Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion / Trends

Regenerative Fashion

เมื่อแฟชั่นไม่ใช่แค่ยั่งยืน หมุนเวียน แต่ถึงเวลาที่ต้องฟื้นฟูได้แล้ว !
Fashion / Trends

นอกเหนือไปจากแฟชั่นยั่งยืนและแฟชั่นหมุนเวียน คำฮิตใหม่คือ แฟชั่นฟื้นฟู ซึ่งพุ่งไปยังจุดเริ่มต้นของวัฏจักรของทุกสิ่งก็คือ ‘ดิน’ จากดินสู่เส้นใยไปสู่แฟชั่น แล้วแนวคิดฮิตล่าสุดนี้จะช่วยให้แฟชั่นกอบกู้โลกได้อย่างไรบ้าง มาดูกัน  

ในเดือนมกราคม ปี 2021 Kering กลุ่มบริษัทแฟชั่นแถวหน้าของโลก เจ้าของแบรนด์ดัง อาทิ Gucci, Balenciaga และ Saint Laurent ก่อตั้ง Regenerative Fund for Nature กองทุนที่จะเปลี่ยนพื้นที่ปลูกวัตถุดิบทำสินค้าแฟชั่น 1 ล้านเฮกตาร์หรือ 6.25 ล้านไร่ให้กลายเป็นพื้นที่ทำกสิกรรมแบบฟื้นฟูภายใน 5 ปี 

เดือนกุมภาพันธ์ New Zealand Merino Company บริษัทการตลาด การขายและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเลี้ยงแกะของนิวซีแลนด์ร่วมมือกับแบรนด์ Allbirds, Icebreaker และ Smartwool ได้เริ่มก่อตั้งแพล็ตฟอร์มเพื่อการผลิตวูลแบบฟื้นฟู  ในขณะที่แบรนด์เครื่องแต่งกายเอาท์ดอร์ The North Face และ Patagonia ก็ใช้คอตตอนที่ปลูกแบบฟื้นฟู เช่นเดียวกับ Stella McCartney ที่กำลังลดการใช้คอตตอนออร์แกนิกลงแล้วหันไปใช้คอตตอนฟื้นฟูแทน ส่วน Secteur 6 ซึ่งใช้เส้นไหมที่ผลิตแบบฟื้นฟูก็จับมือกับ Freak City L.A. ทำแคปซูลคอลเล็กชั่นที่มีเสื้อยืดสกรีนข้อความว่า ‘Regenerate or Die’

Regenerative Farming     

เกษตรกรรมฟื้นฟูคือ การทำเกษตรที่ช่วยให้ดินดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูดินไปในตัว เพราะก๊าซคาร์บอนจะช่วยให้ดินเก็บกักน้ำและเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงพืช ในอีกทางหนึ่ง ก็จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนในอากาศ เพราะเป็นเวลานานมาแล้วที่ก๊าซคาร์บอนในดินและอากาศนั้นไม่สมดุลกัน กล่าวคือในดินมีไม่พอ ส่วนในอากาศก็มีมากเกิน เช่นนี้เองน้ำแข็งขั้วโลกจึงละลาย อุณหภูมิโลกจึงสูงขึ้น มีพายุหิมะที่ทำให้เท็กซัสหนาวเท่ากับอลาสก้า และอื่นๆอีกมากมาย

การทำเกษตรส่วนใหญ่ที่ทำๆกันอยู่ทั่วโลกมักปลูกพืชเดี่ยว กล่าวคือไม่มีการปลูกพืชอื่นผสมกันเลย แล้วก็ฉีดยาฆ่าแมลงทับลงไป สุดท้ายดินก็จะเสื่อม ดินและน้ำปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ ขณะที่เกษตรกรรมแบบฟื้นฟูแน่นอนว่า ปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ยังปลูกพืชหลากหลาย ปล่อยให้ไก่ วัว แพะ แกะแทะเล็มหญ้า จิกกินแมลงตามสบาย ต้นไม้ใบหญ้าอะไรจะขึ้นก็ไม่ถอนทิ้ง ก็เพื่อให้มีอินทรีย์วัตถุ เช่น ใบไม้ที่ร่วงหล่น ฟาง มูลสัตว์ คลุมหน้าดินอยู่เสมอ หรือเรียกว่าทำให้ดินมีชีวิต เมื่ออินทรีย์วัตถุย่อยสลายก็จะไปเติมสารอาหารในดิน กลายเป็นวัฏจักรต่อเนื่องในที่สุด

Organic vs. Regenerative

จุดนี้การทำเกษตรออร์แกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ต่างกับเกษตรฟื้นฟูตรงไหน Rebecca Burgess ผู้อำนวยการของ Fibershed องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสนับสนุนการทำเกษตรฟื้นฟูอธิบายว่า การทำเกษตรออร์แกนิกไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรฟื้นฟู เพราะออร์แกนิกไม่ฉีดพ่นสารเคมี แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเลี้ยงปศุสัตว์ ไม่มีพืชคลุมดินหรือไม่ต้องปลูกพืชหลากหลายก็ได้

อย่างแบรนด์ Patagonia ที่มักจะให้เกษตรกร เปลี่ยนจากการเกษตรเชิงเดี่ยวไปเป็นออร์แกนิกเสียก่อน ซึ่งการจะได้ตราประทับรับรองว่า เป็นออร์แกนิกก็ต้องผ่านการตรวจสอบแล้วว่าในผืนแผ่นดินนั้นๆไม่มีปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเคมี 3 ปีขึ้นไป จากนั้นก็ค่อยเปลี่ยนผ่านไปทำเกษตรฟื้นฟู ทางแบรนด์ เริ่มจากกลุ่มต้นแบบที่มีเกษตร 165 ราย ในพื้นที่ปลูกรวม 1,062 ไร่ก่อน ในปี 2018 จากนั้นจึงมีแนวร่วมเพิ่มจนมีเกษตกร 2,260 รายในพื้นที่ประมาณ 13,000 ไร่ในปี 2021    

Generativity is Traceability

ทุกวันนี้แบรนด์แฟชั่นจำนวนไม่น้อยที่หันมาทำแฟชั่นแบบยั่งยืน แต่ปัญหาก็คือ มันเป็นเพียงคำกล่าวอ้างหรือเปล่าว่าใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เป็นออร์แกนิก เพราะตัวดีไซเนอร์เองก็ไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการผลิตที่ชัดเจนได้ 

Oshadi Studio ก่อตั้งโดย Nishanth Chopra ในปี 2015 ให้เป็นแบรนด์แบบ seed-to-sew กล่าวคือทุกขั้นตอนการผลิตตรวจสอบที่มาที่ไปได้ทั้งหมดว่าทำแบบฟื้นฟูแท้จริง แบรนด์นี้อยู่ในรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งมีหมู่บ้านที่เป็นแหล่งผลิตผ้า และโชปรา ก็เป็นชาวเมืองนี้จึงได้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนอย่างไร 

Oshadi Studio จึงหันมาใช้วิธีเกษตรฟื้นฟูซึ่งอันที่จริงชาวอินเดียก็ทำกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว ตั้งแต่การปลูก ปั่นเส้นใย ย้อมสี ถักทอและตัดเย็บล้วนทำกันรัศมี 10 กิโลเมตรก็เพื่อให้เกษตกรและช่างฝีมือในท้องถิ่นมีงานทำ จะได้ไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดไปทำงานในเมืองใหญ่ กระทั่งชนบทกลายเป็นสุสานคนชรา 

โชปราเริ่มทำแฟชั่นแบบฟื้นฟูจากพื้นที่เพาะปลูก 12.5 ไร่ ก่อนจะมีชาวบ้านเห็นดีเห็นงาม จึงเข้ามาเป็นแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2021 สตูดิโอเล็กๆที่ก่อตั้งโดยคนจำนวน 1 คนถ้วนก็ร่วมงานกับเกษตกรฟื้นฟู ไปกว่า 506 ไร่แล้ว 

Regenerative Fashion

โชปราได้ว่าจ้าง Richard Malone ซึ่งในเวลานั้นเพิ่งเป็นบัณฑิตแฟชั่นจาก Central Saint Martin เพื่อให้มาออกแบบคอลเล็กชั่นแรกของแบรนด์ ที่ใช้คอตตอนฟื้นฟูและสีย้อมผ้าจากพืชพรรณที่ปลูกในแปลงเกษตรฟื้นฟู อาทิ ดอกทองกวาวที่ให้สีส้มและอินดิโก เป็นต้น อันเป็นกุศโลบายให้ดีไซเนอร์ได้ซึมซับแฟชั่นฟื้นฟูอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งในปี 2020 ริชาร์ด มาโลนคว้าเงินรางวัล 200,000 ดอลล่าร์สหรัฐในฐานะผู้ชนะเลิศรางวัล Woolmark Prize จากคอลเล็กชั่นที่เขาใช้คอตตอนจากอินเดีย จากแปลงเกษตรฟื้นฟูของโชปราอดีตนายจ้างนั่นเอง เช่นเดียวกับในคอลเล็กชั่นล่าสุด ที่ริชาร์ดนำเอากระบวนการเหล่านี้มาออกแบบร่วมกับ Mulberry นั่นเอง  

โชปรากล่าวว่าคำสำคัญในการทำแฟชั่นฟื้นฟู หรืออันที่จริงครอบคลุมไปถึงแฟชั่นทุกรูปแบบก็คือคำว่า ‘ร่วมงาน’ โดยโชปราให้เหตุผลว่า เมื่อดีไซเนอร์ทำงานกับช่างฝีมือในอินเดีย ทุกคนต่างพูดกันว่า ดีไซเนอร์ไปช่วยเหลือชาวบ้าน มันกลับกลายเป็นเรื่องการกุศลไปเสีย โดยไม่ได้พูดถึงความสามารถอันเยี่ยมยอดของช่างฝีมือเหล่านั้นแต่อย่างใด

“เราเท่ากันในฐานะผู้ร่วมงานกัน” โชปรากล่าว ‘เรา’ ที่เขาหมายถึง อาจกินความครอบคลุมไปถึงคน สิ่งมีชีวิต และโลก อย่างเท่าเทียม ที่จะช่วยกันทำให้อุตสาหกรรม และโลกนี้ฟื้นฟูขึ้นมาได้

Text : สุภักดิภา พูลทรัพย์

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม