ท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย และการใช้ชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน แม้ว่าความเจริญทางวิทยาการ และเทคโนโลยีจะก้าวล้ำเกินกว่าการคาดเดาของคนสมัยเก่าจะจินตนาการได้ ทว่าสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่หรืออาจเพิ่มขึ้นอย่างสวนทางกับความเจริญทางวัตถุที่ยากจะหยุดยั้งได้ นั่นก็คือ สภาวะจิตใจของผู้คนที่หมองเศร้า หรือเจ็บปวดจากหลายปัจจัยภายนอก และท่ามกลางการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีอันสูงสุดนี้เอง ‘ศิลปะ’ คือ กลวิธีเรียบง่ายสามัญ และมีความเป็นสากลที่สุด ที่สามารถปลอบประโลม และบำบัดจิตใจผู้คนได้
ปัท-ปรัชญพร วรนันท์ เปิด Studio Persona ในย่านอโศก-ดินแดง ให้เราได้รับรู้ถึงกระบวนการที่ศิลปะช่วยบำบัดเยียวยาจิตใจผู้คน ในรูปแบบที่แตกต่าง รวมถึงการได้มองเห็นคุณค่าเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ถึงการระบายสีสันรอบตัวเรานั้นสามารถลดทอนความรู้สึกเชิงลบในใจของคนเราได้ไม่มากก็น้อย
“ปัทโตมากับการอ่านหนังสือ วาดรูป อาจเป็นเพราะว่าปัทเป็นลูกคนเดียว ซึ่งพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้เท่าไร คุณพ่อคุณแม่จึงซื้อหนังสือให้เราอ่านเวลาอยู่บ้าน หรือเอาไปอ่านตอนรอเขาที่ทำงาน นอกจากนี้การวาดรูปยังกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เราชอบทำ เราเติบโตมากับกระดาษ โตมากับดินสอสี บางทีก็วาดบนผนัง หรือสมุดบัญชีของคุณแม่ (หัวเราะ) มันคือสมุดเล่มหนาๆ ใหญ่ๆ ปัดชอบไปวาดรูปบนหน้าแรกของสมุด จนเขาจะเก็บหน้านั้นไว้ให้เราวาดค่ะ นั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจด้านศิลปะของเรา จนทำให้วันที่เข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกเรียนครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
หลังจากนั้นศิลปะก็พาให้เธอค้นหาตัวตนผ่านโลกแฟชั่น จากความชื่นชอบการแต่งตัว แต่สุดท้ายแล้วโลกแฟชั่น คือ ธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ เธอจึงเบนเข็มสู่โลกของศิลปะและการศึกษา ที่นำไปสู่โลกที่เรียกว่า ‘ศิลปะบำบัด’ ในที่สุด
“ปัทเรียนต่อปริญญาโทด้านแฟชั่น แต่เรียนไปได้แค่เทอมเดียวก็ลาออกเลย เพราะรู้สึกว่า มันไม่ใช่ตัวเรา เราชอบความสวยความงาม ชอบแต่งตัวก็จริง แต่เราเริ่มตั้งคำถามว่า อะไรที่เหมาะกับตัวเรา อะไรที่จะใช้เป็นอาชีพของเรา และกึ่งหนึ่งของอาชีพนั้นจะได้รู้จักตัวเองไปพร้อมสิ่งที่ทำด้วย ซึ่งโลกแฟชั่นมันมีความเป็น business มาก จนรู้สึกว่า เราทำอะไรที่ไม่เป็นตัวเราขนาดนั้น เลยตัดสินใจลาออก
…เรามองหาอะไรที่เป็น Art & Design จนเจอหลักสูตรปริญญาโท ว่า Applied Imagination in the Creative Industries ที่ Central Saint Martins พอเริ่มเรียนบรรยากาศก็ต่างออกไป เราต้องเรียนเกี่ยวกับความคิด งานดีไซน์ กึ่งธุรกิจด้วย ช่วงเวลานั้นเราเริ่มคิดแล้วว่า ทักษะไหนของเราที่จะนำไปใช้ต่อได้ ช่วงที่ทำงานวิจัยปริญญาโท เรากลับไปเลือกในจุดที่เราชอบการศึกษากับศิลปะ เราเลือกศิลปะเป็นเครื่องมือในการวิจัย จะทำอย่างไรให้เด็กๆ หรือทำให้คนรู้จักตั้งคำถามมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนสามารถสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิดผ่านโปรแกรมศิลปะได้ ซึ่งพอเราไปคลุกคลีกับเด็กๆ อยู่หลายเดือน ตอนนั้นไม่รู้จะซัพพอร์ตพวกเขาอย่างไร พอเริ่มค้นคว้ามากขึ้นจนพบศาสตร์ที่เรียกว่า Art Therapy หรือ ‘ศิลปะบำบัด’ ที่นำมาใช้ได้ เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก หลังจากเรียนจบปริญญาโท ปัทตัดสินใจเรียนศิลปะบำบัดต่อเลยค่ะ”
เธอเล่าที่มาพร้อมขยายความคำว่า ศิลปะบำบัด การเยียวยารักษาบาดแผลทางใจ ศิลปะเพื่อโรคภัยในจิตใจของผู้คน เพื่อให้เห็นภาพความสำคัญของศิลปะมากขึ้น
“ศิลปะบำบัดเป็นศาสตร์ดั้งเดิมเริ่มต้นช่วงราวๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ะ เป้าหมาย คือ การรักษาผู้ที่มีผลกระทบทางภาวะจิตใจ (trauma) โดยตรงจากสงคราม ศิลปะเข้าไปทำงานร่วมกับจิตแพทย์ นักจิตบำบัด ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาเป็นศิลปะบำบัด เริ่มจากผู้มีบาดแผลทางใจ สู่คนอื่นๆ เราใช้ศิลปะเหมือนเครื่องมือสื่อสาร ในหลายรูปแบบแตกต่างกันไป
…อย่างการบำบัดในวัยรุ่น เราใช้ศิลปะมาช่วยหา identity ช่วยให้เขารู้จักอารมณ์ของตัวเอง หรือช่วยให้เขาสามารถแสดงออกทางอารมณ์ออกมาได้มากขึ้น ในส่วนของผู้ใหญ่ศิลปะบำบัดอาจมาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสื่อสารสถานการณ์ที่เขาเจออยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด การรับรู้ทางร่ายกายที่เผชิญเป้าหมายของผู้มาบำบัดแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีความเครียด กังวล ปวดหัวต่อเนื่อง หรือภาวะหมดไฟ (burnout) จนเกิดเป็น Creative Block ต้องการบำบัด เพื่อค้นหาความสร้างสรรค์อื่นๆ ในตัวเองใหม่ ศิลปะบำบัดเป็นมากกว่าช่วย relax แต่คือกลไก หรือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการบำบัดได้อีกหลากหลาย
…ที่ Studio Persona จะมี private practice ซึ่งจะมีระบบคัดกรองก่อน เช่น ถ้าเขาคิดว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เราจะมีการประเมินเบื้องต้นด้วยการพูดคุย ถามคำถาม เคยปรึกษาจิตแพทย์ไหม ปัทจะแนะนำให้พบคุณหมอก่อนเพื่อประเมินอาการ และศิลปะบำบัดจะเป็นเหมือนการบำบัดทางเลือก (alternative therapy) เป็นเพียงอีกทางเลือกที่ใช้ควบคู่ไปกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ใช่มีอาการเรื้อรังแล้วศิลปะบำบัดช่วยรักษาแล้วจะหายทันที
…ในกลุ่มผู้มารับการบำบัดบางส่วนก็เป็นบุคคลที่มีความเครียดปกติ คือ มีอาการนอนไม่หลับ หมดไฟ รู้สึกเศร้า แต่ไม่ถึงขนาดต้องพบจิตแพทย์ เราแค่ช่วยหาเครื่องมือบางอย่างที่ช่วยสื่อสาร และทำความเข้าใจกับตัวเองให้ได้ ตัวปัทเองทำงานภายใต้อาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นนักบำบัดชาวอังกฤษ คอยช่วยให้คำปรึกษาเราตลอด มีการอัพเดทผ่าน skype เดือนละ 2 ครั้ง”
แขนงของศิลปะที่หลากหลาย คือ เครื่องมือในการบำบัดที่แตกต่างกันไปในแต่ละเคส โดยมี ‘สี’ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร บำบัด และนำไปสู่ความเข้าใจตัวเอง
“ส่วนใหญ่เราให้ลองหลายแบบผ่านกิจกรรมเล็กๆ เช่น การแนะนำตัวเองผ่านภาพ การวาดภาพบางอย่างที่เกี่ยวกับตัวเขา พูดคุยถึงเป้าหมายที่ต้องการจากศิลปะบำบัด เน้นเรื่อง Human Reflex Approach หรือศักยภาพของบุคคล ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องการตีความ ไม่จำเป็นต้องบอกว่า คุณวาดภาพแบบนี้ต้องเป็นคนแบบนี้ ต้องไปทำสิ่งนี้
…เครื่องมือที่ใช้ก็จะมีการวาดภาพ ระบายสี การปั้น การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้เสียงรูปแบบต่างๆ เช่นการเปล่งเสียง organic sound ของตัวเองผ่านภาพ ผ่าน movement มี sand play ของเล่นในกระบะทราย การสร้างสรรค์งานคราฟต์ต่างๆ การสัมผัสเท็กซ์เจอร์ โดยมากเป็นการบำบัดอย่างบูรณาการร่วมกัน ต่อเนื่องกันเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน มีการบ้านให้กลับไปทำ เพื่อกลับมาคุยกันใน session สัปดาห์ต่อไป
…แทบทุกเวิร์กช็อปของสตูดิโอ จะมีส่วนของสีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งค่ะ ปัทมองว่า ความหมายของสีของแต่ละคนก็มีความเชื่อมโยงที่แตกต่างกัน สีดำที่ดูมืดมิดอาจะไม่ได้เป็นความรู้สึกเชิงลบสำหรับทุกคนเสมอไป มันอาจเป็นความสงบ การทำงานกับความโศกเศร้า (grief) บางครั้งเราก็ต้องการพื้นที่ในการจัดการกับความเศร้าของตัวเองที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับสีแดงที่ไม่ได้หมายถึงอารมณ์โกรธเคือง (anger) เสมอไป บางครั้งสีแดงก็หมายถึงความรักได้ สีสันจึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจสู่อะไรก็ได้ ‘สี’ เป็นเหมือนเครื่องมือให้เขาเดินทางในโลกของของตัวเอง หาความหมาย หาประสบการณ์ความเชื่อมโยงระหว่างเขาและสีเหล่านั้น ค้นหาสีที่สามารถอธิบายตัวตนของตัวเองให้ได้ อธิบายความสำคัญของสีต่างๆ ที่มีผลต่อความรู้สึกของเขา เข้าใจตัวเอง เพื่อค้นหาว่า เขาจะควบคุม หรือจัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างไร
…เราจะเห็นความเครียด ความโกรธที่ลดลง สภาวะอารมณ์จากสีในงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นสี ร่องรอย หรือสัมผัสเพียงแค่จุดเล็กๆ ในกระดาษ ผลงานของเขาเหมือนเป็นการ ownership กับตัวเอง นี่คือพื้นที่ของฉัน ฉันเชื่อในพื้นที่นี้ เราจะเห็นว่าเขา let go จากมันได้ พอเสร็จงานจะเห็นความเชื่อมโยงกับผู้ทำ มี identity ของแต่ละช่วงเวลาของตัวเอง เราสามารถมีประสบการณ์กับสีที่แตกต่างไปได้ในหลายช่วงอายุ เช่นสมัยเด็ก หรือก่อนหน้านี้สัก 3 ปี เราอาจจะชอบสีหนึ่ง เพราะมันมีความหมายเฉพาะกับตัวเรา มีคุณค่าหรือเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่มีผลกับเรา”
สีที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงพลังบางอย่างที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่อย่างไร เธอได้ไขข้อสงสัยบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่องของ ‘สีมงคล’ อีกด้วย
“บางคนก็เชื่อมโยงกับเรื่องของสีมงคล สีที่ผ่าน process ในการบำบัดมันอาจจะเป็นสิ่งที่มี value ของเรา สีนี้ที่ทำให้เรามั่นใจในตัวเองมากขึ้น เชื่อมั่นในศักยภาพของเรา ปัทว่าเป็น ‘สีมงคล’ ในแบบของตัวเอง สีนี้คือสีของฉัน ฉันต้องใช้สีนี้เพราะรู้สึกต้องใช้พลังความสว่างของสี เขาก็ใส่เสื้อผ้าสีดังกล่าวในวันที่รู้สึกว่า ต้องการพลัง
…เมื่อมาเข้าคลาส จะมีในแบบที่ค้นพบมุมมองการเชื่อมโยงของสีที่แตกต่างออกไปค่ะ เช่น เขาไม่คิดว่าตัวเองจะวาดสีสันเยอะ คิดว่าตัวเองเชื่อมโยงแค่ ‘สีขาวกับสีดำ’ เมื่อมาอยู่ในคลาสทำให้รู้ว่า ต้องการสีที่หลากหลายขึ้นมา หรือบางคนชีวิตหลากสีมาตลอด ถึงจุดหนึ่งเขาแค่อยากจะอยู่กับแค่สีขาว-ดำ ต้องการแค่ความเรียบง่าย สงบ เราจะเห็นว่ามัน มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของสีของแต่ละคนเกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน”
ด้วยความที่เธอเป็นนักศิลปะบำบัดที่รายล้อมด้วยสีสันมากมายจากงานที่ทำอยู่ แล้วชีวิตประจำวันที่นอกเวลางาน ‘สี’ ยังคงมีอิทธิพลต่อจิตใจของตัวเองหรือไม่ คงไม่มีใครจะให้คำตอบได้ดีไปกว่าตัวเอง ซึ่งทำให้ได้รับรู้อีกด้านของนักบำบัดที่ในบางช่วงเวลาก็ต้องการการบำบัดจากผู้อื่นเช่นกัน
“อืม… ปัทชอบคำถามนี้นะ เพราะปัทรายล้อมด้วยสีในรูปแบบของการจบ (แต่ละงาน) เป็นเหมือนภาพเล็กๆ ซึ่งปัทจะเอาสีแทบทุกรุ่นสีที่ถูกวาดถูกเลือกที่นี่ทั้งหมด ปัทไม่เคยทิ้งสีที่ผ่านกระบวนการเลย ไม่ว่าจะเป็นสีจากการบีบใช้จากเวิร์กช็อปแบบกลุ่ม หรือศิลปะบำบัดรายบุคคล ปัทเอาสีเหล่านั้นมาระบายบนแคนวาสต่อไปเรื่อยๆ เหมือนเรากำลังขอบคุณสีทุกสีที่ได้ทำงานกับอารมณ์จากทุกคนที่เขาเลือกแล้ว
…ซึ่งความจริงแล้วปัทไม่วาดรูปเป็นงานอดิเรก เราทำงานกับสีสันกับฟอร์มของศิลปะเป็นงานอยู่แล้ว เราเลยต้องการช่องว่าง เว้นระยะค่ะ ถ้าถามว่า การเลือกสีสันของเสื้อผ้าเป็นอย่างไร จริงๆ ปัทมีเสื้อผ้าทุกสีค่ะ ชอบมิกซ์กัน ส่วนตอนนี้ ปัทชอบอะไรที่เรียบง่ายมีความเป็น natural มากขึ้น แต่ยังมีสีที่เชื่อมโยงกับตัวเองนะ
… โดย ‘สีส้ม’ เป็นสีที่เป็นตัวแทนของเราได้ดี สีที่มีความเป็นแสงสว่าง ช่วงนี้ปัทมีลูกอายุ 9 เดือน เป็นช่วงที่เราพยายามให้เวลาและพลังให้กับการเลี้ยงดูด้วยตัวเองให้มากค่ะ มันเลยกลายเป็นว่า เราต้องการพลังของแสงสว่างให้ตัวเอง ให้กับความเปลี่ยนแปลงของความเป็นแม่ในตรงนี้ด้วย เพราะเรามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย จากปัจจัยอื่นๆ ร่วม เช่นฮอร์โมน พักผ่อนไม่พอ ความคาดหวังของคนรอบตัว การทำงานของเราเอง เราพยายามบาลานซ์ตรงนี้ให้ได้ จึงทำให้ connect กับสีส้ม สีเหลืองค่ะ
…ส่วนตัวถ้าเกิดภาวะซึมเศร้าปัทจะเลือกการเขียน free writing ค่ะ วาดรูปร่วมด้วย บางครั้งเราตื่นขึ้นมาแล้วนอนไม่หลับก็จะมาเขียน บางครั้งเรามีภาวะหมดไฟจริงจังจากงาน เพราะเรามี client จำนวนเยอะมาก เราไม่มีเวลาพักผ่อนของตัวเอง มันก็ burnout จนทำให้ต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ แต่ไม่ได้ถึงขั้นจ่ายยานะคะ เราแค่หาบุคคลที่สาม เป็นพื้นที่ของเราเพื่อจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ปัทว่า ถ้าเราอยากแชร์อะไรเพื่อดูแลสุขภาพจิต การไปเจอที่ปรึกษาผู้ชำนาญ อย่างจิตแพทย์ นักจิตบำบัด นักจิตวิทยา เป็นเรื่องที่ดี เราสามารถขอความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าเราจะทำงานสายไหนก็ตาม เราก็ควรมีคนคอยซัพพอร์ตเรา เหมือนเราแค่ต้องการมีใครช่วยฟังเรา ได้ปลดปล่อยออกมา แล้วกลับมาหาวิธีดูแลตัวเองใหม่
…อย่างเช่นการจัดเวลาในการทำงาน กลับมาสร้างขอบเขตให้ชัดเจน ทำงานจบในพื้นที่ตรงนี้ แล้วกลับไปต้องมีเวลาส่วนตัว เวลาให้ครอบครัว การมีขอบเขตชัดเจนในงาน คือ ธีมหลักในการทำงานด้าน therapy เพราะคนที่รับมาเขามีหลายภาวะถ้าขอบเขตเราไม่ชัดเจน กลับมาทำงานที่บ้าน ส่งผลให้นอนไม่หลับต่อเนื่อง เราต้องสร้างประตูห้องนอนนี้เป็นพื้นที่ของเราให้ทิ้งตัวเต็มที่ อนุญาตให้เราทำสิ่งที่ตัวเองต้องการบ้าง”
ปัจจุบันมีปัจจัยมากมายที่ทำให้คนหันกลับมาใส่ใจสุขภาพจิตมากขึ้น นอกจากการขยายความให้เห็นภาพแล้ว นักศิลปะบำบัดผู้นี้ยังได้เน้นย้ำถึงศาสตร์ของศิลปะที่ไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งการแตกแขนงของกิจกรรมของศิลปะเพื่อการบำบัด ณ Studio Persona ไว้เพื่อเป็นทางเลือกในการเยียวยาจิตใจเรา
“มันน่าจะเริ่มต้นเห็นชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัทว่าโควิด-19 คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้การพูดเรื่อง mental health นั้นง่ายมากขึ้น จากการที่ต้องติดอยู่กับที่แบบนี้มาตั้งแต่มีโควิดฯรวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวแปรสำคัญ เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม นอกจากนี้ตอนนี้ยังมีเรื่องของสงครามเข้ามาเป็นปัจจัยร่วม ที่ทำให้เราต้องดูแลการใช้ชีวิตกันใหม่
…เช่นเดียวกับศาสตร์ของศิลปะบำบัดที่มี mechanic ใหม่ๆ พัฒนาต่อเนื่องให้เราเลือกใช้ควบคู่กับการบำบัด เช่น กระบวนการหนึ่งที่ปัทค่อนข้างชื่นชม คือ การทำงานร่วมกับ Neuro Science การใช้ศิลปะบำบัดร่วมกับการทำงานของระบบประสาททางสมอง นักศิลปะบำบัดได้ทำงานวิจัยร่วมกับนักระบบประสาทวิทยา เพื่อการ healing โดยตรง ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องอะไร แต่ร่างกายจะเปิดเผยออกมาเองว่า กำลังต้องการอะไร เพื่อที่จะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้
…เร็วๆ นี้ปัทตั้งใจจะเปิดเวิร์กช็อปแบบ open studio ว่าด้วยคอนเซ็ปต์ Self Love การรักตัวเองด้วยศิลปะ อีกอย่างที่อยากทำคือ balance group ให้ทุกคนรู้จักการหาสมดุลทางอารมณ์ของตัวเอง อาจจะนำสองอย่างนี้มาบูรณาการร่วมกัน ส่วนโปรเจ็กต์ระยะยาวของ Studio Persona นั้น ปัทตั้งใจอยากทำโปรแกรมแบบกองทุน (funding) สำหรับผู้ที่อยากเป็นครูศิลปะแต่มีปัญหาเรื่อง budget ส่วนนี้คงเป็นโครงการระยะยาว ที่ต่อเนื่องว่า หากเราทำโปรแกรมต่างๆ ตอนนี้ออกมาได้ดี เราอาจจะมีศักยภาพมากพอที่จะตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการที่ตั้งใจนี้ ให้เข้าถึงง่ายในหลายพื้นที่มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่คุณครูที่จะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมีดูแลจิตใจของนักเรียน ไปประยุกต์ใช้อย่างมีศักยภาพในแวดวงศิลปะค่ะ”
Text: NIORN SUK
Photography: SOMKIAT K.
Styling: ANANSIT K.