คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ผังเมืองดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ซึ่งนอกจากการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมให้ดูน่าอยู่เป็นระเบียบ และมีความสวยงามแล้ว การออกแบบผังเมืองยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ส่งเสริมความเป็นอยู่ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การปลูกสร้าง รื้อถอน หรือจัดระเบียบ “เมือง” ให้แค่เมื่อถ่ายภาพมุมสูงแล้วเห็นสภาพตึกรามบ้านช่องเรียงกันเป็นแถว ๆ บล็อก ๆ เรียงต่อกันเหมือนในเกมเดอะซิมส์เท่านั้นนะ
อธิบายแบบแตกประเด็นให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การวางผังเมืองเป็นเรื่องทางเทคนิค และการเมืองที่เน้นไปที่การพัฒนาที่ดิน การสร้างสภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่ง และการสื่อสาร โดยคำนึงถึงสวัสดิการสังคม สุขาภิบาล และการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแบบองค์รวม
นี่อาจเป็นโจทย์ที่ “ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม.” คนใหม่ ที่จะมีการเลือกตั้งใน วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ต้องนำไปเป็นแผนพัฒนา เพราะแนวปฏิบัติของนักวางผังเมืองทั่วโลกในช่วงหลังศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา จะเน้นการศึกษาผลกระทบของความแออัดที่เพิ่มขึ้นในเขตชุมชนเมืองมากขึ้น ทำให้มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาหลายช่วงอายุคน มากกว่าการที่จะทุบตึก หรือโละที่อยู่อาศัยเดิมของผู้คนทิ้งแล้วสร้างใหม่ เพราะนั่นหมายถึงงบประมาณ และปัญหาที่มากกว่า
การออกแบบผังเมืองที่ดีจะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของคนให้ถูกสุขลักษณะ ช่วยแบ่งแยกประเภทของที่อยู่อาศัย ช่วยพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และช่วยยกระดับการคมนาคมให้เหมาะสมครับ ดังนั้นความดีงามของผังเมืองที่หลายคนอยากเห็นเป็นต้นแบบจะหน้าตาอย่างไร เราลองไปส่องประเทศในแถบเอเชีย แบบไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศเรากันดีกว่าครับ
1. เมืองสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์
ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง Singapore City ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบผังเมืองได้เป็นระเบียบ มีทั้งเขตที่อยู่อาศัย และพื้นที่สีเขียวที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ แม้ว่าจะเริ่มต้นจากแนวคิดพื้นฐานสมัยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษที่ต้องการแยกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้อยู่อาศัยรวมกัน เพื่อกระจายอำนาจ และความเจริญเท่าเทียมกัน กลับกลายเป็นว่าแนวคิดดังกล่าวนี้ส่งผลดีมาจนปัจจุบัน
และเนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีแหล่งธรรมชาติ รัฐบาลจึงมุ่งไปที่การวางแผนด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบแทน ดำเนินนโยบายกำจัดของเสียอย่างที่ไม่มีใครเหมือนในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ การจัดการขยะแบบ Zero Waste เพราะไม่มีพื้นที่ให้ฝังกลบ การบำบัดน้ำเสียที่ถูกกรอง และนำกลับมาเป็นน้ำดื่ม นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเตรียมรับมือการขยายตัวของประชากรในอนาคตเป็นอย่างดี โดยเน้นสร้างที่อยู่อาศัยแบบแนวดิ่ง และขยายลงไปยังใต้ดินอีกด้วย
2. กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
โซล (Seoul) เป็นเมืองหลวงที่ถูกกล่าวขานเรื่องพัฒนาการทางการเมืองมาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็น “ประชาธิปไตย” เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับการยกย่องเรื่องความสวยงามของผังเมือง เพราะสามารถผสมผสานทั้งความทันสมัย และประวัติศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว ภายหลังสงครามปูซาน โซลถูกฟื้นฟู และวางแบบแผนเชิงระบบใหม่หมด โดยเน้นไปที่การคมนาคมเป็นหลัก ผู้คนสามารถเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะได้สะดวก ปลอดภัย แถมยังมีโซนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ ส่วนอาคารบ้านเรือนก็แบ่งโซนอย่างชัดเจน ระหว่างที่อยู่อาศัย โซนธุรกิจ และจุดพักผ่อนหย่อนใจ
ปัจจุบันโซลมีการดำเนินนโยบาย “2030 Seoul Plan” เพื่อรับมือกับอนาคตด้วย โดยหลักการนี้เป็นออกแบบผังเมืองฉบับใหม่ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นประชากรเป็นศูนย์กลางโดยไม่มีการแบ่งแยก มีตลาดแรงงานที่แข็งแรง มีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย สามารถอยู่อาศัยอย่างมั่นคง และเดินทางได้อย่างสะดวก โดยที่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม และรากฐานทางประวัติศาสตร์
3. จัณฑีครห์ ประเทศอินเดีย
ใครจะไปคิดว่าประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความหนาแน่นของประชากรสูงติดอันดับโลก จะมีเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องสถาปัตยกรรม และการออกแบบผังเมืองอย่าง จัณฑีครห์ (Chandigarh) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองในอุดมคติจาก BBC เพราะมีทั้งความศิวิไลซ์ สะอาด และเป็นธรรมชาติด้วย โดยจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผังเมืองนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่อินเดียได้รับอิสรภาพ ซึ่งได้ Le Corbusier สถาปนิกชาวฝรั่งเศส และทีมงานมาเป็นคนออกแบบเมืองให้มีรูปทรงเรขาคณิตเรียงต่อกัน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้การคมนาคมสะดวกขึ้น แถมยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ด้วย
แนวคิดของผังเมืองนี้ยังคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ เพราะแนวคิดสำคัญของผังเมืองจัณฑีครห์ คือ การเปรียบเทียบตัวเมืองกับร่างกายคน โดยมีศูนย์กลางการลงทุนเป็นเหมือนหัว มีศูนย์การค้าเป็นเหมือนหัวใจ มีแหล่งพักผ่อนเป็นเหมือนแขน มีหุบเขาสีเขียวเป็นเหมือนปอด และมีถนนและเส้นทางจักรยานเป็นเหมือนระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งแต่ละส่วนก็จะเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างง่ายดาย ถือได้ว่าเป็นเมืองที่ออกแบบมาเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน และสามารถรองรับความเป็นอนาคตได้ดี
ที่ยกมาแค่สามประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีบริบทการเจริญเติบโตทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดยเราอาจนำเอาปัจจัยหลัก ๆ ของแต่ละเมือง มาเป็นตัวแปรที่สามารถใช้ขับเคลื่อนความเป็นได้ที่จะพัฒนาเมืองหลวงของประเทศไทยอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ให้เป็นไปได้มากกว่าแค่ใน “อุดมคติ”
ดังนั้นโจทย์ที่ว่าที่ “ผู้ว่าฯ กทม.” ในฐานะพ่อเมืองคนใหม่ของเมืองหลวงประเทศไทย ที่อาจจะได้อย่างน้อย 1 เสียงจากผู้เขียน เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหา และบริหาร คือ การทำ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่ โดยใช้หลัก “ผังเมือง” เป็นเครื่องมือกำหนดให้เกิดการพัฒนาใน 2 ระดับ
ระดับแรกนะครับ “ผังเมืองรวม” ต้องถูกหยิบมาเป็นวิสัยทัศน์นโยบายพัฒนาระยะยาวในการใช้ประโยชน์ที่ดิน คมนาคม และสาธารณูปโภค
ระดับสอง… ก็คือย่อยลงมาเป็น “ผังระดับย่าน” ด้วยการถ่ายทอดวิสัยทัศน์จากผังเมืองรวม ลงมาสู่พื้นที่แต่ละย่านที่คนในชุมชนตกลงร่วมกัน และผลักดันให้เป็น “กฎระเบียบท้องถิ่น”
จริง ๆ กทม. มีการจัดทำผังเมืองรวมบังคับใช้หลายฉบับนะครับ แต่ยังไม่เคยบังคับใช้ผังเมืองเพื่อพัฒนาเฉพาะพื้นที่เลย นี่เลยส่งผลให้ประชาชนระดับย่านสูญเสียโอกาสในการสร้างภาพอนาคตที่พึงปรารถนาของตนเองร่วมกัน
“การเพิ่มพื้นที่สีเขียว” อย่างเท่าเทียม ซึ่งสำคัญต่อสุขภาวะคนเมือง และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอต่อ “ประชาชน” 1 คน ที่องค์การอนามัยโลกเขากำหนดขั้นต่ำไว้ 9 ตร.ม./คน จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นี่แหละที่น่าสนใจ
เพราะปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สวนสาธารณะ 8,922 แห่ง คิดเป็น 26,329 ไร่ เมื่อนำมาเฉลี่ยผู้มีทะเบียนราษฎรฯ คิดเป็นพื้นที่สีเขียว 7.6 ตร.ม./คน ซึ่ง “ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ” (ยิ่งถ้านับรวมประชากรแฝงเนี่ย พื้นที่สีเขียวเราเหลือแค่ 3 ตร.ม./คน เองครับ)
คนกรุงเทพฯ เดินทางเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในระยะเฉลี่ยใกล้ที่สุด = 4.5 กม. (ตัวเลขนี้สูงกว่ามาตรฐานโลก 9 เท่าครับ แต่ไม่ใช่เรื่องยินดีนะ เพราะในแต่ละเขตมีความเหลื่อมล้ำสูง
- 36 เขต มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่ำกว่า 3 ตร.ม./คน
- 23 เขต มีพื้นที่สีเขียวที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เข้าใช้งานไม่ได้จริง
“ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่” ควรทบทวนเรื่องพื้นที่สีเขียวให้ตรงมาตรฐานสากล และจัดสรรงบให้เท่าเทียมกันในแต่ละเขตนะครับ
เรื่อง “ขยะมูลฝอย” ที่มีจำนวนเพิ่ม และสะสมมากขึ้น แต่กระบวนการรีไซเคิลน้อย มักถูกนำไปกำจัดแทนที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ ซ้ำร้ายนโยบายแยกขยะต่าง ๆ ก็ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเข้าถึง และเข้าใจ ดังนั้นแนวทางจัดการขยะควรใช้ข้อมูลรอบด้าน แก้ไขกันตั้งแต่ในระดับชุมชน เน้นการมีส่วนร่วม และพัฒนาใช้เทคโนโลยี และแรงจูงใจที่เหมาะสมครับ
ต่อมา “เรื่องการขนส่งและจราจร” ซึ่งเป็นปัญหาภาพใหญ่ที่ชูนโยบาย “ขอแก้ไข” กันมาทุกยุค ด้วยปริมาณรถเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้อัตราเร็วเฉลี่ยเดินทางในพื้นที่ กทม. ลดลง จนเราเจอปัญหารถติดรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน
หนำซ้ำยังมี “ปัญหาความปลอดภัย” ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย อย่างกรณีหมอกระต่ายถูกมอเตอร์ไซค์ชนระหว่างข้ามทางม้าลายเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ควรแก้ปัญหาด้วยระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุม และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนน และทางเท้าของประชาชนทุกกลุ่ม
อีกโจทย์ที่ “ผู้ว่าฯ คนใหม่” ควรมอง คือ “หาบเร่แผงลอย” ที่ควรสร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้ทางเท้ากลุ่มต่าง ๆ มากกว่าการ “ห้าม” ใช้พื้นที่ทางเท้า แล้วบริหารจัดการแบบรายพื้นที่ พิจารณากำกับดูแลร่วมกับผู้ค้าให้ดูแลควบคุมกันเองจะดีกว่า
ประเด็นเรื่อง “การศึกษา” ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลายสมัยไม่ค่อยชูเป็นนโยบายหาเสียง แต่ปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาในสังกัดถึง 437 แห่ง แต่ปัญหาคือ การเรียนของเด็กในสังกัด กทม. มีผลประเมินการสอบไม่ดีเท่าโรงเรียนสังกัดอื่นนี่สิครับ แล้วก็มีเด็กหายออกจากระบบโดยไม่ทราบสาเหตุไปอีก
สุดท้ายนี้คือ “การรักษาพยาบาล” เพราะ กทม. เราจริง ๆ เป็นศูนย์การรักษาพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แต่ “คนรายได้น้อย” กลับเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพได้ยากกว่าคนต่างจังหวัดด้วยซ้ำ
จริง ๆ ก็มีปัญหาอีกหลายมิติที่เกี่ยวกับผังเมืองนะครับ อาจเพราะ “กรุงเทพมหานคร” ไม่ใช่องค์กรบริหารที่มีอำนาจเต็ม แต่ต้องทำงานร่วมกับ “รัฐบาลกลาง” ถ้าต่างคนต่างทำ ยังไงก็ไม่มีวันสำเร็จหรอกครับ เอาเป็นว่าฝาก “พ่อเมืองคนใหม่” ให้ช่วยเข้าใจปัญหาไม่มากก็น้อย ตั้งใจทำงานเป็นภาคี เพื่อทำให้เมืองหลวงของประเทศไทยพัฒนาสู่ความเจริญอย่างที่ควรเสียที
อย่าลืมออกไปใช้สิทธิ์ของท่านใน วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ด้วยนะครับ อย่างน้อยก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมพลิกชะตา และกำหนดการออกแบบผังเมืองที่สวย และดี ที่อาจไม่ได้มีแค่ในนิยายร่วมกัน