แฟชั่นที่ดีไซเนอร์หัวกะทิที่สุดในโลกพยากรณ์กันไว้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ถึงตอนนี้มันเข้าได้กับอุณหภูมิ สภาพอากาศ ไปจนถึงสภาวะทางใจผู้คนได้ เอ๊ะ … หรือว่าไม่กันแน่นะ
A Forever Refugee at Balenciaga
หยุมหัวตัวเองหนักมากว่าจะยกเลิกโชว์ฤดูกาลนี้ดีหรือไม่ เพราะในช่วงเวลานี้ของโลก ช่างไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะทำแฟชั่นโชว์ ทว่า Demna พบเจอเหตุผลที่มากพอจะทำให้เขาเปลี่ยนใจ เมื่อมองไปที่ภาวะโลกรวน อากาศแปรปรวน กับกองทัพรัสเซียที่ยกพลบุกยูเครน เหมือนกันเปี๊ยบเลยกับที่ทำกับจอร์เจีย บ้านเกิดของ Demna ซึ่งทำให้เขากลายเป็น ‘ผู้ลี้ภัยตลอดกาล’ โชว์ครั้งนี้ของ Balenciaga จึงเปิดด้วยหิมะและลมพายุ(ปลอม)ที่ Demna ทำนายสภาพอากาศในอนาคต นางแบบที่หิ้ว Trash Pouch “ถุงขยะที่แพงที่สุดในโลก” ที่ Demna ตั้งใจออกแบบขึ้น โค้ทหนังเทียมทำจากขยุ้มรา EPHEA™ ที่เอ็กซ์คลูซีพเพื่อ Balenciaga โดยเฉพาะ Demna ปิดท้ายโชว์ด้วยนางแบบในเดรสสีฟ้าและนายแบบในสเว็ตเชิ้ตสีเหลือง – สองสีธงชาติยูเครน ก่อนที่ในภายหลังประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky แห่งยูเครนจะแต่งตั้งให้ Demna เป็นทูต UNITED24 แพล็ตฟอร์มระดมทุนเพื่อฟื้นฟูยูเครนอย่างเป็นทางการ
Tank Top’s Power Trip
เป็นแบรนดที่ใช้โลโก้แบบไม่เอาง่ายแค่พิมพ์ซ้ำๆเป็นโมโนแกรม แต่ Raf Simons และ Miuccia Prada ทำให้สามเหลี่ยม = Prada โลโก้ที่เอาไปแปะไว้ตรงไหน ตรงนั้นเป็นไฮแฟชั่นราวกับเสก กระทั่งเสื้อกล้ามสีขาวพื้นๆเพลนๆ นางเอกประจำซีซั่นนี้ที่ใส่กับกระโปรงทรงดินสอหรืออันเดอร์แวร์แบบเต็มตัวก็ Very Prada, Very Pragmatic
Debut Shows
โชว์แรกของ Matthieu Blazy ที่ Bottega Veneta ที่เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ‘อะไรที่ทำให้ Bottega Veneta คือ Bottega Veneta’ ไม่ต้องเป็นแฟนของแบรนด์ก็ตอบได้ว่านี่คือแบรนด์เครื่องหนังที่ใช้งานได้จริง เจือความคราฟต์ ก้าวข้ามกาลเวลา ไม่ใช่แบรนด์แฟชั่นและเป็นแบรนด์ที่สร้างอิทธิพลแบบไม่โฉ่งฉ่าง จึงออกมาเป็นเสื้อกล้ามขาว บลูยีนส์ สเว็ตเตอร์และเครื่องหนังที่ถักตั้งแต่กระเป๋า รองเท้าจนยันกระโปรง
ส่วน Nigo ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ชาวญี่ปุ่นรายที่สองนับจาก Kenzo Takada ผู้ก่อตั้ง Kenzo จึงเป็นคอลเล็กชั่นแรกที่สดุดีความเป็น Kenzo ที่แท้ทรู อาทิ ลายดอกป๊อปปี้ แพตช์เวิร์ก แม้แต่หยิบเอางานสเก็ตช์จริงๆของเซนเซเคนโซมาสร้างเป็นลวดลาย กลายเป็นคอลเล็กชั่นเดบิวต์ที่ได้กลิ่นญี่ปุ่นแรงพอๆกับกลิ่นตะวันตกซึ่งกล่อมเกลากันจนได้กลิ่นนักเรียนเนิร์ดสไตล์สตรีทมาแต่ไกล
One Shade of Pink
คอลเล็กชั่นสีเดียวที่ดีที่สุดในอดีตก็คือ Fall 2009 Couture ของ Christian Lacroix ซึ่งเจ้าของแบรนด์คนเก่าทำธุรกิจพัง ไล่ช่างตัดเย็บออก ลาครัวซ์ต้องใช้ผ้าเก่าๆในสตูดิโอซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีดำ รวมพลังกับช่างเก่าแก่เข็นคอลเล็กชั่นอันงดงามออกมาจนได้ แม้เขามีเงินจ่ายค่าตัวนางแบบคนละ 50 ยูโร อันเป็นค่าแรงขั่นต่ำของนางแบบก็ตาม เป็นคอลเล็กชั่นสีเดียวที่จบด้วยน้ำตาทว่าตราตรึง ขณะที่ Pierpaolo Piccioli ซึ่งมีเงินถุงเงินถังให้ถลุงที่ Valentino จับมือกับ Pantone Color Institute สร้างสีชมพูเฉดใหม่สำหรับคอลเล็กชั่นนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเขาก็กราดใช้มันจนทุกเค้าโครงชุดราวกับเป็นรถที่โดนพ่นสีชมพูใส่อย่างเนียนกริบ และแน่นอน โลกโซเชียลไม่เงียบกริบใส่คอลเล็กชั่นสุด instagrammable นี้แน่นอน