Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Toxic Masculinity พ่นพิษ เมื่อ “ชายแท้” กลายเป็นคำด่า ดราม่าจากคดี ‘จีจี้ สุพิชชา’

“ไปเอาผ้าถุงมานุ่ง” คำด่าเพศสภาพที่สร้างบาดแผลทางใจ
Beauty / Wellness & Aesthetic

จากข่าวการเสียชีวิตของ จีจี้ สุพิชชา ปรีดาเจริญ เน็ตไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง เจ้าของเพจ “เรื่องของจี้” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2 แสนคนใน Facebook  1.6 แสนคนใน IG และ 1.8 แสนคน ใน TikTok  เธอถูกพบเสียชีวิตภายในห้องพัก พร้อมกับร่างของ นตท.ภูมิพัฒน์ หรือ อิคคิว อดีตแฟนหนุ่ม ซึ่งสังคมคาดกันว่าเป็นผู้ใช้ปืนพกซิกซาวเออร์ 9 มม. ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุยิงจีจี้จนเสียชีวิต ก่อนจะลงมือปลิดชีวิตตนเอง

แฮชแท็ก #เรื่องของจี้ และ #จี้จี้สุพิชชา ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว พร้อมกับข้อมูลจากดิจิทัลฟุตปรินต์ของทั้งจี้จี้และ อิคคิว ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของฝ่ายชาย ทั้งการทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง ทุบตี เอาปืนจ่อหัว หรือแม้กระทั่งการขู่ฆ่า

ยิ่งไปกว่านั้นในโซเชียลมีเดียของฝ่ายชายก็มีเนื้อหาที่แสดงออกถึงทัศนคติแบบความเป็นชายเป็นพิษ หรือ Toxic Masculinity หลายอย่าง เช่น โพสต์แสดงความเกลียดชังผู้หญิงที่เป็นเฟมินิสต์ โพสมีมเหยียด LGBTQ+ โพสต์แสดงค่านิยมว่าผู้หญิงที่ดีควรยอมรับบทบาทที่แตกต่างจากผู้ชาย ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชม “แอนดรูว์ เทต” อินฟลูอินเซอร์สายต่อต้านผู้หญิง ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีข้อหาค้ามนุษย์ ข่มขืน และทำธุรกิจผิดกฎหมาย

Photo: Sarah Mirk via Wikimedia Commons

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกระแสประนามผู้ก่อเหตุและทัศนคติ Toxic Masculinity กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานเป็นเฟมินิสต์จำนวนมาก (จนมีศัพท์คำว่า เฟมทวิต ที่หมายถึง เฟมินิสต์ในทวิตเตอร์) แต่ประเด็นดราม่าใหม่ก็เกิดขึ้นตามมาเมื่อมีเฟมทวิตใช้คำว่า “ชายแท้” มาประณามและจำกัดความผู้ชายที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการประชดประชันความเป็นชายที่ล้นเกิน คำว่า “ชายแท้” ในที่นี้ไม่ใช่คำระบุเพศ แต่เป็นคุณศัพท์ใช้ระบุประเภทของพฤติกรรม

Taylor Russell และ Timothee Chalamet (ในจั๊มป์สูทเปลือยหลังจาก Haider Ackermann)
Taylor Russell และ Timothee Chalamet (ในจั๊มป์สูทเปลือยหลังจาก Haider Ackermann)
Photo: Elisabetta A. Villa/ Getty Images

จริงๆแล้ว การใช้คำว่า “ชายแท้” เป็นคำเสียดสีมีมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว อ้างอิงจากบทความ Word of the Year  2022 ของ Way magazine ซึ่งอธิบายว่า 

ชายแท้ไม่ได้หมายถึงเพศสรีระ (sex) หรือ เพศสภาวะ (gender) และยิ่งไม่ได้หมายถึงผู้ชายทั้งหมด (not all) แต่มักถูกใช้เพื่อด่าทอคนที่ไม่เข้าใจความเท่าเทียมทางเพศ หรือต่อให้เข้าใจ แต่กลับไม่เคารพสิทธิของคนเพศอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมสังคม ชายแท้คือผู้ชายสันดานเสีย และเป็น subset หนึ่งของความเป็นชายที่เป็นพิษ (toxic masculinity)”

ในทางกลับกันก็มีผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่าการใช้คำว่า “ชายแท้” เช่นนี้เป็นการเหมารวมผู้ชาย straight  ทุกคนว่าเหยียดเพศและนิยมความรุนแรง และสร้างอคติทางเพศกับผู้ชายจนเกินไป ทำให้ความเป็นชายถูกด้อยค่าในทุกมิติเกินความเป็นจริง ทั้งๆที่ถ้าอยากจะประนามพฤติกรรมดังกล่าว ก็สามารถใช้คำว่า 

“ความเป็นชายเป็นพิษ” ที่มีอยู่แล้วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์คำใหม่ หรือนำคำว่า”ชายแท้” ซึ่งโดยทั่วไปใช้ระบุเพศสภาพมาใช้จนผิดความหมายไปจากเดิม

ข้อโต้แย้งของทางฝั่งประณาม ”ชายแท้” ที่มีกลับมา คือ คำระบุเพศสภาพนั้นถูกใช้เป็นคำเหยียดกันอย่างแพร่หลายโดยผู้ชายและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มาโดยตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่การใช้คำว่า “ตุ๊ด”ในความหมายว่า ขี้ขลาด เช่น ใจตุ๊ด และคำด่าอย่าง “หน้าตัวเมีย” “ไปเอาผ้าถุงมานุ่งซะ” “ไม่เป็นลูกผู้ชาย” ซึ่งเป็นการสร้างอคติทางเพศและด้อยค่าเพศอื่นๆ มาต่อเนื่องยาวนาน นี่เป็นอาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้าง awareness ในคนที่ยังใช้คำเหล่านี้ได้เข้าใจความรู้สึกของเพศสภาพที่อัตลักษณ์ถูกใช้ในความหมายเชิงลบ

Harry Styles และ Alessandro Michele
Harry Styles และ Alessandro Michele Photo: Getty Images

อีกข้อโต้แย้งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “ชายแท้” มีนัยเชิงอำนาจแบบชายเป็นใหญ่อยู่แล้วในคำว่า “แท้” ซึ่งให้คุณค่าและผลักไสสิ่งที่ต่างจากตนเองให้อยู่สถานะ “เทียม” เป็นการนิยามตนเองว่าบริสุทธิ์กว่า จริงกว่า สูงกว่า และกดอัตลักษณ์ (แม้แต่ของผู้ชายที่ต่างจากตน) ให้ต่ำกว่าตน เช่นเดียวกับการใช้คำว่า “ไทยแท้” “พุทธแท้” หรือแม้แต่ “หญิงแท้” “กะเทยแท้” ความแท้เป็นคำที่มีปัญหาในตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่เกี่ยงว่าจะใช้โดยเพศใด หากต้องการปกป้องคำระบุเพศสภาพ ปกป้องแค่คำว่า “ผู้ชาย” เฉยๆ ไม่ให้เป็นคำด่าก็เพียงพอแล้ว

จนถึงขณะนี้ดราม่านี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ เริ่มมีอินฟูเอนเซอร์มากมายออกมาซัพพอร์ตทั้ง 2 ฝั่ง ในส่วนที่ถกเถียงกันด้วยเหตุผลก็สร้างความตระหนักรู้และชวนคิดพิจารณาพัฒนาตรรกะให้กับผู้ติดตามได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเราจะอยู่ฟากฝั่งไหนของอัตลักษาณ์ทางเพศที่หลากหลายก็ตาม

แคมเปญ #FightTheStigma

แคมเปญ #FightTheStigma ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชายได้พูดถึงความคับข้องใจที่ต้องสวมบทบาทมาดแมนตลอดเวลา ออกแบบโดย Maria Fiona Labucuas.

ในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แม้ความสะใจจะบรรเทาความอัดอั้นของทั้งสองฝ่ายได้พอสมควร แต่หากมากล้นจนเกินไปก็มีแนวโน้มที่จะสร้างบาดแผลทางจิตใจ เป็นพิษต่อสุขภาพจิต และสร้างอคติต่อเพศตรงข้ามได้

อย่าลืมว่า แม้การถกเถียงในประเด็นแหลมคมและการขับเคลื่อนสังคมจะจำเป็น แต่การดูแลสุขภาพใจก็สำคัญเช่นกัน  

Words: Roongtawan Kaweesilp 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม