Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘อรรถ บุนนาค’ องค์พ่อกระแสวายญี่ปุ่น สู่การผลักดันซีรีส์วายไทยเป็นซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ

Interview / Professional

คุยเฟื่องทุกเรื่อง ‘วาย’ กับ อรรถ บุนนาค นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการงานแปลกวรรณกรรมญี่ปุ่นแห่งสำนักพิมพ์ JLIT ผู้กลายเป็นองค์พ่อกระแสวายในไทยแลนด์ ทั้งวายระหว่างพระสงฆ์กับเด็กวัด แม่ทัพกับเด็กถือดาบ หมู่ซามูไร กลุ่มชายขายเรือนร่าง ไปจนถึงซีรีส์วายไทยที่ตีตลาดวายญี่ปุ่นอย่างวอดวาย

“วัฒนธรรมวัยรุ่นในเมืองไทยซึ่งถูกอำนาจรัฐหรือผู้ใหญ่กดทับมาโดยตลอด กลับเบ่งบานโดยอาศัยวัฒนธรรมวัยรุ่นของต่างประเทศ และส่งกลับไปยังประเทศต้นทางของวัฒนธรรมได้ ถือเป็นความสำเร็จของสาววายไทยที่น่าภาคภูมิใจ”

LIPS: อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณผลักดันวรรณกรรมญี่ปุ่นให้ผลิบานในประเทศไทย จุดเด่นของเขาที่ต่างจากวรรณกรรมอื่นๆอย่างไร

อรรถ: เอาโดยพื้นฐานก่อนเลยคืออยากทำหนังสือ แล้วแนวทางถนัดของตัวเองก็จะเป็นวรรณกรรมญี่ปุ่น ด้วยประสบการณ์ทำงานในอดีตบวกกับที่เรียนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ เมื่อมาทำสำนักพิมพ์ของตัวเองแล้ว ก็ลองดูตลาดหนังสือแปลญี่ปุ่นในเมืองไทย เราพบว่ามีการแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นในยุคสมัยใหม่ (คินได) อยู่น้อยและที่มีอยู่โดยส่วนใหญ่ก็แปลจากภาษาอังกฤษ เลยคิดว่าน่าจะเป็นช่องว่างของการตลาดหนังสือแปลญี่ปุ่นที่จะเข้ามาได้ และคิดว่าด้วยศักยภาพของตัวเองกับหุ้นส่วนซึ่งคร่ำหวอดในวงการหนังสือแปลญี่ปุ่นมานานบวกกับมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ รวมถึงนวนิยายคลาสสิกในยุคนี้มีภาษาที่ยากกว่าภาษาญี่ปุ่นปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการแปลและการบรรณาธิกร รวมถึงความรู้เฉพาะทาง น่าจะเป็นจุดแข็งของเราได้

นอกจากนี้เราเห็นประเภทนวนิยายญี่ปุ่นที่แปลออกมาในวงการหนังสือไทยจะมีแนวซ้ำๆ อย่างสืบสวนสอบสวน ไลต์โนเวล แต่จริงๆแล้วยังมีวรรณกรรมหลากหลายแนวมากกว่านั้น เลยอยากแนะนำให้นักอ่านคนไทยได้รู้จัก และเปิดขอบฟ้าของการอ่านให้กว้างยิ่งขึ้น

ส่วนจุดเด่นของวรรณกรรมญี่ปุ่นคือ เขามีงานหลากหลายแนวมาก ทั้งที่เป็นวรรณกรรมบริสุทธิ์ ที่มีแนวคิดปรัชญาที่ลุ่มลึก มีวรรณกรรมในกระแสที่มีความบันเทิงครบรส หรือมีวรรณกรรมอินดี้ที่จับประเด็นแปลกๆ ได้รสชาติแปลกใหม่ มีงานวรรณกรรมที่ตอบรับผู้อ่านทุกเพศทุกวัยทุกแนวรสนิยม

LIPS: พูดถึง Digital Disruption ในวันที่ทุกคนก้มหน้าดูหน้าจอ มือถือ วรรณกรรมญี่ปุ่น ยังสามารถเติบโตไปได้มากน้อยขนาดไหน

อรรถ: จริงอยู่ว่าสังคมดิจิทัลทำให้แย่งเวลาการอ่านหนังสือไปพอสมควร แต่ในแง่ดีแล้วมันทำให้เกิดการกระตุ้นอยากอ่านเรื่องราวที่ได้รู้มา หรือการสืบค้นต่อยอดในเรื่องราวจากหนังสือที่เราได้อ่านไป แต่อย่างที่ได้ตอบไปแล้วว่าวรรณกรรมญี่ปุ่นมีหลากหลายแนว คิดว่าตอบรับผู้อ่านในสังคมยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี เพราะผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะหนังสือเท่านั้น แต่ในคอนเทนต์ทุกๆ อย่างจะเลือกบริโภคในสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ วงการหนังสือก็จะเริ่มเป็นนิชมาร์เก็ตมากขึ้น มีหนังสือหรือคอนเทนต์การอ่านที่ตอบรับกลุ่มเฉพาะทางมากขึ้น และเพิ่มความหลากหลายได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ถ้าในแง่เรื่องแพลตฟอร์มการอ่านที่อาจจะรู้สึกว่าการอ่านจากสิ่งพิมพ์ถดถอยลงไปนั้น ในส่วนหนึ่งเป็นความจริง แต่ในส่วนหนึ่งในเทรนด์เรื่องนอสทัลเจีย-โหยหาอดีต หรือความสะดวกในการอ่าน รวมถึงสุนทรียะความชอบในการสะสมด้วยแล้ว กระแสการอ่านหนังสือสิ่งพิมพ์กำลังกลับมาและกลายเป็นเทรนด์อยู่

“อย่างน้อยที่สุดของการมีคอนเทนต์วายผลิตซ้ำในสื่อ จะทำให้เรื่อง LGBTQ+ เป็นเรื่องปกติสามัญ และจะค่อยๆเกิดการยอมรับมากขึ้น”

LIPS: คำถามเดียวกัน แล้วสำหรับวรรณกรรมวายล่ะ เห็นว่าในออนไลน์ ฐานแฟนคลับที่ตามอ่านนิยายวายเยอะมาก ผู้เขียนบางคนได้รายได้เป็นล้าน

อรรถ: วรรณกรรมวายออนไลน์ในตลาดเมืองไทยกำลังเป็นกระแส แต่ถือว่าเป็นด่านคัดกรองนักเขียน ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้โดยไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์ ไม่มีบรรณาธิการแบบในสมัยก่อน มันเป็นการเปิดโอกาสของเสรีภาพทั้งในการเขียนและการอ่าน แต่คนที่กำหนดต่อไปก็คือคนอ่านหรือผู้บริโภคนั่นเองว่า นิยายวายเรื่องนั้นจะได้รับความนิยมไหม คนเขียนจะได้เป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ไหม นิยายวายเรื่องนั้นจะถูกไปทำสื่อแบบอื่นหรือไม่ รวมถึงการที่จะกลายเป็นรูปเล่มสิ่งพิมพ์หนังสือเล่มที่แม้ว่าคนอ่านจะเคยอ่านออนไลน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อผ่านกระบวนการในรูปแบบแพลตฟอร์มสิ่งพิมพ์ การบรรณาธิกร การตรวจแก้คำ การใส่ภาพประกอบ การออกแบบรูปเล่ม ก็ทำให้แฟนคลับซื้อมาเพื่อการอ่านซ้ำหรือเก็บสะสมไว้ หรือในการเปลี่ยนผ่านสื่อดัดแปลงไปสื่ออื่น ฐานแฟนคลับที่บริโภคในสื่อแบบอื่นก็จะให้ความสนใจในต้นธารที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือด้วยเช่นกัน มันก็เป็นการช่วยกันหนุนนำกันไป

LIPS: อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเข้าสู่วงการแปลการ์ตูนวาย ในยุคที่ค่านิยมวายยังเป็นเรื่องเปิดเผยไม่ได้เต็มที่

อรรถ: (หัวเราะ) ง่ายมากๆ คือเป็นงานพิเศษสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่สำนักพิมพ์ที่เราไปรับงานแปลเขาส่งมาให้แปล เราก็แปลตามสั่ง ในยุคที่นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นตามมหาวิทยาลัยโดยส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงจากครอบครัวชนชั้นกลาง เขาก็จะกรีดร้องรับไม่ได้บทสวีทของผู้ชายกับผู้ชาย ไม่รวมแค่คอนเทนต์นี้เท่านั้น แต่อย่างการ์ตูนต่อสู้เลือดอาบ การ์ตูนผีน่ากลัว ก็จะถูกวนมาให้นักศึกษาผู้ชายอันมีจำนวนน้อยนิดแปลกัน แต่จำได้ว่ามีแปลไม่กี่เล่มเท่านั้น เพราะเหมือนว่าไม่ได้รับความนิยมในตลาดช่วงนั้น ตอนนั้นญี่ปุ่นวัฒนธรรมวาย หรือ BL เบ่งบานเต็มที่แล้วแต่ในเมืองไทยยังไม่ได้ฟักเป็นตัวอ่อนเลยมั้ง (ในช่วงทศวรรษ 1990 ตอนต้น) แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้แปลเรื่องวายแบบตรงๆเท่าไร มีเรื่องที่พอจะมีกลิ่นอายอยู่บ้าง

“การเป็นตัวตนของสาววายในสังคมไทยทุกวันนี้ ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้มามากมาย จนทำให้มีที่หยัดยืนและสปอตไลต์ส่อง”

LIPS: รู้สึกอย่างไรกับฉายาผู้เชี่ยวชาญด้านวาย หรือแท้จริงแล้วคุณเป็นผู้ผลักดันเทรนด์นี้

อรรถ: แอบขำเล็กน้อย ยิ่งถูกสถาปนาเป็นองค์พ่อแห่งวงการวายด้วยแล้ว ไม่ได้คิดว่าถึงขั้นเป็นเทรนด์เซตเตอร์แต่อย่างใด เพียงแต่อยู่มานาน…พูดง่ายๆว่าแก่นั่นเอง…(หัวเราะ) น่าจะเป็นผู้รู้เห็นกับสนใจศึกษาที่มาที่ไปตามประสาที่ได้ร่ำเรียนมา ก็เลยมีเรื่องเล่าเยอะ และมีมุมมองที่แปลกออกไปเท่านั้นเอง เพราะการติดตามก็ไม่ได้ตามทุกเรื่อง ตามเฉพาะเรื่องในแนวที่เราชอบหรือมีความน่าสนใจเป็นพิเศษเท่านั้นเอง

LIPS: เคยมองไหมว่าวันหนึ่งวายจะบูมได้แบบทุกวันนี้ สร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจซีรีส์ในประเทศได้เยอะ

อรรถ: เอาจริงๆ แล้วสมัยเรียนปริญญาโททางด้านวรรณกรรมที่ญี่ปุ่น…ซึ่งนานมากแล้ว (หัวเราะ) เรายังฟันธงไปในวิชาสัมมนาในห้องเรียนเลยว่า คอนเทนต์ BLหรือวายในเมืองไทยไม่น่าจะได้รับความนิยม เพราะว่าอุปสรรคในเรื่องแต่งโรแมนติกที่จะทำให้เกิดความฟินนั้น เรื่องราวของความรักต่างชนชั้นยังเป็นจุดที่ขายได้ในสังคมไทย แต่กระแสสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจริงๆ จนอยากใช้สำนวนแบบวรรณกรรมว่า…แม่พลอย ฉันตามเขาไม่ทันจริงๆ ไม่นึกไม่ฝันจะได้เห็นอะไรแบบนี้…แต่ก็น่าชื่นใจนะ

ถ้ามองในมุมปัจจุบันสมัยที่อยู่แล้ว ก็บอกได้เลยว่าคอนเทนต์วายน่าจะเป็นตัวนำร่องการส่งผ่านคอนเทนต์บิสสิเนสหรือที่เขานิยมเรียกว่าอะไรนะ ซอฟต์แวร์?? ซอฟต์เพาเวอร์สิของไทยได้เป็นอย่างดี มีความน่าสนใจที่ภาครัฐหัวก้าวหน้าบางส่วนอย่าง ททท. และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเริ่มเห็นความสำคัญของเรื่องนี้แล้ว ก็ดีใจชื่นใจที่ยังพอเห็นอะไรที่เข้าท่าเข้าทางบ้างในหน่วยงานราชการ

“เราเคยฟันธงว่า คอนเทนต์วายในเมืองไทยไม่น่าจะได้รับความนิยม แต่กระแสสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว…แม่พลอย ฉันตามเขาไม่ทันจริงๆ”

LIPS: จากเมื่อก่อนที่คุณแปลการ์ตูนวายจากภาษาญี่ปุ่นมาเป็นภาษาไทย แต่ตอนนี้มีการแปลนิยายวายไทยไปเป็นภาษาญี่ปุ่น คุณรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง หรือพลังของค่านิยมวายอย่างไรบ้าง

อรรถ: น่าดีใจชื่นใจมากนะ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆที่วัฒนธรรมวัยรุ่น (youth culture) ในเมืองไทยซึ่งไม่สามารถเกิดได้อย่างมีที่ทางในอัตลักษณ์ความเป็นไทย เพราะถูกอำนาจรัฐหรือผู้ใหญ่กดทับมาโดยตลอด จะเติบโตเบ่งบานโดยอาศัยวัฒนธรรมวัยรุ่นของต่างประเทศ แล้วมีการวิวัฒน์ภายในจนเกิดรูปแบบใหม่ แล้วส่งกลับไปยังประเทศต้นทางของวัฒนธรรมได้ นี่ถือว่าเป็นความสำเร็จของสาววายในประเทศไทยที่น่าภาคภูมิใจ จนอยากมอบรางวัลอะไรให้สาววายผู้ผลักดันการอภิวัฒน์นี้เลย ขอยืมสำนวนพี่ลูกเกดมาใช้หน่อยว่า หน่วยงานราชการไทยก็ทำไม่ได้ ผู้มีอำนาจทางวัฒนธรรมในบ้านเมืองไทยหรือก็อย่าได้หวัง

LIPS: วัฒนธรรมวายในญี่ปุ่น ต่างจากวัฒนธรรมวายในไทยหรือไม่อย่างไรในด้านวรรณกรรม และต่อยอดมองไปถึงในชีวิตจริง เช่นบริบทความเปิดกว้างทางเพศ โดยเฉพาะ LGBTQ+

อรรถ: โดยหลักๆ แล้วจะเหมือนกันเพราะเราก็ไปเอาต้นแบบมาจากเขา ก็ยังมีรากให้เห็นอยู่ แต่เมื่อเอามาปรับในบริบทไทย บวกกับการเป็นเรื่องเล่าในแบบวัฒนธรรมไทย ต่อให้เราจะบอกว่าเป็นโลกาภิวัฒน์อย่างไร หรือโลกเป็นสากลมากขึ้นก็ตาม แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ กับการวิวัฒน์มันก็เกิดขึ้นในตัวบทของวรรณกรรม เรื่องที่เราคิดว่าเป็นปกติสามัญในสังคมเรา แต่ในสังคมอื่นเขาเป็นของแปลก มันก็ทำให้เกิดรสเอ็กซอติกขึ้น ในทางกลับกันเวลาคนไทยเสพคอนเทนต์วายของชาติอื่นก็จะได้รสชาติเอ็กซอติกในคอนเทนต์นั้นเช่นเดียวกัน

ในแง่การต่อยอดไปสู่ชีวิตจริง ในสิ่งที่วัฒนธรรมกระแสหลักดูแคลนวัฒนธรรมมวลชนเช่นนี้ แต่พลวัตของมันกลับส่งต่อกระแสสู่สังคมได้หลายอย่าง ขอยกคำของอ.นากะอิเกะ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรม BL หรือวัฒนธรรมวายได้บอกว่า อย่างน้อยที่สุดของการมีคอนเทนต์วายผลิตซ้ำในสื่อ จะทำให้เรื่อง LGBTQ+ เป็นเรื่องปกติสามัญ และจะค่อยๆเกิดการยอมรับมากขึ้น

“ชายรักชายในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมีหลายแบบ มีทั้งพระสงฆ์กับเด็กวัดหรือเณรฝึกหัด ในหมู่นักรบซามูไร แม่ทัพกับเด็กถือดาบ ในกลุ่มนักแสดงคาบุกิที่เป็นเด็กหนุ่มผู้รับบทตัวนางและขายเรือนร่าง”

LIPS: หากผู้อ่านที่เป็นสาวกวาย ฝันอยากไปเยือนญี่ปุ่น อยากไปสัมผัสวัฒนธรรมวายแบบลึกซึ้ง คุณจะแนะนำว่าอย่างไร

อรรถ: แนะนำให้กระโจนลงไปอย่างจริงจังเลย (หัวเราะ) การมีแพสชั่นในการทำอะไรบางอย่างในชีวิตมันเป็นสิ่งที่ดีกับชีวิตของคนๆนั้น…ชีวิตของคนรอบข้างอาจจะกระทบกระเทือน (หัวเราะ) สิ่งนี้จะทำให้คุณเปิดโลกความสนใจไปสู่เรื่องอื่นๆ อย่างภาษาญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมญี่ปุ่น วรรณกรรมไปจนถึงวรรณคดี เพราะในวรรณคดีโบราณญี่ปุ่นมีเรื่องวายอยู่เยอะมาก อาจจะก้าวไปสู่สังคมวิทยา สนใจเรื่องเจนเดอร์สตัดดี ป๊อปคัลเจอร์สตัดดี ไปจนถึงการเมืองระดับโครงสร้างของสังคมในเรื่องความเท่าเทียม เพราะอย่าลืมว่าการเป็นตัวตนของสาววายของคุณในสังคมไทยทุกวันนี้ ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้มามากมาย จนทำให้มีที่หยัดยืนและสปอตไลต์ส่อง อย่างน้อยที่สุดคุณก็ควรตระหนักรู้ในสิ่งที่คุณเป็น

LIPS: จริงไหมที่ชายได้ชายเป็นเรื่องปกติในสมัยโบราณ และถ้าในสมัยนี้มี Yaoi Hentai และสมัยก่อนมีทำนองนี้ไหม เรียกว่าอะไร

อรรถ: ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นแล้วเป็นเรื่องจริง…มีชื่อเรียกหลายอย่างมากแล้วแต่ยุคสมัย แล้วแต่วงสังคมที่เกิดเรื่องราวชายรักชาย ถ้าเป็นภาพใหญ่เลยก็จะเรียกกันว่า นันโชะคุ หรือ ดันโชะคุ ถ้าเกิดระหว่างพระสงฆ์กับเด็กวัดหรือเณรฝึกหัด ก็จะเรียกตามคำเรียกเณรว่า จิโกะ เกิดระหว่างในหมู่นักรบซามูไร อย่างนักรบระดับแม่ทัพกับเด็กถือดาบ หรือระหว่างเพื่อนนักรบที่สาบานตนเป็นพี่น้องกันก็จะเรียกว่า ชูโด แล้วก็มีในกลุ่มนักแสดงคาบุกิที่เป็นเด็กหนุ่มผู้รับบทตัวนางและจะขายเรือนร่างด้วยก็จะเรียกว่า คาเกะมะ

LIPS: ขอวรรณกรรมญี่ปุ่น 3 เรื่องที่ชาตินี้ผู้อ่านต้องอ่านให้ได้

อรรถ:

1) สูญสิ้นความเป็นคน ของ ดะไซ โอซามุ
สูญสิ้นความเป็นคน ของ ดะไซ โอซามุ สำนักพิมพ์ JLIT
สูญสิ้นความเป็นคน ของ ดะไซ โอซามุ สำนักพิมพ์ JLIT
2) โต๊ะโตะจังเด็กหญิงข้างหน้าต่าง ของ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ
โต๊ะโตะจังเด็กหญิงข้างหน้าต่าง ของ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
โต๊ะโตะจังเด็กหญิงข้างหน้าต่าง ของ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
3) คะเม็นโนะโคะคุฮะคุ (คำสารภาพของหน้ากาก) ของ มิชิมะ ยุคิโอะ
คะเม็นโนะโคะคุฮะคุ (คำสารภาพของหน้ากาก) ของ มิชิมะ ยุคิโอะ
คะเม็นโนะโคะคุฮะคุ (คำสารภาพของหน้ากาก) ของ มิชิมะ ยุคิโอะ
Photo: Amazon

LIPS: คำถามเดียวกัน นิยายวายที่ชาตินี้คุณควรต้องอ่าน

อรรถ:

1) คะเซะโทะคิโนะอุทะ (ลำนำแห่งแมกไม้และสายลม) ของ ทาเคะมิยะ เคโกะ

จริงๆ แล้วเล่มนี้เป็นการ์ตูนที่ถือว่าเป็นไบเบิ้ลและต้นธารของวัฒนธรรมวาย แต่มีความเป็นวรรณกรรมสูงมาก

2) โมะยุรุโฮะโฮะ (แก้มสีเพลิง) ของ โฮะริ ทัตสึโอะ

เป็นเรื่องสั้นยุคคินได (สมัยใหม่) ที่มีกลิ่นอายของความวายสูงมาก เล่มนี้สำนักพิมพ์ JLIT แปลเป็นภาษาไทย

3) ลอดริ้วทินกร ของ theneoclassic
ลอดริ้วทินกร ของ theneoclassic สำนักพิมพ์ Deep
ลอดริ้วทินกร ของ theneoclassic สำนักพิมพ์ Deep

เป็นนิยายวายไทยที่เป็นเรื่องราวพีเรียดเกิดขึ้นในโรงเรียนประจำ

…มาสังเกตแล้วทั้ง 3 เรื่องต่างมีฉากเป็นโรงเรียนประจำหมดเลย คงเป็นแฟนตาซีของตัวเอง (หัวเราะ)

Words: Varichviralya Srisai
Photos: Somkiat Kangsdalwirun
ขอบคุณสถานที่: Maison Bleue ถ.สุขุมวิท ซอยเมธีนิเวศน์ (หลัง Emporium Suites)

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม