มาทำงานสายเป็นประจำ ลืมนัดสำคัญกับลูกค้า ทำงานตกๆ หล่นๆ ถูกเจ้านายตำหนิว่าไม่รับผิดชอบบ่อยครั้ง จัดระเบียบการทำงานไม่ได้ งานค้างส่งทันบ้างไม่ทันบ้าง บางครั้งเครียดจนนอนไม่หลับ หากใครมีอาการเข้าข่ายตามนี้ บางทีคุณอาจกำลังเป็นโรคสมาธิสั้นก็ได้ แต่ไม่แปลก เมื่อคนในวัยทำงานหลายคนเป็นโรคสมาธิสั้นโดยที่ไม่รู้ตัว
โรคสมาธิสั้น เกิดจากอะไร
โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า ‘โดพามีน’ (Dopamine) ทำงานบกพร่องหรือมีปริมาณน้อยกว่าปกติ หลายคนเข้าใจว่าเกิดในเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้เช่นกัน โดยลักษณะที่สำคัญของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้น คือ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผน การแก้ไขปัญหา ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานตามเดดไลน์ ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ
หากไม่นับผลกระทบในเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คนที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักทำงานผิดพลาดบกพร่องเพราะความประมาท ทำงานส่งไม่ทันกำหนด จัดระเบียบในการทำงานไม่ได้ ถูกเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าตำหนิอยู่เสมอ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง เมื่อทำงานไม่ประสบความสำเร็จหรือทำผิดพลาดอยู่บ่อยๆ มักเครียดได้ง่าย และเกิดโรคซึมเศร้า ตลอดจนมีอาการวิตกกังวลได้ บางคนหันไปหายาเสพติดเพื่อเป็นทางออกในการคลายเครียด จึงมีความเสี่ยงในการติดบุหรี่ สุรา หรือยาเสพติดตามมา
เทคนิค ‘Body Doubling’ คืออะไร
สำหรับใครที่กำลังนอยด์อยู่ว่าตัวเองจะรับมือกับการทำงานอย่างไรให้ราบรื่นเป็นปกติ แนะนำให้ลองใช้เทคนิค ‘Body Doubling’ นั่นหมายถึง การที่คุณมีเพื่อนนั่งทำงานด้วย จะแบบตัวเป็นๆ หรือผ่านทางออนไลน์ก็ไม่ติด เทคนิคนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสำหรับคนสมาธิสั้นได้เป็นอย่างดี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าธรรมชาติของผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น มักมีปัญหากับการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ การหาบัดดี้ที่นั่งทำงานไปพร้อมๆ กันจะช่วยบูสต์ระดับโดพามีนให้เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจว่ามีเพื่อนคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ และจะทำให้ตัวเองลุยงานชิ้นนั้นได้สำเร็จ
“Body Doubling” อย่างไรให้เวิร์ก
1. กำหนดวันเวลาที่จะทำงานกับเพื่อนคนหนึ่งหรือหลายๆ คนไปพร้อมๆ กัน ไม่จำเป็นต้องเป็นงานเดียวกันก็ได้ ที่จริงไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ เพราะหัวใจหลักคือการทำงานเคียงข้างกันในพื้นที่เดียวกัน+
2. ตั้งกติกาของการเป็นเพื่อนทำงานด้วยกันเพื่อให้เกิดอรรถรสเชิงบวก อาจตั้งกฎระหว่างทำงาน เช่น
- ขอคำแนะนำกันได้ หรือพูดให้กำลังใจกันได้หรือไม่
- เวลาเพื่อนอีกคนเริ่มล้าหรือแสดงอาการหมดไฟ คุณจะสามารถทักได้หรือไม่
- ช่วงการทำงานอย่างยาวนานจะมีเบรกได้หรือไม่และเมื่อไหร่
- ควรจะทำงานต่างคนต่างทำอย่างเงียบๆ หรือคุยกันได้ด้วย
3. ก่อนเริ่มต้น ให้แต่ละคนตั้งเป้าหมายว่าจะให้งานเสร็จสิ้นแค่ไหน เป้าหมายของการทำงานวันนี้คืออะไร และเมื่อถึงเส้นตายของวัน คุณต้องการจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งเมื่อตอนหมดเวลาทำงานจริงๆ คุณจะต้องจริงใจในการบอกถึงสิ่งที่ทำเสร็จและที่ยังไม่เสร็จ สิ่งที่ภาคภูมิใจและสิ่งที่ยังค้างคาใจหรือไม่พอใจ
อันที่จริงเทคนิค “Body Doubling” ไม่ใช่แค่เป็นการเยียวยาสำหรับคนสมาธิสั้นเท่านั้น จะเป็นใครก็สามารถนำเทคนิคนี้มาปรับใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ กระทั่งนำมาปรับใช้ในการจัดบ้าน เคลียร์ตู้เสื้อผ้า หรือกิจกรรมใดๆ ที่ต้องการกำลังใจจากคนใกล้ตัว พร้อมเชียร์อัปให้งานชิ้นนั้นลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็เวิร์กด้วยกันทั้งนั้น
และบัดดี้ในการ ‘Body Doubling’ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักเสมอไป คุณสามารถมองหาผู้คนมากมายที่พร้อมจะซัพพอร์ตการทำงานของเราผ่านช่องทางออนไลน์ ลองคลิกเข้าไปเล่นๆ ได้ที่ BodyDoubling.com หรือ FocusMate.com
Words: Ayu Kulahathai
ข้อมูลจาก