Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Beauty / Skincare

Is ‘Clean Beauty’ Really Clean? คลีนบิวตี้นั้นสะอาดสมชื่อจริงหรือไม่?

ทำความรู้จัก Clean Beauty เทรนด์ความงามแห่งยุคที่ไม่ได้มีเพียงข้อดีอย่างเดียว
Beauty / Skincare

ปัจจุบันนี้เทรนด์บิวตี้ที่มาแรงแซงทางโค้งจนกลายเป็นลัทธิความงามขนาดใหญ่ของสาวกบิวตี้ทั่วโลกเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘Clean Beauty’ คือเทรนด์ฮอตฮิตเทรนด์นั้น เพราะตอนนี้ไม่ว่าเราจะมองไปทางไหนในแวดวงความงามเราก็จะเห็นแบรนด์และร้านค้าความงามมากมายชูคำๆ นี้ขึ้นมาอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์รวมถึงป้ายโฆษณาอยู่เสมอเพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาบริโภคสินค้าชนิดนี้กันมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของเทรนด์นี้ก็คือการที่ ‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainability’ ได้กลายเป็นหัวข้อหลักที่ทุกวงการทั่วโลกให้ความสนใจซึ่งวงการบิวตี้และแบรนด์ความงามต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แบรนด์ความงามต่างๆ จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารอันตรายต่างๆ ไปจนถึงใช้การส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีฟิลได้ซึ่งค่อยๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นเทรนด์ Clean Beauty อย่างทุกวันนี้

แต่ความจริงๆเทรนด์ Clean Beauty ที่ดูแสนจะสะอาดปลอดภัยนั้นอาจจะไม่ได้ปลอดภัย 100% เหมือนที่ทุกๆ คนคิดหรอกนะเพราะว่าความจริงแล้วทุกๆ ผลิตภัณฑ์ความงามบนโลกนั้นสามารถทำให้เกิดอาการแพ้และอาการระคายเคืองได้ อาการพวกนี้จะสามารถขึ้นกับเราได้นั้นอยู่ที่สภาพผิวและปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลมากๆ และ Clean Beauty นั้นไม่ใช่เครื่องสำอางประเภท Organic, Vegan หรือ Cruelty-Free นะเผื่อหลายคนเข้าใจผิดวันนี้ LIPS เลยจะมาเล่าเจาะลึกถึงเทรนด์นี้ให้ฟังกันว่ามันเป็นอย่างไร ไปดูกัน!

What’s Clean Beauty?

เทรนด์ Clean Beauty นั้นเกิดขึ้นมาจากการที่ผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ในท้องตลาดนั้นมีส่วนผสมอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแอบซ่อนมาด้วย เทรนด์ Clean Beauty นี้จึงเกิดขึ้นมาพร้อมกับคำว่า Non-Toxic Ingredients ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการนำสารพิษต่างๆ เข้าร่างกายของเราให้น้อยที่สุดด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารอันตรายเหล่านั้น

เทรนด์ Clean Beauty คือการมองหาผลิตภัณฑ์ความงามที่ปลอดภัยต่อผิวของเราไม่ว่าส่วนผสมนั้นจะมาจากธรรมชาติหรือเป็นสารสังเคราะห์หากไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมผลิตภัณฑ์เหล่านั้นแหละคือเทรนด์ Clean Beauty อย่างแท้จริง นอกจากนั้นการเป็นส่วนหนึ่งในเทรนด์ Clean Beauty ได้ผลิตภัณฑ์บิวตี้ต่างๆ จะต้องมีฉลากผลิตภัณฑ์ที่โปร่งใสและจริงใจต่อผู้บริโภคนั่นก็คือการแสดงส่วนผสมทั้งหมดอย่างโปร่งใสและไม่เคลมประสิทธิภาพเกินจริง

ซึ่งส่วนผสมที่เทรนด์ Clean Beauty มองว่าอันตรายและควรหลีกเลี่ยงประกอบไปด้วย 
1) Parabens เป็นกลุ่มสารกันเสียชนิดหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ 
2) Fragrances น้ำหอมถือเป็นสารที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ความงามทั่วไป 
3) Ethoxylated เป็นสารที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ซึ่งมีฤทธิ์รุนแรง 
4) Formaldhyde เป็นสารที่มักเจอในน้ำยายืดผมและทรีตเมนต์ต่างๆ ที่สามารถก่อมะเร็งได้ 
5) Petroleum สารต่างๆ ที่ให้ความชุ่มชื้นสกัดมาจากปิโตรเลียมที่มักพบในผลิตภัณฑ์เคลือบผิว
6) Talc สารที่มักเจอในผลิตภัณฑ์ประเภทฝุ่น เช่น แป้งฝุ่น อายชาโดว์ บลัชออน 
7) SLS สารลดแรงตึงผิวที่ช่วยขจัดน้ำมันและทำให้เกิดฟองพบได้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ครีมอาบน้ำ ยาสระผม และโฟมล้างหน้า

Clean Beauty isn’t Always Clean!

อย่างที่เราบอกไปว่า Clean Beauty นั้นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ความงามจำพวก Organic, Vegan หรือ Cruelty-Free นะหลายๆ คนอาจจะเกิดความงุนงงจากตรงนี้ได้เพราะยังไม่มีหน่อยงานใดออกมาให้ ‘คำจำกัดความ’ อย่างเป็นทางการสำหรับเทรนด์ความงามสะอาดนี้ และสำหรับบางคน Clean Beauty อาจจะหมายถึงผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติซึ่งอาจมีกระบวนการการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งในความของคนทั่วไปมองว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปลอดภัย หรืออาจหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก ‘Certified Organic’ ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตมาจากวัตถุดิบออร์แกนิค 

และความจริงแล้ว Clean Beauty และเทรนด์ความงามรักษ์โลกประเภทอื่นๆ อาจจะไม่ได้ดีกับผิวของเราเสมอไป การขาดความรู้และการกำกับดูแลจากหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจังทำให้เราไม่สามารถเชื่อถือและไว้ใจแบรนด์ที่โปรยคำเคลมเหล่านั้นออกมาได้สักเท่าไหร่เพราะมันมีความคลุมเครือเป็นอย่างมาก Joshua Zeichner แพทย์ผิวหนังจากนิวยอร์กได้กล่าวบนนิตยสาร The Guardian ว่า “ไม่มีข้อมูลที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ Clean Beauty นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าหรือแม้แต่ปลอดภัยกว่าผลิตภัณฑ์ความงามทั่วไป” 

แถมเธอยังกล่าวเสริมว่าส่วนผสมจากธรรมชาติที่มักพบในผลิตภัณฑ์ Clean Beauty นั้นสามารถกระตุ้นโรคผิวหนังอักเสบได้ เช่น สารสกัดจากว่านหางจระเข้ แตงกวา แปะก๊วย รวมถึงน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆ เช่น ลาเวนเดอร์ โรสแมรี่ คาโมไล์ และทีทรีที่มักใช้แทนส่วนผสมน้ำหอมอย่าง ‘Fragrances’ ที่เหล่าแบรนด์ Clean Beauty ได้แบนและเลิกใช้ไป 

และในขณะเดียวกัน Parabens และ SLS ที่ถูกแบนจากลัทธิ Clean Beauty นั้นอาจจะไม่ได้เป็นอันตรายขนาดนั้นในมุมมองของแพทย์ผิวหนังอย่าง Anjali Mahto ที่กล่าวว่า SLS อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองได้บางครั้งแต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและเปอร์เซ็นต์ SLS ที่ใช้ในเครื่องสำอางนั้นก็มีอัตราส่วนที่ต่ำมากที่จะส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ 

สำหรับ Parabens ที่มีงานวิจัยออกมาว่าเป็นมีความเกี่ยวโยงกับโรคมะเร็งและอาจจะขัดขวางการทำงานของร่างกายจนทำให้เหล่าแบรนด์ Clean Beauty ถอดส่วนผสมนี้ออกจากสูตรผลิตภัณฑ์ของพวกเขาก็อาจจะไม่ใช่สารอันตรายแบบที่ทุกคนคิดเพราะว่า Katie Patrick เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพของหน่วยงานวิจัยมะเร็งของประเทศอังกฤษออกมาบอกว่า “สำหรับสารเคมีส่วนใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับร่างกายของเราคือปริมาณของสารเคมีที่เราได้รับสูงกว่าปกติที่เราเคยสัมผัสในชีวิตประจำวันเท่านั้น”

Beauty is Individual 

“ความงามเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล” นั้นเป็นประโยคที่ใช้ได้กับเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกและการตอบสนองต่อผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ เลย เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ของเรานั้นตอบสนองและเกิดอาการแพ้จากผลิตภัณฑ์ความงามแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงดังและทุกส่วนผสมบนโลกนี้นั้นสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้เท่าๆ กันทั้งหมด ดังนั้น ‘Patch Test’ หรือการทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้เครื่องสำอางจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากที่ทุกคนควรรู้ไว้ 

และเทรนด์ Clean Beauty นั้นไม่ใช่เรื่องแย่หรอกนะเพราะว่ามันช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมบิวตี้นั้นโฟกัสไปที่ส่วนผสมที่มีประโยชน์และดีต่อผิวของมนุษย์ แต่บางครั้งการสร้างภาพลบและให้ข้อมูลว่า ‘ส่วนผสม’ บางชนิดนั้นไม่ดีหรือไม่สะอาดก็อาจจะเป็นการทำให้ผู้บริโภคนั้นหวาดกลัวส่วนผสมดีๆ บางตัวได้อย่างเช่น Parabens สารกันเสียที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและก่อให้เกิดอาการแพ้ที่น้อยมากๆ

ที่สำคัญตามกลไกของธรรมชาตินั้นอะไรที่มากเกินไปอาจจะไม่ได้ส่งผลดีเสมอไปรวมถึงส่วนผสมในเครื่องสำอางด้วย เพราะทุกสารและส่วนผสมมีระดับความปลอดภัยของตัวเองอยู่เมื่อใช้มากเกินไปอาจจะก่ออาการระคายเคืองหรืออาการแพ้ได้ เช่น สารผลัดเซลล์ผิวอย่าง BHA, AHA, LHA และ PHA ควรใช้ให้เหมาะกับสภาพผิวของเรา หรือบางส่วนผสมที่มีความเข้มข้นจนเกินไปอาจสะสมในร่างกายจนเกิดเป็นโรคร้ายต่างๆ ได้ เช่น Hydroquinone แต่ไม่ต้องกลัวไปเพราะว่าองค์กรระดับโลกอย่าง FDA EU หรือแม้แต่ อ.ย. ของไทยก็ได้มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์และห้ามใช้ส่วนผสมในเครื่องสำอางที่อาจก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เอาไว้แล้ว

การให้ข้อมูลผิดนี้นั้นอาจจะทำให้แบรนด์เครื่องสำอางทั่วโลกเริ่มหยุดใช้ส่วนผสมดีอย่างเช่น SLS หรือ Parabens ไปและหันไปใช้ส่วนผสมอื่นที่มีงานวิจัยที่น้อยกว่าและเสี่ยงต่อการแพ้มากกว่าอาจจะส่งผลต่อผู้บริโภคหรือสายบิวตี้ได้ และนอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ Clean Beauty นั้นก็อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เหมือนผลิตภัณฑ์ความงามชนิดอื่นๆ ดังนั้นบทเรียนสำคัญจากเทรนด์บิวตี้นั้นคือ ‘ความงามเป็นเรื่องปัจเจก’ ดังนั้นก่อนที่จะใช้อะไรให้เราดูส่วนผสมดีๆ และทดลองก่อนใช้เสมอและเมื่อเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ และพบแพทย์ผิวหนังด่วน!  

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม