มิติ เรืองกฤตยา เป็นช่างภาพ แต่การถ่ายภาพไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาทำ เขาสนใจมิติอื่นๆที่เกี่ยวกับภาพมากกว่า เป็นต้นว่าการดำรงอยู่ของร้านสะดวกซื้อที่มีสาขากว่าหมื่นแห่งในประเทศไทยทำให้พื้นที่ทั่วไทยหน้าตาดูเหมือนๆกันไปหมด…หรือเปล่า ภาพวิวนอกหน้าต่างของคอนโดมิเนียมราคาหลักล้านต้นไปจนเกือบร้อยล้านต่างกันไหม หรือใน BLISS นิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขา ที่เริ่มต้นจากหนึ่งในภาพที่คนเห็นมากที่สุดในโลกอย่างภาพเนินเขาเขียวท้องฟ้าแจ่ม วอลเปเปอร์ของ WINDOWS XP ไพล่ไปเกี่ยวพันอย่างไรกับภาพแลนด์สเคปที่เขาใหญ่
มิติยกภาพเหล่านี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาของคุณกับเขา และเขากับ LIPS ในวันนี้
เขาเป็นฝ่ายเลือกจุดนัดพบ – ร้านอาหารวีแกนในมุมสงบของสุขุมวิท ละแวกบ้านที่เขาโตมาก่อนจะไปเรียนที่อังกฤษตอน 10 ขวบ “ไม่ได้กินวีแกน ไม่ใช่คนชอบผัก” เขาออกตัวเมื่อขี่จักรยานมาจอดหน้าร้าน “แต่ที่นี่เงียบดี” เสียงเครื่องปั่นบดขยี้อโวคาโดจนเหลวในพริบตาดังแหวกอากาศขึ้นมา
เราแน่ใจว่ามิติเป็นช่างภาพเมื่อดูจากผลงานในเว็บไซต์ของเขา www.mi-ti.com หากตัวเขาเองไม่เคยเอ่ยอ้างว่าตัวเป็นเช่นนั้นสักครั้ง มีแต่จะเรียกตัวเองว่า ‘คนทำงานภาพ’ อย่างล่าสุดเขาไปเก็บภาพที่เขาใหญ่ ดินแดนที่ได้สมัญญาว่าเป็น ‘ทัสคานีเมืองไทย’ ได้อย่างไรไม่รู้ ใดๆก็ตามมันเชื่อมโยงกับความเป็นอิตาลีของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร Corrado Feroci สถานที่แสดงผลงานล่าสุด นิทรรศการ ‘BLISS’ ของเขาที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ที่อยากไปเขาใหญ่เพราะอยากโยงเรื่องที่เขาใหญ่เหมือนอิตาลี มันคือแลนด์สเคปที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลหลายอย่าง ผู้ก่อตั้งศิลปากรก็เป็นคนอิตาลี คือศิลป์ พีระศรี ตึกหอศิลป์ที่เราจะแสดงงานก็เป็นสถาปัตยกรรมยุคล่าอาณานิคม รู้สึกว่าเหมาะดีที่ไปจัดแสดงงานในพื้นที่ที่ถูกดัดแปลง” โดยไม่ได้สรุปปิดท้ายว่าทั้งหมดนี้ดีหรือไม่ดี แค่เกริ่นนำแล้วให้ไปคิดต่อกันเอาเอง “เราไปถ่ายวิดีโอพระอาทิตย์ขึ้นและตก จริงๆเป็นการตั้งคำถามต่อแนวคิดของช่างภาพฝรั่งเศส Henri Cartier-Bresson ที่บอกว่ามี Decisive Moment จุดที่ใช่ที่ทุกอย่างลงตัวกันหมด วิดีโอนั้นเป็นการตั้งถามถึงจุดที่ว่านั้นว่ามีจริงหรือเปล่า เหมือนเราไปยืนอยู่ในจอโปรเจกชั่นใหญ่ๆในฐานะคนดู เพื่อจะดูว่าจุดไหนคือจุดที่ใช่ หรืออาจไม่มีจุดที่ว่านั้นเลยก็ได้
“เคยเห็นภาพนั้นไหม” เขาเอ่ย แต่ไม่ได้เจตนาจะให้มันเป็นประโยคคำถาม “วอลเปเปอร์บนหน้าจอ WINDOWS XP ที่เป็นเนินเขาเขียวๆ ท้องฟ้าสีฟ้า เราสนใจทิวทัศน์ที่ถูกปรับโดยมนุษย์ เราทำงานเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นยุค 2000 ซึ่งรูปวอลเปเปอร์นั้นใน WINDOWS XP คือหนึ่งในรูปถ่ายที่คนเห็นมากที่สุดในโลก ทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตของรูปได้ว่า ในยุคนี้ยังมีรูปที่เป็นไอคอนิกอยู่หรือเปล่า ในเมื่อเราอยู่ในยุคที่มีการผลิตรูปออกมาเยอะมาก จากการที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟน
“โยงไปถึงเทคโนโลยีเอไอที่เราไม่ได้มองว่ามันจะมาช่วยมนุษยชาติ รู้สึกว่ามันคือมาร์เก็ตติ้งอย่างหนึ่ง ปีที่แล้วคือเอ็นเอฟที ปีนี้คือเอไอ เหมือนมีไว้ให้บริษัทใหญ่หาเงิน เรามีจุดตั้งต้นมาจากรูปวอลเปเปอร์นั้น แล้วให้เอไอแปลงจากภาพเป็นเท็กซ์ จากเท็กซ์เป็นภาพ มันพาเราไปที่ไหนสักแห่ง จากภาพภูเขากลายเป็นภาพถนน ไปสู่ภาพทะเลทราย บางรูปเราใช้กล้องฟิล์มถ่ายทับไปบนหน้าจออีกที อยากพูดถึงความไม่ยั่งยืนของภาพดิจิทัล เอไอและใครมีสิทธิ์เป็นเจ้าของภาพเหล่านี้ มีการสลับไปมาระหว่างอนาล็อกกับดิจิทัล ภาพอยู่ในคอมพิวเตอร์แต่ถูกพิมพ์ออกมา
“งานนี้มีความขำด้วย เช่น เราคุยกับ ChatGPT เรื่องเทคโนโลยีที่ผลิตโดยผู้ชาย สังเกตได้เวลาเอไอแปลงรูปออกมาจะมีอคติบางอย่างแฝงอยู่ บางทีรูปที่แปลงมากลายเป็นการ sexualised ผู้หญิง เรื่องสีผิว โยงไปได้หมดแม้แต่เรื่องรถที่ขับอัตโนมัติ ซึ่งเป็นดีเบตที่คนถกเถียงกันว่าถ้าต้องชน แล้วจะชนใคร ระหว่างคนแก่กับเด็ก แต่คนวัฒนธรรมก็จะมีข้อถกเถียงที่ต่างกัน เอ่อ…นี่เราชักไปไกลละ จะบอกแค่ว่านิทรรศการนี้มีหลายเรื่องรวมกันและแล้วแต่คนจะตีความ” มิติชะลอสายธารความคิดเมื่อเห็นคนฟังชักจะตาลอย
แต่ไม่วายพูดต่อจากที่ค้างไว้เหมือนอดใจไม่อยู่ว่า “เราอยู่ในยุคที่เราอาจไม่ต้องเดินออกไปถ่ายภาพเอง เราดึงภาพจากอินเทอร์เน็ตหรือจากที่ไหนก็ได้ คนอาจจะรู้จักเราในฐานะคนถ่ายภาพ แต่จริงๆเราสนใจงานภาพ และภาพมากับเทคโนโลยี และตั้งแต่โลกมีสมาร์ทโฟน ภาพเปลี่ยนไปเร็วมาก”
WINDOWS XP ออกมาแนะนำตัวกับชาวโลกในปี 2001 ปีที่มันออกมาทำให้มิติตั้งคำถามต่อว่า จริงๆแล้วเขาอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องวอลเปเปอร์เนินเขาเขียวอะไรนั่นหรอก แต่เขาถูกป้อนข้อมูลให้สนใจเรื่องนั้นต่างหาก…หรือเปล่า “งานชิ้นนี้เราอยู่กับโทรศัพท์เยอะ” เขามองสมาร์ทโฟนที่นอนแผ่อย่างไร้เดียงสาตรงหน้าด้วยแววตาฉงนฉงาย “เลยไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่เราเห็นรูป Y2K เยอะๆหรือเปล่า ตอนนี้กระแส Y2K กำลังฮิตกันอยู่ใช่ไหม เราเห็นสิ่งที่อัลกอริทึมโชว์ขึ้นมา อาจจะทำให้เราอยู่ดีๆก็มาทำงานนี้”
เขาพูดเรื่องแลนด์สเคปบ่อย เลยคะเนไปเองว่าเขาคงสนใจถ่ายภาพพื้นที่ ภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม หรืออะไรเทือกนั้น “ถ่ายสิ่งที่เห็นทั่วไป” เขาตอบมา เราหน้าม้าน “ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเราโตที่อังกฤษ ไปเรียนตั้งแต่ 10 ขวบ เวลาเราดูภาพลอนดอนยุค 1960 แล้วมาดูลอนดอนตอนนี้ ทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิม เหมือนเขาได้พัฒนาบ้านเมืองไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 100-200 ปีก่อน หลังจากนั้นก็แค่คงสภาพทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิม พอเรากลับเมืองไทยเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว นี่เกิดอะไรขึ้น อยู่ไป 3 เดือนมีตึกใหม่โผล่ขึ้นมาอีกแล้ว ที่นี่มีความยืดหยุ่นสูงมาก อยู่ดีๆอะไรจะเกิดขึ้นมาก็ได้ สำหรับเราที่มีกล้องอยู่ในมือเลยมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้น่าสนใจ และการมีกล้องก็เป็นข้ออ้างที่ดีในการไปไหนมาไหน”
ไม่ได้เจตนาจะเป็นช่างภาพเลยว่างั้น เขาหยุดลังเลกับตัวเองแวบหนึ่งก่อนตอบตามตรงว่า “เอาเข้าจริงเริ่มจากการที่ว่า…ถ่ายภาพมันง่าย (หัวเราะ) จริงๆแล้วไม่ง่าย แต่ตอนนั้นคิดว่าง่าย แค่กดชัตเตอร์ แต่ยุคนี้น่ะง่าย ทุกคนมีสมาร์ทโฟนในมือ งานภาพถ่ายที่เราทำนี่คิดเยอะมากนะ มีการรีเสิร์ชและกระบวนการมากมาย เพียงแต่คนไม่เห็น คนชินกับการคิดว่าภาพถ่ายคือกดถ่ายแล้วจบ แต่นั่นเป็นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของตัวงาน
“เราอยากพิมพ์รูปออกมา ก็พิมพ์ที่เมืองไทยไม่ได้ ไม่มีกระดาษที่เราจะใช้ได้ หามาทั้งประเทศแล้วไม่มี ต้องบินไปพิมพ์ที่สิงคโปร์ บ้านเราไม่มีคนใช้ของคุณภาพพวกนี้ ร้านเลยไม่สั่งเข้ามา คนที่พิมพ์เก่งๆก็คือศิลปินนะ ซึ่งเป็นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ของงานเรากว่าจะไปแสดงในแกลเลอรีได้ เท็กซ์เจอร์ของกระดาษเป็นตัวบ่งบอกด้วย ทำไมเราใช้กระดาษเยื่อไผ่ ทำไมใช้กระดาษมันหรือด้าน เราอยากให้งานที่ออกมาอยู่ได้นานๆ ไม่ใช่พลิกดู 5 วิแล้วจบ เราเลยต้องการงานที่เนี้ยบ และเวลาจัดแสดงภาพนิ่ง คนดูเข้าไปดูภาพใกล้มากเลยนะ เขาจะได้เห็นรายละเอียดที่คิดไม่ถึง
“สรุปว่าเรื่องโปรดักชันเป็นปัญหามากกับงานที่เราทำ เคยไปแสดงงานที่ญี่ปุ่น เหลือเชื่อมากกับวิธีที่เขาแพ็กงานของเราแล้วเปิดออกมา คนดูไม่ได้ประสบการณ์ตรงนั้นหรอก แต่จริงๆแล้วประสบการณ์ในการดูงานเริ่มตั้งแต่วิธีที่เปิดงานออกมาจากห่อ เห็นข้างหลังภาพที่สวยเนี้ยบไปหมด ขนาดเราเคยไปทำที่สิงคโปร์ยังมีรอย แต่ที่ญี่ปุ่นเนี้ยบกริบ มันทำให้ภาพที่เราพิมพ์ที่ไทยที่เราคิดว่ามันดูโอเค พอมันไปผ่านการฟินิชชิ่งที่ญี่ปุ่น โอ้โฮ มันเพิ่มคุณค่าขึ้นเยอะ”
การทำงานภาพทำให้เขาได้เดินทาง และผลงานก็ทำให้เขาได้เดินทางต่อไปในหลายประเทศ ซึ่งทำให้เขาคิดอะไรต่อได้อีกมากมายเมื่อสัมผัสปฏิกิริยาของผู้ชมงานแต่ละประเทศ “ข้อความโฆษณาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯยุคที่บูมมากๆ เราหยิบมายำทำให้เหมือนเป็นหนังสือกลอน ตั้งใจทำให้สวยๆเหมือนหนังสือสำนักพิมพ์ PENGUIN ใช้กระดาษจากยุโรป ตอนไปแสดงงานที่ฮ่องกง คนเห็นหนังสือนี้แล้วซื้อเก็บทันที แต่ตอนจัดแสดงงานที่เมืองไทย คนถามว่าทำไมหนังสือแพงจัง เล่มละตั้ง 300 กว่าบาท (หัวเราะ) ก็จะมีอะไรแบบนี้ บางประเทศอาจเห็นหนังสือว่าเป็นวัตถุที่น่าสะสม แต่บางที่อาจมองหนังสือว่าเป็นของที่อ่านแล้วทิ้ง” หรือเข้ามาถามว่า ‘ฟรีไหม’ เราต่อให้ เขาหัวเราะหึหึ
ช่างภาพ LIPS ชี้งานชิ้นหนึ่งของเขา บอกว่าชอบ เป็นภาพวิวจากห้องในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง เขาชะโงกหน้ามาดู แววตาฉงนปนปลื้มใจ “โอ้! งานเก่ามากฮะ เมื่อ 6-7 ปีก่อนได้ SINGAPORE ART MUSEUM ซื้อไป” แต่ดูไม่เก่า ช่างภาพเริ่มคุยกันเอง ณ จุดนี้ “มันดูเหมือนเป็นที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ผมไปถ่ายตามคอนโดที่จะปล่อยเช่า ตั้งแต่ราคาล้านต้นๆไปจนถึงหลัก 60-70 ล้าน งานนี้ทำคู่กับหนังสือกลอน ทางมิวเซียมซื้อไปคู่กัน”
เกิดกรุงเทพฯ อยู่อังกฤษมาเกินครึ่งชีวิต ไปแสดงงานสิงคโปร์ ไปทำ Artist Residency ที่โตเกียว แต่ “ไม่รู้สึกว่าเป็นคนของที่ไหนเลย” มิติตกตะกอนหลังจากเดินทางมาประมาณหนึ่ง “ทุกที่มีข้อดีข้อเสีย อยู่ลอนดอนก็เหนื่อยนะ อยู่กรุงเทพฯก็เป็นอีกแบบ เดินๆอยู่ตกทางเท้า” เขายิ้ม แต่ไม่ใช่เพราะตลก ก่อนเล่าประสบการณ์จากการเดินทางที่มีข้ออ้างว่าไปถ่ายรูปให้ฟัง เป็นต้นว่า
เขาเกริ่นว่าเป็นคนชอบกิน และครั้งหนึ่งที่ทำโปรเจกต์ตระเวนถ่ายรูป 7-11 จากเหนือจรดใต้ เพื่อเฝ้ามองว่าร้านสะดวกซื้อที่รูปลักษณ์เหมือนโขลกออกมาจากพิมพ์เดียวกันนี้ กว่าหมื่นสาขาทั่วประเทศ การดำรงอยู่ของมันทำให้สภาพพื้นที่นั้นๆเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร “ทริปนั้นได้กินเยอะมาก” คนฟังตื่นเต้นกับเมนูที่คาดว่าจะได้ยินจากปากนักชิมตัวยง “ไส้กรอก ซาลาเปา ขนมจีบเซเว่น ได้กินมาเยอะมาก”
เราตกลงใจว่ามิติเป็นคนตลกโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าตนเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ดี เขาไม่ละอุตสาหะขุดคุ้ยทริปเดินทางมาเล่าให้ฟังอีกว่า “เราเคยอยู่โตเกียว 3 เดือน ไปทำโปรเจกต์ เอาของรีไซเคิลจากโรงงานญี่ปุ่นในไทย เช่น เศษรถ ขนไปทำที่ญี่ปุ่น ผลิตใหม่และขายในห้างที่นั่น” โตเกียวจึงกลายเป็นหนึ่งในโปรดที่สุดของคนที่บอกว่าไม่รู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองของประเทศใด “มันมีย่านเยอะมาก” เขาหวนนึกถึงโตเกียวในความทรงจำ “เราหลุดหายเข้าไปในเมืองได้เลยเป็นเดือน มันมีอะไรให้ดูเยอะขนาดนั้น”
มิติทำงานมีเดียหลายประเภท แต่มีจุดเริ่มต้นจากงานภาพถ่ายเท่านั้นเอง จึงกลายเป็นภาพจำว่าเขาเป็นช่างภาพ “อาจเป็นเพราะตอนเรียนปริญญาโทก็เรียนถ่ายภาพเชิงสารคดี มีอาจารย์เป็นนักเขียนที่สนใจหนังและภาพนิ่ง เวลาสอน เขาไม่ได้แค่ดูรูปศิลปะ เขาสนใจทุกอย่างที่เป็นภาพ เขาเปิดโลกให้เราเยอะมากว่าคุณเรียนสารคดีแต่ไม่ใช่ว่าต้องดูแต่งานภาพข่าว เราเลยสนใจเรื่องภาพมาตลอด แต่ไม่ได้คิดว่าต้องทำภาพให้เป็นศิลปะ เราสนใจสังคมและสารคดี ตอนปริญญาตรีเรียนด้านสังคมด้วย คิดว่าคงมีส่วนในการทำงานของเราเรื่องวิธีคิด วิธีมองสิ่งต่างๆ” มิติเล่าถึงมิติอันหลากหลายในตัว
ทำงานภาพมาตั้งแต่ยุค Y2K จนวัฏจักร Y2K กลับมาฮิตอีกรอบ หากมิติยังยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ตัดสินและตีกรอบความคิดของใครที่มีต่องานของเขา “เราว่าทุกคนเวลาถ่ายรูปก็มีการตัดสินและคัดเลือกบางอย่างอยู่แล้ว เวลาเราเฟรมภาพ เรามีอคติอยู่แล้วว่าตั้งใจจะโชว์อะไร จะถ่ายติดมุมที่รกไหม หรือจะเฟรมภาพให้คนเห็นแต่มุมที่เรียบร้อย ฉะนั้นอยู่ที่การนำเสนอว่าจะทำอย่างไรให้คนดูมีพื้นที่ได้หายใจ ให้เขาได้คิดต่อยอด หรือบางทีอาจจะสอนเราด้วย แต่เราไม่เคยคิดว่าจะต้องไปสอนคนอื่น”
ถ้าคุณเดินไปเห็นงานของตัวเอง จะคิดอย่างไร เขาใช้เวลาคิดน้อยมากก่อนตอบคำถามนี้อย่างกลั้วหัวเราะ “ดูน่าเบื่อจัง…ตั้งแต่เด็กๆเราชอบสะสมแสตมป์ การถ่ายรูปก็คงประมาณนั้น เราไม่ได้ยึดติดว่าต้องถ่ายกล้องฟิล์มหรือแม้แต่ต้องเป็นภาพที่เราถ่ายเอง เราเพียงสนใจเรื่องภาพและการสะสมเท่านั้นเอง”
นิทรรศการ BLISS จัดแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ 28 เมษายน – 8 กรกฎาคม 2023
Facebook: ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY
Insatgram: @artcentresilpakorn
สถานที่: VEGANERIE CONCEPT พร้อมพงษ์ www.veganerie.co.th
Words: Suphakdipa Poolsap
Photograph: Somkiat Kangsdalwirun