภทนี้กันมากขึ้น เช่น Stella McCartney, Marni, H&M และ Ganni แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกจากโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กที่เลือกนำหนังชนิดนี้มาครีเอตเป็นรองเท้าแตะสไตล์ 90s ในคอลเลคชั่น Spring/Summer 2022 ซึ่งเราเชื่อว่ารองเท้าของ Ganni รุ่นนี้จะต้องทำให้สายแฟรู้จักหนังทางเลือกนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน

Pinatex

วัสดุทางเลือกชนิดที่สองยังคงเป็นวัสดุหนังสังเคราะห์ที่ทำมาจากพืชอย่าง ‘Pinatex’ หรือหนังที่ทำมาจากสับปะรด ซึ่งหนังสังเคราะห์ชนิดนี้เป็นวัสดุทางเลือกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการแฟชั่นตั้งแต่ยุคบุกเบิกของเทรนด์แฟชั่นรักษ์โลกเลย หนังสังเคราะห์ชนิดนี้พัฒนาโดยบริษัทที่ชื่อว่า Ananas Anam วัสดุชนิดนี้ทำมาจากเส้นในสับปะรดเหลือใช้ซึ่งกลายมาเป็นวัสดุทางเลือกที่หลายแบรนด์แฟชั่นเลือกใช้ 

จุดเด่นของมันคือความแข็งแรงแต่น้ำหนักเบาทำให้มันกลายมาเป็นตัวเลือกในการผลิตรองเท้า กระเป๋า และสามารถเอามาผลิตเป็นเสื้อแจ็กเก็ต เดรส และสูทได้อีกด้วย ด้วยคุณสมบัติอันน่าทึ่งทำให้หลายๆ แบรนด์นั้นเลือกใช้หนังชนิดนี้มาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น H&M, Adidas, Paul Smith, Hugo Boss หรือแม้แต่แฟชั่นเฮ้าส์สุดหรูอย่าง Chanel ก็ได้นำเจ้า Pinatex มาเป็นวัสดุในการทำหมวกประจำคอลเลคชั่น Pre-Fall 2019 เพื่อโอบรับกับเทรนด์แฟชั่นรักษ์โลกถึงแม้ว่าจะ Chanel จะไม่ได้ออกตัวเป็นแบรนด์รักษ์โลกอย่างจริงจังก็ตาม 

Algae

มาต่อกันที่วัสดุที่เราว้าวมากๆ อย่าง ‘Algae’ หรือสาหร่ายที่ใครคิดว่านอกจากจะเป็นอาหาร บรรจุภัณฑ์ และเป็นส่วนผสมในลักซูรีสกินแคร์แล้ว สาหร่ายยังสามารถนำพัฒนาให้กลายเป็นวัสดุสังเคราะห์ได้อีกด้วย นวัตกรรมสุดล้ำสมัยนี้เกิดขึ้นจากแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีชื่อว่า ‘Charlotte McCurdy’ ผู้ครีเอตแจ็กเก็ตกันน้ำที่ทำจากสาหร่ายในธีสิสจบการศึกษาของเธอที่ Rhode Island School of Design

จนในปี 2021 เธอได้คอลแลบกับ Phillip Lim เพื่อสร้างชุดเดรสเลื่อมจากสาหร่าย ที่นอกจากรักษ์โลกแล้วมันยังเป็นการยกระดับนวัตกรรมในการสร้างสรรค์วัสดุทางเลือกอีกด้วยเพราะมันจะไม่ใช่แค่โปรเจกต์ธีสิสอีกต่อไปเมื่อมาอยู่ในผลงานของดีไซเนอร์ระดับโลกแถมทำให้วัสดุทางเลือกชนิดนี้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งคอลแลบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One x One ของมูลนิธิ Slow Factory และ Swarovski ซึ่งได้การสนับสนุนจาก UN ในการริ่เริ่มการออกแบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หวังว่าในอนาคตเราจะเห็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลกหยิบวัสดุทางเลือกจากสาหร่ายไปครีเอตเป็นสินค้าแฟชั่นกันเยอะๆ นะ 

Mycelium or Mylo

อีกหนึ่งวัสดุรักษ์โลกที่น่าสนใจอย่าง ‘Mycelium’ หรือ ‘Mylo’ เป็นหนังที่ทำมาจากเห็ดถึงแม้ว่าหนังชนิดนี้จะไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ในการสร้างสรรค์วัสดุทางเลือกชีวภาพ แต่หนังชนิดนี้กำลังเข้ามามีอิทธิพลในวงการแฟชั่นจากการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตวัสดุชีวภาพ Ecovative และบริษัทแฟชั่นอย่าง Bestseller และ PVH Corp. เพื่อผลักดันให้วัสดุทางเลือกชนิดนี้กลายมาเป็นอีกหนึ่งวัสดุหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและพัฒนาให้การผลิตหนังชนิดนี้ได้สามารถผลิตได้เป็นวงกว้า 

ซึ่ง Ecovative เป็นผู้ผลิตที่สามารถผลิตหนังที่ทำมาจากเห็ดได้ขนาดใหญ่กว้างกว่า 1.8 เมตรและยาวถึง 24 เมตรเรียกว่ามีขนาดใหญ่มากๆ เพราะว่าหนังชนิดนี้ทำยากมาก Gavin Mcintyre ผู้ก่อตั้ง Ecovative หวังว่าจะเห็นแบรนด์แฟชั่นใช้หนังชนิดนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้นถึงแม้ว่าเราจะเห็นการใช้หนังชนิดนี้บ้างในแบรนด์ไฮแฟชั่นอย่าง Hermes, Gucci และ Stella McCartney ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นแรกที่นำเอาหนังชนิดนี้มาทำเป็นเสื้อผ้าในปี 2020 ที่ Stella ได้เปิดตัวบราและกางเกงที่ทำมาจาก Mycelium และปัจจุบัน Stella ได้นำเอามาใช้ทำกระเป๋ารุ่นฮิตของเธออย่าง Falabella 

Qmonos

หากคุณคิดว่าหนังที่ทำมาจากองุ่นและเห็ดรวมไปถึงเดรสที่ทำมาจากสาหร่ายนั้นแปลกแล้ว เราขอแนะนำ ‘Qmonos’ หรือใยแมงมุมสังเคราะห์ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นโดยบริษัท Spiber จากประเทศญี่ปุ่น Qmonos เป็นการเอายีนไหมจากใยแมงมุมและจุลินทรีย์นั้นหลอมรวมให้กลายเป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่มีความแข็งแรงและทนทานมากๆ ว่ากันว่าเส้นใย Qmonos นั้นมีความแข็งแรงกว่าเหล็กกล้าถึง 5 เท่าและเป็นเส้นใยที่ทนทานที่สุดจากธรรมชาติ 

คุณสมบัติของมันคือทนทาน ยืดหยุ่นได้ดี และย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทำให้มันเป็นตัวตายตัวแทนของผ้าไหมและไนลอนหากหลายๆ แบรนด์ต้องการวัสดุรักษ์โลกไปทำเสื้อผ้าและกระเป๋า ซึ่งในปี 2019 แบรนด์ The North Face ได้วางขายแจ็กเก็ตชื่อรุ่นว่า Moon Parka เป็นแจ็กเก็ตกันหนาวที่ทำมาจากวัสดุ Qmonos ซึ่งพัฒนามาจากแจ็กเก็ตชื่อดังของแบรนด์ Antarctica Parka ซึ่งมีจุดเด่นในการรับมือกับทุกสภาพภูมิอากาศและเมื่อผสานกับเส้นในชนิดนี้ทำให้มันแข็งแรงและทนทานแบบไร้ที่ติ

Wood Pulp Fibre

มาที่วัสดุรักษ์โลกชนิดสุดท้ายที่เราจะพูดถึงวันนี้อย่าง ‘Wood Pulp Fibre’ หรือเส้นใยจากเยื่อไม้ซึ่งเกิดขึ้นโดยบริษัท Spinnova บริษัทวัสดุยั่งยืนสัญชาติฟินแลนด์ที่มุ่งพัฒนาเส้นใยจากไม้ให้กลายเป็นเส้นใยสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ไอเดียของวัสดุชนิดนี้เกิดขึ้นในปี 2009 แต่ผ่านการวิจัยและพัฒนากว่า 10 ปีจนพร้อมจำหน่ายในปีที่แล้วนี่เองถึงแม้จะเป็นวัสดุที่เราคุณเคยอย่างไม้แต่การนำเอามาพัฒนาเป็นเส้นในในอุตสาหกรรมนั้นไม่ง่ายเลย 

ทำให้ข้อดีของเส้นใยชนิดนี้นั้นสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 100% ใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าผ้าฝ้ายถึง 99% แถมสามารถนำมา Recycle และ Upcycle ใช้ใหม่ได้อย่างดีเยี่ยมสมกับเป็นนวัตกรรมของ Spinnova บริษัทชั้นนำของฟินแลนด์และเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลก ซึ่งหลายแบรนด์แฟชั่นได้นำเอาเส้นในชนิดนี้ไปใช้แล้ว เช่น The Nort Face แต่ที่เรากรี๊ดสุดคงเป็น Marimekko แบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์สัญชาติฟินแลนด์ได้ร่วมมือพัฒนาวัสดุนี้กับ Spinnova จนคอลเลคชั่นแรกที่ใช้ Wood Pulp Fibre ได้ออกวางจำหน่ายในต้นปี 2020 ปรบมือ! 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม