Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Beauty

รู้ทัน Beauty Innovation ในหลากแพลตฟอร์ม ใช้ให้สร้างสรรค์ไม่ด้อยค่าตัวเอง

Beauty

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา TikTok สร้างเรื่องไม่หยุดเมื่อออกฟิลเตอร์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘Bold Glamour’ ฟิลเตอร์ที่ช่วยแต่งภาพให้ออกมาสวยเกินจริง ไม่ว่าจะทำให้ผิวสวยเรียบเนียน ทำให้ริมฝีปากอิ่มเอิบราวกับเพิ่งฉีดฟิลเลอร์ แม้จะทำให้ผู้ใช้มากมายรู้สึกมั่นอกมั่นใจเมื่อได้ใช้ แต่ในทางตรงกันข้าม เจ้าฟิลเตอร์ที่สมจริงเกินไปนี้อาจสร้างค่านิยมที่บิดเบี้ยวในเรื่องของ Beauty Standard ด้วยทำให้ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่มั่นใจในหน้าตาของตัวเองเมื่อไม่มีฟิลเตอร์ และส่งผลให้สูญเสียการนับถือตัวเองลงไปอีก

จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรในการสร้างฟิลเตอร์สักฟีเจอร์ขึ้นมา เพราะในปัจจุบันเรื่องราวของโซเชียลมีเดียและฟิลเตอร์นั้นเป็นของคู่กันไปเสียแล้ว และเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งที่ผู้คนมากมายจะนำเสนอตัวตนในโลกโซเชียลผ่านฟิลเตอร์แต่งภาพ ถึงกระนั้นมีผลสำรวจจาก Dove ในแคมเปญ Self-Esteem มีข้อมูลว่า 80% ของเด็กผู้หญิงล้วนเคยลองใช้ฟิลเตอร์หรือฟีเจอร์รีทัชภาพแล้วตั้งแต่อายุ 13 ปี

แต่ก็ใช่ว่าบิวตี้ฟิลเตอร์นั้นจะมีแต่ฟีดแบ็กในทางลบ เรื่องนี้ ฮันนาห์ โมเซอร์ (Hannah Mauser) นักวิเคราะห์เรื่องความงามชาวอเมริกันแห่ง WGSN ผู้นำด้านการคาดการณ์แนวโน้มระดับโลกได้กล่าวถึงแนวโน้มผู้บริโภคในแวดวงบิวตี้ในเรื่องนี้ว่า แพลตฟอร์มอย่าง TikTok เริ่มมีฟีดแบ็คในทางบวก ไม่ว่าจะเป็น #AcnePositivity ไปจนถึง #BodyHairPositivity ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่ออกมาสนับสนุนให้ผู้คนภาคภูมิใจในร่างกายของตัวเอง

AI and Increased Personalization

ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทในเรื่องของความงาม และได้พลิกเกมในเรื่องแนวโน้มของผู้บริโภคมากขึ้น เราจึงได้เห็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบิวตี้ต่างๆ ที่นำ AI มาวิเคราะห์ในเรื่องของความสวยความงาม เช่นเดียวกับ www.yuty.me เว็บไซต์ที่ออกแบบมาเพื่อให้สาวๆ จอยๆ กับการเลือกบิวตี้ไอเท็มที่ใช่โดยเจ้า AI อัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นเฉดสีลิปสติกที่ใช้แล้วสวยปัง ไปจนถึงสกินแคร์ที่ตอบโจทย์ปัญหาผิว เพียงทำควิซไม่กี่ข้อก็จะได้ลิสต์บิวตี้ไอเท็มให้คุณได้เลือกสรร

Accessibility

ปีนี้ถือได้ว่าเป็นปีทองของเทคโนโลยีความงามที่เปิดตัวกันแบบไม่พัก โดยเฉพาะแอปพลิเคชันเพื่อช่วยผู้พิการในแง่มุมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Voice-Enabled Makeup Assistant (VMA) แอปโดยบริษัทในเครือเอสเต้ ลอเดอร์ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้พิการทางสายตาในการแต่งหน้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยดึงเอาความเก่งของ AR และ AI มาผนึกกำลังกัน ทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยแต่งหน้าส่วนตัวด้วยเทคโนโลยี Smart Mirror จุดเด่นคือการเปิดใช้งานด้วยเสียงได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าใช้เครื่องสำอางได้อย่างง่ายดายและมั่นใจ โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา เมื่อผู้ใช้ออกคำสั่งเสียง

ส่วนลอรีอัลก็ไม่น้อยหน้า ส่งเมกอัพแอปพลิเคเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า HAPTA อุปกรณ์สำหรับลงเมคอัพด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำสูง ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการด้านความงามสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวมือและแขน โดยลอรีอัลจะนำอุปกรณ์ HAPTA มาเริ่มใช้กับแบรนด์ลังโคมเป็นแบรนด์นำร่องในปี 2023 โดยเริ่มด้วยอุปกรณ์ทาลิปสติกที่เรียกว่า แขนกลอัจฉริยะ จากนั้นจะตามมาด้วยการใช้งานกับเมกอัพอื่นๆ ในอนาคต

Words: Ayu Kulahathai
ข้อมูลจาก: edition.cnn.com




Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม