Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ เปิดแฟ้มคดีพิศวงม่วนซื่นโฮแซว ณ ดอนกระโทก

Culture / Entertainment

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีสไตล์การเล่าเรื่องและถ่ายทอดสุนทรียะด้านภาพและเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร (2543) ผลงานแจ้งเกิดที่ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักบนเวทีภาพยนตร์ระดับนานาชาติ หมานคร (2547) เป็นชู้กับผี (2549) อินทรีแดง (2553) รุ่นพี่ (2558) สิงสู่ (2561) ปริศนารูหลอน (2564) จวบจนมาถึงผลงานล่าสุดเรื่อง ‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ บนแพลตฟอร์ม Netflix โดยวิศิษฏ์นำรูปแบบและการเล่าเรื่องที่เคยทำไว้ในหมานคร (ที่หลายคนมองว่าคือหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซของเขา) มาใช้กับภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง

เรื่องราวใน เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ณวัฒน์ (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) สารวัตรสอบสวนมือหนึ่งแห่ง สภ.ดอนกระโทก เจ้าของฉายามือปราบหัวร้อน ได้รับหน้าที่มาสืบสวนคดีฆ่ายกครัว 7 ศพ ซึ่งจากหลักฐานในที่เกิดเหตุล้วนพุ่งเป้าไปที่ เอิร์ล (เจมส์ เลเวอร์) เขยฝรั่งของครอบครัว ทำให้เอิร์ลต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยมี ทราย (อิษยา ฮอสุวรรณ) ภรรยาผู้เป็นความหวังเดียวที่จะช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ให้กับเขาได้ เรื่องราวการสืบสวนตามล่าหาความจริงจึงเริ่มต้นขึ้น

จะว่าไปแล้ว เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ เป็นภาพยนตร์ไขคดีพิศวงตามแนวทางแบบ Whodunit (ใครฆ่า) ผ่านการสร้างเงื่อนงำอันน่าสงสัยต่าง ๆ และคำบอกเล่าของพยานผู้รอดชีวิตอย่าง ทราย และ จูน (ชนันทิชา ชัยภา) หลานสาวคนเล็กของบ้าน เพื่อให้ผู้ชมทำหน้าที่ไปพร้อมกับสารวัตรในการปะติดปะต่อเรื่องราวจนไขคดีให้กระจ่างได้ในที่สุด

ความท้าทายในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แนวนี้คือ การวางเหยื่อล่อโน้มนำให้คนดูคิดเชื่อไปในทางหนึ่ง ก่อนที่จะหักเลี้ยวไปอีกทางในแบบที่คนดูคาดเดาไม่ถึง และการหักมุมนั้นต้องมีน้ำหนักและสมเหตุสมผลพอที่จะทำให้คนดูเชื่อได้

เมอร์เด้อเหรอทำได้ดีในช่วงของการเฉลยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงองก์สุดท้าย เพียงแต่ว่าคนดูอาจจะต้องใช้ความอดทนสักนิดในการติดตามเรื่องราวในช่วงแรก และปรับจูนลีลาการนำเสนอในแบบวิศิษฏ์ให้คุ้นชินเสียก่อน หลังจากนั้นจึงจะเพลิดเพลินและพาใจปล่อยจอยให้เรื่องราวนำไปสู่ความอิหยังวะอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน

สำหรับใครที่ติดตามผลงานการกำกับของวิศิษฏ์มาอย่างต่อเนื่องก็จะพบว่า เมอร์เด้อเหรอเป็นผลงานที่มีลายเซ็นของวิศิษฏ์อย่างชัดแจ้ง ทั้งในด้านการใช้สีอันฉูดฉาดจัดจ้าน แต่กลับสร้างบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจได้อย่างอยู่หมัด สร้างโลกที่แปลกแตกต่างออกไปจากภาพที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน การแบ่งส่วนการเล่าเรื่องคล้ายการแบ่งเป็นบทเป็นตอนๆ ในนิยาย การใช้ประโยชน์จากศิลปะภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องเติมแต่งจินตนาการ วางลำดับโครงสร้างการปกปิดเปิดเผยได้มีจังหวะจะโคน แฝงอารมณ์ขันได้อย่างร้ายกาจตามแบบฉบับของวิศิษฏ์

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังหยิบบริบทความเป็นอีสานมาเป็นหัวใจของเรื่องราว ทั้งในแง่การเป็นฉากหลังของเหตุการณ์ การนำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสานผ่านการเว้าภาษาถิ่น อาหารการกิน (ผู้กำกับเลือกใช้เมนูต้มอึ่งสะท้อนวิถีอีสานในหนังเรื่องนี้) รวมถึงทัศนคติของคนอีสานที่มีต่อ ‘ผัวฝรั่ง’ ในแง่ว่าถ้าริจะเอาฝรั่งมาทำผัวก็ขอให้มันสร้างความสุขสบายให้กับเราด้วย ซึ่งในสายตาพ่อแม่ของทราย เอิร์ลก็เป็นแค่ฝรั่งขี้นกที่มาทำงานในไทย ไม่มีฐานะอะไรจะยกระดับชีวิตให้พวกเขาได้

นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังจะสะท้อนให้เห็นด้านมืดของคนชนบทอีสานทั้งในเรื่องความสัปดี้สัปดน คดในข้องอในกระดูก การปัดความผิดให้พ้นตัว ความละโมบโลภมากอันนำไปสู่ความบรรลัยวายป่วง เป็นภาพสะท้อนที่ต่างไปจากการรับรู้ของคนต่างชาติที่มักจะมองมายาคติชนบทไทยในเวอร์ชั่นในน้ำมีปลาในนามีข้าว ชาวบ้านยิ้มแย้มมีความสุขตามอัตภาพนั่นเอง

มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอมุมมองและทัศนคติของคนอีสานตัวต้นเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ตัวละครทราย สาวอีสานผู้เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ขับรถกลับมายังบ้านเกิดชนบทพร้อมกับสามีฝรั่ง บวกกับฉากที่ทรายกับเอิร์ลนั่งมองทุกคนจกข้าวเหนียวกินต้มอึ่งอย่างเอร็ดอร่อย ก่อนที่ทั้งสองจะมองหน้ากันอย่างกระอักกระอ่ว

ฉากนี้เองที่ขับเน้นให้ทรายกับเอิร์ลกลายเป็นเพียงคนนอกวงที่มองดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนรอบข้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งสิ่งที่ทั้งคู่ต้องเผชิญในหมู่บ้านดอนกระโทกคือ มายาคติเรื่องผัวฝรั่งของคนอีสาน ความเมาหยำเปไม่ทำการทำงาน อคติของตำรวจที่มีต่อฝรั่ง การใช้กำลัง ความหละหลวมในการไต่สวนคดี ระบบการทำงานแบบไทยๆ ความฉลาดน้อยของตำรวจ และอีกสารพัดสิ่งที่ทำให้เอิร์ลเองเกือบจะต้องกลายเป็นแพะในคดีฆาตกรรมยกครัวครั้งนี้

มองในมุมหนึ่งมันคือความตั้งใจในการรื้อสร้างมายาคติความเป็นอีสานทั้งในระดับปัจเจกและระดับโครงสร้างได้อย่างแสบสันต์ ขณะเดียวกันมันก็อาจตอกย้ำภาพของความโง่เขลาและความละโมบของคนอีสานในมุมมองของคนนอกได้เช่นเดียวกัน…

และดูเหมือนว่า ‘คนนอก’ อย่างทรายกับเอิร์ลเองก็ไม่ได้นำพากับความอิหยังวะที่เกิดขึ้น พวกเขาขับรถมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พร้อมกับจูน ทิ้งเรื่องราวในดอนกระโทกไว้เบื้องหลัง และไม่คิดจะหันกลับไปมองมันอีก

Words: Thanapol Chaowanich

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม