มากกว่าแค่การเปลี่ยนลุค แต่การเปลี่ยนสีผมยังเหมือนการปฏิวัติตัวตนเดิม เพื่อนำพาตัวตนใหม่เข้ายึดครองตัวตนที่เคยจืดชืด หรือสยบยอมให้กับกรอบจารีตดั้งเดิมในสังคม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คาแร็กเตอร์ผู้เล่นหมายเลข 456 ในซีรีส์ Squid Game นั่นอย่างไรล่ะ ทำไมเขาถึงเลือกย้อมผมสีแดงแปร๊ด ก่อนจะ move on ไปเล่นเกมในโลกความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายต่อไป
เรื่องราวของ เต้-วิพุธ จารุธรรมากร แฮร์สไตลิสต์ผู้ก่อตั้ง ROOFHAIR Salon ก็คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อหนุ่มจากรั้วสถาปัตย์ฯ ได้ตัดสินใจย้อมผมสีแดงเพลิงด้วยตัวเอง ก่อนหันเหเส้นทางเข้ามาสู่วงการโฆษณา ผ่านมาแล้วทั้งการเป็นครีเอทีฟ อาร์ตไดเร็กเตอร์ เออี ได้เรียนรู้ระบบขับเคลื่อนทุนนิยมจากแวดวงนี้แบบ 360 องศาฯ ก่อนตัดสินใจหันมาจับกรรไกร ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเสกปั้นลุคใหม่ให้กับทุกคนที่เดินขึ้นบันไดมาสู่ซาลอนบนห้องใต้หลังคาที่มีชื่อว่า ROOFHAIR Salon ด้วยแรงบันดาลใจเรียบง่ายที่ว่า
“มันเป็นงานศิลปะที่ได้อยู่กับคน แล้วผมรู้สึกสนุกกับการทำงานตรงนี้”
เขาตอบอย่างไม่ลังเลขณะนั่งเอนหลังบนเก้าอี้ตัดผมใน ROOFHAIR Salon สาขาสุขุมวิท 26 ที่ที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตสร้างงานศิลปะในแบบของเขา
“ด้วยความที่ผมเรียนสถาปัตย์มา ผมจึงมองว่า ทั้งสี ทรง และเท็กซ์เจอร์ของเส้นผม มันคือ element ของการทำงานผมทั้งหมด ส่วนตัวผมมองว่า มันเป็นงานดีไซน์ที่ต้องมี element ทุกอย่างประกอบกันเข้าไป สีก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สนุกแล้วก็เป็นเรื่องแรกๆ ที่ผมเริ่มรู้สึกว่า น่าสนใจ
…ผมได้ลองทำสีกับหัวตัวเองก่อน ตอนสมัยเรียนอยู่ชั้นปี 2- 3 ตอนนั้นเราแค่รู้สึกเบื่อแล้วก็แค่อยากดูแปลกใหม่ เคยทำมาแล้วทั้งสีแดง สีเหลือง หรือทำช่อข้างหน้าเป็นสีทองบ้าง ออกมาเวิร์กบ้าง ออกมาพังก็มี เพราะบางทีย้อมผมสีแดงระหว่างรอ render งานไว้แล้วก็ดันหลับ พอตื่นขึ้นมาอ้าว…ล้างผมออกมา คือ ผมแดงมาก”
หลังจากเริ่มรู้ตัวว่า สนใจศาสตร์การทำผม เขาได้เข้าเรียนในสถาบันสอนทำผมชื่อดังย่านสยามสแควร์ ก่อนจะได้ฝึกปรือฝีมืออย่างจริงจังที่แฮร์ซาลอนญี่ปุ่นชื่อดังย่านสุขุมวิท ซึ่งกว่าจะได้ลงมือทำสีผมให้ลูกค้านั้นก็ต้องสอบผ่านมาตรฐานที่ทางร้านตั้งเกณฑ์ไว้
“เรื่องการทำสีผม มันมีเรื่องของในเชิงเทคนิค กับในเชิงความรู้ ในเชิงเทคนิคในที่นี้คือ แค่ทาเป็น ล้างสีเป็น ตัดฟอยล์เป็น ผสมสีเป็น โดยสไตลิสต์จะมาบรีฟว่า สีตรงนี้เราจะใช้สีอะไร แล้วผู้ช่วยก็จะเป็นคนผสมแค่ตามสีที่สไตลิสต์คิดมาให้เรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาทิ้งนานขนาดไหน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสไตลิสต์ทั้งหมด
…แต่ในระหว่างที่เราเป็นผู้ช่วยเราต้องมีความเข้าใจในเรื่องของทฤษฎีสีในแง่ของเรื่องศิลปะเองด้วย แล้วก็ในแง่ของเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะสีเป็นสารเคมี เราต้องรู้กลไกที่สารเคมีจะทำงานกับเส้นผมของเรามีการทำงานอย่างไร ถ้าจะเป็นช่างผมได้ ต้องผ่านสองขั้นนี้
เวลาเราเอาโมเดลของเราเพื่อมาสอบ เขาก็จะเช็กเราว่า เรามีความรู้ในการเลือกสีได้ถูกต้องมากขนาดไหน อันนี้ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการที่เขาจะดูว่า เราสอบผ่าน หรือสอบไม่ผ่าน ซึ่งถ้าเป็นผู้ช่วยที่เรียนรู้เร็วๆ บางทีสัก 1-2 เดือนก็สามารถทำได้”
เมื่อถามถึงเทคนิคในการเลือกสีผมให้เข้ากับสีผิว และบุคลิกภาพ แฮร์สไตลิสต์หลายคนมักจะยึดทฤษฎี Personal Color เป็นหลักในการทำงาน แต่สำหรับช่างผมที่มองผลงานของตัวเองเป็นงานศิลปะ เขามองว่า หลักการ Personal Color เป็นพื้นฐานที่คนเรียนศิลปะย่อมมีติดตัว แต่จะฉีกกรอบออกไปในทิศทางไหน สร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่าง และสดใหม่ได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของช่างที่สามารถบาลานซ์กับความต้องการของลูกค้าได้ลงตัว
“จริงๆ แล้ว ผมมองว่า Personal Color เพิ่งจะมาเป็นเทรนด์ ณ ตอนนี้ ซึ่งถ้าเกิดคนเรียนศิลปะมาจะรู้อยู่แล้วว่า สีผมแบบไหนที่จะเข้ากับสีผิวไหนได้ดี อย่างสมัยผมเรียนสถาปัตย์จะมีวิชาเลือกชื่อวิชา Textile Apparel คือ วิธีการเลือกเสื้อผ้าให้เข้ากับ personality ของคน เขาจะพูดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วแหละว่า คนที่มีผิวสีนี้ ตาสีนี้ หรือว่าสี undertone ของเมลานินที่อยู่ในร่างกายเรามาพิจารณาเพื่อประกอบเข้ากับสีผม
…ส่วนตัวผมคิดว่า ทฤษฎีนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ทำอะไรออกมาแล้วเซฟ แต่บางครั้งจะบอกว่า การที่แหกทฤษฎีนี้ออกมา บางทีมันก็สร้าง impact แล้วก็ทำให้สวยได้โดยที่ไม่เหมือนคนอื่นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าถามผม Personal Color เป็นไกด์ไลน์ที่เราควรมีความรู้เอาไว้ แต่เราไม่จำเป็นจะต้อง follow เรื่องนี้ไปทั้งหมด
…เวลาทำสีผมให้ลูกค้า อันดับแรกเลย ผมต้องมองเรื่องผมก่อน สภาพผมทำสีได้ไหม ผมเส้นเล็ก หรือเส้นใหญ่ จะสามารถนำไปสู่ target ที่เขาอยากจะได้ด้วยหรือเปล่า ดูความเป็นไปได้ว่า ผมเขาทำได้ หรือทำไม่ได้ ทำได้ง่าย หรือทำได้ยาก ซึ่งพวกนี้มันก็จะมีผลย้อนกลับมาตรงที่ว่า ถ้าทำได้ยาก ราคาก็จะแพงขึ้น เราก็ต้องบอก budget เขาไปเลย เพื่อให้เขาไม่มาตกใจตอนสุดท้าย หรือถ้าทำไม่ได้ ทำแล้วผมจะพังก็จะไม่ทำให้ อันนี้ให้ความสำคัญเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่ถ้าทำแล้วผมเสีย แต่ถ้าเสียแบบนี้แล้วคุณรับได้ แล้วคุณต้องกลับไปดูแลแบบไหน ที่จะทำให้มันไม่ไปเกินเลยจากตรงนี้ อันนี้ก็ต้องอธิบายก่อน
…แต่ถ้าในแง่ความสวยงาม ส่วนตัวผมทำงานเป็นดีไซเนอร์ มากกว่าที่จะมองว่าตัวเองเป็นศิลปิน เพราะฉะนั้น ผมจะไม่ได้มาถึงปุ๊บแล้วมี vision ว่า ลูกค้าคนนี้จะต้องทำสีนั้นสีนี้ขึ้นมาเลย แต่ vision ของผมจะเกิดจากการที่มานั่งคุยกัน หรือถ้าเป็นลูกค้าที่เรารู้จักกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว เรารู้ว่า เขาใช้ชีวิตอย่างไร บางทีผมไปมอนิเตอร์ผ่านโซเชียลมีเดียของเขา แล้วเห็นว่า เฮ้ย…เขามีมุมอะไรแบบนี้ที่น่ารักดี แล้วสีผมจะไป integrate กับการใช้ชีวิตของเขาอย่างไรได้บ้าง
…ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดเขามีไลฟ์สไตล์ที่ชอบออกแดด แล้วเขาต้องไปเจอสีผมที่มันโดนแดด กับสีผมที่มันอยู่ในที่ร่ม มันก็ให้ feeling ที่ต่างกัน ลูกค้าบางคนบอกว่า ฉันชอบผมสีเข้ม ฉันจะไม่ทำสีผมเลยตลอดชีวิต แต่ผมลองให้เขานึกว่า ถ้าผมคุณเป็นสี dark brown ปุ๊บเวลาคุณไปถ่ายรูปกับ activity ที่คุณอยู่กลางแดดปุ๊บ ผิวคุณจะ glow ขึ้นมา ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลา โน้มน้าวเขาสักประมาณ 4-5 ครั้ง จนสุดท้ายแล้วเขายอมทำ พอยอมทำเสร็จปุ๊บ แล้วเขาก็บอกว่า เขาดีใจมากที่เขาได้ทำ
…หรือถ้าลูกค้าชอบมัดผม ลองทำ Inner Color ที่เดี๋ยวนี้คนชอบทำก็ได้ เพราะ Inner Color มันอยู่ข้างใน เวลาปล่อยออกมาจะมองไม่เห็น แต่พอมัดผมขึ้นไปปุ๊บ สีผมข้างในก็จะโชว์ขึ้นมา”
แฮร์สไตลิสต์ที่ดีไม่ได้แค่มีหน้าที่สานฝันให้เป็นจริงเท่านั้น แต่บางครั้งถ้าหากความฝันห่างไกลความเป็นจริงเกินไป ในฐานะแฮร์สไตลิสต์ที่ควบตำแหน่งเจ้าของซาลอนอย่างเขาจะรับมือกับเคสลักษณะนี้อย่างไรถึงจะจบลงอย่าง happy ending
“ผมคิดว่า ถ้าลูกค้าเขามาด้วยความตั้งใจแรงกล้าแล้วว่า เขาอยากทำสิ่งนี้ หน้าที่ของแฮร์สไตลิสต์ที่ดีคือ ทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นแล้วก็เข้ากับเขามากที่สุด สมมติเขาอยากได้สีชมพู แต่สุดท้ายแล้วเราไปคิดวิเคราะห์มาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องสภาพเส้นผมเขาที่อาจจะไม่ไหว หรือจะเกิน budget ที่เขาตั้งไว้ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์เขาที่ดูแล้วสีชมพูเฉดนี้อาจจะอยู่ได้แค่สองครั้งของการสระผม แต่ถ้าเขาอยากจะทำสีนี้จริงๆ ช่างผมที่ดีจะต้องไม่ดับฝันลูกค้าด้วยการที่ไม่ใช่ไปบอกว่า “ทำแล้วไม่สวยหรอก ทำแล้วไม่เข้าหรอก” แต่เราจะหาวิธีการ compromise จุดตรงกลางที่ดีที่สุดว่า เขายังได้สิ่งที่เขาอยากจะได้อยู่ แล้วในฐานะที่เราเป็นแฮร์สไตลิสต์ เรายังทำให้เขาสวยได้ครับ ผมว่า นี่คือสิ่งที่ท้าทายที่สุด ที่ช่างผมสามารถนำเรื่องของการเซอร์วิส และงานศิลปะเข้ามาผนวกกันได้”
ในเมื่อการทำสีผมซาลอนไหนๆ ก็สามารถทำได้ แล้วทำไมต้องเดินขึ้นบันได 4 ชั้นมาทำผมในห้องใต้หลังคาแห่งนี้ ผู้ก่อตั้ง ROOFHAIR Salon ตอบอย่างมั่นใจว่า
“เราจับคู่สีได้ดี แล้วก็เข้าใจเนเจอร์ของสีที่ว่า การที่สีอยู่บนหัวลูกค้าแล้วมันเอฟเฟ็กต์อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น บางร้านลูกค้ามาถึงปุ๊บ แล้วบอกว่า อยากได้สีนี้ เขาก็จะฟอกผมทั้งหมดได้เท่านี้ แล้วเขาก็ลงสีนี้จริงๆ แต่เขาไม่ได้อธิบายลูกค้าว่า หลังจากที่ผมเป็นสีนี้ไปปุ๊บ เขาจะต้องดูแลอย่างไรให้สีนี้มันอยู่ต่อไปได้ หรือเขาควรจะต้องเปลี่ยนทรีตเม้นต์หรือครีมนวดผม เพื่อให้ผมไม่ขาด แต่ช่างผมที่นี่เข้าใจดีว่า สีผมที่จะอยู่กับชีวิตจริงของลูกค้าได้ดีต้องเป็นอย่างไร
…แล้วช่างที่ร้านฟอกผมเก่ง ฟอกผมละเอียด ที่ร้านจะมีบลีชหลายยี่ห้อ แต่ถามว่า จะใช้ยี่ห้อไหนกับใคร ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์มากกว่า บลีชบางตัวอาจจะดีตรงที่ว่า ใช้ทำงานเร็ว ยกระดับได้สูง แต่ถ้าช่างทาช้า หรือไม่มีคนช่วยทำหัวนั้นในระยะเวลาเร็วๆ บลีชตัวนี้ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ บลีชบางตัวทำงานช้ากว่า ก็อาจจะเหมาะกับคนที่ทำงานช้า หรือบลีชบางตัว ไม่ได้มีหน้าที่ในการยกระดับสีผม แต่แค่ล้างเม็ดสีของสีเดิมที่เคยทำมาก่อน เพื่อที่ทำให้ผมไม่เสียมากขึ้น บลีชบางตัวเนื้อข้นกว่า บลีชบางตัวเนื้อเหลวกว่า เวลาตอนทาบนเท็กซ์เจอร์ผมที่ต่างกัน”
ทุกวันนี้วิวัฒนาการของการทำสีผมพัฒนาไปไกล ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แฮร์สไตลิสต์ทำงานได้ง่ายขึ้น คนทั่วไปก็เปิดรับในแฟชั่นสีผมที่แตกต่าง และมีความกล้าที่จะลองเติมสีสันลงบนเส้นผมมากขึ้น เราจึงได้เห็นสาวออฟฟิศบางคนทำผมสีฟ้าครามแต่ยังคงแต่งตัวเคร่งขรึมน่าเชื่อถือ หรือวัยรุ่นที่รักพี่เสียดายน้องตัดใจเลือกสีใดสีหนึ่งไม่ได้จึงรวบตึงไปเลย 7 เฉดสีรุ้งบนศีรษะเสียเลย ซึ่งวิพุธมองว่า New Normal ในวงการผมดังกล่าว เกิดจากแรงกระเพื่อมของโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
“ผมมองว่า โซเชียลมีเดียสำคัญมากสำหรับกระแสที่จะทำให้คนกล้าทำสีผมมากขึ้น เหมือนอย่างตัวผมเอง ถ้าย้อนไปมองจุดเริ่มต้นเรื่องการทำสีผมเมื่อตอนสิบปีที่แล้ว วันหนึ่งเราอยากจะย้อมผมสีแดง เพราะเราไปเห็นแรงบันดาลใจจากแมกกาซีนญี่ปุ่น แต่พอมาเปรียบเทียบกับสมัยนี้ เด็กแค่ไถมือถือปุ๊บเขาก็เห็นว่า ทั่วโลกมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อันนี้รวมไปถึงทรงผมด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่สีผมอย่างเดียว
…สังเกตง่ายๆ ถ้าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ละซีซั่นจะมี Hair Catalogue ออกมา ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมทุกซีซั่นถึงจะต้องมีทรงนี้ที่ถูกมากำหนดจากสถาบันผมว่า ทรงนี้จะเป็นทรงที่ฮิต ตอนนี้ทรงผม หรือสีผม มันไม่ได้เวิร์ก ด้วยวิธีการนั้นแล้ว มันเวิร์กโดยวิธีการที่ว่า เราสามารถเห็นได้ว่า ทั้งโลกนี้ใครทำอะไรบ้าง ฉันก็สามารถเป็นอย่างไรก็ได้ อย่างที่ฉันอยากเป็น
…แต่ถึงอย่างไรเรื่องเทรนด์ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ มันก็มีอิทธิพลอยู่ดีแหละ อย่างช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา คนย้อมผมสีส้มกันเยอะมากจนน่าตกใจ เพราะก่อนหน้านี้สีส้มดูไม่ค่อยเป็นสีที่คนให้ความสนใจสักเท่าไร”
จากประสบการณ์ทำงานเป็นแฮร์สไตลิสต์ร่วม 10 ปีนิดๆ หลอมรวมเข้ากับมุมมองที่ตกผลึกต่อโลกที่วิ่งตามทุนนิยมจนไม่เป็นตัวของตัวเองทำให้แฮร์สไตลิสต์หัวขบถอย่างเขามองข้ามเรื่องเทรนด์ และค้นพบสีที่เหมาะกับตัวเองจนไม่คิดที่จะค้นหาสีอื่นมาแทนที่
“สีที่แทนตัวผมได้ดี คือ สีบลอนด์ครับ แล้วผมก็คิดว่า ผมน่าจะมีผมสีบลอนด์ไปตลอด ถ้าใครมีที่พาไป rehap แล้วเลิกทำผมสีนี้ช่วยบอกผมมาหน่อยก็ดี (หัวเราะ) ตั้งแต่ผมอยู่ในวงการนี้มา ผมทำมาทุกสีแล้วแหละ สุดท้ายแล้วผมชอบสีผมที่เป็นธรรมชาติ แต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นเรื่องการแต่งตัวผมชอบใส่สีเข้ามาเป็น accent ผมเลือกสีในการใช้เน้นอะไรบางอย่าง อย่างรอยสักสี หรือใช้สีเป็นแค่แอ็กเซสซอรี่เล็กๆ อย่าง ถุงเท้า รองเท้า มากกว่าที่จะเอาสีมาละเลงทั้งตัว
…แต่ลึกๆ แล้วผมเป็นคนชอบสี primaly color มีแพนโทนของตัวเอง มี color scheme ของตัวเองที่จะไม่ค่อยพยายามแหวกไปกว่านี้เท่าไร ถ้าเป็นในอดีต ถ้าเป็นสมัยตอนเด็กๆ ผมจะมีสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงินเยอะมาก เพราะมันคือ primary color เหมือนของเล่นเด็กเลย พอโตขึ้นมาปุ๊บ เราเริ่มเอาสีเขียวเข้ามาแม็ตช์ แล้วแอบมีสีส้มตามมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้สีส้มเราแทบจะไม่เคยใช้เลย
…สำหรับผม สีที่ชอบ หรือสีที่ไม่ชอบ มันไม่ได้มาจากความรู้สึกอย่างเดียว แต่มันจะมีปัจจัยภายนอกที่มันจะทำให้เรารู้สึกชอบ หรือไม่ชอบสีนั้นในช่วงเวลาไหนในชีวิต ถ้าเป็นตอนเด็ก ผมไม่ชอบสีเขียว เพราะแค่ว่า กีฬาสีทีไรผมโดนจับไปอยู่สีเขียวทุกปีเลย ก็เลยมีแต่เสื้อกีฬาสีเขียว แล้วตอนเด็กๆ สีเขียวมักจะเป็นตัวที่ไม่ได้รับความสนใจ ในขณะที่สีแดงจะได้รับความสนใจ ดูอย่างในขบวนการพาวเวอร์เรนเจอร์สีแดงก็จะเป็นตัวที่เด่น ในขณะที่เขียวจะดูเป็นตัวประกอบ ถ้ากลับมาย้อนมองแล้ว สีเขียวจึงเป็นสีที่มาจนถึงวันนี้ก็เป็นสีที่ผมหยิบมาใช้น้อยมาก มันอาจจะถูกฝังอยู่ใน subconscious
…แต่ถ้าเป็นเรื่องการทำสีผม สีที่ไม่ค่อยได้ใช้ คือ พวกสีโทนพาสเทล แต่ถ้าถามว่า ชอบไหม ถ้ามันอยู่บนผมลูกค้า ผมชอบมาก แล้วก็อยากทำอยู่ตลอด แต่ว่าสีนี้ โอกาสในการที่จะทำค่อนข้างยากมาก เพราะหนึ่งเลย คือ ผมต้องเสีย ผมคนไทยจะต้องเสียไปถึงจุดหนึ่งแล้วเมื่อเสียไปถึงจุดนั้นปุ๊บ การจะ maintain ให้มันอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายมากๆ”
ในอนาคตเทรนด์สีผมแบบไหนน่าจะมาแรง เราทิ้งถามคำถามสุดท้ายก่อนที่เขาจะลุกไปเตรียมตัวเสกลุคใหม่ให้ลูกค้าที่จองคิวไว้ อีกครั้งที่วิพุธส่ายหน้าให้กับคำว่า ‘เทรนด์’ พร้อมตั้งคำถามกลับว่า
“ผมอยากรู้ตอนนี้เทรนด์มันมีความหมายอยู่อีกเหรอ ทั้งในแง่ของแฟชั่นเองก็ตาม…
ผมคิดว่า ช่างผมที่ดี เราแค่ควรที่จะรู้ว่า สิ่งนี้ถ้าเราสามารถแนะนำให้ลูกค้าเขาไป แล้วเขาแฮปปี้กับการที่เขาได้สีนี้กลับไป นั่นคือ สิ่งที่ช่างผมควรจะทำแต่เราไม่ควรที่จะต้องมาพูดว่า สีนี้ คือ สีฮิต ทุกคนจงไปย้อมสีนี้กันในซีซั่นนี้”
ดังนั้น ‘สี’ ที่สะท้อนความสุข สร้างความมั่นใจให้กับตัวเราได้ จึงเป็นสีที่ไม่มีวันตกยุค นั่นคือ สีที่เราได้ค้นพบจากบทสนทนากับแฮร์สไตลิสต์ผู้มีมุมมองรอบด้าน