หากเลื่อนฟีดในหน้าโซเชียล 1 ใน 10 ของ Vlogs หรือ Reels เป็นต้องมีคอนเทนต์รีวิวของอร่อยที่ร้านสะดวกซื้อเกาหลีมายั่วใจให้เราอยากวาร์ปไปกรุงโซลบัดเดี๋ยวนั้น เพราะแต่ละคลิปต่างพากันนำเสนอทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่ดูน่ากินไปซะหมด บ้างก็นำมายำรวมเป็นเมนูแปลกใหม่ บ้างก็ทำคอนเทนต์แบบ ASMR เพื่อยั่วต่อมรับรสให้ทำงานแบบเต็มสูบ ทั้งหมดนี้เองคืออิทธิพลของวัฒนธรรมเกาหลีที่นำเสนอผ่านทางร้านสะดวกซื้อ และกลายเป็นจุดขายในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องขอไปลอง (รีวิว) ดูสักครั้ง
เอาเข้าจริงๆ แม้คลิปรีวิวของกินร้านสะดวกซื้อเกาหลีจะมาจากยูทูเบอร์, บล็อกเกอร์ที่มีผู้ติดตาม หรือแม้แต่เราๆ ท่านๆ ที่ไม่ได้เป็นนักรีวิวแพลตฟอร์มไหน ร้อยทั้งร้อยแทบจะมีแพตเทิร์นเดียวกันเป๊ะ ดังนี้
เริ่มจากช็อตเปิดประตู, พนักงานทักทาย, เดินช้อปของกิน แน่นอนว่าเมนูไฟลต์บังคับมักเริ่มจาก แก้วใส่น้ำแข็ง, ซองน้ำผลไม้หรือกาแฟที่พร้อมให้ฉีกและเท จากนั้นตามด้วยรามยอนสำเร็จรูป, ชีส, ไส้กรอก, ปูอัด, ข้าวปั้น ตามด้วยเบเกอรี หรือขนมปิดท้าย
เมื่อได้ของกินที่ถูกใจก็จะปรี่ไปคิดเงินยังเคาน์เตอร์ แน่นอนว่าต้องมีช็อตเครื่องสแกนดังปิ๊บๆ จากนั้นตัดภาพมายังของกินที่วางกองระเกะระกะบนโต๊ะ เริ่มพิธีกรรมฉีกฝาพลาสติกที่หุ้มแก้วน้ำแข็ง เทน้ำผลไม้ นมหรือกาแฟให้เป็นเครื่องดื่มแบบมิกซ์เองสนุกๆ, เปิดถ้วยรามยอน ฉีกถุงเครื่องปรุง กดน้ำร้อน เอาเข้าไมโครเวฟ ตามด้วยท็อปปิงตามแต่จะครีเอต จากนั้นจึงเริ่มกินไปรีวิวไปเป็นอันจบ
ว่าแต่ทำไมความเรียบง่ายของพิธีกรรมการกินไปรีวิวไปในร้านสะดวกซื้อเกาหลีจึงกลายเป็นความป๊อบในหมู่นักท่องเที่ยวไปได้ จากบทความใน www.koreatimes.co.kr เผยว่า
หนึ่ง วัฒนธรรมเกาหลีจะเสิร์ฟความอร่อยของอาหารเกาหลีผ่านทางซีรีส์และภาพยนตร์ นับเป็นการโปรโมตวัฒนธรรมอย่างชาญฉลาด
สอง การเติบโตแบบก้าวกระโดดของร้านสะดวกซื้อในเกาหลี ที่มีสินค้าราคาจับต้องได้ให้จับจ่ายตลอด 24 ชั่วโมง จึงโดนใจนักรีวิวทุกแพลตฟอร์มและนักท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
“มาเกาหลีทีไรต้องแวะซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อตลอดๆ เพราะจัดโปรโมชันบ่อย ราคาก็น่ารัก ฉันงี้อย่างชอบบบ” หนึ่งในเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีต่อร้านสะดวกซื้อเกาหลี
ส่วนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นอีกคนก็ไม่น้อยหน้า เธอมาโซลเป็นครั้งที่ 5 และพูดเลยว่าร้านสะดวกซื้อเกาหลีคือสถานที่สุดโปรด “ฉันโดนยูทูเบอร์ป้ายยาแบบรัวๆ ก็ทั้งของกินเอยของหวานเอย น่ากินไปหมดทุกอย่าง เมนูโปรดของฉันคือแซนด์วิชไข่-มายองเนส กับแยมสตรอว์เบอร์รีค่ะ”
จากผลสำรวจความป๊อบ พบว่า 3 เชนร้านสะดวกซื้อที่ครองใจนักท่องเที่ยวได้แก่ CU ร้านสะดวกซื้อที่มีจุดเด่นอย่างขนมหวาน, GS25 ร้านสะดวกซื้อที่ไม่ได้เปิดแค่ 24 ชั่วโมง แต่เพิ่มไปอีกหนึ่งเป็น 25 (หมายถึงเปิดตลอดไม่มีปิด) และ 7-Eleven โดยมีนมกล้วยยี่ห้อ Binggrae เป็นไอเท็มขายดีตลอดกาล
ทั้งนี้ พนักงานร้าน GS25 ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ได้น่าสนใจ “อันที่จริงร้านสะดวกซื้อเกาหลีเริ่มบูมตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดซะอีก ที่เจอบ่อยๆ สมัยก่อนคือนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวญี่ปุ่น ส่วนตอนนี้มีแทบจะทุกสัญชาติ ส่วนย่านที่คึกคักและมีนักท่องเที่ยววัยรุ่นเยอะเป็นพิเศษคือ อิแทวอนและฮงแด มากกว่าแถวเมียงดงและทงแดมุน”
ปัจจุบัน เชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีคือ CU ดำเนินการโดยบริษัท BGF Retail บริษัทบริการครบวงจรที่ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์, การผลิตอาหาร, และการบริการที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อ และจำนวนของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนร้านสะดวกซื้อในเชนดังกล่าวในครึ่งปีแรก คิดเป็นสัดส่วนก้าวกระโดดที่เพิ่มขึ้นถึง 66.4 เปอร์เซ็นต์
จองตั๋วไปทำคอนเทนต์ที่ร้านสะดวกซื้อเกาหลีให้ไวกันเถอะชาวเรา!
Words: Ayu Kulahathai
ข้อมูลจาก: www.koreatimes.co.kr