สมัยเรียนฉันมักจะหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาเสมอ ในขณะที่เพื่อนคนอื่นกำลังตบลูกวอลเล่ย์กันอย่างเมามันด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสตรีเหล็ก (ชวนให้สงสัยว่า เป็นเพื่อนสาวประเภทไหน) ฉันมักจะทำหน้าแหยงๆ อยู่ข้างสนามด้วยความกลัวว่าลูกบอลจะเข้าหน้าจากความซุ่มซ่าม และการตอบสนองที่ช้าเหมือนอินเทอร์เน็ตสมัยนั้น
หลายปีผ่านไป เมื่อความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กแพร่หลายในหมู่พ่อแม่เจนเอ็กซ์ ทำให้ฉันได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า กลุ่มอาการเด็กซุ่มซ่าม clumsy child syndrome หรือ ความบกพร่องในการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย (developmental coordination disorder : DCD) ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเนื่องเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ได้ Jill Zwicker นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย British Columbia กล่าวว่า DCD เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กหลายๆคนโตเป็นผู้ใหญ่พร้อมกับความรู้สึกไม่ชอบการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย
ไม่เพียงเท่านั้น ความรู้สึกไม่สัมพันธ์กันของมือเท้าแขนขามีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตและร่างกาย เด็กและวัยรุ่นกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการออกกำลังและกิจกรรมกลางแจ้ง และมีความเสี่ยงสูงต่อความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า งานวิจัยในเด็กอังกฤษกว่า 1,000 คนพบว่า เด็กนักเรียนที่คุณครูจัดอยู่ในกลุ่มการเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมองกลับมาที่สุขภาพจิตและสุขภาพพุงของตัวเองแล้ว ก็ได้แค่พึงสังวรณ์ว่า ฉันเองนั่นไง จะใครล่ะ
ความซุ่มซ่ามเริ่มต้นที่สมอง
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ทักษะทางด้านกีฬาเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ดีของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความสามารถในการเตะลูกไซด์โค้งจากนอกเขตโทษ หรือขว้างลูกเปตองอย่างแม่นยำ ล้วนมาจากประสิทธิภาพของสมองในการสื่อสารควบคุมประสาทหลายระบบตั้งแต่การมองเห็น การเคลื่อนไหว การตัดสินใจ การกะระยะ รวมถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างสมองทั้ง 2 ข้างอย่างลงตัว ซึ่งถ้าสมองเจ้ากรรมทำได้ไม่ดี สิ่งที่ตามมาก็คือ ความซุ่มซ่ามโก๊ะกัง
ข่าวดีก็คือเนื้อเยื่อระบบประสาทในสมองและไขสันหลังของเรานั้นมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีเลิศ แบบเดียวกับที่คนไข้เส้นเลือดในสมองตีบสามารถเรียนรู้ที่จะกลับมาเดินได้อีกครั้งเมื่อทำกายภาพ คนสมองซุ่มซ่ามอย่างเราๆ ก็สามารถหัดเล่นกีฬาหรือกิจกรรมใหม่ๆ ได้ด้วยการฝึกฝนอย่างมุ่งมั่น เรียกได้ว่า สมองซุ่มซ่าม เป็นเรื่องแก้ได้ไม่ยาก
เลิกเชื่อว่าเราซุ่มซ่าม
ขั้นแรกของการก้าวข้ามความซุ่มซ่ามคือ ตั้งคำถามกับความเชื่อที่เราบอกตัวเองมาตลอด ความเชื่อที่ว่า ทักษะทางกีฬาเป็นสิ่งที่ต้องหล่อหลอมขึ้นมาในช่วงวัยรุ่น ใครจะเป็นนักกีฬาต้องเล่นกีฬามาตั้งแต่ ม.ต้น ลงแข่งกีฬาสีทุกนัด เป็นตัวโรงเรียนชิงแชมป์ระดับเขตประเทศโลกตั่งๆนานา และเมื่อเราเป็นเด็กนั่งร้องเพลงบนสแตนด์เชียร์ เราจึงไม่ใช่นักกีฬา ทำได้แค่แปรอักษรวนไป
Dr.Justin Ross นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า “บ่อยครั้งเป็นเพราะว่า วิชาพละช่วงมัธยม มันโคตรจะน่าอาย” ทำให้หลายคนเชื่อว่าตัวเองไม่มีทักษะทางกีฬาและเป็นคนงุ่มง่าม และสร้างภาพจำแบบนั้นกับตัวตนของตัวเอง วิธีแก้ความคิดแบบนี้ก็คือ ให้คิดว่า กีฬาเป็นเรื่องของประสบการณ์ ไม่ใช่อัตลักษณ์ระบุตัวตนของใคร ให้คิดว่าเราสามารถ ‘ลองเล่น’ กีฬาได้ ไม่ใช่ ‘เป็น’ นักกีฬาได้
เรียกความอยากทดลองสัมผัสประสบการณ์ใหม่มาเป็นแรงผลักดันในการเล่นกีฬา เตือนตัวเองว่า ตัวตนเด็กนั่งร้องเพลงบนสแตนด์เป็นเพียงอดีต และไม่เกี่ยวอะไรเลยถ้าเราอยากจะลองสัมผัสสายลมที่ปะทะใบหน้ายามอยู่ในสนาม “ถ้าคุณไม่ท้าทายความเชื่อของตัวเอง คุณก็จะไม่มีความกล้าที่จะเริ่มและไม่ได้ให้โอกาสกับสมองของคุณที่จะเปลี่ยนแปลง” Justin Ross กล่าว
งีบก่อนให้ใจสงบ
การนอนหลับสนิทตลอดคืนหรือแม้แต่งีบเล็กๆ ก่อนออกกำลังกายช่วยให้เราเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น ไม่ว่าเราจะเงอะงะแค่ไหนก็ตาม มีงานวิจัยพบว่า การอดนอนมีผลต่อการเคลื่อนไหวแบบเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เราควบคุมร่างกายได้แม่นยำน้อยลง และสับสนกับการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนได้ง่าย
เช่นเดียวกันกับความเครียด ที่ทำให้เราวอกแวก เมื่อเราเครียด สมองจะส่งข้อมูลผ่านระบบประสาทได้ช้าลง สมองที่รู้สึกตื่นเต้นมากกเกินไป จะทำให้เกิดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อตามไปด้วย กล้ามเนื้อที่ตึงเครียดจะเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงไม่ราบรื่นนุ่มนวลเหมือนเวลาปกติ ก่อนออกกำลังกายเราจึงควรผ่อนคลายจิตใจ ทำสมองให้โล่ง ด้วยการฟังเพลง งีบเล็กน้อย หรือทำสมาธิ
และที่สำคัญสำหรับคนซุ่มซ่าม คือ ลดความคาดหวังในตัวเองให้น้อยลง ปล่อยร่างกายขยับอย่างเป็นธรรมชาติ
เลือกกีฬาที่ชิลๆ
คนสมองซุ่มซ่ามมีแนวโน้มที่จะเล่นกีฬาแบบทีมที่มีการแข่งขันสูงๆ ได้ไม่ดี ควรเลือกกีฬาที่เล่นแบบเดียว แข่งกับตัวเองเป็นหลัก เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เซิร์ฟบอร์ด ฯลฯ จะช่วยให้เรามีสมาธิ อยู่กับตัวเอง เท่าทันความซุ่มซ่ามของตัวเองได้ดีขึ้น หรือจะให้ดี ลองเล่นกีฬาแบบมีคู่ซ้อมเป็นเทรนเนอร์ดูแลท่าทางอย่างใกล้ชิด เช่น ศิลปะการต่อสู้ เทนนิส หรือ การออกกำลังกายแบบเทรนเนอร์ส่วนตัวในยิม
หลีกเลี่ยงกีฬาแบบทีที่มีองค์ประกอบช่วยสับสนอลหม่านอย่างฟุตบอลหรือวอลเล่ย์บอล ที่นอกจากต้องอ่านใจและการเคลื่อนไหวของคนในทีมแล้ว ยังต้องจับจ้องลูกบอลที่เคลื่อนที่ไปมาในสนามด้วย ทั้งๆที่แค่การเคลื่อนไหวของแขนขาเราเองก็งงจะแย่แล้ว
จากที่ว่ามาทั้งหมด อาจสุรปได้ว่า กีฬาในฝันของฉันอย่างควิดดิชคงจะไม่เหมาะกับคนสมองซุ่มซ่ามเท่าไรนัก เพราะนอกจากเล่นเป็นทีม และมีลูกบอลหลายลูกในสนามชวนให้สับสนแล้ว ยังเล่นได้แต่ในจินตนาการอีกด้วย และถ้าอยากแก้อาการสมองซุ่มซ่าม ก็ต้องเลิกเล่นกีฬาในจินตนาการ หันมาเล่นกีฬาออกกำลังในโลกความเป็นจริงเสียที
Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก