Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

‘พลิกหลังกล่อง’ ไปคุยกับ ‘อิ๊ง-ชยธร กิติยาดิศัย’ บิวตี้บล็อกเกอร์ผู้ทำสกินแคร์ขาดตลาด

อยากสวยใสแบบตาสว่างต้องอ่าน
Interview / People
อิ๊ง พลิกหลังกล่อง ชยธร กิติยาดิศัย

คำรีวิวสกินแคร์อันคุ้นชินทั่วไปก็ได้แก่ เนื้อสัมผัสดีมาก ไม่เหนอะหนะ ผิวดูเด้ง ดูสวยสุขภาพดี ฯลฯ

แต่วันหนึ่งบิวตี้บล็อกเกอร์รายหนึ่งจาระไนส่วนผสมในสกินแคร์เป็นฉากๆ รีวิวกันแดดสุดฮิตของศรีจันทร์ว่าส่วนผสมดีเยี่ยม แต่ทำขายทำไมแค่ 15 มิลลิกรัม

บางครั้งก็ใส่ชุดนักเรียนรับบทเป็นแนนโน๊ะมาจับโป๊ะกลยุทธ์การตลาดของ Clean Beauty ด้วยวรรคทองที่ว่า “ไม่มีแบรนด์ไหนตั้งใจทำของออกมาฆ่าคน เพราะคนตายมักไม่กลับมาซื้อซ้ำ”

เจ้าของวาทะเด็ดผู้นั้นนั่งอยู่ตรงหน้า โชว์ผิวหน้าเปลือยใสกิ๊งของ อิ๊ง-ชยธร กิติยาดิศัย บิวตี้บล็อกเกอร์แห่งช่อง ‘พลิกหลังกล่อง’ ที่ทำคอนเทนต์รีวิวส่วนผสมให้คนดูได้เบิกเนตร ส่วนแบรนด์-ถ้าไม่เด็ดจริงเป็นโดนแหก

LIPS: ปกติเสพคอนเทนต์บิวตี้แบบไหน อะไรดลใจให้มารีวิวสกินแคร์จากส่วนผสม

อิ๊ง: นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่มาทำช่องยูทูบพลิกหลังกล่องของตัวเองเลย เพราะบิวตี้บล็อกเกอร์ในไทย ณ ตอนนั้นยังไม่มีใครรีวิวส่วนผสม และในหลายๆเรื่องก็ไม่ควรจะเป็นแบบนี้เลย เช่น เรื่องจรรยาบรรณต่างๆ วิธีการนำเสนอซึ่งรับสปอนเซอร์มาก็ไม่แจ้งคนดู รูป before-after ก็ทำปลอมๆ ไปซื้อรูปมาบ้าง มีหลายอย่างมากที่เราโมโห แล้ววันหนึ่งในช่วงโควิดก็หยิบกล้องขึ้นมาอัดคลิปตัวเอง

LIPS: การรีวิวที่ต่างประเทศเขาไม่ทำสิ่งเหล่านี้กันหรือ

อิ๊ง: เขาเลยจุดนี้ไปแล้ว แต่ในไทยยังทรงอยู่กับที่ อิ๊งอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้าง ถ้าดูคลิปในช่องพลิกหลังกล่องจะดูเหมือนว่าอิ๊งอยากฟาดใครก็ฟาดเลย แต่จริงๆแล้วเลือกนะ ถ้าพูดถึงแบรนด์ก็จะพูดถึงแบรนด์ใหญ่ๆ ซึ่งบล็อกเกอร์ในต่างประเทศเขาก็พูดถึงกัน ถ้าเป็นแบรนด์เล็กๆก็จะไม่เลือกแบรนด์ MLM (Multi-level Marketing ธุรกิจจำหน่ายสินค้าในลักษณะเครือข่ายขายตรง) ไม่เคยแตะเลย เพราะเขาต้องการความสนใจอยู่แล้ว เพื่อนที่เคยพูดถึงแบรนด์ MLM เหล่านี้ก็โดนฟ้องหลายสิบล้าน เราจะไม่มีการพูดด้วยอารมณ์โดยไม่มีเหตุผลจากข้อมูลมารับรอง จะไม่พูดแค่ว่า ‘ใช้แล้วไม่ชอบ’ ทุกอย่างที่พูดจะมีพื้นฐานจากข้อมูลและงานวิจัย

LIPS: ทำคอนเทนต์แบบนี้มิโดนดราม่าแย่รึ

อิ๊ง: ก็โดน (หัวเราะ) อิ๊งว่าตัวเองมีช่องทางหารายได้จากหลายทาง ตอนนี้เรามีแบรนด์ของตัวเองแล้วด้วย ไม่ได้ต้องพึ่งพารายได้จากการเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์อย่างเดียว เราเลยสามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงๆได้ เรารู้ว่าเดิมพันของเรามีแค่ไหน เลยเข้าใจว่าบางคนที่มีอาชีพหลักเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์คงทำไม่ได้หรอกที่จะฟาดกับแบรนด์ต่างๆ แต่หลังๆเริ่มมีคนทำคอนเทนต์แบบนี้มากขึ้น แบรนด์ต่างๆก็เริ่มเข้าใจคนแนวนี้มากขึ้น

LIPS: ‘คนแนวนี้’ คือเป็นสายพันธุ์ใหม่ในวงการบิวตี้เมืองไทย

อิ๊ง: (หัวเราะ) ตอนแรกแบรนด์คิดว่าเรามาเพื่อฟาดให้ได้ยอดวิว แต่เจตนาเรามาเพื่อจะสร้างความเปลี่ยนแปลง แบรนด์เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเราไม่ได้ด่าแบรนด์ แต่เราดูที่ส่วนผสม อย่าง La Mer ก็มีทั้งตัวที่ชอบและตัวที่ไม่ชอบ เราพูดโดยมีพื้นฐานอ้างอิงจากงานวิจัย ไม่ใช่ว่าเราเกลียดแบรนด์นี้ก็จะด่าแต่แบรนด์นี้ หรือว่าจะไม่รับงานแบรนด์นี้เลย

LIPS: คิดว่าสิ่งที่คนไทยเข้าใจผิดกันมากคือเรื่องอะไร

อิ๊ง: การคิดว่า ‘แพงคือดี’ ช่วงนี้อิ๊งเริ่มทำ TikTok มากขึ้น ซึ่งเราต้องทำเนื้อหาแบบใหม่เลยเพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนในติ๊กต่อก เราเลยได้พบว่ายังมีความเข้าใจที่ผิดอยู่มากว่าของแพงคือของดี เราทำเนื้อหาว่าเอารายได้ของ Estée Lauder มาเปิดให้ดูเลยว่าเขาลงทุนกับอะไรมากน้อยแค่ไหน เราเรียนบัญชีมาด้วย แต่ถึงจะเอาข้อมูลมาเปิดให้ดู ทั้งที่เราให้เหตุผลมากมาย ก็ยังมีคนที่พูดอยู่ดีว่าฉันเชื่อว่าแบรนด์แพงคือของดี ก็ไม่เป็นไร

อิ๊งคิดว่าน่าจะเป็นพฤติกรรมของคนไทยที่ยึดติดกับแบรนด์ ไม่ใช่แค่สกินแคร์ด้วย แต่เป็นหมด ไม่ว่าจะแบรนด์รถ แบรนด์เสื้อผ้า โดยเฉพาะมรดกของแบรนด์เก่าแก่ที่อยู่มานานๆ คนไทยชอบเรื่องราวมาก ซึ่งสวนทางกับในต่างประเทศที่แบรนด์ใหญ่ๆเหล่านี้อยู่ในจุดที่เดือดร้อนกันไปหมด ขณะที่แบรนด์ที่ฮิตกันอยู่ตอนนี้คือแบรนด์ต่างๆที่อยู่ใน Sephora ซึ่งเป็นแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่มาทำ เน้นส่วนผสม ไม่ได้เน้นเรื่องราวของสาหร่ายในท้องทะเล บลา บลา บลา”

LIPS: แบรนด์แบบนั้นสิจะถูกตั้งคำถามหนักมากจากเจนซีซึ่งเกิดมาเพื่อแหก นึกถึง Greta Thunberg เป็นต้น

อิ๊ง: ถูกต้อง เกรต้าคือตัวแทนของเจนซี ซึ่งไม่ได้ตั้งคำถามคนเดียวด้วยนะ แต่เรียกเพื่อนมาช่วยกันแหก แต่พวกเขามีเหตุผล อยากรู้ว่าเรื่องจริงคืออะไร เลยมีคำว่า TikTok Uni ที่คนหันมาใช้ติ๊กต่อกในการเรียนรู้ทุกอย่าง อยากรู้อะไรก็เสิร์ชในติ๊กต่อก คนหาร้านอาหารในติ๊กต่อกมากกว่าจะใช้กูเกิลแล้ว เพราะคนในติ๊กต่อกจริงใจ เชื่อเพื่อน เชื่อคอมมูนิตี้มากกว่าเชื่อแบรนด์

LIPS: คนไทยไม่ได้ซื้อแบรนด์ที่คุณประโยชน์ด้วย แต่ซื้อเพราะมันคืออุปกรณ์ในการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง

อิ๊ง: ใช่เลย มีคนบางส่วนที่คิดว่าอิ๊งวิจารณ์แบรนด์เหล่านี้คือการไปวิจารณ์พวกเขา

LIPS: เอาแบรนด์มาเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง

อิ๊ง: ถูกต้อง! อิ๊งวิจารณ์แบรนด์ที่เขาใช้ก็คิดว่าอิ๊งไปวิจารณ์ไลฟ์สไตล์ของเขา ซึ่งไม่ใช่เลย อิ๊งวิจารณ์สูตร พูดถึงส่วนผสมและโครงสร้างต่างๆของสินค้าตัวนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการที่คุณชอบหรือไม่ชอบมัน ถ้าคุณชอบใช้แบรนด์นี้ก็ใช้ต่อไปเลย อย่างคลิปแรกที่อิ๊งพูดถึง Kiehl’s และ La Mer ซึ่งกลายเป็นไวรัลจนอิ๊งขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ก็มีคนชอบและมีคนไม่ชอบ แต่การที่มีคนตั้งถามเยอะๆ ยิ่งผลักดันให้เราอยากจะโชว์ข้อมูลและแสดงจุดยืนของเรา เราสื่อสารในวิธีที่คนไทยยังไม่เข้าใจและคนไทยก็เซนซิทีฟมากในเรื่องเหล่านี้ จะมาวิจารณ์ฉับๆ แต่ฉันไม่ได้เกลียดเป็นการส่วนตัวแบบฝรั่งไม่ได้ เราเลยต้อง disclaimer แรงๆว่า ถ้าใครชอบก็ไม่ได้ว่าอะไร ใช้ต่อไป แต่ฉันคิดแบบนี้ เราค่อยๆปรับเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดต้องโมโห

LIPS: คนจะมองว่าเรื่องไม่ดีทำไมต้องไปพูดถึง อยากให้พูดถึงแต่เรื่องดีๆ

อิ๊ง: แต่เรื่องดีๆอิ๊งก็พูดนะ ‘สิ่งที่เกลียดในแบรนด์ที่รักที่สุด’ เป็นวิดีโอที่ทำให้คนเปลี่ยนมุมมองในตัวอิ๊งไปเลยว่าอิ๊งไม่ได้มาเกลียดทุกคนหรือมารักทุกคน ที่ผ่านมาหลายๆแบรนด์ก็ฟังเราและเปลี่ยนตัวเอง ตอนที่ทำคลิปเรื่อง ‘เปิดโปงการตลาดผิดๆ ของ Clean Beauty’ วันรุ่งขึ้น All About You โทรหาอิ๊งเลย เขามาขอประชุมกับอิ๊ง ทั้งทีมฟังความคิดเห็นของอิ๊ง 2 ชั่วโมง เขาถามเลยว่าอิ๊งรู้สึกยังไงเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็รื้อองค์กรเลย อิ๊งชอบสินค้าของเขานะ แต่ไม่ชอบเลยวิธีการสื่อสารแบบขายความกลัว

การขายแค่คุณประโยชน์ว่าของเราดีอย่างนั้นอย่างนี้มันดูธรรมดาไปมั้ง แบรนด์ต่างๆเลยต้องขายว่าเราไม่มีส่วนผสมนี่นั่นโน่น แต่แบรนด์คู่แข่งมี ทำให้คนรู้สึกว่าฉันใช้ของแบรนด์อื่นแล้วไม่ดีแน่เลย ฉันต้องเปลี่ยนมาซื้อของคุณ แต่ในมุมมองของส่วนผสมมันคือการสร้างเรื่องขึ้นมาทั้งหมด เช่น บอกว่าพาราเบน ซิลิโคน แอลกอฮอล์คือของไม่ดี ทั้งที่ทุกอย่างมีฟังก์ชั่นของมันและมันดีพอที่จะมีวิจัยสนับสนุน รวมทั้ง FDA ทั่วโลก ไม่ว่าจะยุโรปหรืออเมริกาให้การยอมรับ แล้วอยู่ดีๆแบรนด์หนึ่งก็บอกว่ามันไม่ดี มันอันตราย…อ้างอิงจากอะไร จากแผนกการตลาดของแบรนด์ไง

LIPS: แต่อิ๊งกลับเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆใส่ส่วนผสม ‘ที่เป็นอันตรายต่อผิว’ เหล่านี้ลงไปในสกินแคร์

อิ๊ง: ใช่ เพราะมีงานวิจัยรองรับ แต่บิวตี้บล็อกเกอร์พูดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีเพราะรับบรีฟมาจากแบรนด์ แล้วก็พูดต่อๆกันไปจนไม่รู้แล้วว่าอะไรคือความจริง พอเราไปท้าทายเขาด้วยข้อมูลว่าพาราเบนคือสารกันบูดที่มีวิจัยรองรับมาอย่างยาวนานว่าปลอดภัยที่สุด ประวัติการแพ้น้อยที่สุด คนเลยตกใจกันว่าความจริงเป็นแบบนี้หรอกหรือ เรื่องเล่ากับเรื่องจริงเป็นคนละทิศทางกันเลย

หลายคนคิดว่าวงการบิวตี้ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม แต่ไม่ใช่เลย มันขับเคลื่อนด้วยแผนการตลาดและผู้บริโภคที่เชื่อในสิ่งที่แผนกการตลาดบอก บิวตี้บล็อกเกอร์ก็ยิ่งเอาไปพูด เกิดเป็นวงจรนี้ขึ้นมา ทั้งที่เคยมีใครไปถามแผนกวิจัย R&D บ้างไหมว่าความจริงคืออะไร กลายเป็นว่าทุกวันนี้แผนก R&D ต้องรับบรีฟจากแผนกการตลาด แผนก R&D จะใส่พาราเบน แผนกการตลาดบอกว่าไม่ได้ ตอนนี้ตลาดไม่ชอบพาราเบน ไปเปลี่ยนส่วนผสมมาเป็นสารกันบูดตัวอื่น ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าประสิทธิภาพแย่กว่า ความคงทนแย่กว่า ความปลอดภัยน้อยกว่า ต้องใส่ปริมาณเยอะกว่า วงการ R&D ร้องไห้อยู่ตอนนี้อยากใส่พาราเบนมาก

LIPS: ความเชื่อเมื่อพูดซ้ำบ่อยเข้าก็ได้กลายเป็นความจริงไปแล้ว

อิ๊ง: ถูกต้อง มันคือคำนี้เลย อิ๊งอยากให้ผู้บริโภคให้ฟังความจริงมากขึ้น อยากให้ผู้ผลิตฟัง R&D มากขึ้น อย่าฟังแต่การตลาด บิวตี้บล็อกเกอร์ก็ฟังความจริงด้วย อิ๊งเองก็รับงานจากแบรนด์เหมือนกัน ทุกบรีฟที่ได้มาจะมีโน้ตที่การตลาดกำกับไว้ว่า ตอนท้ายให้พูดว่า ‘ไม่ใส่พาราเบน ไม่ใส่ซิลิโคน ไม่ใส่แอลกอฮอล์’ อิ๊งก็จะบอกไปว่าไม่พูด เขาก็รับฟังนะ แต่ถ้าเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ที่ไม่มีความรู้เรื่องส่วนผสมเลยล่ะ บรีฟมาแบบนี้เขาก็พูดตาม

อีกเรื่องที่เป็นปัญหามากเลยนะในเมืองไทย คือไม่มีใครบอกว่าได้รับสปอนเซอร์มา ซึ่งไม่ควรเลย ที่อังกฤษมีกฎหมายแล้วว่าถ้าคุณรับสปอนเซอร์ คุณต้องใส่ disclaimer ต้องแจ้งผู้บริโภค ที่ออสเตรเลียก็เพิ่งเป็นกฎหมายปีนี้ ถ้าคุณรับสปอนเซอร์ก็ต้องบอก ต้องขึ้นมาเป็นประโยคแรกในคอนเทนต์ ในเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ ต่อให้มีก็ไม่มีใครทำ เพราะไม่มีการตรวจ

LIPS: ก็เป็นปัญหาเดียวกับการคนขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ผิดกฎหมายแต่ทำกัน เพราะไม่มีใครตรวจ

อิ๊ง: ใช่! อิ๊งอยู่ในวงการ 2 ปี ก็มีปัญหากับเพื่อนร่วมวงการหลายๆคนเหมือนกันนะว่าคุณรับสปอนเซอร์ แต่คุณไม่เคยพูดเลยว่ารับ

LIPS: เคยคุยกับเขาไหมว่าทำไม

อิ๊ง: เคยนะ กับคนที่รีวิวส่วนผสมเหมือนกัน เขาบอกว่าเขาไม่คิดว่ามันจำเป็น เพราะคนดูรู้อยู่แล้ว และคนดูรักเขาไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ตาม แต่บางคนก็ไม่รู้ไง อิ๊งเลยอยากโชว์ให้ทุกคนและบิวตี้บล็อกเกอร์เห็นว่าได้รับของฟรีหรือของสปอนเซอร์ก็จะขึ้นข้อความตลอด และคนดูชอบที่อิ๊งทำแบบนี้เพราะเขารู้สึกว่าอิ๊งจริงใจ เราอยากทำให้ทุกคนเห็นว่าการที่เราจริงใจกับคนดูก็ทำให้เขารักเราได้ คนเขาก็ดูกันนะ

LIPS: เรื่อง Cruelty-free ก็มาเปลี่ยนความคิดหลังจากได้ดูอิ๊ง

อิ๊ง: Cruelty-free ความจริงก็คือไม่ได้ส่งไปทดลองใดๆเลยไง ถึงอยากจะทดลองกับสัตว์ก็ทำไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูงมากและเขาเลิกทำไปนานแล้ว เรื่องการทดลองกับสัตว์เป็นเรื่องที่เล่าขานกันเมื่อ 30-40 ปีก่อน แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่แบรนด์และองค์กรบางแห่งเอามาเล่น เป็นการบิดเบือนความจริงต่อผู้บริโภคมากๆ เขาเลิกทำไปนานแล้ว เพราะเขาพัฒนาผิวสามมิติที่เหมือนกับผิวมนุษย์จริงๆที่ให้ผลแม่นยำกว่าทดลองกับสัตว์เยอะมากและค่าใช้จ่ายก็น่ารักกว่ากันเยอะ

คนที่พัฒนาผิวสามมิติก็คือบริษัทใหญ่ๆอย่าง L’Oréal หรือ P&G ที่ยังเคลมไม่ได้ว่าเป็นแบรนด์ Cruelty-free เพราะเขาขายสินค้าในจีนที่มีกฎหมายว่าสินค้าบางอย่าง เช่น กันแดดหรือครีมลดริ้วรอยยังต้องทดลองกับสัตว์อยู่ แต่เขาเป็นบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาเพื่อไม่ให้แบรนด์ต่างๆไม่ต้องทดลองกับสัตว์ แต่แบรนด์เล็กๆที่เคลมว่าตัวเอง Cruelty-free ก็ชอบไปโยนมะเขือใส่เขา ห้ามไปสนับสนุนเขา ต้องกลับไปศึกษาให้ดีว่ามันเป็นมายังไง ไม่ใช่รับข้อมูลจากการตลาดมาแล้วก็เชื่อ

LIPS: พอมาทำแบรนด์ตัวเองกดดันมากไหม เพราะเราก็ว่าคนอื่นไว้มาก

อิ๊ง: กดดันมาก (ลากเสียงยาว) แบรนด์ Ingu คือพลิกหลังกล่องในเวอร์ชั่นผลิตภัณฑ์ อยากโชว์ให้คนเห็นว่าเราจะสวยให้หมดทุกมุมเลยแล้วดูซิว่าจะขายได้ไหม เรามี core value 5 ข้อที่สวนกระแสทุกข้อ เราเอาวิทยาศาสตร์ที่ดีเป็นตัวตั้งแล้วเริ่มต้นจากตรงนั้น วิจัยบอกว่ายังไง ไม่ใช่เทรนด์ว่ายังไง การตลาดเห็นแบบไหน เราก็ว่าอย่างนั้น และอิ๊งอยากกลับมาสู่เบสิก หาสิ่งที่ทำงานร่วมกับผิวได้ดี ไม่ใช่สิ่งที่มาทำหน้าที่แทนผิว เพราะผิวฉลาดอยู่แล้ว แต่คนไทยผิวพังเพราะรูทีนบำรุงผิวเยอะมาก ใช้ที 10 อย่าง ต้องมาสก์หน้า น้ำตบ เอสเซนส์ เซรั่ม โลชั่น เสียเวลามาก

ถ้าไปดูงานวิจัยส่วนผสมที่ดีๆทั่วโลกจะพบว่าเป็นงานวิจัยของไทยเยอะมาก ทั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นเรศวร เกษตรฯ จุฬาฯ หรือมหิดล งานวิจัยของคนไทยมีเยอะมากแต่ไม่ค่อยมีคนเอาไปใช้ แต่ของเราใช้วัตถุดิบในไทยและส่งไปเข้าแล็บ ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็สูง เพราะเราอยากใช้ของโลคัลที่ดี เราตั้งใจจะทำแบรนด์ไปขายในต่างประเทศ จะไปแข่งกับญี่ปุ่น เกาหลี เราอยากโชว์เคสวัตถุดิบของไทยที่มีดีเยอะมาก เช่น สารสำคัญในชาเขียวญี่ปุ่นสู้ใบชาอัสสัมที่เชียงรายของไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ เราอยากสนับสนุนให้คนไทยเอาของโลคัลมาใช้มากขึ้น

การทำธุรกิจคือการทำลายโลกอยู่แล้ว แต่เราจะไม่ทำธุรกิจโดยการฟอกเขียว เราเลยเลือกใช้พลาสติกพีซีอาร์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลซึ่งแพงกว่าพลาสติกทั่วไปมาก อยากทำให้คนเห็นว่าถึงเราจะเป็นแบรนด์เอสเอ็มอี แต่ก็ทำเรื่องความยั่งยืนได้อย่างมีความหมายได้และเห็นผลจริง ไม่ใช่ด้วยการไปเก็บขยะที่ทะเลอย่างเดียว และการที่เราใช้วัตถุดิบโลคัลก็ช่วยลดคาร์บอนได้ด้วย ไม่ต้องนำเข้าจากเมืองนอก และสุดท้ายคือเราไม่ขายความกลัว เราให้ข้อมูลให้ครบแล้วให้คนไปตัดสินเอง แต่เราจะไม่บอกว่าเราไม่ใส่นี่ ไม่ใส่นั่น อย่างสินค้าตัวหนึ่งของเราใส่พาราเบน ซึ่งเราก็บอกคนซื้อตรงๆว่าเราใส่ แต่เรามีเหตุผลที่มีงานวิจัยรองรับว่าทำไมเราจึงใส่

LIPS: ผลิตภัณฑ์ต่างๆของ Ingu ก็เห็นว่าใช้วัตถุดิบในเมืองไทย เช่น ชาเขียวจากเชียงราย สารสกัดจากเปลือกมังคุดและเหง้าสับปะรด

อิ๊ง: สตอรี่ถือว่าเป็นโบนัส ใจจริงอยากใช้ของโลคัลที่ดี เราอยากโชว์เคสของไทย เป็นซอฟต์เพาเวอร์บ้านเราซึ่งเมืองไทยเป็นเมืองทรอปิคัล อากาศร้อนชื้นแบบนี้เราเลยมีวัตถุดิบหลากหลายมาก ญี่ปุ่นถ้าเขามีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยแบบบ้านเรา ป่านนี้เขาคงวิจัยไปถึงไหนๆ นี่ขนาดเขาไม่ค่อยจะมีแต่ก็วิจัยมากขนาดนี้ อย่าง Innisfree ก็สร้างทั้งแบรนด์ขึ้นมาได้จากชาเขียว เขาเก่งในการสร้างเรื่องราวต่างๆ

LIPS: อิ๊งมีโปรดักส์ตั้งต้นแค่ 3 ตัวในราคา 1,500 คนจะเชื่อไหมว่าของถูกและดีมีในโลก

อิ๊ง: เอาจริงๆต้นทุนที่แท้จริงของสกินแคร์แบรนด์ใหญ่ก็ไม่ได้สูงเลยนะ ยิ่งเคาน์เตอร์แบรนด์ก็คิดกำไรเยอะ โดยทั่วไปเอากำไรมากกว่า 5 เท่าอยู่แล้ว แบรนด์ใหญ่ๆดังๆ ต้นทุนไม่เกิน 200 บาท แต่ขายหลักหมื่น ผู้บริโภคไม่รู้ต้นทุน เขาก็สร้างเรื่องราวให้ขายแพงได้ เป็นวิธีการทำงานของวงการนี้ แต่ก็มีคนที่พยายามเปลี่ยนนะ อย่างมีแบรนด์ในอเมริกาชื่อ Dieux ในเว็บไซต์เขาโชว์เลยว่าต้นทุนเท่าไร ค่าการตลาดเท่าไร กำไรเท่าไรซึ่งเขาบวกเพิ่ม 3-4 เปอร์เซ็นต์ และอธิบายเหตุผลว่าเพราะมีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าจ้างพนักงาน ค่าการตลาด ค่าอะไรต่างๆ เปิดข้อมูลอย่างโปร่งใส เขาเคยทำงานนิตยสารแฟชั่นในอเมริกามาก่อน เขาทนความ toxic ของวงการบิวตี้ไม่ไหวเลยออกมาทำแบรนด์เอง ซึ่งก็ขายดีมาก คนชอบในความจริงใจ

LIPS: คิดเห็นอย่างไรกับสกินแคร์สายธรรมชาติ

อิ๊ง: มันก็มีประโยชน์ในแบบฉบับของมัน แต่แบรนด์ธรรมชาติชอบไปในสายคลีนและฟอกเขียว มีความคิดสั้นว่าใช้แพกแพจจิ้งไม้คือรักษ์โลก ขายความกลัว สารเคมีคือแย่ อันตราย ไม่ดี แต่ทุกอย่างในโลกคือเคมีนะ ไม่อย่างนั้นจะเกิดสิ่งต่างๆในโลกได้อย่างไร มีแบรนด์ธรรมชาติที่เขียนไว้หน้ากล่องเลยว่า ‘ปราศจากสารเคมี’ แล้วถ้าไม่มีเคมีแล้วคุณขายอะไร แล้วถ้าไม่ใช้สารกันบูด ผลิตภัณฑ์คุณจะมีเชื้อโรคมากแค่ไหน คนกลุ่มนี้มีความต่อต้านวิทยาศาสตร์ และจะไม่ศึกษาข้อมูลเลย แต่จะสร้างเรื่องราวของเขาขึ้นมาและเชื่อในทางนั้น

ตอนที่อิ๊งทำคลิปเรื่อง Clean Beauty ก็มีคนจากภาคการเกษตรเข้ามาคอมเมนต์เยอะมากว่า ในอุตสาหกรรมของเขาก็เจอเรื่องพวกนี้เยอะมาก แบรนด์เกษตรธรรมชาติที่บอกว่าปราศจากจีเอ็มโออะไรต่างๆ วงการเขาก็ต้องการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะมีคนที่ไม่รับฟังวิทยาศาสตร์เลยอยู่เยอะ ต้องใช้กลีบกุหลาบเป็นตันเพื่อสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยแค่นิดเดียว เก็บกุหลาบที่ตุรกี ส่งไปผ่านกระบวนการที่ฝรั่งเศส โรงงานอยู่ที่จีน แล้วส่งไปศูนย์กระจายสินค้าในอเมริกา คิดดูว่าสร้างคาร์บอนมหาศาลแค่ไหน

LIPS: แล้วภูมิใจด้วยนะที่ทำแบบนั้นได้

อิ๊ง: ทุกอย่างต้องสดเหมือนต้องตัดมาจากต้น อะไรที่ปลอดภัยกับผู้บริโภคที่สุดกลับทำไม่ได้ คนอาจจะคิดว่าทำไมต้องจริงจังขนาดนี้ มันก็แค่สกินแคร์เอง

แพกเกจจิ้งทำจากไม้อาจไม่ได้รักษ์โลกนะ กว่าจะได้ต้นไม้หนึ่งต้นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลขนาดไหน หรือใช้แก้วเพราะคิดว่ารีไซเคิลได้ แต่ถ้าดูข้อมูลแล้วจะพบว่าแก้วไปไม่ถึงจุดรีไซเคิลเพราะว่าแตกก่อน แก้วน้ำหนักเยอะมาก ส่วนใหญ่ต้องสั่งมาจากจีน ต้องขนส่งมาไกล เสียพลังงานในการขนส่งมากมาย คนชอบคิดสั้นๆในเรื่องความยั่งยืน

ที่ไม่ชอบมากๆคือกันแดดอนุรักษ์ปะการัง นี่ไม่ได้อ้างอิงงานวิจัย ข้อมูลหรือตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงใดๆเลย ถ้าไปถามผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาปะการังมาทั้งชีวิตก็บอกว่ากันแดดไม่เกี่ยวเลย คุณไม่บินไปเที่ยวทะเลยังช่วยลดคาร์บอนฟุตฟรินท์ได้ดีกว่าไหม หรือไปรณรงค์นักการเมืองที่ไม่ดูแลฟาร์มเกษตรต่างๆที่ปล่อยน้ำเสียหรือสารพิษลงทะเลดีกว่าไหม นโยบายต่างๆหันเหให้คนมองผิดประเด็น แค่ออกนโยบายมาก็หาเสียงได้โดยไม่ได้ทำอะไรที่เห็นผลเลย ไม่ต้องไปล็อบบี้อุตสาหกรรมต่างๆที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเลย แล้วคนก็ซื้อผลิตภัณฑ์ก็รู้สึกว่าได้รักษ์โลกแล้ว

LIPS: ยุคนี้ยั่งยืนเฉยๆไม่ได้อีก ต้อง realistically sustainable ยั่งยืนจริงๆนะ

อิ๊ง: อิ๊งได้แรงบันดาลใจเรื่อง Realistically Sustainable จากแบรนด์ Patagonia เขาออกแคมเปญช่วงแบล็กฟรายเดย์ เขาซื้อหน้าหนึ่งของสื่อดังๆ ลงรูปแจ็กเก็ตแล้วบอกว่าอย่าซื้อเสื้อตัวนี้ เขาต้องการรณรงค์ว่าในช่วงวันหยุดยาวควรจะเป็นช่วงเวลาที่คนทบทวนว่าของอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น เขาไม่อยากสร้างขยะแค่เพราะของลดราคา คนเลยอยากซื้อ แล้วก็ไม่ได้ใช้ เอาไปกอง ถ้าต้องการจริงๆค่อยซื้อ จะได้ไม่สร้างขยะให้โลก ปรากฏขายดีกว่าเดิมเพราะคนชอบในความจริงใจ ความยั่งยืนจริงๆคือต้องลดการบริโภคและเลือกใช้ของที่มีอายุการใช้งานให้ยาวนานที่สุด ต่ออายุของเหลือทิ้ง เอามาสร้างคุณค่าใหม่ อย่างเราเอาเปลือกมังคุดมาทำสารสกัด ก็เป็นการอัปไซเคิล แบรนด์เล็กก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในวิถีทางของเรา

LIPS: มีภาพในอุดมคติไหมว่าวงการบิวตี้ควรจะเป็นอย่างไร

อิ๊ง: อิ๊งคิดว่าแบรนด์ควรมีความจริงใจและโปร่งใสกับผู้บริโภคให้มากกว่านี้ อยากให้ลองดู ไม่ใช่ฟังแต่นักการตลาด ผู้บริโภคทุกวันนี้สับสนมากว่าควรจะมีรูทีนในการบำรุงผิวอย่างไรดี สุดท้ายก็เลยใช้มันทุกสาร อันนู้นก็ดี อันนี้ก็ดี เขาไม่รู้ว่าผิวของตัวเองเป็นแบบไหน อยากให้แบรนด์สื่อสารความจริงว่าผลิตภัณฑ์เหมาะกับผิวแบบไหน

ช่องพลิกหลังกล่องมีคนดูจากประเทศเพื่อนบ้านเยอะมาก ประเทศเขาไม่มียูทูเบอร์ที่ทำเนื้อหาแบบนี้เลย อย่างน้อยประเทศเราก็ยังมีคนที่ออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ ตอนนี้อิ๊งเลยจะทำคอนเทนต์ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับพวกเขาโดยตรง อยากให้คนได้รู้ข้อมูลของวงการนี้มากขึ้น การอ่านงานวิจัยก็เข้าใจว่ามันยากมาก แต่อย่างน้อยลองรับฟังความคิดเห็นจากทั้งคนที่ใช้จริง ฟังหมอ ฟังคนที่แม่นเรื่องงานวิจัย อิ๊งก็เป็นแค่หนึ่งมุมมองเท่านั้น ลองไปฟังอีกหลายๆมุมมอง แม้แต่งานวิจัยเดียวกันก็อาจจะตีความต่างกันได้

วันก่อนอิ๊งยังคุยกับหมอท่านหนึ่งที่ใช้ Bakuchiol ว่าสารตัวนี้ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนมากพอเลยนะ คุณหมอก็รับฟัง อิ๊งชอบคุยกับคนแบบนี้มากๆ คนที่ไม่ต้องเห็นด้วยกับเราทุกอย่าง แต่คุยกันด้วยเหตุและผล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์.

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม