SARRAN แบรนด์สร้างศิลปะสวมใส่ได้เพื่อส่งเสริมความสง่าของผู้หญิง จากลิซ่า BLACKPINK จนถึงติ๊นา-คริสติน่า อากีล่าร์
กรรเจียกหรือ Ear Cuff หลุดออกจากภาพจิตรกรรมของนางในวรรณคดีมาประดับใบหูของลิซ่าในมิวสิกวิดีโอ LALISA ที่มียอดวิวกว่า 670 ล้านในยูทูบ จนเกิดกระแสงามอย่างไทยระบาดครั้งใหม่ ประเหมาะกับกระแสละครบุพเพสันนิวาสในเวลานั้น จนงานอาร์ต-ทู-แวร์สไตล์ SARRAN ถูกก็อปปี้ไปทั่วจากสำเพ็งจนถึงแบรนด์ไอจี
เอก-ศรัณญ อยู่คงดี ผู้ก่อตั้ง SARRAN คิดเห็นอย่างไรที่งานโดนก็อปปี้ อาร์ต-ทู-แวร์คืออะไร ศิลปะจะช่วยขับเคลื่อนเรื่องผู้หญิงได้ในทางใดบ้าง
เขาแสดงทัศนะเหล่านี้ไว้ในวันที่เปิดผลงานชิ้นใหม่ ‘เทียร่าทรงช่อมะกอกสไตล์เอเชีย’ มูลค่า 10 ล้านบาทที่ทำขึ้นอย่างพิเศษสุดแก่ ติ๊นา-คริสติน่า อากีลาร์ ใส่ขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ในรอบ 33 ปีของราชินีแดนซ์คนแรกของเมืองไทย
เครื่องประดับที่รับใช้ความรู้สึก
“แต่ก่อนผมมีชื่อด้านงานกระดาษ ทำพาร์ทิชัน เป็นของแต่งบ้าน ตอนนั้นเป็นดีไซเนอร์ที่ลองผิดลองถูก วิธีการทำงานของผมคือต้องรู้จักสิ่งนั้นดีพอจึงจะเล่าได้ ซึ่งเป็นข้อเสียตอนเป็นดีไซเนอร์ เพราะเราไม่รู้สึกว่าเราเป็นดีไซเนอร์ ซึ่งต้องสามารถทำงานตามโจทย์ของการออกแบบได้ สุดท้ายเราไปอยู่ในสายงานนั้นไม่ได้ เพราะเราสร้างงานจากสิ่งที่อยู่ในใจเรา บวกกับการตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
“ช่วงปี 2016 ผมเริ่มทำแบรนด์ใหม่ๆ และตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราทำตอบโจทย์ธุรกิจสายไหนบ้าง บังเอิญว่าช่วงเวลานั้นในเมืองไทยเริ่มมีคำว่า ‘อาร์ต-ทู-แวร์’ ที่หมายถึงงานศิลปะที่สวมใส่ได้ ไม่ใช่แค่เครื่องประดับ มีทั้งเสื้อผ้า หมวก รองเท้า ฯลฯ แต่สิ่งที่เราทำไม่ได้ทำเชิงอุตสาหกรรมที่ผลิตได้เกิน 100 ชิ้นขึ้นไปตามแบบฉบับที่เราเข้าใจในเรื่องธุรกิจ ค่าของการคิดงานหนึ่งชิ้นควรจะต้องมากพอที่จะสร้าง value ได้
“ขณะเดียวกัน การทำงานของเราที่เป็น craftmanship ก็มีข้อเสียคือ เราทำงานที่ไม่เหมือนกันในแต่ละชิ้น เพราะมันคืองานทำมือ ข้อดีคือมันมีชิ้นเดียว มันจะไม่มีวันซ้ำ ต่อให้เราทำแบบเดียวกัน 10 ชิ้น ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด ทั้งสีและรายละเอียด จึงเป็นการผันข้อเสียของการทำงานอุตสาหกรรมมาเป็นข้อดีของการทำอาร์ต-ทู-แวร์”
“อาร์ต-ทู-แวร์หมายถึงงานศิลปะที่สวมใส่ได้ ไม่ใช่แค่เครื่องประดับ มีทั้งเสื้อผ้า หมวก รองเท้า ฯลฯ”
งามอย่างไทยกลายเป็นเทรนด์
“งานของเราเล่าไม่ได้เล่าด้วยฟังก์ชัน แต่เล่าด้วยความรู้สึก แรงบันดาลใจ จิตวิญญาณ มันทำให้ความรู้สึกของผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อ่อนโยน ร่าเริง หรือแจ่มใสขึ้น และเราไม่ตามเทรนด์แฟชั่น แต่เราทำงานตามสถานการณ์โลก ข่าวสารบ้านเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือวัฒนธรรม หรือสิ่งที่คนตั้งคำถาม ณ เวลานั้น
“ช่วงปีที่ก่อตั้งแบรนด์เป็นปีทองของผู้หญิงไทยที่เริ่มมีชื่อเสียงในเวทีระดับโลก เกิดคำว่า Thai Trend หรืองามอย่างไทย ประกอบกับผู้หญิงไทยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เราจึงเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความงามของผู้หญิงไทย โดยโรลโมเดลคนแรกของแบรนด์ก็คือคุณแม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงที่อยู่ในความทรงจำของผม เพียงแต่ไม่ได้พูดว่าแม่สวยอย่างไร แต่พูดถึงวิถีชีวิตของแม่ที่เป็นไปตามแบบอย่างผู้หญิงไทยปกติ ทำงานบ้านงานเรือน ทำงานดอกไม้ เราบอกเล่าสิ่งที่เราเห็นในอดีต จากความทรงจำที่เห็นแม่หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการร้อยดอกไม้
“ผมโตมากับการเห็นความรุนแรงในครอบครัว และเราเกลียดสิ่งนั้น เราไม่อยากเป็นผู้ชายคนนั้นที่ไม่ให้เกียรติผู้หญิง ผมเลยคิดสโลแกนแบรนด์ผมว่า Every Woman is the Elegance. แต่ความงามสง่าไม่ได้ถูกปั้นแต่งด้วยเครื่องประดับมีค่า แต่คือการให้เกียรติกัน ผมอยากบอกเล่าปมที่เคยเห็นผู้หญิงถูกทำร้ายด้วยใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรง การกระทำหรือคำพูด
“ศิลปินมีบทบาทในการพูดถึงอารมณ์ ความรู้สึก หรือรับใช้สังคมในแง่ของการสื่อสารเรื่องราวต่างๆออกมา ถ้าเรารู้สึกอะไรกับสังคม ก็ควรแสดงสิ่งนั้นออกมา หากว่างานของเราสามารถรับใช้สังคมที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้สักนิดหนึ่ง หรือตั้งคําถามเพื่อให้คนหาคําตอบกับมัน นั่นคือส่วนที่ผลักดันให้สังคมดีขึ้น และเป็นบทบาทของนักสร้างงานศิลปะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน”
“‘ฉันเป็นแม่ประสาอะไร’ ผมไม่อยากให้แม่ทุกคนที่มีลูกรู้สึกแบบนั้น และนั่นคือผลลัพธ์ที่ผมอยากได้จากการทำแบรนด์ มันคือธุรกิจที่ทําให้จิตใจของคนที่อยู่รอบตัวผมดีขึ้น”
เล่าเรื่องผู้หญิงผ่านแม่
“ในวันแรกก็คงมีคนตั้งคําถามเหลือเกินว่าผมจะสื่อสารเรื่องนี้ได้นานสักแค่ไหน คุณแค่สร้างธีมหรือคอนเทนต์ขึ้นมาหรือเปล่า คําตอบคือไม่ใช่ ผมรักแม่ผมมาก ผมอยากทําแบรนด์ขึ้นมาเพื่อให้แม่มีความสุข ให้เขาสามารถมีอะไรไปคุยกับเพื่อนบ้านได้ว่าลูกชายทําอะไรอยู่ ทำให้เขามีความปลื้มเวลาเดินออกไปเจอเพื่อนหรือญาติพี่น้อง และรู้สึกว่าลูกก็มีพื้นที่ มีผลงานของตัวเองอยู่ ตอนแรกเขาก็อาย ไม่ยอมออกงาน บอกว่าแม่แต่งตัวไม่สวย จนวันหนึ่งที่แม่ยอมออกงานกับผม เพราะผมรู้สึกว่าแม่เริ่มเชื่อว่าผมจริงจังกับการทําสิ่งนี้มาก และผมขู่ไปเลยว่า รู้ไหมว่าผมกําลังเรื่องแม่อยู่ แต่ถ้าแม่ไม่ออกมาเลย คนเขาจะเชื่อไหมว่าแม่มีตัวตนอยู่
“ทุกครั้งเวลานำผลงานไปประกวด แม่ไปกับผมตลอดเพราะผมต้องการกําลังใจ ถ้าเราประสบความสําเร็จ หรือเราอยู่ในพื้นที่ที่มีสปอตไลต์ที่ส่องแสงมาให้เรา คนที่อยากให้เห็นเป็นคนแรกคือแม่ ผมรู้สึกว่าเขารอเห็นสิ่งนั้นอยู่ แล้วผมก็ทำให้เห็นซ้ำๆ จนบางวันแม่บอกว่าไม่อยากออกงานแล้วนะ เบื่อแล้ว (หัวเราะ)
“สิ่งที่เจ๋งที่สุดสําหรับแม่คือ คนที่แม่ชอบหรือผู้หญิงให้แรงบันดาลใจแก่เขาในวงสังคมกําลังใส่งานของผมอยู่ เขารู้สึกว่าได้อยู่ในจุดเดียวกับผู้หญิงทุกคนที่ภูมิใจในตัวเอง แม่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองรวยขึ้น แต่ภูมิใจที่ฉันเป็นตัวฉัน ความผิดพลาดในชีวิตของฉันทั้งหมดคือสิ่งที่เป็นผลของความสำเร็จในวันนี้ของลูก แม่จึงไม่เสียใจกับช่วงเวลาที่ผ่านมา
“‘ฉันเป็นแม่ประสาอะไร’ ผมไม่อยากให้เกิดคํานี้ และไม่อยากให้แม่ทุกคนที่มีลูกรู้สึกแบบนั้น เพราะสุดท้ายมันคือการเดินทางของชีวิต และนั่นคือผลลัพธ์ที่ผมอยากได้จากการทำแบรนด์ มันไม่ใช่ธุรกิจที่ทําเพื่อผลกําไร แต่มันคือธุรกิจที่ทําให้จิตใจของคนที่อยู่รอบตัวผมดีขึ้น…แม้ว่าแม่จะไม่ยอมใส่เครื่องประดับที่ผมทำก็เถอะ”
“กรรเจียกดอกพุดซ้อนที่ลิซ่าใส่ในเอ็มวีเพลง LALISA ทําให้แบรนด์กลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้น…ถ้างานของเราสามารถเข้าไปอยู่ในจุดไหนแล้วมันสื่อสารถึงเรื่องของผู้หญิงได้ก็ยินดี”
กรรเจียกดอกพุดซ้อนของลิซ่า
“คุณหมู Asava (พลพัฒน์ อัศวะประภา) ติดต่อมาครับ บอกว่าแบบต้องทํางานให้ศิลปินท่านหนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นใคร จนกว่าจะถึงวันที่เปิดตัวอัลบั้ม แต่เป็นหนึ่งในเกิร์ลกรุ๊ปและเป็นคนไทยคนเดียวในวง เราพอจะเดาได้ว่าใครและภูมิใจมาก คุณหมูบอกว่าขออะไรก็ได้ที่แสดงออกถึงความเป็นไทย
“เรามีเวลาทำงาน 9 วัน จึงนำสิ่งที่มีอยู่มาปรับบางส่วน ผสมกับการทำขึ้นใหม่ และส่งทั้งหมดไปให้เลือก ซึ่งทางทีมเลือกกรรเจียกดอกพุดซ้อนให้ลิซ่าใส่ในเอ็มวีเพลง LALISA ทำให้ในปี 2020 เราได้เข้าไปอีกในพื้นที่หนึ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง และทําให้แบรนด์กลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ตัวผมไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องไปอยู่ในโลกใบใดใบหนึ่ง ผมพูดในมุมที่ว่าถ้างานของเราสามารถเข้าไปอยู่ในจุดไหนแล้วมันสื่อสารถึงเรื่องของผู้หญิงได้ก็ยินดี
“แม้กระทั่งปัจจุบันเองยังมีสายที่เป็น LGBTQ+ คือคุณปันปัน นาคประเสริฐ (แดร็กควีนชื่อดังของไทย) ใช้งานของเราในช่วงเวลาที่เขาต้องแต่งเป็นผู้หญิงและอยากแสดงถึงความเป็นผู้หญิง โดยไม่จําเป็นว่าเขาต้องเป็นผู้หญิงก็ได้ นั่นก็เป็นโลกของงานศิลปะประเภทหนึ่ง เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเพศอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของใครก็ตามที่ต้องการแสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงทั้งภายนอกและภายใน”
ศิลปะที่ไม่ต้องการโลโก้
“ถึงแม้คุณจะใช้แบรนด์ผม แต่แทบไม่มีโลโก้ของผมติดอยู่เลย ยกเว้นแค่กล่อง แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณใส่ออกงาน จะมีคนมาถามนี่ของแบรนด์ SARRAN ใช่ไหม นั่นคือความสำเร็จของของการสร้างแบรนด์ เป็นเรื่องที่ยังตื่นเต้นจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีคนที่ทํางานใกล้ๆกับผม บางคนแท็กแบรนด์ผมมา แต่เผอิญไม่ใช่ของผม บางทีก็ใส่มาแฟชั่นโชว์ผม แล้วผมก็ไม่พูดอะไร เราไม่สามารถทําให้เขาเสียเซลฟ์ได้
“ผมไม่ได้ทํางานในเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม แต่ถ้ามีคนหันมาพูดถึงความเป็นไทย ใส่กรรเจียกช่วงบุพเพสันนิวาส ผมว่าก็สวยดี แค่ให้ศิลปะอยู่รอดได้ และเราเป็นส่วนหนึ่งที่ไปช่วยให้เกิดแรงกระตุ้น เกิดธุรกิจ เราควรยินดีกับพวกเขาที่มีธุรกิจ โดยที่เราเป็นผู้นําของการสร้างธุรกิจสิ่งนั้นขึ้นมา เขาก็เลยทํากันเต็มไปหมด เวลาไปเดินสําเพ็งก็จะเห็นกรรเจียกทําจากสบู่ ทําจากแป้งปั้น ยังบอกเพื่อนเลยว่าน่ารัก (หัวเราะ) ซื้อไปดีไหม เขาปั้นดีนะ อย่าง Diffuser ผมก็ให้คนที่ก็อปปี้งานผมปั้นให้ เขาทำให้ผมสวยมาก แต่ไม่ได้บอกว่าผมเป็นคนทำ SARRAN
“เราไม่มองใครเป็นคู่แข่ง เราดีใจว่ามีคนก็อปปี้งานเรา เพราะนั่นคือการอัปเลเวล คนที่สอนให้ผมรู้จักวิธีการหรือแนวคิดแบบนี้ในการอยู่เหนือดราม่าคือคุณหมู Asava ไม่ตอบโต้ ไม่ยินดียินร้าย แกเลยเป็นโรลโมเดลของผม”
“การศึกษาการทำงานของศิลปินหรือการทํางานแบบญี่ปุ่นมีผลต่อผมมาก…เขามีหลักการเดียวคือจะไม่ขยายแบรนด์ถ้าจิตใจเขาไม่พร้อม”
ขยายแบรนด์ด้วยคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ
“เราเป็นสายเพอร์เฟกชั่นนิสต์ที่อยากจะให้งานออกมาจากมือเราเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช้คําว่ากอดมันไว้ แต่ใช้คําว่าทุกอย่างต้องผ่านมือ ต้องดูและต้องประกอบด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาคนเดินมาเห็นจะรู้ทันทีว่าอันนี้ผมประกอบมือด้วยตัวเอง ต้องดัดซ้าย ดัดขวา วางสี อย่างต่ำ 70% ต้องมีมือเราอยู่ บางงานที่ราคาสูงมากคือเราลงร้อยเปอร์เซ็นต์ มั่นใจได้ว่าทุกจุดมีรอยนิ้วมือเรา
“ผมพยายามพยายามศึกษาว่าการเติบโตของแบรนด์จําเป็นไหมที่จะต้องมีขนาดที่ใหญ่โต งั้นเรามาพูดถึง Quality มากกว่า Quantity ดีกว่า ผมรวบทุกอย่างให้อยู่ในเฮดควอเตอร์ แต่ละประเทศที่เราทําสัญญาจะมีแค่หนึ่งช็อป และมีงานไม่ซ้ำกัน ถ้าอยากได้งานชิ้นไหน คุณต้องบินไปที่นั่น แทนที่เราจะต้องส่งทุกอย่างออกไปต่างประเทศ แต่เราให้ทุกคนบินมาหาเราที่นี่
“การศึกษาการทำงานของศิลปินหรือการทํางานแบบญี่ปุ่นมีผลต่อผมมาก ผมเคยได้ทุนของ Japan Foundation ช่วงปี 2012 ไปอยู่ที่โตเกียว เกียวโต ฟูกูโอกะ และได้เจอธุรกิจของเพื่อนคนหนึ่ง เขาทําโรงงานเครื่องเขียน มีเพื่อนผม สามี และแม่สามีทำกันอยู่ 3 คน มูลค่าต่อปีเกินสิบล้านบาท ทุกคนได้เงินดี ทำงานอย่างมีความสุข ทํางานไปพูดคุยกันไป รู้สึกอบอุ่น เขามีหลักการเดียวคือจะไม่ขยายแบรนด์ถ้าจิตใจเขาไม่พร้อม เพราะมองว่าเงินไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนชีวิตหรือความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ แต่คือการทําให้แบรนด์เราสามารถหล่อเลี้ยงจิตใจของตัวเราได้
“วันนี้เราเลยเลือกที่จะเห็นความสําคัญของคนในจํานวนน้อยหน่อย เรามีทีมแค่ประมาณ 3-4 คนในตอนนี้ ผมมองว่าเราต้องอยู่กันนาน แต่ละคนจําเป็นที่ต้องมีพื้นที่หรือการเป็นพาร์ทเนอร์ชิพ เราพยายามผลักดันให้ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง อย่างเมื่อต้นปีเราสร้างอีกแบรนด์ขึ้นมาแล้วกําลังจะยกให้คนหนึ่งดูแล เป็นแบรนด์น้ำหอมฟีลเกาหลีน่ารักหน่อย แต่ก็มีความเป็นตัวเราอยู่ นั่นก็เป็นวิธีที่เราอยากจะหาไอเดียใหม่ๆ และสร้างคนใหม่ๆขึ้นมา”
“ทําไมผู้หญิงต้องถูกขับเคลื่อนในแง่ของเนกาทีฟ ถูกกระทําเสมอ หรือพูดถึงความสนุกทางเพศ แฝงความรุนแรง ขณะที่ผู้ชายจะดูหล่อเสมอ”
นางในวรรณคดีที่ชีวิตไม่ได้ดี
“เราห่างหายตั้งแต่โควิดที่ไม่ได้เปิดคอลเล็กชั่นใหญ่มา 3 ปี ปีที่แล้วเราเลยปล่อยคอลเล็กชั่นใหญ่มาก เราพูดถึงรามายนะ คือรามเกียรติ์ สิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากเลยคือนางในวรรณคดี ซึ่งผมตั้งคําถามว่าในอดีตผู้หญิงไม่ได้มีความสําคัญเท่ากับผู้ชาย เวลาพูดถึงผู้ชายจะอธิบายสวยเลย ผู้ชายแต่งแบบไหน ใส่สีอะไร ของผู้หญิงเขียนแค่ว่าสวย ไม่ได้มีการอธิบายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือหน้าปากสีอะไร เราได้ข้อมูลทั้งหมดจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระแก้ว ซึ่งก็เกิดจากการปรุงแต่งหรือการประดิษฐ์ขึ้นจากการเขียนภาพหรือช่างในสมัยก่อน แต่ไม่ได้กล่าวไว้เป็นตัวอักษร
“ส่วนผู้หญิงในรามเกียรติ์ก็โดนยักษ์ลากมา ลิงลากไป เป็นฝ่ายถูกกระทําเสมอ ถ้าเกิดเรื่องนี้ไม่มีผู้หญิง ผู้ชายจะไม่ตีกันหรือเปล่า ฉะนั้นจริงๆแล้วผู้หญิงมีบทบาทสําคัญที่ทำให้เนื้อเรื่องเกิดขึ้น ถ้าไม่มีผู้หญิงอย่างนางมณโฑ ทศกัณฐ์จะไม่มีที่พึ่งทางใจ ถ้าไม่มีนางสีดา จะไม่เกิดภาพสวยงามที่พระรามยกขายันทศกัณฐ์ จะไม่มีท่ารําอันสวยงามเกิดขึ้น เพราะไม่ได้เกิดการรบ
“ผู้หญิงคือตัวขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆ แล้วทําไมผู้หญิงต้องถูกขับเคลื่อนในแง่ของเนกาทีฟ สุดท้ายแย่งชิงกันเสร็จ นางสีดาต้องเดินลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ผู้หญิงถูกกระทําเสมอ หรือพูดถึงความสนุกทางเพศ แฝงความรุนแรง ขณะที่ผู้ชายจะดูหล่อเสมอ ไม่ค่อยผจญภัยมากนัก งั้นเรามาพูดถึงบทบาทของผู้หญิงในวรรณกรรมดีกว่า แล้วมาดูซิว่าถ้าเรื่องนี้ไม่มีผู้หญิง เรื่องก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีผู้ชาย เรื่องก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นความสําคัญของเรื่องราวทุกอย่างจําเป็นต้องมีคนทั้งคู่
“เราจึงพูดถึงสีของวรรณะของผู้ชายและสีวรรณะของผู้หญิงในงานจิตรกรรม วรรณะของผู้ชายคือสีเขียว เพราะพระส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ สีทองเราตัดไปเพราะเป็นสีกลาง ส่วนผู้หญิงไม่ได้ถูกกล่าวถึง แต่ในภาพจิตรกรรม เธอจะกลายเป็นสีชมพู
“เราพยายามจินตนาการว่า ถ้าทั้งสองเพศต้องมาอยู่ในยุคปัจจุบันล่ะ เป็นรามเกียรติ์หรือโขนยุคปัจจุบัน ผมจับสีชมพูมาขยายสีเป็นช็อกกิ้งพิงค์กับสีเขียวสะท้อนแสง โดยสื่อสารเรื่องของการมีอยู่ของทั้งสองเพศ การมีอยู่ของทั้งชายและหญิง แล้วบังเอิญตอนทํารีเสิร์ชอยู่ ก็คุยกับทีม เขาก็บอกว่าเหมือนเพลงประวัติศาสตร์ของพี่ติ๊นาหรือเปล่า ไม่มีใครเป็นผู้นํา ไม่มีใครเป็นผู้ตาม ผมรู้จักกับผู้จัดการพี่ติ๊นา ก็เลยบอกว่าอยากร่วมงานกัน
“พี่ติ๊นาบอกว่า เอาเลยค่ะ ดีค่ะ เพลงพี่ พี่ชอบค่ะ ตามนั้นเลย พี่ติ๊นาเป็นสายพูดน้อยแต่ชัดเจน หลังจากนั้นก็มาระดมความคิดกันและออกมาเป็นคอลเล็กชั่นนี้ เรามาจัดงานกันที่ Club 21 ที่เกษรวิลเลจ พื้นที่เท่านี้แต่มีคน 350 คนเดินเต็มไปหมด ทุกคนรักพี่ติ๊นา แม่ผมก็เป็นแฟนคลับ กลายเป็นว่าเป็นการทํางานที่สนุกมาก”
ตำนานของติ๊นา
“จนก้าวมาถึงปีนี้ พี่ติ๊นาทําคอนเสิร์ตใหญ่ที่สุดในรอบ 33 ปี เป็นการกลับมาอีกครั้ง ผมอยากทําของหนึ่งชิ้นให้เป็นของขวัญพิเศษที่พี่ติ๊นาเองก็ยังไม่เห็น บอกเพียงว่า เอกเอาเลย พี่เชื่อใจ จนได้ข้อสรุปกันที่คอนเซปต์เพลงนินจา
“ผมตีความว่าเป็นชัยชนะเหนือกาลเวลา คนอื่นหายไปบ้าง ยังอยู่บ้าง แต่พี่ติ๊นายังอยู่ เขาสามารถเอาชนะกาลเวลาเอาชนะวัย แรงกดดัน หรือเด็กที่กําลังเกิดขึ้นมา เขาอยู่เหนือทุกอย่างแล้ว ผมออกแบบโดยใช้ธีมช่อมะกอกที่มีความเป็นเอเชียแบบญี่ปุ่น จีน และไทย เอาทุกอย่างแบบผสมผสานในสิ่งที่เป็นตัวเรา โดยใช้วัสดุที่เหมาะสมกับพี่ติ๊นา คือแซปไฟร์ พลอย ไพลิน นี่คือไฟน์จิวเวลรีชิ้นแรกที่พี่ติ๊นาจะได้ใส่ เป็นการฉลองชัยชนะของการกลับมา
“งบในการทำงานชิ้นนี้อยู่ที่ 10 ล้านบาท เพราะสิ่งใดตามที่อยู่บนเวทีคอนเสิร์ตนั้นจะกลายเป็นตํานาน มันจะเป็น Hall of Fame ของคริสติน่า อากีล่าร์ และของวงการนักร้องไทยในอนาคต”
“ถ้าเราสามารถทำให้ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแรงผลักดันสังคมสวมชิ้นงานเราได้ ผมถือว่านั่นคือจุดสูงสุด”
ผู้หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจ
“ผมมีความฝันผมอยากทําอาร์ต-ทู-แวร์ให้ผู้นําประเทศ ไม่จํากัดว่าต้องเป็นใคร มีผู้หญิงทั่วโลกที่เป็นไอคอนิกหรือเป็นแรงผลักดันของผู้หญิงมากมาย อาจจะเป็นตัวแทนหมู่บ้าน ตัวแทนจังหวัด เป็นคนที่ทําให้ผู้หญิงคนอื่นภูมิใจในความเป็นตัวตนของเขา เพราะมีคนจํานวนมากที่รู้สึกกลัว เครียด กดดันกับการเป็นผู้หญิงในบางพื้นที่ของสังคม ถ้าเราสามารถทำให้คนคนนั้นสวมชิ้นงานเรา และเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแรงผลักดันได้ ผมถือว่านั่นคือจุดสูงสุดนะครับ
“เธอคนนั้นไม่จําเป็นต้องเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุด แต่ต้องเป็นผู้หญิงที่พร้อมจะสื่อสารให้กับผู้หญิงมากที่สุด ผมไม่รู้ว่าจะได้เจอคนคนนั้นไหม เพราะผมรู้ว่าบ้านเรายังมีอะไรบางอย่างที่ยังเป็นกรอบอยู่ บางทีเวลาผู้หญิงที่มีความสามารถเข้ามาในพื้นที่เจ๋งๆ หรือในการเมือง ก็อาจจะโดนคนบางกลุ่มกีดกัน ผู้หญิงคนนั้นอาจจะยังไม่ได้มีไม่มีอยู่ในช่วงเวลานี้ หรือผมอาจจะยังเข้าไม่ถึง แต่ก็ฝันไว้ว่าวันหนึ่งคงจะได้ทํา”
Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun
สถานที่: Club21 Women เกษร วิลเลจ