Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

MULTICOLOR, Various TEXTURES

มวลสีก้อนยักษ์ กับลวดลายผ่านงานศิลปะในแบบของ ซีเฟีย - ชญานิษฐ์ ม่วงไทย
Interview

สะดุดตากับมวลสีก้อนยักษ์ และเท็กซ์เจอร์หลากพื้นผิวบนเฟรม ที่ผ่านฝีมือปาด ป้าย ละเลง สะบัด ไปจนถึงพ่น ของ ซีเฟีย-ชญานิษฐ์ ม่วงไทยในนิทรรศการ Painting X งานแสดงกลุ่มที่ชวนให้ค้นหาความหมายของงานจิตรกรรม ซึ่งชญานิษฐ์ได้ถ่ายทอดสีสันที่เธอเห็นผ่านหน้าต่างบ้านในช่วงล็อกดาวน์ มาจนถึงนิทรรศการ Polyjuice วิธีการใช้งานสีได้อย่างคุ้มค่าทุกกระบวนท่าของเธอยังคงติดตรึงในใจเรา จนอดรนทนไม่ไหวต้องดั้นด้นไปหาเธอถึงสตูดิโอย่านมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งสีสันของศิลปินหญิงที่สวมแต่สีดำสนิทเป็นชุดยูนิฟอร์ม เราจึงได้สัมผัสผลงานของเธอที่ราวกับมหกรรมรวมตัวของสีทุกชนิดบนโลก

ก่อนจะทำความรู้จักกับกระบวนการทำงานกับสีของศิลปินผู้นี้อย่างจริงจัง เราขอทำความรู้จักจุดเริ่มต้นของเธอกับความผูกพันที่มีต่อสีกันก่อน

“จำได้ว่า เราเป็นเด็กประถมที่พกสีเทียนสีม่วงไปโรงเรียน ตอนพักกลางวันเราเอาสีเทียนสีม่วงฝนในกระดาษ แล้วสนุกกับมันมาก เล่นอยู่คนเดียว ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก วาดรูปมาตลอด อาจารย์ก็ส่งให้ไปประกวดนู่นนี่นั่นตามสไตล์เด็กไทยน่ะ ประกวดไปก็ไม่ได้อะไรกับเขาหรอก เพราะเราไม่ได้มองว่า เราต้องได้รางวัล”

ความชอบในศิลปะของเธอคงเส้นคงวาตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย ที่เธอได้เข้าเรียนในคณะจิตรกรรม เอกภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งต้องบอกว่า เธอหลงใหลในงานภาพพิมพ์เข้าอย่างจัง เพราะชื่นชอบในการทดลองที่ต้องลุ้นกับผลลัพธ์ที่ออกมาเกินการคาดเดา

“ผ่านไปสิบปีเราก็ยังชอบแบบเหมือนเดิม ทั้งที่เปลี่ยนเทคนิคไปต่างๆ นานา เราเพิ่งทำงานเพ้นต์อย่างจริงจังมาประมาณสัก 4-5 ปีเห็นจะได้ หลังจากเรียนจบปริญญาโท สาขาภาพพิมพ์”

เธอเล่าพลางชี้ชวนให้ดูผลงานภาพพิมพ์ยุคแรกๆ ที่ใช้สีดำ และสีแดงเป็นหลัก บอกเล่าเรื่องราวที่ดูลี้ลับและแฝงความสยดสยอง ดูผิดไปจากงานเพ้นต์ในปัจจุบันที่มีสีสันฉูดฉาด เบิกบาน แต่มีมวลความรู้สึกเข้มข้นซ่อนอยู่

“ตอนนั้นเราเบื่อภาพพิมพ์ เราเบื่อสีขาวดำ เราอยากเล่นกับสี อยากสนุกกับสี แค่นั้นเองเป็นจุดเริ่มต้น  เราอยากเอากรอบความเป็นเทคนิคภาพพิมพ์ออกไป ทีนี้เราก็เลยต้องทิ้งมันเลย เพราะเราจะได้ไปเจอกรอบใหม่ เหมือนงานชิ้นหน้าบ้านที่เป็นสีชมพูฟ้า นั่นก็เป็นงานแอ็บสแตร็กชิ้นแรกๆ ที่ทำ เราทำเป็นสีพาสเทลไปเลย”

เทคนิคที่แตกต่างสร้างเท็กซ์เจอร์ที่แปรเปลี่ยนไป นำไปสู่ความรู้สึก และพลังที่ส่งออกมายังผู้เสพก็ยังมีความเข้มข้นแตกต่างกันไปด้วย เทคนิคในการทำงานของศิลปินภาพพิมพ์เมื่อมาจับงานจิตรกรรมอาจจะเปลี่ยนไปตามรูปแบบงาน แต่พลังงานแรงกล้าในงานของเธอไม่เคยลดลง ถึงแม้จะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสีหวานหยดสดใสก็ตาม ซึ่งต้องบอกว่า เซ้นส์ในการใช้สีของศิลปินผู้สวมแต่สีดำคนนี้นั้นช่างกล้าบ้าบิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ลงตัวเหมาะเจาะ

“มีคนเคยบอกว่า ซีเฟียใช้สีม่วงเยอะจัง สีฟ้าก็เยอะ อย่างตอนที่ทำงานสีน้ำมันน่ะ ก็จะออกเป็น สี ชมพูเยอะ ซึ่งเราไม่รู้ตัวเลย เหมือนเราทำโดยที่เราไม่สเก็ตช์  เพราะเราชอบสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางน่ะ แล้วถ้าสเก็ตช์น่ะ มันรู้สึกเหมือนเราฟิกซ์ตัวเอง งานบางชิ้น หรือความรู้สึกบางอย่าง มันจะต้องเข้าไป touch มากๆ โดยปราศจากการควบคุมใดๆ ทั้งหมด เราทำงานกระโดดไป กระโดดมา ไม่มีหลักการตายตัว อยากเติมสีอะไรลงไปก็เติม ถ้ารู้สึกพอดีก็หยุด ถ้ารู้สึกไม่ชอบก็ลบ มันเป็นไปตามธรรมชาติมั้งคะ เราไม่ได้คิดว่าจะคุมอะไรมัน ก็วาดๆ ไปในสิ่งที่เราอยากวาด”

นั่นเป็นสาเหตุที่พื้นที่การทำงานของเธอจึงรายล้อมด้วยกองหลอดสีอะคริลิกที่ถูกหุ้มด้วยสีแห้งกรังหนาเตอะ กระป๋องสีเปล่า ถุงมือยางสีม่วงสด รองเท้าแตะยางเปรอะสีเป็นก้อนๆ กลายเป็นภูเขาสีกองใหญ่ในห้องนั่งเล่นที่เธอดัดแปลงเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ชิ้นงาน

“เวลาทำงานเราควบคุมตัวเองไม่ได้” เธอย้ำเหตุผลที่ก่อให้เกิดกองภูเขาสารพัดสีกลางบ้าน

เมื่อพลังสร้างสรรค์ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยอินเนอร์ อารมณ์ ความรู้สึกในช่วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก การเลือกใช้สีในแต่ละชิ้นงานขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้เป็นหลักไหม เจ้าของผลงานให้คำตอบว่า ถึงทุกอย่างจะมาจากอารมณ์ความรู้สึก แต่เธอต้องมีเรื่องราวที่อยากเล่าผ่านงานก่อน

“จริงๆ มันขึ้นอยู่กับการที่เราสร้างภาพบางอย่างในหัวจากประสบการณ์และความทรงจำบางอย่าง แล้วเราต้องการให้มันไปสู่บางอย่าง ไม่ใช่แค่หยิบสีไปเรื่อยๆ  อย่างเช่น งานชิ้นนี้เกิดจากประสบการณ์ที่เราไปมองท้องฟ้าตอนกลางคืน แล้วนึกถึง UFO เราก็เลยวาดชิ้นนี้ออกมา”

เธอเล่าพลางชี้ชวนให้ดูภาพที่มีสีเขียวสะท้อนแสงโดดเด่นออกมาจากพื้นหลังสีเข้มหลากมิติ 

“สมมติว่า ซีรีส์นี้เราทำขึ้นสำหรับทดลองเทคนิคบางอย่าง เราก็จะทดลองอย่างเดียวเลย ไม่คิดอะไร หรือซีรีส์นี้เราอยากทำเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่อง Feminist เรื่อง LGBTQ เรื่องแฟน เราก็จะวาด เริ่มจากการกำหนดโครงสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดว่า ในองค์ประกอบควรจะเป็นอะไร เพราะเราต้องหยิบยืมสัญชาตญาณมาแลกเปลี่ยนในงาน

…อย่างงาน semi abstract รูปผู้หญิงชิ้นนี้ มาจากการย้ายมาบ้านหลังนี้ แล้วมีต้นเฟื่องฟ้าใหญ่มาก ที่มันมีดอกไม้หลายสีอยู่ตรงนี้ เราก็ตัดสินใจร่วมกันกับย่าว่า ต้องตัดทิ้ง แต่มันสวยมากๆ เราก็เลยวาดไว้เป็นความทรงจำ รูปต้นไม้อยู่ตรงนี้ ตรงนี้เป็นภาพแทนเรากับแฟนที่ย้ายมาอยู่

…หรืออย่างงานที่แสดงใน Painting X แล้วมันได้แรงบันดาลใจมากเลยจากดอกไม้ริมทาง กับศาลพระภูมิ ซึ่งมันมีแค่วินาทีเดียว แล้วเรารู้สึกว่า ไม่เคยคิดว่าดอกไม้เล็กๆ กลางแสงแดดจะมีเอฟเฟ็กต์กับชีวิตเรามากขนาดนี้ เราก็เลยขยายความทรงจำให้มันใหญ่ขึ้นๆ ก็เลยสนใจเรื่องสีสัน งานช่วงหลังๆ จะสังเกตได้ว่า สีที่ใช้ค่อนข้างจะสด”

นอกเหนือจากการรวมพลังของสีสันแทบทุกเฉด มวลของเท็กซ์เจอร์ที่สร้างสัมผัสหลากหลายบนผืนผ้าใบยังเป็นเอกลักษณ์ของชญานิษฐ์ที่เราคิดว่า ยากจะลอกเลียนแบบได้

“งานเราใช้มือวาดเกือบทั้งหมด แต่เทคนิคของการที่สีมันจะออกมาอยู่บนมือก็มีหลายแบบเนอะ อย่างเช่น ถ้าเราต้องการให้สีผสมผสานหลอมรวมกันหลายๆ สี ในเท็กซ์เจอร์เดียวอย่างนี้ เราต้องบีบหลายๆ สีเข้าไปในก้อนสี แล้วก็ต้องปาดครั้งเดียว เพราะถ้ากลับมาปาดซ้ำปุ๊บสีมันจะเปลี่ยน แต่ถ้าก้อนสีใหญ่กว่ามือเราจะใช้เกรียงปาดแทน

…แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช้พู่กัน ใช้พู่กันน้อยมาก จะใช้แค่มือ กับอุปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์ช่าง เพราะข้อแรกเลยก็คือว่า พู่กันทำไม่ได้ เพราะพวกนี้มันเป็นสีที่ผสมขึ้นมาเองด้วยมือ ไม่สามารถใช้พู่กันระบายลงไปได้ ข้อที่สองก็คือว่า พอเราได้สัมผัสกับเนื้อสี แล้วมันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรา เราจะเข้าใจน้ำหนักมัน อย่างเช่น เราต้องใช้สีประมาณสามก้อน จับแล้วหักพอที่จะได้รูปทรงประมาณนี้ แล้วพอเราเอาสีไว้ในมือทั้งก้อน ถ้าเป็นหลายๆ สีเนี่ย เทคนิคของมันก็คือว่า เวลากระจายปุ๊บสีจะ merge กันเป็นธรรมชาติเลย แต่เราต้องรู้จังหวะของมันน่ะค่ะ แต่ถ้าเกิดเป็นสีเดี่ยวๆ ต้องผสมให้มันเคลียร์ก่อน ถือมันไว้ แล้วก็ป้ายเลย”

นอกจากสีน้ำมัน และสีอะคริลิกที่รวมตัวกันเป็นก้อนชัดเจนแล้ว ศิลปินผู้นี้ยังเลือกใช้สีหลากหลายประเภทในการสื่อสารแต่ละชิ้นงาน

“เราเลือกใช้สีต่างประเภทกันไปแล้วแต่ชิ้นงานค่ะ ชิ้นนี้อยากให้มันมีความรู้สึกของละอองภาพบางอย่างก็ใช้สีฝุ่น บางชิ้นอยากให้สีดูเต็ม หรือดูเป็นเลเยอร์เดียวกันก็ใช้สีสเปรย์ ใช้ผสมกันทุกสีเลย ยกเว้นแต่สีน้ำที่ไม่ได้ใช้

…ตอนนี้กำลังชอบความเป็นพลาสติกของสีอะคริลิก ความสดใสของมัน มันเหมือนแสงแดด ตอนนี้กำลังฟีลตรงนี้อยู่ งานพวกนี้มันจะเงาๆ หน่อย เพราะว่าเราเคลือบให้มันกันยูวี การเคลือบจะดีที่สุดการรักษางานศิลปะ ล่าสุดมีลูกค้าซื้อไป เราแค่บอกว่าตั้งไว้เฉยๆ หกเดือนห้ามแตะ อย่าเพิ่งเอาไปใส่กรอบเขาก็ทำตาม”

จากศิลปินสร้างสรรค์งานภาพพิมพ์สู่งานเพ้นต์ที่สร้างเอกลักษณ์ให้คนจดจำจากการใช้สี ทุกวันนี้งานของชญานิษฐ์เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักงานศิลปะ และคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้สนใจงานศิลปะอย่างลึกซึ้ง แต่งานของเธอกลับสื่อสารกับพวกเขาได้ เจ้าของผลงานลงความเห็นว่า คงเป็นเพราะสีเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงความรู้สึกของผู้คนได้ง่าย ทุกคนย่อมมีสีในใจซุกซ่อนอยู่ แล้วตัวศิลปินเองล่ะ มีสีอะไรที่สื่อสารกับตัวเองได้ดี

“เราชอบสีม่วง สีชมพูอย่างนี้ชอบมาก ต้องแอบใส่เข้าไปในงานแทบทุกชิ้น พอหยอดสีม่วงๆ สีชมพูๆ ใส่ไป เออ…ชิ้นนี้สวยแล้ว

…แต่ถ้าเป็นสีที่ใช้กับตัวเราเอง เราใส่แต่สีดำมาตั้งแต่อายุ 18 ปีน่ะ ยังไม่เคยใส่สีอื่นเลย ตอนนี้อายุ 30 กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่คิดว่า จะชอบสีอื่นมาแทนสีดำได้ เราอยู่กับสีดำมาเยอะมาก  ตอนแสดงงานชิ้นแรกเลย เราใช้ชื่องานว่า ‘Black & I’ คือ คิดดูแล้วกันว่า ชอบอะไรขนาดนั้น (หัวเราะ) เคยเห็นทิชชู่สีดำนะ ดีใจตัวสั่นเลย ขอกลับบ้านเลย เวลาเจอหลอดสีดำ ไม่ใช้นะ ต้องเก็บ หรืออย่างที่ปั่นหูสีดำ พอซื้อมาใช้แล้วรู้เลยทำไมมันถูก เพราะมันมองไม่เห็นอะไรเลยนี่ จริง ๆ อยากทาบ้านนี้เป็นสีดำด้วย แต่แม่ห้ามไว้”

จากคนที่เคยพิศวาสสีดำเป็นชีวิตจิตใจ กลับกลายมาเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพ้นต์สีสันละลานตา จะเป็นไปได้ไหมที่อีกหน่อยงานของเธอจะพลิกกลับมาเป็นสีโมโนโทน หรือสีดำล้วนแบบไม่มีสีอื่นผสม

“เราคิดว่า เป็นไปได้ นี่จากสีขาวดำยังมาเปลี่ยนเป็นสีเลย อีกหน่อยก็อาจจะเปลี่ยนจากสีเป็นขาวดำก็ได้ หรืออีกหน่อยอาจจะไปทำงานประติมากรรมแทนก็ได้ หรืออาจจะปั้นเซรามิกก็ได้  อย่างงานชิ้นนี้น่าสนใจมาก”

เธอลุกไปหยิบภาชนะบางอย่างที่ถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อสีจนกลายเป็นเหมือนงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆ

“มันเกิดจากความบังเอิญบางอย่าง เกิดจากสีที่เกาะ แล้วเราคิดว่าอีกหน่อยจะทำเป็นงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ๆ เราลองนึกภาพว่า เราเทสีลงไปบนแผ่นพลาสติกใหญ่ๆ แล้วลอกออกมานะ โอ้โห…แต่มันน่าจะต้องใช้เทคนิคหลายอย่าง

…เราเป็นคนชอบทดลองค่ะ ชอบเอาวัตถุมาใส่สีใส่อะไรเล่นสนุกๆ บางงานเราก็อยากตั้งคำถามกับมันว่า เฮ้ย…มันเป็นงานเพ้นต์หรือเปล่าวะ เราพยายามหาแนวของ painting ที่มีความร่วมสมัยบางอย่าง วัสดุที่เราใช้ทำงาน มันก็เป็นวัสดุร่วมสมัยในยุคนี้ อย่างพวกโพลิเมอร์ พลาสติก ซึ่งไม่เหมือนสีน้ำมัน ไทม์ไลน์ของมนุษย์มันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถ้าเกิดเราไปใช้วัสดุที่เป็น traditional มากๆ มันคงไม่ใช่ตัวเรา เพราะฉะนั้น เราจึงหาวัสดุที่เป็นแมตทีเรียลทางอุตสาหกรรม หรือแมตทีเรียลใหม่ๆ มาใช้ด้วย อย่างเช่น สีสกรีนที่เขาใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอ บางทีเราก็เอามาใส่ในงานด้วยเช่นกัน

…อย่างแม่เราเองก็เป็นนักวิจัยทำสีธรรมชาติ เขาก็มาถามเราเรื่องสี เขาอยากทำสีธรรมชาติเยอะๆ เราก็บอกให้แม่ลองทำดูสิ จะได้มาเล่นกัน สมัยก่อนตอนเราทำภาพพิมพ์น่ะ แม่ยังไปหาเถาองุ่นมาให้ทำงานเลย เพราะเถาองุ่นมันเป็นอะไรที่ดำที่สุด สามารถนำมาเขียนแทนเครยอนได้”

เราเชื่อว่า ความสนุกในการทดลองสร้างงานจากสีหลากรูปแบบของเธอคงไม่เลือนหายไปง่ายๆ ตราบใดที่โลกนี้ยังเต็มไปด้วยสารพันสีให้เธอได้ทดลองเล่นกับเทคนิคใหม่ๆ ผืนผ้าใบในสตูดิโอของเธอคงไม่มีวันถูกเว้นว่างจากสีต่างๆ ไปได้

Photography: Somkiat K.
Styling: Anansit K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม