Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

‘นนทรีย์ นิมิบุตร’ กับผลงานใหม่ ‘มนต์รักนักพากย์’ ที่พาไปดูยุคทอง ก่อนจุดล่มสลายของหนังไทย

Interview / People

“ผมเคยเจอคุณมิตร ชัยบัญชา ตัวจริงด้วย” 

“ตัวจริงเขาเท่มาก…กกก สูงปรี๊ดเลย เกือบ 190 เขาเกิดมาเป็นดาราจริงๆ ยิ้มตลอดเวลา” 

“ยิ่งได้ดูหนังของเขา เรายิ่งรักเขามากขึ้นเรื่อยๆ ขวนขวายหาหนังสือ หาหนังเกี่ยวกับเขามาดู มาอ่าน” 

ใครเลยจะรู้ว่าคำพูดราวกับด้อมตัวแด๊ดจะหล่นจากปาก อุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับหนังสุดดราม่า หลอนสุดขั้ว อีโรติกติดตรึง ตั้งแต่ 2499 อันธพาลครองเมือง, นางนาก, จันดารา 

“เราเองก็ทำหนังไทย และคุณมิตรก็เป็นหนึ่งในไอดอลหนังไทยของเรา” 

คำสารภาพนี้คือจุดเริ่มต้นของ 138 นาทีใน ‘มนต์รักนักพากย์’ หนังที่หลอมความรัก รวมความฝัน ผนึกความเติมเต็มจิตวิญญาณของคนทำหนังที่อยากเห็นหนังไทยได้ดีที่สุดคนหนึ่ง 

LIPS: ทำไมเลือกจะเล่าเรื่องมิตร ชัยบัญชาในปีพ.ศ. 2513 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

นนทรีย์: เหตุการณ์ในเรื่องนี้เกิดขึ้นช่วง 2 เดือนก่อนที่คุณมิตร ชัยบัญชาจะเสียชีวิต เพราะนั่นคือยุคทองของหนังไทย เป็นจุดพีค หลังจากนั้นทุกอย่างเริ่มจะล่มสลาย ทั้งจากการคืบคลานมาของโทรทัศน์ และหนัง 35 มม. ที่ทำให้อุตสาหกรรมหนัง 16 มม.เริ่มล่มสลายไป ในหนังเล่าในช่วงที่คณะนักพากย์รับเรืองแขเข้ามาร่วมทีม และขอเวลาเดือนครึ่งในการเร่พากย์หนัง 

LIPS: อะไรคือจุดเชื่อมโยงมิตร ชัยบัญชากับอาชีพนักพากย์สด 

นนทรีย์: ผมได้มีโอกาสไปลำปาง ได้ไปพบคุณมานิตย์ ซึ่งเป็นนักพากย์ห้าเสียง เขามีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับหนังไทยเล็กๆที่นั่นที่เขาฉายหนังและพากย์ไปด้วย คุณมานิตย์เก็บของสะสมของคุณมิตรไว้มากมาย และเขาเป็นนักพากย์เร่ขายยาจริงๆ คุณมานิตย์มีตัวตนจริงนะครับ ผมไปเจอและสัมภาษณ์เขา เวลานี้เขาอายุประมาณ 65 ปี สรุปว่าผมไปคุยกับเขา 3 วัน (หัวเราะ) เขาเล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นทำงานกันอย่างไร คณะนักพากย์ต้องผจญกับอะไรบ้าง อุปสรรคมีอะไร เราก็ถามเขาทุกเรื่อง เรื่องทำงาน ผู้หญิง เหล้า เขาเป็นมานิตย์แบบหัวหน้ามานิตย์ในหนังเลย คือทำงานบริษัทขายยา และฉายหนังเร่ 

พอไปคุยกับแกเสร็จ แกก็นัดให้ไปเจอกับพี่เรืองแขในหนัง ซึ่งตัวจริงไม่ได้ชื่อเรืองแขนะครับ เป็นนักพากย์ผู้หญิงในยุคนั้น ฟังสองคนนี้เล่าก็ได้เป็นหนังเลย เขาเล่าทั้งเรื่องการเจอผี โดนปล้น ซึ่งสนุกมากนะ แต่ไม่มีใส่ในหนัง เวลาเขาฉายหนังเสร็จ เขาจะเก็บจอ คนดูยังเดินออกไปไม่หมดเลย เขาจะรีบเก็บรีบไป กลัวโดนปล้น เพราะจะมีคนไปดักปล้นตามทาง ส่วนเรื่องเจอผี พอเจอแล้วก็ไม่กล้าไปนอนที่ไหน เลยไปจอดรถนอนหน้าโรงพัก ไม่รู้ทำไมต้องไปนอนตรงนั้น อาจจะรู้สึกปลอดภัย

พอจบจากการสัมภาษณ์นักพากย์หนังสองท่านนี้แล้ว เราก็กลับมาถอดเรื่องราวว่ามีส่วนไหนน่าสนใจบ้าง เราจะเอาส่วนไหนไว้ ส่วนไหนที่ไม่เอา และเริ่มเขียนบท

LIPS: คณะนักพากย์จริงๆ มีกัน 4 คนแบบในหนังเลยไหม

นนทรีย์: ชีวิตจริงมีกัน 3 คน มีผู้หญิงหนึ่งคน คล้ายๆในหนังเลย เพียงแต่ในยุคนั้น เรืองแขเดินสายไปพากย์ให้หลายคณะ ไม่ได้ประจำอยู่คณะเดียว เป็นที่ต้องการตัว

LIPS: นึกถึงนักแสดงทีมนี้ได้อย่างไร เวียร์, หนูนา, เก้า จิรายุ, สามารถ พยัคฆ์อรุณ

นนทรีย์: มานิตย์เป็นเวียร์ก่อนเลย มันยากนะที่ต้องแสดงเกี่ยวกับการฉายหนัง พากย์หนัง ต้องมีความเป็นผู้นำ ต้องแอ็กติ้งเสียง คิดว่าถ้าได้เวียร์มาจะดีมาก 

คนที่สองคือลุงหมาน ผมบอกคนเขียนบทเลยว่าต้องเป็นสามารถ พยัคฆ์อรุณ เท่านั้น เรารู้สึกว่าด้วยสำเนียงการพูด ประสบการณ์ชีวิต ทุกๆอย่างในตัวลุงหมานคือพี่สามารถ แบ็กกราวนด์ตัวละครลุงหมานมีเขียนไว้ว่าเคยเป็นนักมวย ฉะนั้นบทนี้จึงเหมาะและตรงเป๊ะกับพี่สามารถ

ส่วนไอ้เก่าที่เก้าเล่น ชื่อเก่ามีที่มาที่ไป เป็นเรื่องของเพื่อนเราเอง บ้านเขามีลูก 11 คน ตอนลูกคนที่ 10 เกิด พ่อแม่ตั้งชื่อให้ว่าไอ้ใหม่ แล้วยังไงไม่รู้เกิดมีลูกหลงมาอีกคน เป็นคนที่ 11 ทีนี้ลูกคนที่ชื่อไอ้ใหม่ก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็นไอ้เก่า แล้วเอาชื่อไอ้ใหม่ไปตั้งให้ลูกคนที่ 11 แทน เรารักเพื่อนคนนี้มาก สงสารมัน โดนบูลลีตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ) เลยตั้งชื่อตัวละครนี้ว่าไอ้เก่า 

ไอ้เก่าเป็นวัยรุ่น อาจเรียนมาทางช่าง และมาสมัครเป็นช่างเทคนิคในคณะหนังเร่ เอาเป็นตัวกวนในหนัง เพราะเรื่องจริงที่พี่มานิตย์และเรืองแขเล่าไม่มีตัวละครนี้ แต่เราอยากเติมมาให้เป็นสีสัน เราไม่ได้ทำหนังมาเฉพาะผู้ใหญ่ เราอยากรู้เหมือนกันว่าวัยรุ่นคิดอย่างไร เขาอาจจะอยากเป็นตัวประกอบในหนังก็ได้ เขามาทำอาชีพฉายหนัง ได้ดูหนังทุกวัน 

ทีนี้ตัวเรืองแข เราก็นึกว่าใครนะที่จะมีเสียงที่ดีที่จะมาแสดงหนังพากย์สด มันไม่ง่าย เราเลือกนักแสดงจากเสียงที่พากย์คู่กับมานิตย์ได้ด้วย ก็ต้องเป็นหนูนา ไม่อยากแคสติ้งหลายคน เราอยากเลือกคนที่ครบเครื่อง มีเสียงที่ดี มีทักษะการแสดงที่ดี ชื่อหนูนาเลยกระเด้งดึ๋งขึ้นมาเลย ผมต้องปั้นเวียร์ให้เป็นมานิตย์ก็น่าจะยาก นึกไม่ออกเลยว่าต้องฝึกให้เขาพากย์อย่างไร ก็เลยทำเอง คืออัดเสียงพากย์หนังแล้วส่งให้เวียร์ดู ทีนี้บทเรืองแข เราอยากได้ความสบายใจในการทำงานก็เลยเลือกหนูนา ส่วนเก้าผมไม่ค่อยห่วง เขาแรดพอที่จะจัดการตัวละครได้ ต้องไปเห็นในกองถ่าย เขาแรดจริงๆ (หัวเราะ)

LIPS: ตัวละครที่พูดเรื่องความฝันในหนังคือ ไอ้เก่ากับเรืองแข

นนทรีย์:  ลุงหมานไม่พูดถึงความฝัน แต่ไม่ใช่ว่าแกไม่มี แกซื้อลอตเตอรีทุกงวดนะ (หัวเราะ) เขามีความฝันว่าอยากถูกรางวัล และเอาเงินไปส่งลูกสาวเรียนสูงๆ 

ส่วนแบ็กกราวนด์ของเรืองแขคือ เขาติดละครวิทยุ ชอบฟังมาก มีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของเจ้าของบริษัทหนุ่มที่เป็นหม่อม นางเอกเป็นเลขาฯ ท่านแม่กีดกันไม่ให้รักกัน แต่สุดท้ายหม่อมเจ้าก็มาเลือกเลขาฯ อยู่ดี เป็นเรื่องรักระหว่างชนชั้น ละครวิทยุสมัยก่อนจะเป็นเรื่องราวทำนองนี้เยอะ เรืองแขเลยมีความฝันว่าอยากเป็นเลขาฯ จะได้พบรักกับเจ้านายหม่อม ได้ไปอยู่เมืองหลวง 

ความฝันของเรืองแขเป็นความฝันของคนต่างจังหวัดที่ไม่ได้มีเรื่องราวอื่นๆในชีวิตมากมาย เราเสพสื่ออะไร เราก็คิดฝันไปในทำนองนั้น ตอนเด็กๆ ผมเองก็เป็น ฉะนั้นเรืองแขอยู่ดีๆ ก็มุ่งมั่นอยากเป็นเลขาฯ อยากไปเรียนพิมพ์ดีด แต่พอเราทำหนัง ประเด็นตรงนี้หลุดไปจากหนังเพราะเวลาไม่พอ รายละเอียดปูมหลังตัวละครมีอีกเยอะมาก พอดึงมาใส่เป็นหนัง เราดึงมาได้ไม่หมดหรอก       

LIPS: เสียงของนักพากย์สำคัญมากสำหรับหนังไทยสมัยก่อน เพราะเขาคือเสียงของตัวละคร 

นนทรีย์: ผมเชื่อว่านักแสดงอาจจะเคยดูหนังตัวเองที่มีคนอื่นพากย์เสียง เช่น รุจิรา มารศรี ที่เป็นนักพากย์ชื่อดังในยุคนั้น คนดูยุคนั้น นอกจากเลือกดูหนังจากพระเอก-นางเอกแล้วยังเลือกจากนักพากย์ด้วย หนังเรื่องนี้ถ้ามีนักพากย์ดังๆ คนจะดูเลย โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังต่างประเทศ หนังอินเดีย หนังฮ่องกง หนังโจวซิงฉือกี่เรื่องๆ คนก็ไปดู เพราะชอบนักพากย์ เหมือนเราที่ต้องดูนักพากย์ทีมพันธมิตร

LIPS: ในหนังพูดถึง disruption หลายๆอย่าง นักพากย์สดโดน disrupt โดยหนังพากย์เสียงในฟิล์ม หนังกลางแปลงโดน disrupt โดยทีวี หรือหัวหน้ามานิตย์ที่โดน disrupt ด้วยทีมคณะพากย์ที่มีนวัตกรรมบวกความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และมานิตย์ก็พยายามใช้วิธีการนั้นมา disrupt การทำงานเก่าๆในองค์กรของตัวเองด้วย แต่ก็โดนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในองค์กรขัดขวางการเปลี่ยนแปลง 

นนทรีย์: ประเด็นนี้คือความตั้งใจที่อยากใส่ในหนัง เพื่อจะบอกว่า disruption มีมาตลอดทุกยุคสมัย โลกเราไม่ได้ไปไหนไกล ตัวละครอาจจะเปลี่ยน แต่เนื้อหาไม่ได้ต่าง เรารู้สึกมากกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เกิดเรื่องราวแบบนี้เยอะมากมาตลอด 

จริงๆแล้วเป้าหมายของรถขายยาคือ การโฆษณาบริษัท หนึ่ง อยากให้คนจดจำชื่อบริษัท สอง อยากให้คนเอายาไปทดลองใช้ ในยุคหลังแทบไม่ได้ขายยากันนะครับ ให้เป็นส่วนใหญ่ หรือซื้อ 1 แถม 1 เพื่อให้คนเอายาไปใช้ก่อนจะได้ติดใจ พยายามแจกจ่ายยาไปให้ถึงมือคนมากที่สุด

พอเปลี่ยนยุคจากหนังขายยามาเป็นโทรทัศน์ แน่นอนว่าความสำคัญของรถขายยาก็ลดลงไป ขณะที่โทรทัศน์เริ่มแผ่ขยายมากขึ้น แต่ก่อนแต่ละหมู่บ้านมีโทรทัศน์เครื่องเดียวที่ร้านชำหรือร้านกาแฟ คนทั้งหมู่บ้านก็แห่ไปรวมตัวกันที่นั่น กลายเป็นศูนย์กลางชุมชน แต่เมื่อคนเริ่มหาซื้อโทรทัศน์ไปไว้ตามบ้านได้ คนก็นั่งดูบ้านใครบ้านมัน ความเป็นชุมชนที่มารวมตัวกันก็ลดลง 

LIPS: เทคโนโลยีเป็นตัวแยกมนุษย์ให้อยู่กันอย่างปัจเจกมากขึ้น

นนทรีย์: ใช่ จากหนังพากย์สดมาเป็นพากย์ในฟิล์ม จากหนังโรงมาเป็นสตรีมมิง 

LIPS: disruption เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อเรามาโดยตลอด

นนทรีย์: ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราจะรับมืออย่างไร แล้วยังไงต่อ เราควรมองไปในอนาคตอย่างไร เช่น ตอนนี้เอไอกำลังมา นักแสดงเอไอ นักเขียนบทเอไอเกิดขึ้นแล้ว แล้วคนที่ทำอาชีพนี้จะไปยังไงต่อ อีกหน่อยเอไออาจเป็นผู้กำกับได้…หรือเปล่า เรามอง คิด และตัดสินใจว่าแล้วเราจะไปอยู่ตรงไหนต่อไป 

ผมชอบซีนหนึ่งในหนังมาก ซีนหลังจากไปงานศพของมิตร แล้วรถของคณะนักพากย์มาจอดหน้าบริษัทยา ลุงหมานถามว่าจะเอายังไงกันดี บริษัทก็อยู่ตรงหน้า จะเลิกอาชีพนักพากย์ไหม ถ้าเลิกก็จบตรงนี้ ผมชอบซีนนี้มาก มันคือการตัดสินใจของทุกคนที่ลึกๆแล้วไม่อยากจะเลิกทำอาชีพนักพากย์หรอก ทุกคนก็สุดแล้วแต่ หัวหน้าว่าไงก็เอาตามนั้น หัวหน้ามานิตย์ก็บอกว่า จะรออะไร ก็กลับไปทำสิ่งที่เรารักสิ 

LIPS: หลังจากผ่านบททดสอบกันมามากมาย ว่าคุณรักสิ่งที่ทำอยู่จริงหรือเปล่า แต่ก่อนทุกคนอาจรู้สึกเบาบางว่ารัก แต่พอผ่านอุปสรรคด้วยกันมา เหมือนความรู้สึกกระจ่างในใจว่าจริงๆแล้วเรารักสิ่งนี้มาก และพร้อมจะต่อสู้เพื่อสิ่งที่เรารัก

นนทรีย์: ใช่ ผมชอบที่ซีนนี้ มันนิ่งมาก มีความเงียบในหลายระดับ ซึ่งมันเป็นอารมณ์ที่ลุ่มลึก ผมชอบความเงียบแบบนี้ กล้องโคลสอัปหน้าตัวละครแต่ละตัว เห็นสีหน้าของทุกคนที่กำลังเงียบเพื่อตัดสินใจ ถ้าเป็นเราจะรู้สึกอย่างไร เอาน่ะ ถ้าจะเลิกก็เลิกกันตรงนี้ ไม่ไปต่อละ แล้วจะยังไงต่อ มันมีอะไรเต็มหัวไปหมด ผมชอบในบทที่ไอ้เก่าบอกว่า จะรออะไร ก็กลับสิ 

LIPS: สถานที่ถ่ายทำไปหลายจังหวัดเลยใช่ไหม ไปตามจังหวัดจริงในหนังหรือเปล่า เพชรบูรณ์ นครสวรรค์

นนทรีย์: หลักๆอยู่ที่ภาคกลาง ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา มีบางซีนที่ต้องเป็นจังหวัดตาก เราจะไปถ่ายทำกันที่ราชบุรีตรงชายแดน 

LIPS: เลยกรุงเทพฯไปไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ความศิวิไลซ์หายไปไหนหมด

นนทรีย์: เราไปเจอลำธาร มีหมู่บ้าน แต่เราไม่ได้อยากหมู่บ้านแม้ว อยากได้หมู่บ้านม้ง ก็จะมีรายละเอียดเรื่องใต้ถุนสูงหรือเตี้ย

LIPS: จะบอกว่าทีมโปรดักชันดีไซน์เก็บรายละเอียดเก่งมากไปยันกระป๋องนมที่หมดแล้วจะเอามาทำเป็นแก้วกาแฟ

นนทรีย์: ทีมงานบอกเราว่า ถ้าพี่จะถ่ายเลยมันไม่ได้นะ แม้วกับม้งมีรายละเอียดต่างกัน จะหายืมเอาแถวนั้นก็ไม่ได้ ต้องหาใหม่หมด สิ่งที่เราตั้งใจตั้งแต่ต้นคือจะทำให้บรรยากาศปี พ.ศ. 2513 กลับมาให้ได้ ทุกอย่างต้องถูกต้องที่สุด เกวียน วัวควายอะไรต่างๆ ต้องเลือกสรร วัวที่มีอยู่ทั่วไปในยุคนี้ก็ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นวัวบราห์มัน เราต้องไปหาวัวพันธุ์โบราณ เราต้องไปหาวัวมาจากจังหวัดอื่น ต้องหาคนที่ขี่เกวียนเป็น 

LIPS: เรื่องหน้าลองทำหนังคนคุยในห้องบ้างไหม จะได้ไม่เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

นนทรีย์: (หัวเราะ) เราชอบสร้างโลกขึ้นมา เราเชื่อว่านักแสดงก็รู้สึกได้ว่าทุกคนไม่ได้ทำเพื่อผู้กำกับ ทุกคนมาทำหนังร่วมกัน แม้แต่เด็กเสิร์ฟน้ำ เราก็บอกว่า คุณไม่ได้แค่เสิร์ฟน้ำนะ คุณกำลังทำหนังร่วมกับเรา

LIPS: คุณเป็นจอห์น เอฟ เคนเนดีมากเลย ตอนไปนาซ่าแล้วพูดกับภารโรงว่า คุณไม่ได้กำลังกวาดพื้น แต่คุณกำลังส่งมนุษยชาติไปดวงจันทร์ 

นนทรีย์: เพราะทุกคนเป็นองค์ประกอบของภาพยนตร์ อย่าพูดว่าทำหนังพี่อุ๋ย ทุกคนมาดูหนังและพูดได้ว่า “ฉันทำหนังเรื่องนี้” กล้าพูดแบบนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเฟืองเล็กหรือใหญ่ เราขับเคลื่อนหนังด้วยกันทั้งนั้น

4 เหตุผลที่อยากให้ดู ‘มนต์รักนักพากย์’ Netflix

LIPS: เรื่องความรักและความฝันเป็นแกนสำคัญของหนัง ทำไมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องบอกเล่าในช่วงเวลานี้

นนทรีย์: ถ้าเราทำอะไรด้วยความรัก ยังไงก็เวิร์ก แม้บางอย่างจะไม่ได้ตอบแทนเรามาด้วยเงินทองมากมาย การทำด้วยความรัก ตัวเราเองจะมีความสุข บางอย่างก็ตีเป็นตัวเลขไม่ได้ ทุกวันนี้เราก็ยังเป็น ตื่นมาก็คิดพล็อตหนัง คิดว่าจะเล่าเรื่องต่อไปยังไง คิดไปจนนอน ตื่นมาก็คิดต่อ ระหว่างที่เราคิดสิ่งเหล่านี้ เราไม่ได้เงินหรอก แต่ถึงเวลามันจะตอบแทนเราเอง

LIPS: ทำยังไงถึงอยู่ในวงการหนังได้เป็นสิบๆปี และได้ทำหนังไทยต่อเนื่อง

นนทรีย์: ไม่รู้สิ…อาจจะเพราะเราตั้งใจทำงานมาตลอด ส่งผลให้เรามีงานนี่นั่นไม่ได้หยุด ถ้าไม่ได้ทำงานตัวเองก็ไปโปรดิวซ์ให้คนอื่น ไม่ก็ทำหนังสั้น ทำโฆษณา มีอะไรให้ทำตลอด เราสวมหมวกหลายใบ ต่างจากสมัยก่อนตรงที่ตอนนี้เราทำด้วยความอยากทำ ไม่ได้อยากได้อะไรอื่นอีกแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนที่ต้องขวยขวายทำอะไรที่ไม่ได้อยากทำเพื่อมาซัพพอร์ตตัวเองหรือใครต่อใคร หรือเพื่อจะไปซื้อนาฬิกา หรือซื้อของใหม่ๆ มันหมดแพสชันเหล่านั้นไปแล้ว 

LIPS: จริงๆแล้วไม่ต้องทำหนังแล้วก็ได้

นนทรีย์: ไม่ได้สิ นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด เราต้องทำหนัง มันคือสิ่งที่มาเติมเต็มจิตวิญญาณ เราเคยตั้งใจว่าจะหยุด 5 วัน จะไม่ทำอะไรเลย ไปนั่งสมาธิที่ห้ามพูดอะไรเลย ห้ามใช้โทรศัพท์ ผ่านไป 2 วันเท่านั้นละ หนีกลับมาเลย ยิ่งไปอยู่แบบนั้นยิ่งมีเรื่องเต็มหัว มันว่างไง โลกที่ไม่มีเสียงอะไรเลย เราก็สามารถเอามาเขียนพลอตหนังได้ละ เห็นอะไรก็คิดเป็นหนังไปหมด จนกลายเป็นธรรมชาติของเราไปแล้ว อย่างตอนโควิด เราเขียนบทหนังได้ 7-8 เรื่อง พอเน็ตฟลิกซ์เปิดให้เสนอโปรเจกต์ เรามีหนังในมือเต็มเลย จะเอาหนังแบบไหน เรามีให้พร้อม เรื่องนี้ไม่ผ่านใช่ไหม ไม่เป็นไร เรามีอีกเยอะ 

LIPS: จะไม่ออกไปจากห้องจนกว่าผู้บริหารจะพยักหน้า

นนทรีย์: (หัวเราะ) โชคดีที่เสนอเรื่องแรกก็ผ่านแล้ว 

LIPS: ก็เลยเชื่อมั่นในการทำด้วยความรักและมีความฝัน

นนทรีย์: ใช่ กล้าที่จะรักและมีความฝันที่จะทำ ผมมีความฝันอยู่อย่างหนึ่งคือ อยากทำหนังไปจนวันสุดท้าย พูดง่ายๆว่าอยากตายในกองถ่าย 

‘มนต์รักนักพากย์’ ฉายแล้ววันนี้ทาง Netflix

Words: Suphakdipa Poolsap
Photo: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม