นักแสดงที่ดีเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ในการแสดงที่ไม่ว่าจะออกจอกี่มากน้อย เขาทำให้คุณลืมว่ากำลังดู ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม จนรู้ตัวอีกที ก็ดูผลงานของเขาหมดทั้ง 5 เรื่องในปี 2023
จากบทเชฟจอมเผด็จการใน Hunger คนหิวเกมกระหาย ที่แค่ยืนดู ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง หั่นเนื้อ และเพียงพูดเรียบๆว่า “กูบอกว่าอย่าเลื่อย” ก็ทำออกแบบน้ำตากลบ คนดูมวนท้อง
DELETE ในบทตำรวจเลว/พ่อแสนดีที่ตามไล่ล่าคนที่ทำให้ลูกหายตัวไป ปีเตอร์ยืนอยู่ระหว่างพรมแดนศีลธรรมดี-ชั่ว ถูก-ผิดแบบคนดูลังเลที่จะเข้าข้างหรือเกลียดตัวละครนี้
Long Live Love! ปีเตอร์เคยพูดสั้นๆถึงบทบาทใหม่ในหนังเรื่องนี้ว่า “เป็นบทคอเมดี้เรื่องแรก” ที่รั่วเกินคาดไปมากกับบทช่างภาพจอมห่วย เพื่อนซี้ของซันนี่ สุวรรณเมธานนท์
แสงกระสือ 2 เขาแสดงวิวัฒนาการจาก ‘คน’ ที่กลายร่างเป็น ‘กระหัง’ ได้น่าสะอิดสะเอียน ขณะเดียวกันก็น่าทึ่งและน่าเห็นใจ
Analog Squad ทีมรักนักหลอก ปีเตอร์รับบทเป็นชายคนหนึ่งที่จ้างคนแปลกหน้าให้มาเป็นภรรยาและลูกสอง เพื่อไปหลอกพ่อแก่แม่เฒ่า จนเกิดเป็นเรื่องราวของคำโกหกที่ฮีลใจ กับความจริงที่ทำลายทุกอย่าง
LIPS พูดคุยปิดท้ายปีที่เต็มไปด้วยผลงานฉ่ำๆ กับปีเตอร์
LIPS: ปีนี้คุณรับงานมาหลากหลายมาก บท ‘ปอนด์’ มีอะไรที่ทำให้คุณสนใจ
ปีเตอร์: เรื่องนี้เป็นบทแนวชีวิต-ดราม่า-ครอบครัวครั้งแรกๆของผม เป็นบทที่เราเล่นแบบมีพ่อแม่ ภรรยา และลูกเป็นครั้งแรก
LIPS: คุณมักได้รับบทเป็นคนโดดเดี่ยว หมาป่าสันโดษ
ปีเตอร์: ใช่ครับ ก่อนหน้านี้มักจะได้บทแรงๆ หรือมีลักษณะเฉพาะ แต่ใน Analog Squad ผมเล่นเป็นคนธรรมดา…ที่ห่วยๆหน่อย เป็นคนทั่วไปที่มีผุพังบ้าง และเป็นบทพ่อครั้งแรกด้วย แต่ก็เป็นพ่ออีกแบบที่นิสัยไม่ดีนิดหนึ่ง (หัวเราะ) ตัวละครปอนด์มีการเดินทางไปตั้งแต่ไม่เรียนรู้อะไรเลย ไปจนถึงเขาได้ตระหนักอะไรบางอย่าง บทมีพัฒนาการที่สนุกและเล่นยากมาก จริงๆแล้วการแสดงแบบกลางๆ ธรรมดาน่ะ แสดงยาก
LIPS: คุณมองคําว่าครอบครัวอย่างไร คนทั่วไปมองว่าครอบครัวก็ต้องรักกันสิ แต่ครอบครัวในหนังคือพ่อลูกไม่คุยกัน 20 ปี ลูกชายที่เหมือนจะรักกันดีกับแม่ แต่ก็… หรือครอบครัวแสนสุขของลูกสาวที่จู่ๆพลิก 360 องศา มีครอบครัวหลายแบบมากที่ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าอบอุ่น แต่เฉียดอึดอัด
ปีเตอร์: ผมว่า…แบบนี้แหละของจริง ผมคิดว่าในชีวิตจริงคนเรามีเยอะมากนะครับ พี่ไม่คุยกับน้อง พ่อไม่คุยกับลูก ฯลฯ มันเป็นปัญหาอย่างที่เห็นในซีรีส์นั่นแหละ คือ ณ ช่วงวัยหนึ่ง เราก็ไม่เข้าใจพ่อแม่เราหรอก แต่พ่อแม่เราได้ตัดสินใจอะไรบางอย่างด้วยวุฒิภาวะของเขาในตอนนั้น ซึ่งในความเป็นเด็กหรือความเป็นลูก เรามักจะไม่เข้าใจ เราจะนึกว่าพ่อแม่ผิดเสมอ แต่เมื่อโตมา เราจะเข้าใจว่าเราเองก็ตัดสินใจอะไรๆไม่ได้ถูกต้องนักเสมอไปในชีวิต ผมคิดว่าคนดูดูซีรีส์แล้วก็อาจจะรู้สึกได้ว่า เมื่อวันนั้นที่เราข้องใจในการตัดสินใจของครอบครัว เขาอาจมีเหตุผลของเขาก็ได้ แต่เราเลือกที่จะไม่รับรู้เองว่าทําไมเขาจึงตัดสินใจทําแบบนั้น
LIPS: เพราะตอนเราเป็นเด็ก เรามองพ่อแม่เราว่าเป็นเหมือนซูเปอร์แมนด้วยหรือเปล่า ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไร พ่อแม่จะช่วยเราได้เสมอ แต่พอมาวันหนึ่ง ทําไมเขากลายเป็นคนที่ทําผิดพลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางเรื่องที่เขาทำก็เฮิร์ตเราเหลือเกิน จนเรารู้สึกอกหักกับพ่อแม่ตัวเอง
ปีเตอร์: ผมว่าอันนี้จริงมาก เรามักจะรู้สึกเสมอว่าพ่อแม่เราเป็นคนเก่ง เป็นที่พึ่งของเราเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่เมื่อผมอ่านบทเรื่องนี้และเมื่อผมโตขึ้นแล้ว ผมมาย้อนนึกว่า ณ ตอนนั้นที่พ่อแม่เราตัดสินใจอะไรไป เขาอาจอายุแค่ 35 หรือ 40 เองนะ เขาก็คือคนวัยกลางคนที่อาจจะตัดสินใจผิดได้ แต่พอเราเป็นลูกที่มองขึ้นไปหา เราไม่ยอมให้พ่อแม่ทำผิดพลาดได้เลย ซึ่งก็เหมือนกับซีรีส์เรื่องนี้แหละครับ เรามองไปก็ไม่เข้าใจพ่อแม่เลย
LIPS: ตอนเราเป็นเด็ก เราที่มองว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องเก่ง ต้องทำอะไรๆได้ แต่พอเราโตมา รู้สึกว่าการเป็นผู้ใหญ่มันยากมากและไม่สนุกเลย
ปีเตอร์: และผู้ใหญ่ก็ตัดสินใจผิดได้ แต่ลูกจะคิดเสมอว่าทําไมพ่อแม่ต้องตัดสินใจแบบนี้ ถ้าในเฉพาะกรณีของปอนด์ก็คือทําไมพ่อแม่ไม่อยู่ข้างเขา
“เรามักจะรู้สึกเสมอว่าพ่อแม่เราเป็นคนเก่ง เป็นที่พึ่งของเราเสมอ แต่เขาก็คือคนที่อาจตัดสินใจผิดได้”
LIPS: ในเรื่องดูปอนด์เป็นคนที่แบกหินก้อนใหญ่เอาไว้ในใจตลอดเวลา และปิดใจมาก ซึ่งเมื่อเรื่องดำเนินไปก็พบว่าในขณะที่ปอนด์มีปัญหากับครอบครัวตัวเอง ในแง่ความสัมพันธ์กับคนอื่นก็ไม่ดีเหมือนกัน เป็นมนุษย์ที่มีปัญหาความสัมพันธ์ ซึ่งคนทั่วไปก็เป็นกัน…หรือเปล่า
ปีเตอร์: ผมว่าปอนด์เป็นตัวละครใกล้ตัว เรามักมีเพื่อนแบบนี้ที่ตัดสินใจเร็ว หนีปัญหา และไม่เผชิญหน้ากับอะไรเลย บางคนเป็นแบบนั้นจนมากเกินไปเหมือนปอนด์
LIPS: คําว่าผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนน่าจะใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้
ปีเตอร์: โดยเฉพาะกับปอนด์
LIPS: คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ครอบครัวต้องรักกันสิ เราเป็นสายเลือดเดียวกัน ให้อภัยกันได้เสมอ ตัดกันไม่ขาดหรอก เลือดข้นกว่าน้ำ’ ฯลฯ คําเหล่านี้ทําให้เวลามีปัญหากับครอบครัว บางคนรู้สึกผิดมากเลยนะ ทําไมเราเกลียดครอบครัวตัวเอง หรือเกลียดแม่ตัวเอง
ปีเตอร์: ผมว่าลึกๆแล้วปอนด์ก็เป็นอย่างนั้นนะ ไม่ใช่ว่าเขารู้สึกไม่ดีกับพ่อเท่านั้น แต่เขาก็รู้สึกไม่ดีกับตัวเองด้วย เขาจึงเลือกที่จะหาครอบครัวปลอมไปพบพ่อแม่ไงไม่อย่างนั้น เขาก็ไม่ทําแบบนั้นหรอก เขาคงปล่อยพ่อเขาไปอย่างนั้นแหละ
LIPS: จริงๆคือแคร์ แต่ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบที่สร้างปัญหาเพิ่ม
ปีเตอร์: เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบปอนด์ๆ (หัวเราะ) ผมว่าวิธีที่เขาเลือกในการแก้ปัญหานี่แหละ มันแสดงคาแรกเตอร์ของปอนด์ชัดเจนว่าเขาเป็นคนคิดแบบนี้ คือคิดโง่ๆ หน่อย
LIPS: นักแสดงที่คุณเข้าฉากด้วยเยอะที่สุดน่าจะเป็นสุรสีห์ อิทธิกุล ที่รับบทพ่อ กับน้ำฝน กุลณัฐ ที่รับบทภรรยาตัวปลอม การทำงานกับนักแสดงทั้งสองเป็นอย่างไรบ้าง
ปีเตอร์: ด้วยความที่พี่สุรสีห์แสดงเหมือนไม่ได้แสดง เป็นคนนิ่งๆ คล้ายคาแรกเตอร์นั้นอยู่แล้วด้วย เลยดูธรรมชาติมาก น้ำเสียง วิธีพูดก็เหมือนเหมือนพูดกับเราจริงๆ ส่วนน้ำฝน ดูไม่น่ามาโคจรมาเจอกันได้ คนหนึ่งก็สายละครไปเลย อีกคนก็สายหนัง แต่ว่าเราอยู่ในยุคเดียวกันนะ วัยก็ใกล้ๆ กัน
ด้วยความที่มีเวิร์กชอปกันก่อน ผมว่าช่วยได้เยอะ ช่วยให้เราเข้าใจตัวละครมากขึ้น ในการทำงานในกองก็สนุกมาก เพราะเรื่องราวในหนังจะมีเหตุการณ์ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันเยอะกับตัวละครพี่น้ำฝน ไม่ใช่พากันไปตลกที่บ้านพ่ออย่างเดียว มีหลายแง่มุม มีทั้งมุมตลกและมุมดรามาในหนัง
ส่วนน้องสองคน เจเจ (กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม) กับปริมมี่ (วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ) เขาเป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะมีวิธีคิดต่อต่อการทํางานซึ่งไม่เหมือนคนรุ่นของเราอยู่แล้ว เราเหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่ดูน้องๆ ว่า เออ เขาคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ ซึ่งมันก็สนุกและได้รับพลังงานใหม่ๆจากวัยรุ่น บางฉากที่เข้าด้วยกันก็เป็นเรื่องความสนุกสนาน ด้วยพลังงานและบทของเขาก็ช่วยให้เรามีพลังขึ้นมา…ช่วยพาลุงไปด้วย (หัวเราะ)
“ปอนด์เป็นตัวละครใกล้ตัว เรามักจะมีเพื่อนแบบนี้ที่ตัดสินใจเร็ว หนีปัญหา และไม่เผชิญหน้ากับอะไรเลย”
LIPS: พอดูซีรีส์เรื่องนี้ หลายคนบอกว่าได้ย้อนคิดถึงครอบครัวตัวเอง บางคนบอกว่าน่าจะได้ดูซีรีส์เรื่องนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาอาจจะไม่ทำอย่างที่ทำกับลูก ภรรยา หรือพ่อแม่ตัวเอง
ปีเตอร์: แล้วคนดูก็จะได้ย้อนกลับไปในปี 1999 ที่โลกยังไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราจะได้ไปสัมผัสบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง เป็นความเงียบสงบอีกแบบหนึ่งของของความสัมพันธ์ และได้กลับไปเห็นๆว่าในยุคนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกันมันวุ่นวายน้อยกว่านี้ มีฉากที่แสดงให้เห็นการที่เราต้องรอคอย ต้องนัดเจอกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ที่ไม่เจอแบบนั้นแล้วในปัจจุบัน
นอกจากมีเรื่องชีวิตวัยรุ่นในช่วงนั้น และความสัมพันธ์ของแต่ละคนในแต่ละครอบครัว ซึ่งผมว่าเชื่อมโยงถึงทุกคนได้ อย่างปอนด์เป็นคนที่ตัดสินใจอะไรง่ายๆแย่ๆ และก็ยังหนีปัญหาอยู่เรื่อย แล้วมันส่งผลลัพธ์อย่างไร
LIPS: ถ้าสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงกับคุณ จะเลือกทำอย่างไร
ปีเตอร์: ถ้าพ่อผมป่วยหนักแบบในเรื่อง ผมก็จะเลือกวิธีเดียวกับปอนด์นี่แหละ (หัวเราะ) เพื่อให้ทําให้ช่วงสุดท้ายของเขาดีที่สุด เราดูบริบทครับ เราคงไม่มานั่งเผชิญหน้ากับความจริงอันเจ็บปวดกันในตอนนั้น มันทำให้เราอาจจะตัดสินใจแบบปอนด์ ถ้าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะสร้างความสบายใจให้ทุกคนได้
Words: Suphakdipa Poolsap
Photo: Somkiat Kangsdalwirun
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง