Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

30 ปีที่ต่อสู้กับอาการ ‘Gymtimidation’ ไม่ใช่ขี้เกียจออกกำลังกาย แต่เป็นภาวะ ‘กลัวยิม’ 

Beauty / Wellness & Aesthetic

“ร้อยวันพันปี…ฟิตเนสที่สมัครไว้ ไปนับครั้งได้” นี่อาจเป็นความจริงที่เจ็บปวดของใครหลายคนที่อยากมีสุขภาพที่ดีหรือเรือนร่างตามที่ปรารถนา แม้ว่าแท้จริงแล้วความตั้งใจเรามี…แต่ความกังวลมากมายวิ่งกลับวิ่งเข้ามาในหัว ฉันใหม่ในที่นี้ ฉันกลัวทำผิดพลาด ฉันไม่มั่นใจในรูปร่าง ไปจนถึงความกังวลเรื่องเสื้อผ้าและรองเท้าที่ใส่ มันเหมาะสมไหมกับคลาสต่างๆ ความกลัวที่ฉุดขาคุณไว้เหล่านี้ บ่งชี้ว่าแท้จริงคุณอาจไม่ใช่คนขี้เกียจออกกำลังกาย แต่คุณตกอยู่ในอาการ Gymtimidation ภาวะกลัวยิม (หรือฟิตเนส) ต่างหาก 

และแน่นอนในฐานะที่ผู้เขียนกลัวการออกกำลังกายในยิมมาถึง 30 ปี และเคยอยู่ในภาวะ Gymtimidation ตัวแม่! วันนี้เราจะมาก้าวผ่านมันไปด้วยกัน

Gymtimidation ภาวะกลัวยิม

Gymtimidation คืออะไร?

Gymtimidation มาจากคำว่า Gym (ยิม) + Intimidation (การทำให้กลัว) เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง ‘ภาวะกลัวยิม’ บรูคลิน ซัดเดลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาฟิตเนสของ Crunch Fitness ในนิวยอร์กซิตี้กล่าวกับ CNN ว่า ความวิตกกังวลในการออกกำลังกายส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งเด็ก คนแก่ ผู้ชายและผู้หญิง…มันส่งผลต่อคนทุกเชื้อชาติและทุกระดับความสามารถ แม้ว่าความถี่และความรุนแรงของมันจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

ดร. เอริน นิตช์เก ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์ของวิทยาลัย Laramie County Community College ในเมืองไชแอนน์ รัฐไวโอมิง กล่าวเสริม “ใครก็ตามที่ยังใหม่กับบรรยากาศในยิม ประสบปัญหาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ทางร่างกาย หรือความไม่พอใจของรูปร่าง หรือรู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คนอาจประสบปัญหานี้” 

อาจเป็นไปได้ว่ายิมมีสภาพแวดล้อมเฉพาะตัว ขณะที่เราไปร้านกาแฟเพื่อดื่มด่ำกับกาแฟถ้วยโปรดสุดชิล หรือไปดูหนังเพื่อเสพความบันเทิง แต่การไปยิมมักพบเจอผู้คนที่มีจุดมุงหมายแตกต่างกันไป บ้างก็มุ่งเน้นเสริมสร้าง หรือขจัดปัญหาด้านสุขภาพ บ้างก็เพิ่มความฟิตให้กับร่างกายเพื่อจุดประสงค์ทางการกีฬา บ้างก็มาเพื่อได้รับการยอมรับทางสังคม

“คนเหล่านี้อยู่ใกล้ๆ กัน ต่างก็มาด้วยเหตุผลของตัวเอง แต่เราไม่รู้ว่าทุกคนมีเหตุผลอะไร” บรูคลิน ซัดเดลล์ กล่าวปิดท้าย

ความวิตกกังวลของ “วีนัส วิลเลียมส์”

วีนัส วิลเลียมส์ อดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลกและผู้ชนะแกรนด์สแลม 7 สมัยก็เคยเผชิญกับภาวะ Gymtimidation ดังกล่าว เธอกล่าวกับสื่ออย่าง People ว่า “ฉันมีช่วงเวลาที่น้ำหนักฉันเพิ่มขึ้น…แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในระดับไหน หรือพบกับช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป คุณต้องเพิ่มความมั่นใจ” วีนัสกล่าว

ผลวิจัยของ Stitch Fix สตาร์ตอัปค้าปลีกแฟชั่นชื่อดังที่มีบริการสไตลิสต์ ให้คำแนะนำในการเลือกเสื้อผ้าออนไลน์พบว่า 67% ของผู้หญิงอเมริกันต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะ Gymtimidation ซึ่งรู้สึกหวาดกลัวกับความคิดที่จะออกกำลังกายต่อหน้าคนอื่นหลังเกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การคลอดบุตร หรือหลังการระบาดของ Covid-19 

ดังนั้นทาง Stitch Fix จึงร่วมมือกับ วีนัส วิลเลียมส์ ผุดแคมเปญ “Goodbye Gymtimidation” นำเสนอชุดออกกำลังกายไซซ์ XXS-3X กว่า 30 แบรนด์ ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเหล่าผู้หญิงให้กล้าออกกำลังกายแบบเผชิญหน้ากับผู้อื่น หรือออกกำลังกายส่วนตัวในบ้าน ทั้งนี้แพลตฟอร์มยังคอยอัปเดตของมูลของแบรนด์ EleVen ซึ่งเป็นแบรนด์ชุดออกกำลังกายของวีนัสอีกด้วย

คลายปมกลัวยิมที่เริ่มจาก “ความชัดเจน”

คุณสามารถเอาชนะอาการกลัวยิม และสนุกกับการออกกำลังกายได้มากขึ้น แต่สิ่งแรกต้องระบุให้ได้ก่อนว่าคุณกลัวอะไร? ดร. เอริน นิตช์เก แนะนำให้พิจารณาคำถามง่ายๆ 3 ข้อได้แก่ ฉันอธิบายการวิตกกังวัลเกี่ยวกับยิมอย่างไรบ้าง? ความกลัวหลักของฉันคืออะไร และอะไรช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้นรวมถึงช่วยให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของยิม

อย่างผู้เขียนเองเป็นคนที่ไม่ออกกำลังกายมา 30 ปี (ตั้งแต่เกิด) หากผู้เขียนอยากผอมจะเลือกวิธีอดอาหาร และกลายเป็นสาเหตุของร่างกายที่เสื่อมโทรม เหนื่อยง่าย และเป็น Skinny Fat (ผอมแต่มีไขมันสะสมเฉพาะจุด) รวมถึงผู้เขียนมีปัญหาสุขภาพอย่างภูมิแพ้อากาศอีกด้วย 

วันหนึ่งค้นพบว่าการเอาชนะปัญหาสุขภาพต่างๆ ข้างต้นนี้ได้ ต้องลุกขึ้นมาออกกำลังกายเท่านั้น จึงพยายามไปฟิตเนส ซึ่งพยายามเริ่มมากกว่า 10 ครั้ง แต่ค้นพบว่ามันช่างอึดอัดใจเหลือเกิน อึดอัดที่ไม่ใช่อาการขี้เกียจ (เพราะผู้เขียนบ้าพลังมาก) จึงล้มเลิกไป ภายหลังมารู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะ Gymtimidation ผู้เขียนเลยลองระบุปัญหาของตัวเองตามคำแนะนำของดร. เอริน นิตช์เก ดังนี้

ฉันอธิบายข้อวิตกกังวัลเกี่ยวกับยิมอย่างไร?

เครื่องเล่นโลหะที่มีกลไกมากมายทำให้รู้สึกไม่สบายใจ กลัวทำไม่ถูก กลัวลองผิดลองถูกทำให้คนในยิมคนอื่นเสียเวลา กลัวเป็นที่ขบขัน

ความกลัวหลักของฉันคืออะไร

ฉันไม่รู้วิธีการใช้ที่ถูกต้อง คนในยิมเยอะเกินไป

อะไรช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้นและช่วยให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของยิม

ฉันศึกษาวิธีเล่นเบื้องต้นจากหนังสือและคลิปวิดีโอในยูทูบมาก่อน ใช้บริการเทรนเนอร์ในบางครั้ง และเลือกยิมที่ผู้คนไม่พลุกพล่านจนน่าอึดอัด หากอาการกังวลในยิมเริ่มมากขึ้น ผู้เขียนจะสลับไปวิ่งที่สวนสาธารณะแทน

เอาชนะอาการกลัวยิม

มีคำแนะนำมากมายที่ช่วยให้คุณเอาชนะภาวะ Gymtimidation ได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกทำในสิ่งที่คุณชอบเฉพาะอย่าง หรือจะจับหัวข้อนั้นหัวข้อนี้มาผสมกันตามจริต ทั้งนี้คลิปใน Tiktok มีเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ช่วยบูสต์ความมั่นใจในการออกกำลังกายสำหรับกลุ่มคนขี้อายอยู่มาก บางทีคำแนะนำจากพวกเขาเหล่านี้อาจมีประโยชน์

รวมคลิปแนะนำสำหรับคนขี้อายที่เริ่มออกกำลังกายในยิม

เลือกชุดที่ดีที่สุดของคุณ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลุคออกกำลังกายก็มีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจ ผู้เขียนมีเสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น และรองเท้าแบรนด์โปรด พร้อมสนุกกับความคิดในหัวว่าวันนี้โททัลลุคจะออกมาแบบไหน หากสาวๆ เขินอายกับสปอร์ตบาร์หรือกางเกงรัดรูป คุณก็เลือกเป็นเสื้อทรงหลวมและกางเกงขาสั้นก็ย่อมได้

ขอคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่เมื่อใช้ครั้งแรก

เป็นเรื่องปกติที่ฟิตเนสจะพาคุณไปทัวร์รอบโซนต่างๆ ในครั้งแรก โดยคุณสามารถสอบถามเพิ่มเติมว่าเครื่องเล่น หรือคลาสต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ถ้าคุณรู้สึกอึดอัดที่จะถาม หรือถามไปแล้วแต่เก็บรายละเอียดได้ไม่ดีนักเนื่องจากเป็นมือใหม่ ผู้เขียนจึงมีโซลูชันที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน คือก่อนไปเล่นเวทเทรนนิงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผู้เขียนจะศึกษาจากหนังสือภาพง่ายๆ หรือดูวิธีจากยูทูบเบื้องต้นไปก่อน

คลิปแนะนำอุปกรณ์และวิธีปฏิบัติสำหรับผู้ที่เข้ายิมครั้งแรก

ไปกันเป็นแก๊ง

หากคุณรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งในคลาสออกกำลังกาย ลองหาเพื่อนสักหนึ่งถึงสองคนไปออกด้วย และผู้เขียนแนะนำว่าการซัปพอร์ตกันและกัน การได้เห็นรูปร่างทั้งเราและเพื่อนที่เฟิร์มกระชับขึ้น จะยิ่งเพิ่มแอตติจูดบวกให้กับการออกกำลังกาย และแนะนำว่าหากกลัวว่าแก๊งเพื่อนเราจะไปทำอะไรประดักประเดิด ก็ลองเริ่มจากเป็นนักเรียนหลังห้องดูสิ อยู่ข้างหลังไม่ค่อยเป็นจุดสนใจเท่าข้างหน้า

Playlist ที่ชอบ

เพื่อนฉันคนหนึ่งที่สามารถลดน้ำหนัก 10 กิโลจากคลาสปั่นจักรยานในยิมบอกเคล็ดลับว่า แม้ว่าเธอจะชอบฝั่งเพลงแนวเคป๊อปแค่ไหน แต่ในเพลย์ลิสต์ออกกำลังกายจะต้องผสมลูกทุ่งแดนซ์เสมอ เธอบอกว่ามันสนุกและเรียกเอเนอร์จีได้ดี และการฟังเพลงหรือดูคลิปที่ชอบสามารถทำให้การออกกำลังกายในยิมเป็นเรื่องน่าสนุกขึ้นได้

หรือจะหันมาออกกำลังกายแบบ Non-Gym

หากการไปยิมแล้วมันอึดอัดใจเกินไป ก็อย่าให้เหตุผลนี้มาทำให้คุณเลิกออกกำลังกาย ลองเลือกที่ถูกจริตมากขึ้นอย่างการออกกำลังกายเอาต์ดอร์ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจากที่เป็นคนเกลียดการออกกำลังกายมาก แต่ตอนนี้กลับชื่นชอบการวิ่งตอนเย็น (เพราะตอนเช้าตื่นไม่ไหว) การวิ่งในสวนสาธารณะที่สาสามารถมองเห็นแม่น้ำ เห็นพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า เห็นกระรอกวิ่งแทะลูกไม้และสุนัขเดินเล่นไปมา เหมือนชีวิตได้รีแลกซ์ โดยก่อนหน้าที่ร่างกายจะเริ่มฟิตและการวิ่งระยะทางไกลเป็นเรื่องไกลตัว ผู้เขียนเลือกเดินเร็วมาก่อน ขณะเดินไปก็ฟัง Podcast ช่องที่ชอบ ผู้เขียนเลยรู้สึกว่าได้ความรู้ ได้พักผ่อน และได้สุขภาพในระยะเวลาเดียวกัน 

อย่างที่บอกนอกจากการคาร์ดิโอ (วิ่ง) แล้ว ผู้เขียนจำเป็นต้องเวทเทรนนิงโดยเลือกใช้บริการยิมเล็กๆ บริเวณหมู่บ้าน แต่หลายครั้งผู้เขียนก็เลือกเวทเองที่บ้าน โดยซื้อดัมบ์เบลล์ปรับน้ำหนักได้ (ที่ตอนนี้มีขายตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วไป) และเลือกออกกำลังกายตามคลิปในยูทูบที่เหล่าโค้ชออนไลน์สอนอย่างละเอียด หรือหากไม่อยากซื้อดัมบ์เบลล์และบาร์เบลล์ คุณอาจจะเลือกออกกำลังกายแบบบอดี้เวทที่อาศัยแรงต้านจากร่างกายตามคลิปในยูทูบก็ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเช่นกัน

คลิปวิดีโอสอนออกกำลังกายโดยใช้ดัมบ์เบลล์
รวมคลิปแนะนำเทคนิคเล่นบอดี้เวทอยู่บ้าน

ถ้าพิจารณาปัจจัยในการดูแลรูปร่างให้มีกล้ามเนื้อสวยงาม…เป๊ะปัง ผู้เขียนคงยิ้มแบบเขินอาย แต่ถ้าถามถึงการเอาตัวเองออกมาจากภาวะ Gymtimidation ที่กลัวการออกกำลังกายในยิมยาวนานถึง 30 ปี ผู้เขียนว่าจุดนี้สอบผ่าน! ทุกวันนี้กลายเป็นคนรักการวิ่ง 5 วันต่อสัปดาห์ และเวทเทนนิงที่ฟิตเนสสลับกับที่บ้าน 3 วันต่อสัปดาห์จนติดเป็นนิสัย และเชื่อเถอะ! หากถามว่าพาร์ตไหนสนุกที่สุดในชีวิต การออกกำลังกายเป็นหนึ่งในคำตอบแรกๆ เลยล่ะ

Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม