Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

AN ORCHARD IN A BOX เก็บตกศิลปะผสานแฟชั่นของ ‘ยูน- ปัณพัท เตชเมธากุล’ และ ‘VINN PATARARIN’

Art & Design / Culture

มนุษย์เรามักจะแบ่งแยกนิยามหลายๆสิ่งให้ออกเป็นสองในฐานะคู่ตรงข้ามกันเสมอ ความเป็นจริงและความฝัน ศาสนาและวิทยาศาสตร์ ฯลฯ แม้หลายครั้งสองสิ่งนั้นก็ไม่ได้ตัดขาดออกจากกัน มิได้เป็นคู่ตรงข้ามซึ่งกันและกัน AN ORCHARD IN A BOX คือนิทรรศการศิลปะที่ว่าด้วยการเชื่อมโยงผสานเข้าหากันของสองสิ่ง สู่คำถามเชิงปรัชญาว่าด้วยตัวตนและชีวิต 

ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล, ฝน-ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ และ แชมป์-วิณ โชคคติวัฒน์ 
 จากซ้าย: ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล, ฝน-ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ และ แชมป์-วิณ โชคคติวัฒน์ 

เรื่องเล่าเหนือจริงระคนกลิ่นอายของปกรนัมและนิทานภาพประกอบที่ปรากฏในนิทรรศการ เป็นผลงานลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของ ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล และองค์ประกอบของแบรนด์แฟชั่นที่โดดเด่นในการผสมผสานนวัตกรรมกับการออกแบบอย่าง VINN PATARARIN ของดูโอ แชมป์-วิณ โชคคติวัฒน์ และ ฝน-ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์

จุดกำเนิด – ปัจจุบัน

เรื่องราวที่เป็นทั้งพื้นหลังและแก่นของ  AN ORCHARD IN A BOX  ตั้งต้นตั้งแต่จุดกำเนิดของมนุษย์ตามความเชื่อของคริสตศาสนา เมื่อมนุษย์คู่แรก ‘อดัมกับอีฟ’ ถูกสร้างขึ้นในสวนเอเดน นำมาตีความใหม่โดยโฟกัสที่ตัวผลไม้ต้องห้ามที่อีฟกินเข้าไป ลูกหลานมนุษย์ที่กำเนิดจากอีฟ ก็เป็นดังผลผลิตของผลไม้ต้องห้ามที่พลัดพรากแพร่กระจายกันไปทั่วทุกหนแห่งหลังจากถูกขับไล่จากสวนเอเดน  

ยูน : ไอเดียมาจากการขนส่งผลไม้ในสมัยก่อน ในดินแดนบางแห่งผลไม้บางอย่างไม่เคยมีในดินแดนนั้นมาก่อน แต่เมล็ดพันธุ์ของมัน ก็ได้ไปเติบโตที่ต่างแดนออกไป เราทุกคนเป็นผลผลิตของตัวเมล็ดของผลไม้ที่อีฟกินเข้าไป ถ้าเกิดเรามายู่ที่อื่น มาอยู่บนโลกใบนี้ ตัวเราจะมีจิตสำนึกรู้ได้อย่างไรว่าเราคือเมล็ดพันธุ์ หรือเราเป็นก้อนหิน หรืออะไรตาม เพราะว่าเมล็ดพันธ์มันถูกหว่านกระจายออกไปทั่วทุกที่

ฝน : เราตีความว่าเมล็ดเหล่านี้มันกลายเป็นมนุษย์ ในแต่ละเมล็ดที่เกิดมา เขาแต่ละคนผ่านสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ผ่านประสบการณ์ที่ต่างกัน บางคนอาจเติบโตมาเป็นต้นไม้ บางคนเติบโตมาเป็นคน บางคนเติบโตมาเป็นสิ่งแวดล้อม สุดแท้ว่าแต่ละคนจะใช้วิธีการเลือกแบบไหน อยากเห็นตัวเองในรูปแบบไหนในอนาคต เป็นเรื่องจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องของการเลือก

เจตจำนงอิสระ – จิตไร้สำนึกรวมหมู่

จากจุดกำเนิดเดียวแผ่กระจายไปในดินแดนที่หลากหลาย เมื่อมนุษย์แปรเปลี่ยนเติบโตในสภาวะที่แตกต่าง จะส่งผลต่อการเลือกของเราอย่างไร ยูนพาเราไปหาคำตอบผ่านแนวคิดของ คาร์ล ยุง หนึ่งในปรมาจารย์จิตวิเคราะห์ ผู้เสนอสิ่งที่เรียกว่า Collective Unconscious หรือจิตไร้สำนึกรวมหมู่ ที่ว่าด้วยสำนึกร่วมของสังคมที่ชักนำการกระทำและการตัดสินใจของผู้คนอยู่หลังฉาก ผ่านระบบคุณค่า เรื่องเล่า วาทกรรม เสมือนเป็นจิตใต้สำนึกที่คนในสังคมหนึ่งๆมีร่วมกันโดยไม่รู้ตัว จนชวนให้สงสัยว่า Free Will เจตจำนงเสรีในการเลือกของมนุษย์นั้น มีอยู่จริงหรือไม่

ยูน : ยูนชอบอ่านงานของ คาร์ล ยุง  นักจิตวิเคราะห์ที่พูดถึง Collective Unconscious ซึ่งสามารถเห็นได้จากเรื่องเล่าของพื้นที่ที่เราอยู่ ครอบครัว ประเทศล้วนส่งผลต่อวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และประกอบสร้างความคิดความเชื่อของคนในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงการตัดสินใจในการเลือกสิ่งต่างๆในการดำเนินชีวิตโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วสุดท้ายเรามีอิสระในการเลือกไหม? เรามี Free Will หรือเปล่า? ซึ่งมีคนที่เสนอไอเดียที่น่าสนใจมากๆว่า Destiny คือ Freewill ของ Higher Self ของเรา เพราะฉะนั้นนี่แหละเป็นสิ่งที่เราเข้าไปทำความเข้าใจ

ความเป็นจริง – ความฝัน

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามว่า มนุษย์ถูกช่วงชิงอิสระในการเลือกไปหรือไม่? ก็คือกรอบความยึดติดที่แบ่งแยกความเป็นจริงกับความฝันออกจากกัน จนเราหลงลืมวิธีการสื่อสารกับตัวตนภายใน

ยูน : เราทุกคนมีความฝัน เรามักจะแยกความฝันและความจริงออกจากกัน เราไม่ได้ถูกสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่อยู่ในตัวเองโรงเรียนหรือแม้แต่ระบบที่อยู่รอบๆตัวเรา สอนให้เราเอาตัวรอดและมีความสุขกับสิ่งที่คนเซตมาเรียบร้อยแล้ว มีเป้าหมายกับสิ่งที่สังคมและวัฒนธรรมกำหนด คล้ายว่าเราเป็นพืชที่ไปโตในสวนสวนหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าเราต้องโตให้เหมือนผลไม้ที่อยู่ในสวนนั้น แต่เราอาจไม่ใช่พืชแบบนั้นก็ได้

นิทรรศการนี้จึงกลับมาพูดถึงสิ่งที่สำคัญที่เราลืมมันไป คือ การใช้จินตนาการที่จะสื่อสารกับตัวตนภายในของเราเอง  ตั้งคำถามว่าทำไมเรามักจะถูกสอนให้ยึดติดกับโลกของความเป็นจริงและเอาชีวิตรอดกับมัน จนลืมสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฝัน’ ของเราไป พอวันหนึ่งเราผิดหวังกับโลกแห่งความเป็นจริงที่เราตั้งความหวังไว้ ก็จะมีคนมาบอกว่า คุณไม่ต้องมีความฝัน จุดมุ่งหมาย หรือแพสชันก็ได้ ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่มันมีอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว เราไม่ต้องขอสิ่งนี้จากใคร เพียงแต่เราลืมภาษาที่เราจะเรียนรู้กับสิ่งที่มันอยู่ในตัวเราไป ทั้งที่มันฝึกฝนได้ เหมือนการฝึกฝนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย จินตนาการก็เป็นรูปแบบหนึ่งของภาษาเหมือนกัน เป็นภาษาที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นตัวเอง

จิตนาการ

มีคำกล่าวว่า เรื่องเล่าคือ ภาษาของจินตนาการ  AN ORCHARD IN A BOX จึงนำเสนอโดยมีแกนเป็นเรื่องเล่า ในแต่ละห้องเชื่อมโยงเรียงร้อยกันไปทั้งหมด 6 ห้องใหญ่

แชมป์ : ตัวนิทรรศการมีพาร์ตที่เป็นหนังสือให้อ่านด้วย โดยจะเชื่อมโยงกับการเล่าเรื่องของ 6 ห้องใหญ่ จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเมล็ด เมื่อถูกส่งผ่านไปสู่พื้นที่อื่นๆ มันผ่านอะไรมาบ้าง ต่อมาเป็นการเจริญเติบโตจากการที่เป็นเมล็ด มาเป็นต้นไม้ จากต้นไม้มาเป็นคนที่มีเส้นทางเลือกเดินที่ไม่เหมือนกัน ผ่านไปสู่การเป็นสิ่งแวดล้อมของโลก สู่ห้อง Rhythms ให้คนดูได้หยุดพักเข้าใจว่า แต่ละห้องที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ให้ความรู้สึกอะไรกับคุณบ้าง

ยูน : ห้อง Rhythms เราใช้เสียงจากคลื่นทะเล พูดถึงบรรกาศรอบตัวของสังคมในขณะนั้นๆที่สามารถเชปตัวตน กำหนดทิศทางของการตัดสินใจ ความเป็นไปของคนในสังคม เป็นเรื่องของ Collective Unconscious

แชมป์ : จนถึงห้องสุดท้าย Cause and Effect เป็น Live Art หยดสี มีความเป็น Performance Art ในทุกวันผู้เข้าชมที่เข้ามาก็จะประสบประสบการณ์ที่ต่างกันไป แทนความแตกต่างของแต่ละคน เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเท่านั้น เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นที่อาจจะมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นๆ 

 ยูน : เป็น Synchronicity ความบังเอิญที่มีความหมาย

แชมป์ : แต่ละห้องจะมีเนื้อเรื่องเดียวกับหนังสือ ที่จะบอกเล่า ว่าเราเติบโตมาอย่างไร เราเลือกเดินยังไง เราเป็นใครกันแน่ และตั้งคำถามอะไรกับชีวิตบ้าง

ยูน : ตัวงานจะเปิดโอกาศให้ทุกคนพูดถึงความเป็นตัวเอง ไม่ใช่แง่ที่ว่าเราอยู่ที่ไหนในตอนนี้ แต่ในแง่ที่เรามันเคยผ่านอะไรมาบ้าง บรรพบุรุษของเรา หรือการใช้ชีวิตของเราในตอนนี้ ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็กลับมาทบทวนใช้จินตนาการในทางของตัวเรา

ภาพแต่ละภาพในงานจะมีภูมิทัศน์ที่อยู่ระหว่างโลกแห่งความฝันและโลกแห่งความจริง โดยที่มีภาพลาย Flare เป็นเหมือนประตูที่ผ่านช่องนี้เข้าไป เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างทั้ง 2 โลก

ยูน : ลาย Flare ที่เป็นจุดเชื่อมโยง เราสามารถมองมันเป็นแวบหนึ่งของจินตนาการ แวบหนึ่งของสติ แวบหนึ่งของอารมณ์ แวบหนึ่งของกลิ่น ของเสียงเพลงที่นำไปสู่จินตนาการได้ เขาบอกว่า Vibration หรือความถี่ต่างๆที่เชื่อมโยงกับตัวเรา มันเกิดจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แล้วทำไมศิลปะ แฟชั่น เสียงเพลง สิ่งต่างๆ จึงจะไม่มีความสำคัญกับตัวเรา มันช่วยให้เราเข้าถึงในอีกมิติหนึ่งของตัวเราได้เหมือนกัน 

ลาย Flare ที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกความฝันกับความจริงในนิทรรศการนี้ เป็นซิกเนเจอร์ของ VINN PATARARIN ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประกายแสงสะท้อนที่ปรากฏบนพื้นผิวน้ำ อันเป็นเส้นแบ่งระหว่างปริภูมิสองสถานะ ประกายที่เหมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างอากาศเบื้องบนและน้ำเบี้องล่าง เป็นจุดเชื่อมระหว่างสองโลกที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงยูนในฐานะศิลปินกับ VINN PATARARIN ในฐานะแบรนด์แฟชั่น

ศิลปิน – แบรนด์แฟชั่น

แฟชั่นและนิทรรศการศิลปะดูเป็นศาสตร์ที่แตกต่างกันในวิธีการนำเสนอเท่านั้น หรือจริงๆเราแค่จำแนกมันเพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขาน เมื่อจับมานำเสนอสอดประสานกัน จึงสามารถทำได้อย่างลงตัว

แชมป์ : ในการทำงานร่วมกันครั้งนี้ เราคุยกันว่าจะเป็นการนำเส้นเรื่องจากจุดเริ่มต้นก็คือยูนในฐานะศิลปิน มาเจอกับเราในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ ยูนมีคาแรกเตอร์ประจำของเขา เหมือนพาคาแรกเตอร์นั้นมาท่องเที่ยวอยู่ในดินแดนของ VINN PATARARIN สิ่งเหล่านี้ถูกผนวกรวมกัน สร้างโลกจินตนาการขึ้นมา จับจุดเชื่อมมาผูกโยง แล้วตีความออกมาเป็นเทคนิควิชวล สเปซ เป็นขั้นเป็นตอน คลี่คลายออกมาตามเส้นเรื่อง

ฝน : VINN PATARARIN เข้ามารับหน้าที่ในการคลี่คลายซีนแต่ละซีนในนิทศรรศการ ว่าจะต้องกลายมาเป็นอะไรบ้าง โดยนำเอาสิ่งที่ถนัดอย่างเช่น ความเป็นเลเซอร์คัตมาใช้ มีความผสมผสานระหว่าง ลายเส้นดินสออ่อนช้อยของยูน กับ เส้นสายที่มันคมชัดที่มีความดิจิทัลของเรา

แชมป์ : ในปีนี้เราตั้งใจจะทำงานคอลแลบในหลายๆ คอมมูนิตีอยู่แล้ว และมองในเรื่องศิลปะไว้ ทางยูนก็อยากทำอะไรสนุกๆ ข้ามศาสตร์ ก็ประจวบเหมาะเจอกันพอดี แบรนด์เรามีจุดเด่นเรื่องการข้ามศาสตร์ Multidisciplinary อย่างเราก็เรียนสถาปัตย์ ในขณะที่ฝนเรียนแฟชั่น ฉะนั้น งานของเราจะมีการผสมผสานอยู่แล้ว เรามีความเชื่อว่า องค์ความรู้ใดความรู้หนึ่งไม่สามารถอยู่เดียวๆด้วยตัวมันเองได้ ควรมีข้ามกันผสมกัน ก็เลยต้องมีการเชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นอะไร แม้แต่ศาสนาและวิทยาศาสตร์

ศาสนา – วิทยาศาสตร์

แชมป์ : ทั้งหมดมาจากจุดกำเนิดเดียวกันซึ่งก็คือธรรมชาติ หรือแม้การจะมีองค์ความรู้หนึ่งเกิดขึ้นมา เกิดจากการเรียนรู้ประสบการณ์ หรือสัญชาตญานของมนุษย์ที่คิดสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา เราก็เลยมองว่า มันไม่ต้องไปจำกัดอะไรในบริบทใดบริบทหนึ่งอยู่แล้ว

ยูน : ศาสนาเกิดจากธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องราวในนิทรรศการนี้เราแค่อยากอธิบายมันในมุมศาสนาเพราะว่า มนุษย์ชอบเรื่องเล่า มนุษย์ทำตามเรื่องเล่า ศาสนายุคโบราณก็อธิบายธรรมชาติออกมาในรูปแบบของคน เป็นปกรณัมต่างๆ พอเวลาผ่านไป วิทยาศาสตร์ก็เอามาใช้อธิบายธรรมชาติเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่เรื่องของปกรณัมแล้ว

ธรรมชาติ – ความเป็นมนุษย์

 แชมป์ : แม้ว่าแบรนด์เราจะมีจุดเด่นในเรื่องการใช้เทคโนโลยี อย่างเลเซอร์คัต หรือการใช้ 3D แต่จริงๆแล้ว เรามองว่าจุดกำเนิดของความสวยงามนั้นมาจากธรรมชาติ มุมมอง ความบังเอิญ ความตั้งใจ-ไม่ตั้งใจ การสะท้อนของแสงเงา ฯลฯ เราชอบความรู้สึกปรากฎการณ์ตรงนั้นมาก อย่างลาย Flare จากแสงตกกระทบของผิวน้ำ เราก็แคปเจอร์โมเมนต์ตรงนั้น นำมาผ่านกระบวนการคิดกับการออกแบบ การวางเส้นกรีดลาย ดัดออกมาให้เกิดไดนามิก ซึ่งเป็นวิธีกระบวนการทำงาน การหาแรงบันดาลใจในการทำงานของแบรนด์อยู่แล้ว 

ฝน : ปีนี้ VINN PATARARIN โฟกัสในเรื่องของดอกไม้ เกิดจากเรื่องที่เราเจอมาในช่วงโควิด เรารู้สึกว่าดอกไม้เป็นเอเลเมนต์ที่ช่วยให้ทีมงานของเราหันกลับมามองความสวยงามของธรรมชาติ ก็เลยหยิบมามาเล่าต่อ เกิดเป็นคอลเล็กชั่นของปีนี้ คือ Modern Botanic กับ New Flower ที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้โดยตรง พอทำงานร่วมกับยูนที่นำคาแรกเตอร์เด็กมาใช้  เราก็เพิ่มเอเลเมนต์ของดอกไม้เข้ามาด้วย มีลายคอลเล็กชั่นของปีนี้ที่เอาเข้ามาผสมในตัวนิทรรศการด้วย

แชมป์ : ตัวลายเลเซอร์คัตรอบนี้มีการป๊อปอัปเหมือนกลีบดอกไม้และเกสรดอกไม้ในคอลเล็กชั่น Modern Botanic และ New Flower เหมือนจำลองหรือเพิ่มจินตนาการให้ผู้เข้าชมว่า ชุดของเราก็มีการเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต

ยูน :  VINN PATARARIN สนใจในธรรมชาติ ยูนสนใจในความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่เรายึดอยู่ตอนนี้ทำให้มนุษย์ไม่เป็นธรรมชาติ มนุษย์เรามีความฝัน แต่หลายคนมองว่าความฝันเป็นเรื่องไม่สำคัญ หรืออย่างเรื่องที่มนุษย์เราเกิดจากเซ็กซ์ แต่หลายคนก็บอกว่าเซ็กซ์เป็นสิ่งที่ไม่น่าพูดถึง เราถูกจำกัดสิทธิ์ไปทีละทีละน้อยไปเรื่อยๆ เพราะกรอบค่อยๆบีบให้เราเลือกระหว่างสองสิ่ง

ทั้งที่สองสิ่งนั้นมันเป็นเรื่องเดียวกัน และเราไม่จำเป็นต้องเลือกอะไรเลย

และนั่นคือความน่าสนใจของ AN ORCHARD IN A BOX การนำเสนอจุดเชื่อมต่อระหว่างสองสิ่งที่มนุษย์เหมารวมว่าแตกต่างกันตามค่านิยมของสังคม จุดเชื่อมโยงที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนอยู่แล้วอย่าง จินตนาการ 

เหมือนกำลังจะบอกว่า จินตนาการนี่แหละที่ทำให้เจตจำนงของเรานั้นเสรี

Words: Roongtawan Kaweesilp 
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม