Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

งานภาพดุจงานศิลปะของ ‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ มาจากภาพเขียนดังของฟานก็อก

Art & Design / Culture

เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ หนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับผู้มีสไตล์ภาพสีจัดจ้านเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอาจทำให้คนดูที่ไม่คุ้นสไตล์ของเขามาก่อนมีอึ้งกันบ้างว่า หนังไทยงานภาพเริดเบอร์นี้มีอยู่จริง ซึ่งเกิดจากงานออกแบบฉากและงานภาพฝีมือคนทำหนังชาวไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ฉากกลางคืนทั้งหมด ถ่ายทำตอนกลางวัน

เหตุการณ์ในหนัง เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ เกิดช่วงกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ความสลัวลางของความมืดช่วยสร้างกลิ่นอาย “มีเรื่องแล้ว!” ในใจคนดู แต่ใครเลยจะรู้ว่า ฉากกลางคืนทั้งหมดถ่ายทำกันในตอนกลางวัน และความมืดที่เห็นเกิดจากการเซตฉาก เซตไฟล้วนๆ ในเต็นท์ยักษ์สูง 6 เมตร หรือสูงเท่าบ้านหนึ่งชั้นครึ่ง

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับเล่าว่า “ช่วงที่ถ่ายทำ สตูดิโอใหญ่ๆ ไม่ว่างเลย เหลือคิวให้เราใช้ได้แค่สั้นๆ ซึ่งเราถ่ายไม่ทัน เราเลยเปลี่ยนวิธีเป็นการไปหาโลเกชัน หาบ้าน แล้วเอาเต็นท์กับผ้าดำมาครอบไว้อีกที โดยตัวบ้านที่ใช้ถ่ายเป็นบ้านที่มีอยู่แล้ว เราไปต่อเติม และตกแต่งให้ตรงกับบท อีกอย่างซีนส่วนใหญ่ถ่ายกลางคืนทั้งนั้นเลย เราก็แก่แล้ว ถ่ายดึกมากไม่ไหว (หัวเราะ) เลยหาวิธีแก้ปัญหา”

“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน ทีมงานก็มีคำถามเหมือนกันว่ามันจะถ่ายได้จริงๆ เหรอ เพราะนอกจากถ่ายฉากกลางคืนกันตอนกลางวันแล้ว ความท้าทายอีกอย่างคือเราต้องทำให้คนดูเชื่อด้วยว่าที่เราถ่ายกันอยู่มันคือข้างนอกสตูดิโอ เพราะตอนถ่ายเห็นโครงหลังคาตลอดเวลา เราก็ต้องไปปรับให้มันสมจริง ก็เป็นการทดลองทำดู ซึ่งก็เวิร์กทั้งในแง่การควบคุมแสงและช่วยให้การถ่ายทำไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศนัก เพราะตอนถ่ายทำเป็นช่วงพายุเข้าพอดี”

งานภาพสีสวยจากตากล้องหญิง

ผู้กำกับภาพ (Director of Photography) ของหนังเรื่องนี้คือ พี่หญิง-นิรมล รอสส์ ผู้ฝากผลงานภาพสวยดีมีความหมายในหนังไทยมากมาย อาทิ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ และ Die Tomorrow ของเต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ซึ่งจะเห็นว่าหนังของวิศิษฏ์ของพี่หญิงสไตล์ภาพต่างกันลิบลับ จุดนี้ผู้กำกับหนังและผู้กำกับภาพจึงต้องจูนกันก่อนถ่ายทำ

วิศิษฏ์เล่าถึงงานภาพของหนังว่า “ส่วนตัวเราจะเห็นภาพไฟนอลโปรดักต์ในหัวตั้งแต่แรกเลย แต่กับพี่หญิง เราใช้วิธีชวนเขาไปดูเกรดสีด้วยกัน ช่วยดูช่วยจูนกันไป เพราะสไตล์ในหนังเรื่องนี้ เป็นสไตล์ที่ต้องทำความเข้าใจนิดนึง และต้องทำหลายอย่างก่อนถ่ายจริง นอกจากนี้ก็จะให้ reference และคีย์เวิร์ดกับพี่หญิง อย่างในเรื่องนี้คีย์เวิร์ดงานภาพของมันคือ ความอลังการของธรรมชาติ ตัดเข้ามาในบ้านที่เล็กๆ แคบๆ อึดอัด คั่นด้วยความใหญ่โตของธรรมชาติ

“เรื่องนี้เราลองออกแบบภาพด้วยมุมมองของไม่ใช่บุคคลที่สาม แต่เป็นมุมมองของบุคคลในเรื่องเลย เช่น ตอนพี่หม่ำจ้องมาเวลาที่สอบสวนทราย เราก็ใช้ภาพที่แทนมุมมองของทรายกับมุมมองของพี่หม่ำ ทำให้รู้สึกเหมือนเราโดนสอบไปด้วย เหมือนเราเข้าไปอยู่ในมุมมองของคนคนนี้ แล้วก็สลับไปที่อีกคนหนึ่ง”

ฉากบนโต๊ะอาหารที่มีต้นแบบจากภาพเขียนของฟานก็อก

ถ้าใครดูหนังอาจติดตาตรึงใจกับฉากที่ครอบครัวล้อมวงกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่แทนที่จะดูอร่อย กลับชวนพะอืดพะอมขมคอเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งฉากนี้มีต้นแบบจาก The Potato Eaters ภาพเขียนของฟินเซนต์ ฟาน ก็อก หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าแวนโก๊ะ

วิศิษฏ์บอกเล่าความหินในการใช้งานภาพมาเล่าเรื่องโดยไม่ต้องมีบทพูดในฉากนี้ว่า “เราอยากได้บรรยากาศแบบชนบท มีไฟดวงเดียว ฉากนี้มีคนดูสังเกตด้วยว่ามันมีความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism)  เพราะจริงๆ เรื่องนี้เราอยากใส่ความเป็นแฟนตาซีเข้าไป ความยากของฉากโต๊ะอาหารอยู่ที่การเล่าให้คนดูเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวละคร ตำแหน่งที่นั่ง ใครนั่งตรงไหน ความสัมพันธ์เป็นยังไง มันจะบอกความสนิทหมด การจัดบล็อกกิ้งจึงยาก และที่ยากเป็นพิเศษคือการที่นักแสดงต้องกินต้มอึ่ง 50 เทค” 

The Potato Eaters, Van Gogh 1885 Courtesy of Van Gogh Museum, Amsterdam (Vincent van Gogh Foundation)
The Potato Eaters, Van Gogh 1885 Courtesy of Van Gogh Museum, Amsterdam (Vincent van Gogh Foundation)

ภาพเขียน The Potato Eaters นี้ ฟานก็อกปาดฝีแปรงในปี 1885 โดยตัวฟานก็อกวาดภาพนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนความจริงอันโหดร้ายของชีวิตในชนบทที่การอยู่กับท้องนาและธรรมชาตินั้นไม่ได้น่าอภิรมย์ หากเต็มไปด้วยความลำบากของมนุษย์ที่ต้องต่อกรกับธรรมชาติที่มิได้งดงามสงบเย็นเสมอไป – เพื่อจะมีชีวิตรอดไปมื้อหนึ่ง ฟานก็อกจึงวาดใบหน้าของชาวนาที่ผอมเกร็งและกร้านราวกับเป็นคนเป็นกึ่งซากศพ เพื่อสะท้อนความตรากตรำของชาวนาที่ ‘ขุดดินด้วยมือเดียวกับมือที่ตักข้าวเข้าปาก…ชาวนานั้นหาอาหารมาอย่างสัตย์ซื่อแท้จริง’

ฟานก็อกวาดภาพชาวนาในภาพนี้ 5 คนโดยใช้สีเอิร์ธโทน ‘เป็นสีที่เหมือนกับสีมันฝรั่งเปื้อนดิน และยังไม่ได้ปอกเปลือก’ สารที่แฝงอยู่ในภาพนี้สำคัญมากกว่าการวาดร่างกายมนุษย์ให้ถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์หรือเทคนิคทางศิลปะใดๆ และศิลปินก็พอใจยิ่งกับผลลัพธ์เมื่อวาดเสร็จ ทว่าภาพเขียนนี้ถูกวิจารณ์อยู่บ้าง ด้วยสีที่มืดทึมเสียจนแทบไม่เห็นรายละเอียด และภาพร่างกายมนุษย์ที่ผิดแผกไปจากหลักอนาโตมี

Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก: www.vangoghmuseum.nl

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม