อกสั่นขวัญแขวนกันยกใหญ่เมื่อ Khloé Kardashian (โคลอี คาร์เดเชียน) นางแบบและเซเลบฯ เรียลิตี้ชื่อดังแห่งบ้าน Kardashian ประกาศว่าเธอพบเนื้องอกที่กลายเป็นมะเร็งผิวหนังบริเวณแก้ม และได้ทำการผ่าตัดไปเมื่อปีที่แล้ว โดยวันอังคารที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เธอได้อัปเดตรูปภาพ Before-After อีกครั้งถึงผลการรักษามะเร็งผิวหนังที่เรียกว่า ‘Melanoma’
ไม่ใช่ไฝเสน่ห์ แต่เป็น Melanoma
ในครั้งแรกโคลอีปรากฏตัวในรายการเรียลลิตี้ The Kardashians โดยมีผ้าพันแผลแปะอยู่บริเวณแก้ม เธอกล่าวกับ มาลิกา แฮกค์ เพื่อนสนิทถึงโมเมนต์หลังผ่าตัดว่า “มีผ้าพันแผลขนาดใหญ่บนใบหน้าของฉัน และฉันขยับปากไม่ได้เลยเพราะฉันมีไหมเย็บที่อีกด้านหนึ่งของปากด้วย นี่ร้ายแรงกว่าที่ฉันเข้าใจหรือคาดคิดไว้มาก…มันแพร่กระจายได้ทุกเมื่อ นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขา (หมอ) เร่งให้ฉันทำ”
ซึ่งแรกเริ่มเธอพบรอยจุดเล็กๆ บริเวณแก้ม ซึ่งคิดว่าเป็นอะไรเล็กน้อยอย่าง ‘สิว’ แต่แล้วเหตุการณ์ผ่านมา 7 เดือน รอยดังกล่าวก็ไม่มีท่าทีจะจางหายไป เธอจึงตัดสินใจตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งแพทย์ผิวหนังก็พบว่าเป็นเนื้องอกที่หาได้ยากมากในวัยเท่าเธอ จึงแนะนำให้ผ่าตัดทันที
“เอาล่ะ…ทีนี้ คุณจะเห็นผ้าพันแผลของฉันต่อไป และเมื่อหมออนุญาตให้เอาผ้าพันแผลออก คุณอาจจะเห็นแผลเป็น (และรอยบุ๋มที่แก้มของฉันจากการเอาเนื้องอกออก) แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้นฉันหวังว่าคุณจะจอยกับลุคเริ่ดๆ ของหน้าที่มีผ้าปิดแผลเหล่านี้” โคลอีกล่าวปิดท้าย
อุทาหรณ์ผ่านสตอรีอินสตาแกรม
เมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา โคลอีโพสสตอรีในอินสตาแกรมเพื่อเป็นข้อความเตือนใจแฟนๆ โดยปรากฏเป็นภาพรอยเย็บบนแก้มตั้งแต่ผ่าตัดใหม่ๆ จนกระทั่งหลังตัดไหมแล้วผิวหนังกลับมาสวย (มีรอยบุ๋มเล็กน้อย) อย่างในปัจจุบัน ซึ่งเธอยังสนับสนุนให้เหล่าฟอลโลเวอร์ไปเช็กสุขภาพผิวหนังกับแพทย์ผิวหนังอย่างน้อยปีละครั้งอีกด้วย
“ฉันไม่เคยคิดเลยว่าจุดเล็กๆ นี้จะกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง และฉันก็นึกไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อดูอาการ…การใส่ใจกับผิวของเราและการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและร่างกาย ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตามเป็นสิ่งสำคัญมาก” เธอกล่าวปิดท้าย
มะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง Melanoma
American Cancer Society เปิดเผยข้อมูลว่า Melanoma เป็นมะเร็งผิวหนังประเภทหนึ่งที่พัฒนาในเซลล์เมลาโนไซต์ (เซลล์ที่มีหน้าที่สร้างเม็ดสีในผิวหนัง) แม้มะเร็งชนิดนี้จะพบได้น้อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นแต่กลับมีอันตรายมากกว่า เพราะสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ได้ง่าย หากไม่ตรวจพบหรือรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งมะเร็งผิวหนังที่เกิดในเซลล์เมลาโนไซต์นี้ยังสามารถสร้างเมลานิน (เม็ดสี) ได้ จึงพบว่าเนื้องอกที่ปรากฏเห็นจะเป็นสีน้ำตาล หรือสีดำ คล้ายรอยสิว กระ หรือไฝ ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งชนิดนี้ แต่ก็พบว่ารังสีอัลตราไวโอเลตเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงได้
ปัจจัยเสี่ยงของ Melanoma
บทฟื้นฟูวิชาการเรื่อง ‘มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา’ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสุรชัย สีตวาริน นรินทร์ วรวุฒิ และจิตรลดา วิภากุล ระบุปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ว่า สัมพันธ์กับจำนวนไฝ กระ ในร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงผู้ที่มีประวัติเป็นตุ่มใสจากการออกแดด ผู้ที่มีผิวสีอ่อน และมีอาการผิวไหม้จากการออกแดดได้ง่าย ผู้ที่มีประวัติการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดอื่นมาก่อน ผู้ที่มีประวัติการใช้ชีวิตกลางแดดในระหว่างอายุ 10-24 ปี และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรค Melanoma มาก่อน เป็นต้น
แม้ว่าโคลอีจะชี้ชัดว่าเธอทากันแดดเป็นประจำ แต่ก็ไม่วายพบปัญหาเนื้องอก Melanoma เจ้ากรรม แต่อย่างไรก็ดี ครีมกันแดดที่มี SPF และ PA ที่เหมาะสมก็ถือว่าเป็นเกราะป้องกันปราการแรก และที่สำคัญหมั่นสังเกตผิวหนังของตนเอง ไม่ละเลยแม้การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เธอกล่าว
เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าควรตรวจสุขภาพกายและสุขภาพฟันปีละครั้ง รวมถึงพักหลังๆ แนะนำว่าการพบจิตแพทย์นั้นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นหากเพิ่มคิวนัดกับหมอผิวอีกสัก 1 กรุบ (ที่ไม่ใช่แค่ไปเลเซอร์อัปสวย) ก็คงไม่เสียหลาย คุณจะได้มั่นใจรับมือกับมะเร็งผิวหนังได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก: