ลองจินตนาการภาพของผู้ดำเนินรายการหญิง แต่งตัวภูมิฐานน่าเชื่อถือ พูดจาฉะฉานแบบคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ นั่งจับเข่าคุยกับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เริ่มด้วยการเกริ่นถึงชีวประวัติอันยิ่งใหญ่ของอเล็กซานเดอร์มหาราชด้วยน้ำเสียงจริงจัง น่าเชื่อถือ นักวิชาการพยักหน้าพร้อมฟังคำถามอย่างตั้งใจ ก่อนที่เธอจะยิงคำถามออกไปว่า
“คุณว่าทรงผมของอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นอย่างไร?”
นี่เป็นเพียงหนึ่งในชุดคำถามช็อตฟีลที่ Philomena Cunk (ดูชื่อนางสิ!) ผู้ดำเนินรายการ “Cunk On Earth มองโลกผ่านคังค์” พาผู้ชมร่วมเปิดโลกกว้าง ดื่มด่ำไปกับความรู้ทางอารยธรรมในประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย ไล่ตั้งแต่การถือกำเนิดของมนุษย์ การก่อร่างสร้างอารยธรรม การถือกำเนิดของศาสนา การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก ไล่มาจนถึงโลกแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันแสนโกลาหลในปัจจุบัน พูดได้เต็มปากว่าคุณจะดื่มด่ำขำแตกไปกับร้อยแปดคำถามของผู้ดำเนินรายการและวาทะจิกกัดประวัติศาสตร์ สังคม และผู้คนชนิดที่คาดไม่ถึงอย่างแน่นอน
‘Cunk on Earth มองโลกผ่านคังค์’ ผลงานจาก BBC จำนวน 5 ตอน ตอนละ 30 นาที หาชมได้ทางเน็ตฟลิกซ์ โดย Cunk on Earth เป็นสารคดีปลอม (Mockumentary) ที่นำเสนอเนื้อหาชวนให้ผู้ชมเข้าใจว่าตนเองกำลังดูรายการสารคดี ซึ่งความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เกิดในรายการถูกเขียนขึ้นใหม่หมด มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเสียงหัวเราะมากกว่าการนำเสนอข้อมูลให้ความรู้อย่างจริงจังตามขนบรายการสารคดีประวัติศาสตร์
แม้กระทั่งผู้ดำเนินรายการอย่าง ฟีโนมีล่า คังค์ นั้น แท้จริงแล้วเธอคือ Diane Morgan นักแสดงชาวอังกฤษที่เคยสวมบทแม่สาวคังก์มาแล้วจากสารคดีปลอม อาทิ Cunk on Shakespeare, Cunk on Britain และ Cunk & Other Humans on 2019 ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวอังกฤษอย่างมาก
เมื่อ Cunk on Earth ถูกนำเสนอในรูปแบบสารคดีปลอม ดังนั้นผู้ชมจึงต้องทำความเข้าใจล่วงหน้าไว้เลยว่า เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ถูกนำเสนอในซีรีส์ชุดนี้จะไม่เหมือนกับการนำเสนอเนื้อหาในรายการสารคดีประวัติศาสตร์ทั่วไปที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลและท่าทีการนำเสนอที่จริงจังน่าเชื่อถือ
Cunk On Earth กลับยั่วล้อเสียดสีด้วยการให้ความรู้กับผู้ชมผ่านการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในแต่ละยุค แต่ไม่ลืมที่จะถ่ายทอดข้อคิดเห็นของผู้ดำเนินรายการที่จิกกัดถนัดแซะ สร้างสีสันตามสไตล์สารคดีปลอม เป็นต้นว่า
“มนุษย์ยุคแรกเลี้ยงหมาเพื่อเป็นเพื่อนคู่กาย และเลี้ยงแมวไว้ทำอะไรก็ไม่รู้”
“โซเชียลมีเดียช่วยให้เราผูกพันกับผู้คน ด้วยเรื่องง่าย ๆ เช่น รูปแมวหรือด่าคนแปลกหน้า”
รวมไปถึงการตั้งคำถามปั่นประสาทแหกกรอบการสัมภาษณ์ที่ทำเอานักวิชาการตัวจริงในรายการต้องตั้งสติในการตอบแต่ละคำถาม เช่น
“พี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบินลำแรก แล้วเครื่องบินที่มีห้องน้ำเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร”
“มีใครเคยนำภาพวาดบนผนังในถ้ำไปทำหนังแล้วหรือยัง”
เชื่อว่าผู้ชมที่มีพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์มาก่อน จะได้รับอรรถรสความสนุกในการชมมากขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่ Cunk on Earth ชวนให้เราขบคิดก็คือ โลกในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว เราได้รับข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกสารทิศจนไหลล้นเพียงแค่เข้าสื่อโซเชียลหรืออ่านทวิตเตอร์ เทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนจริงอย่างเนียนกริบทำให้เส้นแบ่งของความจริงกับความปลอมหลอมรวมกันจนยากที่จะแยกได้ และนี่คือหนึ่งในความท้าทายใหม่ที่มนุษย์โลกกำลังเผชิญ
เฉกเช่นที่ใครหลายเข้าใจไปแล้วว่า ฟีโลมิน่า คังค์ มีตัวตนและเป็นผู้ดำเนินรายการสารคดี Cunk on Earth จริง ๆ
Words: Thanapol Chaowanich