ในยุคแห่งความหลากหลายอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ความยั่งยืน’ หรือ ’Sustainability’ ที่หลายอุตสาหกรรมของโลกไปนี้ตั้งคำนี้เป็นจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องไปกับความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ทำให้ในสื่อออนไลน์ ข่าว รวมไปถึงในข้อมูลของแต่ละแบรนด์ในทุกๆ วงการนั้นเต็มไปด้วยคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากมายที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ความยั่งยืนนี้
ซึ่งคำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายๆ คำนั้นก็ไม่ได้มีคำแปลในภาษาไทยและบางคำก็เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเทรนด์รักษ์โลกเทรนด์นี้โดยเฉพาะ อาจจะสร้างความมึนงงและสงสัยให้กับหลายๆ คนว่าจริงๆ แล้วคำศัพท์เหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไรในบริบทต่างๆ โดยเฉพาะในวงการแฟชั่นที่พยายามชูเรื่องความยั่งยืนเป็นประเด็นหลัก
เพราะว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายทรัพยากรของโลกนี้เป็นอันดับต้นๆ ทำให้หลายหน่วยงานและผู้คนทั่วโลกเพ่งเล็งแบรนด์แฟชั่นมากขึ้นในเรื่องของความยั่งยืน เพื่อบีบให้แบรนด์เหล่านั้นมีกระบวนการการทำงานที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งผลใหัหลายปีที่ผ่านมากแบรนด์แฟชั่นพากันประกาศตัวว่าเป็น ‘แบรนด์รักโลก’ ออกนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองพร้อมคำศัพท์รักษ์โลกอีกมากมาย
วันนี้ LIPS เลยรวบรวมคำศัพท์รักษ์โลกที่ทุกคนควรรู้โดยเฉพาะสายแฟเพราะปัจจุบันนี้คำศัพท์เหล่านี้ปรากฏอยู่ในทุกๆ วงการเลยแต่เราจะเน้นเป็นพิเศษในวงการแฟชั่น แถมนอกจากความหมายที่คุณจะได้รู้แล้วศัพท์พวกนี้ก็จะทำให้คุณตระหนักและเป็นอีกคนที่ลุกขึ้นมาดูแลโลกนี้ไปพร้อมกัน
Recycle
‘Recycle’ หรือ ‘รีไซเคิล’ เราชื่อว่าคำนี้คงเป็นคำที่ทุกคนคงต้องเคยได้ยินเพราะเป็นคำศัพท์ที่ใช้บ่อยมาในเทรนด์ความยั่งยืนในทุกแวดวง การรีไซเคิลคือการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นสิ่งใหม่หรืออาจหมายถึงการนำขยะหรือสิ่งของไร้ค่านำไปผ่านกระบวนการแยกย่อยให้เป็นวัสดุพื้นฐานแล้วนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ
ซึ่งการรีไซเคิลที่นิยมที่สุดคือการรีไซเคิลพลาสติกเพราะว่ามนุษย์เรานั้นผลิตและบริโภคพลาสติกเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้หลายบริษัทจึงเริ่มนำเอาพลาสติกมารีไซเคิลให้กลายเป็นเสื้อผ้า เช่น แบรนด์หรูจากอิตาลีอย่าง Prada ที่นำขวดน้ำใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นผ้าไนลอนวัสดุที่ใช้ในไอเท็มขายดีของแบรนด์หลายๆ ไอเท็ม และ Prada เรียกไลน์ที่ทำมาจากผ้าไนลอนสุดยั่งยืนนี้ว่า ‘Re-Nylon’
Upcycle
หากพูดถึงคำว่า Recycle แล้วคิวต่อมาก็คงเป็นคำว่า ‘Upcycle’ อย่างปฏิเสธไม่ได้เพราะเรียกว่าสองคำนี้เป็นคำที่คู่กันแบบเพื่อนคู่คิดเลยแต่ Upcycle นั้นคือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นสิ่งใหม่โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแยกย่อยให้เป็นวัสดุพื้นฐานแต่เป็นการเอาวัสดุเก่ามารื้อประกอบสร้างให้กลายเป็นสิ่งใหม่ เช่น การนำเอาเสื้อค้างสต๊อกมารื้อสร้างให้กลายเป็นเสื้อผ้าสำหรับคอลเลคชั่นใหม่อย่างที่แบรนด์ไฮแฟชั่นหลายๆ แบรนด์ชอบทำ เช่น Loewe ในไลน์รักษ์โลก Eye/Loewe/Nature หรือแม้แต่ Marni, Chole Balenciaga ก็ใช้เทคนิคนี้ในการทำเสื้อผ้า
หากพูดถึงความคลีนวิธีการ Upcycle หรือ Upcycling นั้นคลีนกว่า Recycle อยู่มากเพราะเป็นการนำเอาของเก่ากลับมาใช้ใหม่โดยที่ใช้พลังงานน้อยกว่าการรีไซเคิลแถมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า นอกจากนั้นยังการเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และนวัตกรรมในการนำเอาของเหลือใช้มาทำใหม่อีกด้วย
Vegan
‘Vegan’ หรือ ‘วีแกน’ เป็นคำที่ฮิตมาในแวดวงไลฟ์สไตล์เพราะหากพูดถึงคำๆ นี้เรามักจะนึกอาหารวีแกนแต่รู้หรือไม่ว่าในวงการแฟชั่นคำนี้ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะว่าสินค้าไฮแฟชั่นในอดีตส่วนใหญ่ใช้วัสดุหรือส่วนประกอบที่มาจากสัตว์เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นหนังสัตว์หรือขนสัตว์ แต่ในปัจจุบันหลายๆ แบรนด์หันประกาศเลิกใช้แล้วเนื่องจากจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ ‘แฟชั่นมังสวิรัติ’
ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่ประกาศกร้าวว่าตัวเองเป็นวีนแกน ซึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติตามหลักมังสวิรัติคือ วัสดุ ผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่กระบวนการการผลิตต้องไม่ได้เกิดจากชิ้นส่วนหรือแรงงานของสัตว์ แม้ไม่มีมาตรฐานมากำกับหรือการตรวจอย่างจริงจังแต่แบรนด์ต่างๆ ถูกจับตามองจากองค์กร PETA องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์โลก เราขอยกตัวอย่างแบรนด์วีแกนที่มาก่อนกาลอย่าง Stell McCartney ที่ใช้ Grape Leather หรือหนังที่ทำมาจากองุ่นในคอลเลคชั่นล่าสุด Autumn/Winter 2022 นอกจากนั้นยังเป็นแบรนด์แรกที่ใช้ Mylo หรือหนังที่ทำจากเห็ดมาใช้ใน It Bag ของแบรนด์อย่างกระเป๋ารุ่น Falabella
Organic
อีกหนึ่งคำที่ฮิตในแวดวงไลฟ์สไตล์และบิวตี้ไม่แพ้คำก่อนหน้าอย่างคำว่า ‘Organic’ หรือ ‘ออร์แกนิก’ คำที่เกิดขึ้นในวงการอาหารก่อนจะมาบูมที่วงการบิวตี้และวงการแฟชั่นตามลำดับ คำนี้ๆ หมายถึงวัตถุดิบที่ไม่ได้ดัดแปลงพันธุกรรมหรือ Genetically Modified และปลูกขึ้นโดยไม่ใช่สารเคมี พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือวัสดุหรือวัตถุดิบที่ถูกสร้างหรือผลิตขึ้นมาโดยไม่ใช้สารเคมีและไม่มีสารปนเปื้อน
ซึ่งในการผลิตวัตถุดิบนั้นจะต้องใช้แต่สิ่งที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น เช่น Patagonia แบรนด์เสื้อผ้า Outdoor ที่ใช้วัสดุออร์แกนิกก่อนที่เทรนด์นี้จะฮิตเสียอีก โดยแบรนด์ๆ นี้ใช้ผ้าฝ้ายที่ได้การรับรองจาก Global Organic Textile Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานสินค้าออร์แกนิกทั่วโลก
Greenwashing
เราขอเพิ่มความยากสำหรับบทเรียนนี้ด้วยคำว่า ’Greenwashing’ หรือ ’การฟอกเขียว’ หรือการใช้การตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า กิจกรรม หรือนโยบายขององค์กรว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรือเจตนาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าแบรนด์หรือองค์กรนั้นๆ รักษ์โลก
ซึ่งการฟอกเขียวนั้นทำให้ทุกวันนี้เกิดการเข้าใจผิดในหมู่สายแฟและทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทด้านแฟชั่นและบริษัทหลายๆ บริษัทนั้นพยายามจะหาประโยชน์จากความต้องการสินค้ายั่งยืนและถูกจริยธรรม เราขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดอย่างเช่นแบรนด์แฟชั่นรวดเร็วที่พยายามโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นทำมาจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันนั้นยังผลิตสินค้าอย่างรวดเร็วและกดราคาแรงงานและวัสดุซึ่งตรงกันข้ามกับทุกๆ ข้อบัญญัติของแฟชั่นรักษ์โลกเลย
Fast Fashion
จากคำที่แล้วเราก็คงต้องขอต่อด้วยคำว่า ‘Fast Fashion’ หรือ ‘แฟชั่นรวดเร็ว’ ชื่อภาษาไทยอาจจะดูงงๆ แต่มันแปลตรงตัวมากๆ เพราะแฟชั่นรวดเร็วคือรูปแบบของการผลิตเสื้อผ้าขึ้นมาในจำนวนมากๆ ในราคาถูก ซึ่งส่วนมากจะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมหรือเข้ากับเทรนด์ในตอนนั้นที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อขายในราคาที่ต่ำกว่าแบรนด์แฟชั่นทั่วไป พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ Fast Fashion นั้นจะเป็นเสื้อผ้าราคาถูกและทันสมัยที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตอนนั้น
ซึ่งสายแฟและนักช้อปจำนวนมากจะสามารถซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion ในขณะที่มันกำลังอินเทรนด์อยู่และมันจะถูกทิ้งหลังจากพวกเขาสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งซึ่งเป็นการทำลายโลกของเรามากๆ ในทางอ้อมเพราะในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้านั้นใช้ทรัพยากรและพลังงานมหาศาล และ Fast Fashion นั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในผู้ก่อนมลพิษมากที่สุดในโลกจนติดลิสต์อุตสาหกรรมที่ทำลายทรัพยากรของโลกนี้เป็นอันดับต้นๆ
Slow Fashion
เนื่องจาก Fast Fashion เป็นผู้ก่อการร้ายคนสำคัญต่อโลกของเราทำให้เกิดไอเดียและแนวคิดอย่าง ‘Slow Fashion’ ที่ต้องการจะบริโภคแฟชั่นให้รักษ์โลกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งคอนเซปต์ของ Slow Fashion นั้นเกิดขึ้นโดย Kate Fletcher นักเขียน อาจารย์ และนักเคลื่อนไหวด้านงานดีไซน์ แห่ง Centre for Sustainable Fashion
Slow Fashion คือการเคลื่อนไหวและแนวทางในการบริโภคแฟชั่นที่คำนึงถึงทรัพยากรในการรังสรรค์เสื้อผ้าอย่างที่สุดเพื่อมุ่งเน้นไปที่เทรนด์แฟชั่นยั่งยืน แนวคิดนี้คือตรงกันข้ามกับ Fast Fashion สุดๆ เพราะเป็นแนวทางการซื้อเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นที่มีคุณภาพดีที่สามารถใช้งานได้อย่างนาน นอกจากนั้นยังให้คุณค่ากับการปฏิบัติต่อผู้คน สัตว์ และโลกซึ่งล้วนเป็นกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมแฟชั่น
Eco Friendly
มาต่อกันที่คำต่อมาอย่าง ‘Eco Friendly’ อีกหนึ่งคำที่ฮิตมากๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่น Eco Friendly เป็นแนวคิดการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยที่คำนึงถึงการเคลื่อนไหวของวงการแฟชั่นอย่างไรให้ส่งผลเสียต่อธรรมชาติน้อยที่สุด! ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ การใช้วัสดุทดแทน หรือการลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมีผลต่อธรรมชาติโดยตรง
ยกตัวอย่างแบรนด์ Eco Friendly เพื่อให้หลายๆ คนเข้าในแนวคิดรักษ์โลกนี้เราขอยกแบรนด์สุดชิคอย่าง Vivienne Westwood เพราะเป็นอีกแบรนด์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตเสื้อผ้า และยังเป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์และขับเคลื่อนให้แบรนด์ต่างๆ หันมาใช้พลังงานสีเขียวในกระบวนการการผลิตอีกด้วย
Fur Free
ต่อยอดจากแนวคิดการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่าง Eco Friendly ด้วยเทรนด์รักษ์โลกที่มาแรงมากๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นตอนนี้อย่าง ‘Fur Free’ การเลิกใช้ขนสัตว์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะว่าในอดีตขนสัตว์เป็นหนึ่งในวัสดุสำคัญในการผลิตเครื่องนุ่งห่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เพราะเป็นวัสดุที่ให้ความอบอุ่นได้ดี นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องมือในการแสดงอำนาจและฐานะของมนุษย์เพราะขนสัตว์นั้นมีราคาแพงมาก
เนื่องจากการใช้ขนสัตว์ต้องพรากชีวิตของสัตว์ 1 อย่างน้อยตัวลง ซึ่งเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารและทำลาย 1 ชีวิตไปอย่างโหดร้ายทารุณแต่ในปัจจุบันที่โลกมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาทำให้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งขนสัตว์จริงอีกต่อไปแล้ว ปัจจุบันมีแบรนด์แฟชั่นและบริษัทมากมายที่ออกมาประกาศแบนขนสัตว์อย่างเช่น Kerring เครือสินค้าสุดหรูชั้นนำของโลกที่ออกมาแบนขนสัตว์ทุกชนิดจากแบรนด์ในเครือทั้งหมด หรือ Prada ที่เริ่มนโยบาย Fur Free แล้วตั้งแต่คอลเลคชั่น Spring/Summer 2020 ที่ผ่านมา
Carbon Neutral
มาต่อกันที่คำต่อมาอย่าง ‘Carbon Neutral’ อย่างที่เราบอกไว้ตอนต้นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือที่เรียกว่า ‘คาร์บอน’ เป็นจำนวนที่สูงมากในแต่ละปี ส่งผลให้เกิดการทำลายชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่ง Carbon Neutral คือกระบวนการการลดการปล่อยคาร์บอนให้ไม่ไปเพิ่มอุณหภูมิที่ชั้นบรรยากาศ โดย EU และอีก 195 ประเทศประกาศว่าจะรักษาความเป็นกลางของคาร์บอนไว้ให้ตลอดครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 เพื่อรักษาการเพิ่มของอุณหภูมิไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นและแบรนด์แฟชั่นหลายๆ แบรนด์ตื่นตัวและตั้งเป้าที่จะทำให้ค่าคาร์บอนเป็นกลางให้มากที่สุด ซึ่งแบรนด์หรูอย่าง Gucci เป็นหนึ่งแบรนด์ที่หันมาให้ความสนใจกับนโยบายนี้ แม้ว่ารูปแบบธุรกิจจะไม่สามารถทำให้ค่านี้เป็นกลางได้ 100% แต่ Gucci ก็สัญญาว่าจะชดเชยด้วยการบริจาคให้กับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้
Transparency and Traceability
มาถึงสองคำสุดท้ายที่เราต้องพูดไปพร้อมกันอย่าง ‘Transparency and Traceability’ หรือ ‘ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้’ เป็นเรื่องที่เริ่มนำมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างจริงจังเพราะในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นมีเรื่องของความไม่เป็นธรรมต่อพนักงานและกระบวนการผลิตที่สร้างมลภาวะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอยู่มากมายในวงการสุดชิคนี้
ทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่โปร่งใสมากกว่าตัวสินค้า แบรนด์แฟชั่นหลายๆ แบรนด์จึงนำประเด็นนี้บรรจุลงเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของแบรนด์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ เราขอยกตัวอย่างด้วยแบรนด์แฟชั่นรวดเร็ว H&M ในอดีตแบรนด์มักจะถูกเพ่งเล็งถึงการผลิตที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นแบรนด์แฟชั่นรวดเร็ว แต่ในปัจจุบัน H&M เป็นแบรนด์ที่โปร่งใสเป็นอันดับหนึ่งโดยได้คะแนนถึง 73% จากการรายงานจากสำนักข่าวแฟชั่นชื่อดัง WWD