Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

LonelyPop: Lonely Together นิทรรศการที่พาไปเหงาด้วยกัน ในวันที่ NFT (ยังคง)เชื่อมโยงผู้คน

Art & Design / Culture

โปรเจกต์ศิลปะ NFT ที่ยังเหลืออยู่ เป็นงานศิลปะที่ก้าวข้ามเปลือกของการเก็งกำไรและใช้คุณสมบัติที่แท้จริงของเทคโนโลยี NFT ในการเชื่อมโยงระหว่างศิลปินกับผู้เสพงาน และ LonelyPop : Lonely Together ของ น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี คือหนึ่งในนั้น

Aya

ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงศิลปะกับ NFT หลายคนมักจะนึกถึงการซื้อขายเพื่อครอบครองงานศิลปะผ่านบล็อกเชน บางคนอาจเคยตาลุกวาวกับลู่ทางเก็งกำไรจากหลายโปรเจกต์ NFT จนถึงวันที่ต้องเปลี่ยนเป็นตาละห้อยติดดอยจากการล้มหายตายจากของโปรเจกต์เหล่านั้น ท่ามกลางซากดอยสูงที่ทำให้หลายคนมองผ่าน NFT ไปสู่วังวนของการเก็งกำไรในรูปแบบอื่นๆ 

น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี เป็นอดีตนักวาดการ์ตูนขายหัวเราะ ที่ก้าวมาเป็นศิลปินเจ้าของงานนิทรรศการเดี่ยว  LonelyPop : Lonely Together  ประกอบด้วยงานหลากหลายรูปแบบทั้งกายภาพและดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นศิลปะในรูปแบบ Profile Picture (PFP) และ Digital Painting ที่พัฒนาโปรเจกต์ร่วมกับ 0xStudio สตูดิโอบล็อกเชนระดับโลก เพื่อให้สามารถครอบครองได้ในรูปแบบ NFT  งานภาพวาดบนเฟรมผ้าใบ รวมถึงงานฟิกเกอร์แบบป๊อปอาร์ตขนาดต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นในนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ

คำว่า LonelyPop ในที่นี้ เกิดจากการรวมกันของคำว่า Lonely และ Population ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเหงาของผู้คนด้วยโปรเจกต์ NFT Profile Picture (PFP) 10,000 ชิ้นไม่ซ้ำกัน แทนผู้คนในคอมมูนิตีที่มีหลากหลาย แต่ก็มาเหงาร่วมกันทั้งในโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก #lonelytogether และในโลกความเป็นจริง “ในนิทรรศการนี้อยากให้คนที่ถืองานได้มาเจอกันในโลกที่จับต้องได้ เดินมาดู มาพบปะพบเจอกันได้ ลุกออกจากบ้านที่เคยนั่งเหงาอยู่หน้าคอมพ์คนเดียวมาเจอกัน มาเหงาร่วมกันได้ที่นี่”  

จุดเด่นของการจัดงานนิทรรศการในโลกจริงสำหรับศิลปินในโลกดิจิทัลแล้ว คงหนีไม่พ้นตัวงานศิลปะในรูปแบบของภาพวาดบนผืนผ้าใบและฟิกเกอร์ซึ่งเป็นงานกายภาพจับต้องได้ ซึ่งน้อยหน่าได้นำคาแรกเตอร์น้อง Aya และแมวน้อย Coco มาสร้างสรรค์ให้อยู่ในโลกความเป็นจริง 

“ตัวภาพแคนวาสเป็นรูป  Aya ที่เราพยายามทำให้ซับซ้อนน้อยลง เวลาวาดเป็นดิจิมทัลจะมีการตัดเส้นแบบการ์ตูน เราอยากให้งานมันออกมารูปแบบของภาพเขียนที่ลดทอนความเป็นการ์ตูนลง แต่ก็ยังคงคาแรกเตอร์เดิมไว้อยู่”

ชื่อ AYA อาจจะดูเป็นญี่ปุ่น แต่จริงๆชื่อนี้เป็นภาษาอีสาน  “ที่มาของชื่อมาจากน้องในทีมคนหนึ่ง เขาใช้ชื่อแทนตัวเองว่า UYU AYA อ่านว่า อูยุ ไอ่ยะ เป็นภาษาอีสานมีความหมายกล้อมแกล้มว่า เยอะแยะยุ่งเหยิง เรารู้สึกว่าคำนี้เจ๋งดี มันเป็นภาษาอีสานแต่พอเราเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า AYA มันก็ดูเป็นสากล ก็เลยหยิบชื่อนี้มาใช้”   

“งานอาร์ตเวิร์กคาแรกเตอร์มาจากตอนที่เล่นทวิตเตอร์ ทุกเช้าจะมีการทักทายโดยใช้ตัวย่อ GM ที่ย่อมาจาก Good Morning ช่วงนั้นเราอยากทำกิจกรรมทักทายด้วยรูปภาพตอนเช้าทุกวัน ก็เลยวาดรูปที่ใส่คำว่า GM หลายๆตัวซึ่งมี Aya อยู่ในนั้นด้วย หลังจากนั้นคนก็เริ่มมาไลก์และแชร์เยอะมาก โดยเฉพาะรูปของ Aya ก็เลยหยิบคาแรกเตอร์นี้มาเป็นตัวหลักที่ใช้ในโปรเจกต์ ส่วน Coco (อ่านว่าโกโก้) เป็นแมวที่วาดมาตั้งแต่อยู่ขายหัวเราะ เรามองว่า Aya น่าจะมีเพื่อนมาช่วยคลายเหงา ก็เลยคิดถึงสัตว์เลี้ยง ก็เลยเอา Coco มาใช้” 

Set 365  Digital Painting by  น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี

น้อยหน่าใช้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่หลักในการนำเสนอผลงาน ก่อนที่จะค่อยๆเกิดเป็นชุมชนของกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบผลงานของเขา และความต้องการสนับสนุนศิลปินผ่านรูปแบบของ NFT ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นคุณูประการเหนือความต้องการเก็งกำไรใดๆ น้อยหน่าเล่าถึงความรู้สึกเชื่อมโยงนี้เมื่อตอนทำงานภาพวาดดิจิทัลที่เขาเรียกว่า ชุด 365 ไว้ว่า

“งานชุดนี้เป็นงานที่เป็นเหมือนไดอารีที่เราเขียนประจำวัน คนอื่นๆอาจเปิดสมุดขึ้นมาเขียนเป็นบันทึกตัวหนังสือ แต่ของเราบันทึกด้วยรูปภาพ พร้อมตัวอักษรที่มีตัวภาษาอังกฤษและภาษาไทยปนกัน มีตัวหนังสือยึกยือเต็มไปหมดเลย เวลาเราเขียน เราคิด เรารู้สึก ความคิดไปไวกว่ามือที่เราเขียน ทำให้บางทีต่อให้ตอนเราเขียนเรารู้ว่าเขียนอะไร แต่พอเสร็จแล้วกลับมาอ่านอีกทีก็อ่านไม่รู้เรื่องแล้ว แต่เวลาเรามองภาพ เราก็จะจดจำได้ว่าในขณะที่เราเขียนภาพนี้ ตอนนั้นเรารู้สึกอะไร   เป็นการบันทึกด้วย และได้ระบายความรู้สึกของตัวเองด้วย

 “พอเราเอาลงในทวิตเตอร์ทุกวัน บางงานก็มีคนทักมาถามว่าทำเป็น NFT ไหม เขาอยากได้ หรือบางงานเราก็ให้คนที่เคยถืองานเรามาเคลมฟรี โดยไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรไปก็มี บางงานก็ทำเป็นหลายๆอิดิชัน อยากให้คนได้ถือเยอะๆ ในราคาไม่แพง เราเลือกทั้งชิ้นที่เราชอบด้วย และเลือกชิ้นที่มีคนอื่นชอบด้วย มีบางชิ้นที่ตอนแรกคิดว่าไม่ทำ แต่มีคนอยากได้เราก็โอเคที่จะทำ มันเป็นความสนุกอย่างหนึ่ง เราได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่เห็นงานของเรา ชอบความรู้สึกตอนที่คนดูงานแล้วมานั่งแกะว่า เราเขียนอะไร มาตีความภาพนี้ว่ามีความหมายว่าอย่างนี้ มีตัวหนังสือนี้ มันหมายความว่าอะไร ก็สนุกไปอีกแบบ

“จริงๆเวลาเราทำงานออกมาแล้ว เวลามีคนมาดูงาน มาตีความงาน  บางครั้งเราก็คาดไม่ถึงว่า เขามองในมุมนี้ เราก็รู้สึกเจ๋งที่เขามองงานเราในแง่มมุมที่เราเองก็ไม่ได้คิดถึงมาก่อน เขามองงานเราอย่างละเอียด บางตัวหนังสือ บางคำ เขาอาจจะมองผิด อ่านผิด มองเพี้ยนไป แต่พอเอามารวมกับสิ่งที่เขาเข้าใจแล้ว มันกลายเป็นความหมายใหม่ก็ได้ “

‘Yesterday’ ภาพวาดดิจิทัลฝีมือ น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี

ชุมชนและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับผู้เสพงานที่เกิดขึ้นออนไลน์นี้ พร้อมจะขยายตัวมาสู่โลกความเป็นจริงด้วย “มีน้องคนหนึ่งมาดูงาน และเดินมาบอกเราว่าเขาชอบรูปที่ชื่อ Yesterday เป็นรูปเด็กผู้หญิงเกยคางบนหลังมือ แล้วก็มีกระดาษเขียนอะไรที่ไม่รู้เรื่องอยู่  เขาบอกว่า เขาเหมือนได้เห็นตัวเองที่เป็นโรคซึมเศร้า เขาดูงานแล้วรู้สึกดีมีกำลังใจ เขาไม่ได้อธิบายว่าเขาตีความอย่างไรกับภาพ แต่เขาทำให้เรารู้ว่า งานที่เราเขียนระบาย มันช่วยอะไรบางอย่าง ช่วยคนที่อยู่ในภาวะบางอย่างรู้สึกดีขึ้นมาได้ ตัวรูปมันไม่ได้ดูแล้วรู้สึกดิ่งหรือแย่ลงไป แต่ทำให้รู้สึกเชื่อมโยง มีเพื่อน มีคนที่แย่กว่าเรา ภาพชุดนี้มีหลายคนเข้ามายืนดูอย่างตั้งใจเป็นเวลานานๆเยอะเลย ดูเสร็จเขาจะเข้ามาคุยด้วยว่ารู้สึกกับภาพนี้ มันเหมือนเขามองเห็นตัวเอง เราชอบที่มันทำงานกับคน เวลาคนมาเห็นแล้วก็รู้สึกกับงาน”

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างงานดิจิทัลกับกายภาพไม่ใช่มุมของการสื่อสารกับผู้เสพงาน แต่เป็นธรรมชาติของการสร้างงาน “งานดิจิทัลเป็นอะไรที่ฉับพลัน เป็นงานที่มาจากความรู้สึกที่เราอยากระบายในตอนนั้น เหมือนเขียนบันทึก มันทำได้ทุกวัน ก่อนนอนก็ได้ เป็นงานที่เราหยิบจับได้ทันที หยิบไอแพดขึ้นมาเขียนๆได้เลย ไม่ต้องไปหาผ้าใบ หาสี งานดิจิทัลแก้ไขได้ง่ายกว่า สามารถย้อนกลับลบย้ายสิ่งนี้ไปตรงนั้นตรงนี้ 

“แต่งานกายภาพจะไปแก้วิธีแบบนั้นไม่ได้ ถ้าองค์ประกอบไม่ได้ มันไม่สามารถไปลากไปเลื่อนได้ วิธีการแก้ไขก็เลยต้องกลายเป็นว่า เพิ่มวัตถุ เพิ่มสี เพิ่มอะไรเข้าไปให้มันได้องค์ประกอบ การแก้ไขก็จะต่างกัน งานที่เขียนบนเฟรมเราจะใช้สีน้ำมันแท่ง ซึ่งมีเท็กซ์เจอร์ของสี มันล้อกันไปกับอารมณ์ที่เราอยากจะสื่อด้วย คืออารมณ์ที่อยากจะขีดฆ่า กระแทกกระทั้น”

ไม่ว่าจะเป็นงานดิจิทัลหรืองานบนเฟรมผ้าใบ สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ความคิดความรู้สึกในงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปิน ความรู้สึกนึกคิดที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน เหงาด้วยกันมาก่อนจะมีแกลเลอรีหรือ NFT

LonelyPop : Lonely Together Exhibition เปิดให้เข้าชมได้ถึง 30 พฤศจิกายน 2023 ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ชั้น 2 (BTS ปุณณวิถี) ทุกวัน เวลา 11.00 – 19.00 น.

Words: Roongtawan Kaweesilp 
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม