Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

คลาสเขียนโค้ดดิ้งฮีลใจคนรักที่จากไป สู่ Mondo หนังรักไซไฟของ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล’

Interview / People

ถ้าคุณเป็นสาย LGBTQ ‘รักแห่งสยาม’ อาจเป็นหนังของคุณ

ถ้าเป็นสายระทึกขวัญสั่นประสาท การได้ดูหนังที่น้อย – กฤษดา สุโกศล แคลปป์ รับสายโทรศัพท์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาใน ‘13 เกมสยอง’ คงเป็นหนังในดวงใจ

หากคุณเป็นนางแบกของครอบครัว หนังที่ทำให้คุณกลับไปซึ้งการดำรงอยู่ของคนใกล้ตัวอย่าง ‘โฮม’ อาจเป็นหนังที่อยู่กับคุณไปอีกนาน

ไม่ว่าหน้าหนังหรือเรื่องราวจะบอกเล่าอะไร สุดท้ายหัวใจของผลงานทุกชิ้นของ ผู้กำกับ นักเขียนบท นักแต่งเพลงผู้เป็นความหวังของวงการหนังไทยเสมอมากว่า 20 ปีคือเรื่องราวของ – มนุษย์

เฉกเช่น ‘Mondo รัก โพสต์ ลบ ลืม’ หนังรัก ไซไฟ คอเมดี้ ผลงานล่าสุดของเขาที่จูงมือคนดูเข้าสู่โลกของยูทูบเบอร์ คนทำสตาร์ตอัป เมต้าเวิร์ส เอไอ คริปโต เทคโนโลยีเก๋ล้ำที่ทาบทับกับชีวิตของผู้คนในยุคนี้

หากจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางคือเรื่องของคนที่จากไปแล้ว คนที่ยังอยู่ และผู้คนที่รายล้อมชีวิตของเราและเขา – มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

“ไม่ว่าเรื่องราวจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรืออะไรก็ตามแต่ พื้นฐานในหนังของเราทุกเรื่องคือความเป็นมนุษย์”

LIPS: ช่างภาพแอบเป็นติ่งคุณนะ เขาบอกว่าไปดูหนัง ‘รักแห่งสยาม’ ที่สยามสแควร์ในปีที่มันออกฉาย (2007)

มะเดี่ยว: (หันมองด้วยสาบตาของคุณ) คนวัยเราก็ทันไปดูในโรง แต่กลายเป็นว่ามีเด็กยุคนี้มาค้นพบรักแห่งสยามกันเยอะเลย มันเชื่อมโยงกับเขาได้ในแง่…มาริโอ้มันหล่อมั้ง (หัวเราะ) เพลงเพราะ หรืออาจจะไปเจอในเน็ตฟลิกซ์

LIPS: เรื่องราวของหนังด้วยที่พูดเรื่อง LGBTQ แบบมาก่อนกาล สมัยนั้นเป็นเรื่องยากเย็นมากในสังคมไทยที่จะพูดว่าฉันเป็น LGBTQ

มะเดี่ยว: ยากมาก ขนาดตอนโปรโมตหนังยังต้องซุกประเด็นนี้ไว้ หน้าหนังดูเป็นหนังรักวัยรุ่น ทำให้คนดูบอกว่า ‘เราเคยโดนหนังเรื่องนี้หลอก’ เพราะไปดูจริงๆ มันคนเรื่องกับหน้าหนังเลย แต่ถ้าเป็นยุคนี้โปรโมตได้สบาย พีพี (กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) เป็นพรีเซ็นเตอร์น่ะ ตอนนี้เพศสภาพไม่ใช่อุปสรรคในการเป็นโรลโมเดลในสังคมอีกต่อไป

LIPS: หนังแต่ละเรื่องที่คุณทำเป็นหลักไมล์ในชีวิตหรือเปล่า ดูเหมือนหนังคือสิ่งบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือสนใจของตัวคุณเอง

มะเดี่ยว: ใช่ เวลาเราทำหนังแล้วมีคนถามว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร บอกเล่าอะไร เพราะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนเรื่องอื่นๆอีกหมื่นล้านเรื่อง แต่ในเนื้อของมันจริงๆเต็มไปด้วยมุมมอง ประสบการณ์และเรื่องที่เราอยากเล่าเกี่ยวกับคน แก่นของหนังเราเป็นเรื่องของคนล้วนๆ ไม่ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรืออะไรก็ตามแต่ พื้นฐานของมันคือคน

LIPS: เพราะทำหนังให้คนดู หนังต้องจับใจคนและสัมผัสความเป็นมนุษย์ของคนดูให้ได้

มะเดี่ยว: ใช่ มันต้องทัชคน มันทำให้คนจดจำหนังเราในแต่ละยุค อย่างยุคหนึ่งคนจะจดจำ ‘รักแห่งสยาม’ เด็กรุ่น 20 กว่าจะเข้ามาทักว่าดู ‘เกรียนฟิกชั่น’ อีกยุคอาจได้ดูซีรีส์วาย ‘ทริอาช’ หรือหนังเรื่อง ‘โฮม’ เป็นคนดูกลุ่มที่โตขึ้นมา ทั้งหมดนี้ ทำไมคนดูแล้วจำหนัง เพราะความเป็นมนุษย์ในหนังสัมผัสหัวใจเขา

LIPS: แล้ว ‘มอนโด’ ล่ะ เกิดขึ้นจากคุณนั่งมองความเป็นไปของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อคน หรือว่ามีประสบการณ์ส่วนตัวอะไรกับเทคโนโลยี

มะเดี่ยว: เรามองเทคโนโลยีด้วยความคิดว่า มันเกิดขึ้นและเป็นไป เราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้จริงๆ ต่อให้เราอยู่เฉยๆ มันก็เข้ามาในชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว Mondo (มอนโด) แปลว่า ‘โลก’ เป็นภาษาอิตาลี โลกทุกวันนี้ก็คือโลกแบบหนึ่ง ในโซเชียลก็คือโลกอีกแบบหนึ่งที่มีคำติดปากว่าโลกโซเชียล โลกอินเทอร์เน็ตอะไร ซึ่งโลกเสมือน (Virtual Reality) ที่ตัวเอกในเรื่องสร้างขึ้นมาชื่อว่า ‘Mondo’ มันก็คือโลกอีกแบบหนึ่ง คำๆนี้เป็นไปได้หลายมิติ หลายเลเยอร์มาก มันอาจจะพูดถึงทางโลกอะไรอย่างนี้ ถ้าในหนังมันก็เป็นชื่อของ ‘เมตาเวิร์ส’ หรือ ‘จักรวาลนฤมิต’ มันเป็นจักรวาลหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเสมอเหมือนเราเข้าไปใช้ชีวิตในนั้นได้จริงๆ อันนี้ก็เป็นเมตาเวิร์สของตัวละครที่สร้างขึ้นมาจากข้อมูลของผู้ใช้จริงๆ

เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของ ยี่หวา (พลอย-พลอยไพลิน ตั้งประภาพร) ที่เป็นยูทูบเบอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ชัดเจนที่สุดว่ามีชีวิตอยู่บนตัวเลข ตัวเลขยอดซับ ยอดวิว ยอดเอนเกจเมนต์ในการกำหนดชีวิต ซึ่งจริงๆเธอก็ไม่ได้อยากเป็นอะไรขนาดนั้น แต่หนทางชีวิตทำให้เธอต้องเป็นแบบนี้ก่อน และเธอก็กำลังเดินมาถึงจุดที่จะต้องเลือกระหว่างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานกับความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งความสัมพันธ์ของยี่หวาก็จะมี ดอม (เกรท-สพล อัศวมั่นคง) แฟนที่คบกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมแล้วก็ยังไม่ได้ตกร่องปล่องชิ้นกันสักที เพราะว่าเธอทำยูทูบท่องเที่ยวช่อง ‘โสดไปไหน’ เลยกลัวว่าถ้าเกิดเปิดตัวแฟน อาชีพการงานจะไม่ก้าวหน้า แฟนคลับที่ติดตามอยู่อาจจะเทเธอได้

จนกระทั่งบังเอิญเธอก็ได้เจอกับ เม-บอต (May-Bot) โปรแกรมเอไอที่เป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจว่าทำอะไรดี ซึ่งเธอก็เลือกที่จะเชื่อเม-บอตในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ของเธอกับดอมด้วย ไปๆมาๆเม-บอตก็ดันให้เลือกเอาความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ซึ่งมันก็นำพาเธอให้ไปเจอกับ หวัง (มีน-พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร) ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปไฟแรง ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าสมัยมัธยม แถมยังเป็นเจ้าของโปรแกรมเม-บอตนี้ด้วย และแล้วชีวิตของยี่หวาก็ก้าวหน้าจริงๆ เมื่อมาเจอกับหวัง แต่เธอจะยอมทิ้งคนข้างหลังเธอไปได้จริงๆหรือ และการที่เธอต้องผจญภัยไปตามคำตอบของเม-บอตในแต่ละเรื่องก็ทำให้เธอค้นพบอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิตและความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัวอีกด้วย

(หยุดคิด) จุดเริ่มต้นจริงๆของหนังก็คือ มีช่วงที่เราไปเรียนและทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีมาด้วย เป็นช่วงที่…ตอนนั้นแฟนเราป่วย เรารู้สึกว่าการคิดหนัง การทำเพลงทำให้จิตใจเราฟุ้งซ่านมาก เพราะงานศิลปะคืองานที่ไม่มีคำตอบผิดถูก มันไปต่อของมันไปเรื่อยๆ เราเลยพยายามหางานที่มีตรรกะ ก็เลยไปลงเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

LIPS: โอ้ นี่คือการฮีลจิตใจของคุณหรือ

มะเดี่ยว: ใช่ มันดีนะ เอาจริงๆแล้ว อย่างน้อยคณิตศาสตร์มันตอบเราว่ามีผิดมีถูกไง แต่ปรัชญาชีวิตอะไรอื่นที่ให้เราไปนั่งไปสมาธิ ไปนั่งทบทวนเขียนโน่นเขียนนี่ มัน…ในช่วงเวลาที่คนเราอยู่ในภาวะที่ยากลำบากทางจิตใจและคิดฟุ้งซ่านมาก แฟนป่วย ไม่รู้จะตายหรือเปล่า ผลออกมาจะเป็นอย่างไร ต้องอยู่กันในไปสภาพนี้อีกนานไหม มันไม่รู้เลย คุณเคยอยู่ในสภาพที่คิดต่อไปเรื่อยๆ จินตนาการความเลวร้ายไม่จบไม่สิ้นหรือเปล่า มันฟุ้งซ่านมากนะ

เราเป็นคนคิดในทางเลวร้ายที่สุดเพื่อจะได้ตั้งรับมัน เรานิสัยแบบนี้ หยุดคิดไม่ได้ ก็เลยไปเรียนเขียนโค้ดดิ้ง เขียนโปรแกรม เพราะมันยาก มันเลยทำให้เราจดจ่อ ถ้าเราอยากให้โปรแกรมแสดงผลนี้ขึ้นมา เราก็ต้องหาวิธีเพื่อให้มันเป็นแบบนั้น ซึ่งมีผิด มีถูก มีคำตอบ และทำให้เรารู้จักคอมพิวเตอร์มากขึ้น รู้จักการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อะไรต่างๆ ก็เลยมีบางส่วนในบริษัทของเราที่ทำพวกเทคโนโลยีด้วย พัฒนาแชตบอตให้คุยขายของกับลูกค้า พีคป่ะล่ะ พอเราลึกไปกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทีนี้ชีวิตการทำงานก็มีทั้งสองฝั่ง คือวิทย์กับศิลป์

แล้วแฟนเราก็เสีย…ตอนเราทำหนังเรื่อง ‘ดิว’ ก็ใช้เวลาฟื้นฟูตัวเองกันไป เก็บเล็กผสมน้อยเรื่องจุดมุ่งหมายในชีวิต มันทำให้เราเข้าใจคน…จะดราม่าไปไหม คือแฟนเราเริ่มป่วยตอนอายุ 28 และเสียตอนอายุ 30 เขา ซึ่งก็เป็นวัยเดียวกับคนในหนังเรื่องมอนโด เราจะได้รับฟังเรื่องความคิด ความฝัน หน้าที่การงาน ครอบครัว ชีวิตกำลังเริ่มต้น เป็นสิ่งที่คนวัยนี้แบกรับอยู่ และเราเองก็เคยผ่านจุดนี้มา แต่นานจนลืมไปละ (หัวเราะ)

คนหลังวัยเบญจเพสจะรู้สึกเหมือนได้ปลดเปลื้องอะไรบางอย่างไปหมดแล้ว สิ่งที่เขาจะพุ่งไปคือการเป็นผู้ใหญ่ ทีนี้การเป็นผู้ใหญ่ของคนเราต้องมีอะไรบ้าง อาจจะเคยได้ยินใช่ไหมว่าอายุ 30 ต้องมีเงินในบัญชี มีบ้าน มีรถ มีนั่นมีนี่ คนในวัยนี้จริงๆแล้วเขาคิดเยอะมากนะ พออายุ 30 ไปแล้ว คุณจะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง แต่วัย 25-30 จะเป็นวัยรุ่นก็ไม่ใช่ เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ แต่ต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ ภาระทางทหารก็ปลดเปลื้องไปแล้วใช่ไหม ทีนี้มันคือชีวิตคุณล้วนๆแล้ว คุณจะเลือกอะไร บางคนเลือกแต่งงาน มีครอบครัว หาชีวิตคู่ที่จะไปด้วยกัน บางคนเลือกทุ่มเทกับงาน เป็นวัยที่เริ่มเป็นหัวหน้า บางคนพ่อแม่ดันมาป่วยอีก นึกออกไหม พาร์ทต่างๆเหล่านี้ประกอบกันขึ้นมาเป็นหนัง ตัวละครก็เลยเป็นคนในวัยนี้แหละ คนวัย 30

LIPS: แยบคายน่ะ

มะเดี่ยว: อุ๊ย คำนี้ไม่ได้ยินมานาน (หัวเราะ) เป็นสื่อที่วัยใกล้เคียงกับเราก็เลยพูดเรื่องลึกซึ้งขนาดนี้

“พออายุ 30 ไปแล้ว คุณจะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง มันคือชีวิตคุณล้วนๆ แล้วคุณจะเลือกอะไร”

LIPS: แล้วตอนอายุ 30 ชีวิตคุณเป็นอย่างไร

มะเดี่ยว: (ถอนใจ) ดราม่าอีกแล้วน่ะ ตอนเราอายุ 30 พ่อแม่เราป่วยเป็นมะเร็งพร้อมกัน

LIPS: โอ้…ไม่น่าถามเลย

มะเดี่ยว: โคตรหนักเลยนะ ตอนแฟนป่วยเราอายุจะเข้า 40 แต่ตอนเราอายุจะ 30 เราทำหนังเรื่อง ‘โฮม’ การกลับไปอยู่กับพ่อแม่แก่เฒ่า เพราะชีวิตคู่เราไม่มีอะไรต้องโฟกัสมาก การเป็น LGBTQ ข้อดีอย่างหนึ่งคือเราเลือกโหมดโฟกัสอะไรบางอย่างในชีวิตเราได้

LIPS: เพราะ?

มะเดี่ยว: เราแชร์ในมุมของเราละกัน บางคนที่เป็นชายจริงหญิงแท้ก็ไปมีครอบครัว มีลูก แต่งงานออกเรือนไป แต่เราอยู่ดูแลพ่อแม่ ตัดโหมดชีวิตคู่ทิ้งไปก่อน ชีวิตมีแต่เรื่องพ่อแม่และงาน รู้สึกว่ามีเวลาจะประคองทุกสิ่งทุกอย่างไปถึงจุดที่มันควรจะเป็นได้ สุดท้ายแม่เราหายป่วย ส่วนพ่อเราเสีย แต่ก็ไม่ได้ดราม่าขนาดนั้นนะ เพราะพ่อเราป่วยมานาน เราทำใจในส่วนหนึ่งแล้วด้วย เขาก็แก่แล้ว ไม่เหมือนตอนแฟนเสีย นั่นเขายังหนุ่ม พอพ่อเสีย เรารู้สึกว่ายังเหลือคนที่เรารักอยู่ เมื่อเราใกล้ชิดกับความตายและการสูญเสียมากขึ้น เราก็จะเห็นคุณค่าของอะไรบางอย่างมากขึ้น

LIPS: ในวัย 30 คุณได้ตกผลึกเรื่องความเป็นความตาย

มะเดี่ยว: นี่จะเล่าให้ฟัง แต่พอเลย 30 ไปนะ เข้าโหมดบ้าคลั่งมาก เรามีโอกาสได้ทำอะไรหลายอย่าง ทำหนัง ทำละครช่อง มีโอกาสทำเงินสูงมาก เป็นจุดกอบโกยในชีวิต เป็นจุดบ้าพลัง ออกกองละคร รับงานมาเรื่อยๆ แฟนเราเป็นตากล้องด้วย ก็รับงานคู่ (หัวเราะ) เป็นคู่จิ้นของเบื้องหลังวงการบันเทิง จนต้องมาเบรกเพราะแฟนเราป่วย พบว่าเขาเป็นมะเร็ง และหลังจากนั้นเหมือนชีวิตติดเบรกแบบหัวทิ่มหัวตำ ตรงนั้นละที่เราได้เรียนรู้อะไรไปอีกขั้น ได้ชะลอให้คิดและเห็นอะไรช้าลง

“ถ้าพูดแบบน่าตบเลยก็คือ ณ จุดนี้ เราไม่ทำหนังแล้วก็ได้ แต่การทำหนังคืออาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเรา”

LIPS: เหมือนโบกี้รถไฟที่ค่อยๆตกรางไล่มาจากข้างหลังขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ต้องปลดโบกี้ที่เหลือออก ไม่อย่างนั้นทั้งชีวิตคุณก็ตกรางไปหมด

มะเดี่ยว: ใช่ เราปลดทุกสิ่งทุกอย่างเลย การงานที่กำลังรุ่งโรจน์ ช่วงนั้นอาจไม่ค่อยได้เห็นเราทำหนัง เพราะเราไปทำละครช่อง พรั่งพร้อมไปด้วยทุกสิ่งอย่าง มองเห็นอนาคตดีงาม อยู่ดีๆก็มาเจอเรื่องแบบนี้ แฟนป่วยเป็นมะเร็งระยะ 4 ทีนี้จะยังไงต่อล่ะ ชีวิตก็มาสู่ทางที่ต้องเลือกอีกครั้ง เราเลือกชะลองานทั้งหมด ให้คนอื่นทำไป ตัวเราเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาล 2 ปี คอยดูแลจัดการเรื่องแฟน ที่คนชอบพูดกันว่า ‘เงินไม่ใช่ทุกอย่าง’ เราเป็นคนที่พูดคำนั้นได้เต็มปาก เพราะเราผ่านจุดที่รู้ว่าอะไรที่เงินซื้อไม่ได้มาแล้ว และเราก็ได้ตกผลึก

อยู่ดีๆก็เป็นรายการฝันที่เป็นจริง (หัวเราะ) และทั้งหมดก็หล่อหลอมขึ้นมาเป็นหนังเรื่องหนึ่ง เราได้เห็นโลก เห็นบางอย่างมา และอยากแชร์ให้คนอื่น เอ่อ ถ้าพูดแบบน่าตบเลยก็คือ ณ จุดนี้ เราไม่ทำหนังแล้วก็ได้ แต่เราทำเพราะอยากทำและมีเรื่องจะเล่า ถ้าไปทำมาหากินอย่างอื่นก็มีอะไรให้ทำเยอะแยะไป แต่การทำหนังคืออาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเราอย่างหนึ่ง และเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเรื่องหน้าเราจะทำแบบนี้นะ มันจะออกมาเป็นแบบนี้นะ เราทำได้แค่ว่าเดินไปคุยกับคุณจาตุศม (จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ หนึ่งในผู้บริหารสหมงคลฟิล์ม) ว่าเรามีเรื่องแบบนี้ สนใจทำไหม เราไม่มีทางรู้เลยว่าเรื่องหน้าจะทำเรื่องอะไร หรือจะทำเมื่อไร หลังๆเป็นแบบนี้ละ

LIPS: เควนตินมาก สวยเลือกได้

มะเดี่ยว: เพราะเราต้องเก็บภาพยนตร์ไว้เป็น Soul Food ของเรา เวลาไปทำซีรีส์ ทำละคร ทำโฆษณา เราทำเพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่แฮปปี้ที่จะทำ แต่เราเกิดมาจากหนัง สิ่งที่สร้างเครดิตให้เราคือหนัง เราจะไม่ทำให้งานที่เป็นแพสชั่น เป็นต้นกำเนิดและเป็นเครดิตหลักของเราพัง ฉะนั้นถ้ารู้สึกว่าทำแล้วจะออกมาไม่ดีหรือไม่พร้อมก็จะไม่ทำ เราจึงต้องดีใจที่มีคนยอมให้เราทำอะไรแบบนี้ด้วย สหมงคลฯกับเราก็จะคุยกันประมาณหนึ่ง แต่เราไม่ได้จะทำหนังอาร์ตเซอร์แตก มีความเกรงใจอยู่บ้าง (หัวเราะ) เราอยู่กันจนเหมือนครอบครัวเดียวกันไปแล้ว เหมือนอยู่กับป๊าม้า ม้า ขอตังค์ทำหนังหน่อย

LIPS: เราก็ต้องรับผิดชอบ ไม่เอาเงินป๊าม้ามาผลาญ

มะเดี่ยว: ถูก เรารู้จักรู้ใจกันหมดแล้ว

LIPS: คุณมีด้านที่เป็นโปรดิวเซอร์ด้วยไง เข้าใจหัวอกทุกฝ่าย

มะเดี่ยว: ใช่ เลยเข้าใจไงว่าตอนเด็กๆ เราดื้อขนาดนี้หรือ แสบเนอะ (หัวเราะ)

LIPS: แต่ถ้าตอนนั้นไม่รั้นก็ไม่มีเราในวันนี้นะ

มะเดี่ยว: ก็ถูก แต่โชคดีที่เจอแต่คนดีๆ เข้าวงการมาก็เจอพี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับองค์บาก) เป็นคนฟูมฟักกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเรา

LIPS: หรือพูดอีกอย่างว่าอดทนกับเรามาก

มะเดี่ยว: (หัวเราะ) อดทนๆ แต่เราก็ไม่ใช่คนดื้อหัวชนฝา รู้ว่าถ้าอยากได้อะไรก็ต้องเจรจาต่อรอง ‘พี่ อยากได้อันนี้ งั้นไม่เอาอันนั้นก็ได้’ และก็มีเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ผู้ก่อตั้งสหมงคลฟิล์ม ผู้อำนวยการสร้างหนังไทยคนสำคัญ) ที่เป็นครูในวงการ คอยสอนเราเรื่องต่างๆ เป็นต้นว่า จะไปทำทำไมเรื่องนี้ ไอ้@!?8e2!!@ คนสมัยก่อนก็จะพูดจาแบบนั้น แต่แกไม่ได้ด่านะ พูดแบบนี้คือธรรมดา -วยคือดี ไอ้เ-ยคือน่ารัก (หัวเราะ) คิดซะแบบนี้จะได้สบายใจ มองที่เจตนาว่าเขาจะสอนอะไรเรา ตอนนั้นเราเป็น introvert ประมาณหนึ่ง ไม่ค่อยเข้าสังคม เสี่ยงเจียงสอนว่าให้ไปหาไปเจอคนนั้นนี้บ้าง สอนตั้งแต่การเข้าสังคมไปจนถึงการขายหนังและการดีลกับดารา

LIPS: ถ้าทำหนังอย่างเดียวคงเหนื่อยและแร้นแค้นแย่

มะเดี่ยว: ใช่ แต่ตอนนี้ดีขึ้นเยอะ เพราะมีสตรีมมิ่งมาช่วยพาหนังไปเจอตลาด

LIPS: คนทำหนังเล่าเรื่องหลากหลายได้มากขึ้นด้วยไหม

มะเดี่ยว: อืม…ไม่ใช่ว่าสตรีมมิ่งเขาจะซื้อไอเดียเราทุกอย่างนะ เขามีสิ่งที่เขาอยากได้หรือมีคุณภาพที่เขายอมรับได้ หนังตอนนี้มีอยู่ 2 แบบ คือหนังฉายโรงที่มีความเป็น cinematic ของมัน และหนังฉายสตรีมมิ่ง ซึ่งอายุสั้น มันก็อยู่ในสตรีมมิ่งของมันไป แต่การที่คนดูจะไปเห็นมันน้อยลง หลังๆมาหนังในสตรีมมิ่งเป็นกระแสแค่อาทิตย์เดียวเองละมัง ก็สั้นพอๆกับหนังฉายโรง แต่เรารู้สึกว่าคนจะจำหนังที่เข้าไปดูในโรงได้มากกว่า ไม่ใช่ว่าหนังในสตรีมมิ่งไม่ดี แต่เพราะพฤติกรรมคนดูที่ใกล้เคียงกับการดูคอนเทนต์ในเน็ตที่แล้วมันก็จะผ่านไป โอเคว่ามีหนังเรื่องนี้เข้ามาในสตรีมมิ่ง แล้วมันก็จะผ่านไป แต่การดูหนังในโรง ไม่รู้เป็นกันหรือเปล่าว่าเราต้องเสียเวลาเดินทาง ไปซื้อตั๋ว นั่งในโรงมืดๆ จอใหญ่ๆ มันคือคำว่า ‘Cinema’ ภาษาหนังจะมีคำว่า cinematic คือการถ่ายทำให้ออกมาดูเป็นหนัง

โปสเตอร์หนัง MONDO รัก โพสต์ ลบ ลืม

“หนังในสตรีมมิ่งเป็นกระแสแค่อาทิตย์เดียวเองละมัง สั้นพอๆกับหนังฉายโรง แต่เรารู้สึกว่ามีสิ่งที่ทำให้คนจำหนังที่เข้าไปดูในโรงได้มากกว่า มันคือคำว่า ‘Cinema’”

LIPS: (พีอาร์ส่งสายตาประมาณว่า ช่วยกลับมาคุยเรื่องหนังมอนโด พลีส) มอนโดเป็นหนังที่พูดถึงเทคโนโลยีด้วย จะมีอภินิหารซีจีเยอะไหม

มะเดี่ยว: มี…เยอะ แต่ยังทำไม่เสร็จ (หัวเราะ) เลยบอกไม่ได้ว่าเยอะหรือน้อย เดี๋ยวบอกไปว่า โอ้โห เทคนิคตระการตามากเลย พอคนเข้าไปดูในโรงหนังจริงๆแล้วบอกแค่นี้เองเหรอ การดีไซน์ฉากในโลกเมตาเวิร์ส-มอนโด เราไม่ได้อยากให้มันล้ำเว่อร์เกินจริง เพราะสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันจะล้ำที่สุดก็คือการทำโลกเสมือนให้เหมือนจริงที่สุด ดังนั้นก็พยายามที่จะไม่มีอะไรที่มันหวือหวาล้ำโลก แล้วจะทำให้คนดูหลุดออกไปจากหนัง โลกเสมือนของเราก็คือโลกที่พยายามจะเสมือนจริงๆ มีการสัมผัส รับรู้ทุกอย่าง แต่อาจจะมีกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่เหนือจริงขึ้นมา เป็นไซไฟแบบมินิมอล เพราะหนังโฟกัสที่ตัวละคร ตัวละครอยู่ในโลกนี้ แต่การเข้าไปในโลกเสมือนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและคนรอบข้างขนาดไหนหรือไม่ยังไง

ความซีจีต้องมีอยู่แล้วกับหนังเทคโนโลยี แต่แก่นของหนังคือความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ว่ามะเดี่ยวลุกขึ้นมาทำหนังไซไฟจ๋า เราคงสู้ฮอลลีวูด สู้เจมส์ คาเมรอนไม่ได้หรอก เราชอบพูดเรื่องมนุษย์ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเมืองไทย หรือเกิดขึ้นกับคนในวัยนี้ทั่วโลกมากกว่าเรื่องเทคนิคอะไรต่างๆ ฉะนั้นหนังเรื่องนี้พูดเรื่องของคุณ คุณ และคุณอยู่

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun / SahamonkolFilm

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม