ถึงต้นเรื่องจะไม่มีขา แต่จังหวะนี้เธอยืนหนึ่งค่ะ หลังจากฟันฝ่าดราม่าโทษฐานนักแสดงไม่ตรงใจแฟนคลับน้องเงือกมาอย่างโชกโชน ในที่สุดก็เข้าโรงฉายเสียทีสำหรับ The Little Mermaid ฉบับ Halle Bailey แน่นอนว่าเหล่าแอนตี้แฟนที่อัดอั้นมานานก็มาตามนัด ถล่มคอมเมนต์กันทั่วโลกออนไลน์
แต่ไม่ต้องกลัวว่าคะแนนรีวิวจะถูกดึงให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะทาง IMDB เขาเตรียมรับมือไว้แล้ว ด้วยการทำระบบถ่วงน้ำหนักคะแนนรีวิวแบบพิเศษ เพื่อคัดกรองการให้คะแนนแบบไม่สมเหตุสมผลโดยเฉพาะ ทำให้คะแนนรีวิวของ The Little Mermaid ฉบับล่าสุดสะท้อนคุณภาพของหนังตามความเป็นจริง ไม่ได้ผันแปรไปตามพายุแอนตี้แฟน ล่าสุดคะแนนอยู่ที่ 7/10 จาก ผู้ให้คะแนน 31,000 คน ซึ่งถือว่าได้รับเสียงตอบรับดีเกินความคาดหมาย สบายใจโรงเรียนดิสนีย์
The Little Mermaid เวอร์ชั่นดั้งเดิมในปี 1989
ถือเป็นหนึ่งในแอนิเมชั่นยอดนิยมตลอดกาลของดิสนีย์ ซึ่งสร้างภาพจำมากมายให้กับเงือกน้อยสาวผมแดงเหมือนสาหร่ายที่นำไปสกัดเป็นสารแอสตาแซนธิน ส่วนผสมยอดฮิตในสกินแคร์ แต่นอกจากสีผิวของแอเรียลที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ The Little Mermaid เวอร์ชั่นล่าสุดในปี 2023 เลือกที่จะอัปเดตเทพนิยายของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Hans Christian Andersen นักเขียนชาวเดนมาร์ก) ให้สร้างภาพจำใหม่กับเด็กรุ่นต่อไป การเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างก็นำพามาซึ่งดราม่ามากน้อยแตกต่างกันไป เราจะมีดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างนั้น มีอะไรบ้าง
**Spoiler Alert!!! เนื้อหาต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจาก The Little Mermaid 2023
6 จุดเปลี่ยนที่ The Little Mermaid 2023 ต่างไปจากเดิม
1. จากเงือกสาวผมแดง สู่เงือกทรงเดรดล็อก (Dreadlocks)
ฉบับดั้งเดิมใน 1989 แม่เงือกแอเรียลมีผมสีแดงยาวตรงสยายไปมายามแหวกว่ายในท้องน้ำ ในเวอร์ชั่น Live Action นี้ ฮัลลี เบลีย์ เป็นสาวน้อยผิวสีที่มากับทรงผมเดรดล็อก และตัวหนังก็เลือกที่จะให้แอเรียล มีทรงผมเดรดล็อกเช่นเดียวกับนักแสดง แต่เพิ่มความสง่างามด้วยความยาวที่มากขึ้น ให้ได้ภาพผมสยายยามแวกว่ายในท้องน้ำ คามิล เฟรนด์ (Camille Friend) หัวหน้าทีมดูแลผมของ ฮัลลี เบลลีย์ เปิดเผยว่าใช้เงินไปประมาณ $150,000 (ราว 5.2 ล้านบาท) กับการต่อผมพันรอบทรงเดรดล็อกยาว 30 นิ้วโดยไม่ใช้วิกหรือตัดผม
“ผมของเบลีย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเธอ” คามิล เฟรนด์ กล่าว มาตรวัดระดับดราม่าพุ่งปี๊ดทันที เสียงวิพาก์วิจารณ์หลายกระแสให้ความเห็นว่า เบลีย์ในฐานะนักแสดงมีหน้าที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับตัวละคร ไม่ใช่ปรับตัวละครให้เข้ากับตัวเธอ และดราม่านี้ก็ต่อเนื่องไปถึงประเด็นทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวแอฟริกันสู่การถกเถียงที่น่าสนใจอีกมาก
2. ‘ฟลาวเดอร์’ ลูกปลาน้อยสีฟ้าเหลือง กลายเป็น ‘ปลา’
ทุกคนเข้าใจอยู่แล้วว่าภาพยนตร์ Live Action คือการเปลี่ยนตัวละครที่เป็นภาพการ์ตูนให้เป็นคนแสดง เป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับได้ แต่พอเปลี่ยนปลาการ์ตูนให้เป็นปลา ภาพที่ออกมากลับดูไม่ดีเอาเสียเลย เพราะเมื่อฟลาวเดอร์ ปลาน้อยสีฟ้าเหลือง หนึ่งในผองเพื่อนของแอเรียล พอกลายเป็นปลาจริงๆแล้ว กลับดูเป็นปลามากเกินไปจนแฟนคลับเก่าๆรับไม่ได้ (!?!#$@) อย่างไรก็ดี เรื่องปลาตัวไหนจะมีความเป็นปลาน้อย ปลามาก เป็นปลามากพอไหม อาจจะเป็นเรื่องของรสนิยมล้วนๆ ซึ่งตัดสินกันได้ตอนเข้าไปดูในโรงเท่านั้น
3. เจ้าชายเอริกเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น
ในเวอร์ชั่นดั้งเดิม เจ้าชายเอริกเป็นที่หมายปองของแอเรียล จากรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลาราวรูปสลัก แต่ไม่ได้แสดงออกถึงบุคลิกตัวตนเท่าไรนัก ตัวแอนิเมชันก็ไม่ได้เล่าอะไรเกี่ยวกับเขามากนัก มาถึงในเวอร์ชั่น Live Action เจ้าชายที่รับบทโดย โจนาห์ ฮอยเออร์-คิง (Jonah Hauer-King) มีมิติตัวละครที่ชัดเจนขึ้น มีปมภายในที่สอดคล้องไปกับแอเรียล ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ อยู่ในโลกที่ไม่ใช่ของเรา มีความขัดแย้งกับแม่ที่ไม่เข้าใจความหลงใหลในการสำรวจท้องทะเลของเขา ความสัมพันธ์ของแอเรียลและเอริกถูกยกระดับให้เป็นเรื่องของคนสองคนที่มีปมปัญหาที่คล้ายกัน มีความปรารถนาเบื้องลึกไปในทิศทางเดียวกัน คือการออกจากกรอบเดิมและเสาะหาอิสรภาพให้ตัวเอง
4. ภูมิหลังราชาไททัน
สำหรับคนที่เคยดูแต่ The Little Mermaid ฉบับแอนิเมชัน แต่ไม่ได้ตามไปดูภาคซีรีส์ที่ฉายทางทีวี ซึ่งมีการกล่าวถึงเนื้อเรื่องก่อนหน้า อาจไม่รู้ว่าสาเหตุที่ราชาไททัน พ่อของแอเรียลโกรธเกลียดมนุษย์เดินดินมาก นั่นเป็นเพราะภรรยาซึ่งเป็นแม่ของแอเรียลนั้นถูกมนุษย์ฆ่าตาย ซึ่งในเวอร์ชั่น Live Action เนื้อหาส่วนนี้ถูกบอกเล่าผ่านตัวราชาไททันเองที่เล่นโดยฮาเวียร์ บาเดม
5. จูบ…ความยินยอมเป็นเรื่องสำคัญ
เนื้อเพลงต้องเปลี่ยนให้ทันโลกทันสมัย ในเพลง ‘Kiss the Girl’ เวอร์ชั่น 1989 เซบาสเตียน เสนาปูเสฉวน (ตามความเข้าใจของเด็กไทยยุคนั้น แต่จริงๆ เขาเป็นปูจาไมก้า) จะร้องเพลงเป่าหูให้เจ้าชายเอริกจูบแอเรียลว่า “It don’t take a word, not a single word/Go on and kiss the girl” ไม่ต้องขอ ไม่ต้องถาม จูบเลย ผู้หญิงเขาอยากให้จูบอยู่แล้ว ซึ่งสุดแสนจะ ‘ชายแท้’ สมกับที่เป็นปูแก่บูมเมอร์ปลูกฝังค่านิยมชายเป็นใหญ่ และเกิดเป็นหญิงต้องเหนียมอายฝังหัวให้เด็กเจนเอ็กซ์ในยุคสมัยนั้น แต่ในเวอร์ชั่น 2023 เซบาสเตียนนอกจากกลายเป็นปูทะเลหน้าตาดูไม่แก่เหมือนของเดิมแล้ว ความคิดความอ่านยังทันสมัยขึ้นด้วย เนื้อเพลงที่ร้องจึงเปลี่ยนไปเป็น “use your words, boy, and ask her.” โดยแนะนำให้เจ้าชายเอริกรู้จักถามหาความยินยอมของอีกฝ่ายก่อนจะลงมือทำอะไรลงไป
Photo : EVERETT COLLECTION
6. เสริมพลังวีรสตรีในเพลง Poor Unfortunate Souls
เวอร์ชั่น 1989 ป้าปลาหมึกม่วง ‘เออซูลา’ แม่มดแห่งท้องทะเลได้บอกกับแอเรียลผ่านเนื้อเพลงว่า “on land it’s much preferred/for ladies not to say a word” “it’s she who holds her tongue who gets a man” ผู้ชายจะชอบผู้หญิงสงบปากสงบคำ ทว่าในเวอร์ชั่นล่าสุด แอลัน เมงเคน (Alan Menken) ผู้ประพันธ์เพลง เลือกที่จะตัดเนื้อเพลงท่อนนี้ออกเพราะไม่ต้องการจะผลิตซ้ำมายาคติที่ไม่ดีต่อเด็กผู้หญิง (SPOILER ALERT: บรรทัดต่อไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญมาก)
ตัวภาพยนตร์อยากให้เด็กผู้หญิงที่มาดูได้ซึมซับความกล้าหาญมากกว่าความหวาดกลัว และพลังในการยืนหยัดเพื่อตัวเอง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนรายละเอียดในตอนจบ ให้แอเรียลเป็นคนลงมือกำจัดแม่มดแห่งท้องทะเลด้วยตัวเอง ไม่ใช่ฝีมือของเจ้าชายเอริกเหมือนในเวอร์ชั่นเดิม ตอกย้ำสารที่ว่าผู้หญิงสามารถกำจัดปีศาจเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย หรือจริงๆแล้ว สารที่สำคัญที่สุดของ The Little Mermaid Live Action ปี 2023 คือการยืนหยัดเพื่อตัวเองของผู้หญิง ซึ่งการยืนหนึ่งฝ่าดราม่าของฮัลลี เบลีย์ และทีมงานทุกคนก็คือ การย้ำสารที่ดีที่สุดและเป็นแก่นของภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเอง
Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก