จุดร่วมอย่างหนึ่งของครอบครัวคนจีนรุ่นฉันก็คือ ทุกครอบครัวมักจะปรากฏภาพ ‘อาอี๊’ สาวเก่งที่ช่วยเลี้ยงหลานๆ ทุกคนในบ้านเสมอ ในครอบครัวขยายที่อากงรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่มีลูกนับสิบคน จะมีลูกสาวสักคนที่โดดเด่นในเรื่องการบริหารจัดการชีวิตทั้งนอกและในบ้าน พร้อมเป็นแม่งานและผู้นำในทุกเรื่อง บ้างก็เป็นโสด บ้างก็มีคู่แต่ไม่มีลูก แต่พร้อมดูแลลูกของพี่น้องทุกคนในครอบครัว จนเป็นที่โปรดปรานของหลานๆมากกว่าพ่อแม่ตัวเอง
ฉันเข้าใจว่า ‘อาอี๊สุดแซ่บของหลาน’ เป็นตัวละครลับสุดพิเศษของครอบครัวคนจีนมาโดยตลอด จนกระทั่งไม่นานมานี้ที่เกิด #CoolAunt ในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะ TikTok ทำให้รู้ว่าอาอี๊ของพวกเราก็มีตัวตนในฝั่งตะวันตกด้วยเช่นกัน ทีแรกฉันคิดว่านี่จะเป็นการแทรกซึมซอฟต์พาวเวอร์ของโซเชียลมีเดียจีนอย่าง TikTok แต่จริงๆ แล้ว Cool Aunt น้าสาวสุดแซ่บของฝรั่งนั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ถึงขนาดมีชื่อเรียกในฐานะกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดเฉพาะที่เรียกว่าว่า PANK มานานกว่า 10 ปีแล้ว
PANK ย่อมาจาก Professional Aunt No Kids
แปลเป็นไทยได้ว่า ‘น้าสาวมืออาชีพไม่มีลูก’ ถูกใช้อย่างแพร่หลายและเป็นเรื่องเป็นราวจาก Melanie Notkin นักการตลาดสาวผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Savvy Auntie ที่นิยาม PANK ว่าหมายถึงกลุ่มประชากรหรือกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นผู้หญิงรายได้ดี มีหน้าที่การงานและฐานะทางการเงินที่มั่นคง ไม่มีลูกแต่ให้การดูแลเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของสมาชิกในครอบครัว โดยจากสถิติพบว่ามีผู้หญิงในอเมริกากว่า 1 ใน 5 อยู่ในกลุ่ม PANK
ปัจจัยการไม่มีลูกของ PANK แตกต่างกันไป ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกจะมีความสุขจากสถานะโสด บ้างก็เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ที่ได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น และส่วนหนึ่งก็เป็นผู้หญิงที่แต่งงานมีสามี แต่เลือกจะไม่มีลูกตามค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวเจนวาย
จากการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า บทบาทในครอบครัวที่ฝ่ายชายต้องทำงานนอกบ้าน และฝ่ายหญิงเป็นแม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ไม่ใช่สิ่งที่คนเจนวายต้องการ สำคัญกว่านั้นคือไม่ได้เหมาะกับสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่การสร้างรายได้และการประสบความสำเร็จในการทำงานก็เรียกร้องการทุ่มเทมากขึ้นเช่นกัน Asia money Guide สำรวจพบว่าในเอเชียการมีลูก 1 คน ต้องใช้เงินเฉลี่ยถึง 1.2 ล้านบาท
ในขณะที่การมีลูกหมายถึงค่าใช้จ่าย การไม่มีลูกนอกจากประหยัดกว่าแล้ว ยังหมายถึงรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อการไม่มีลูกทำให้สามารถโฟกัสกับงานและให้เวลากับการพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น กลุ่ม PANK มักให้ความสนใจกับการลงเรียนคอร์สออนไลน์ที่หลากหลาย มีเวลาในการดูแลตัวเองทั้งด้านสุขภาพและภาพลักษณ์บุคลิกภาพ เพิ่มโอกาสต่างๆ ในชีวิต PANK ในยุคโซเชียลมีเดียใช้เวลาในการทำคอนเทนต์และมีสถานะเป็นอินฟลูเอนเซอร์กันมากขึ้นด้วย
บทความหนึ่งของ Fobes ใน ปี 2017 ชี้ให้เห็นบทบาทของ PANK ที่สัมพันธ์กับเทรนด์ของธุรกิจสตาร์ตอัป โดยเฉพาะในอาเซียนว่า กลุ่มผู้หญิงที่เริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองจะมีเวลาใส่ใจกับแรงกดดันทางสังคมน้อยลง ค่านิยมหลักของชาวเอเชียที่บีบให้ต้องมีครอบครัวและมีลูกก่อนอายุ 30 ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องทุ่มเทเวลากับการหาคู่ครอง ซึ่งเบียดบังเวลาในการทำงานสร้างธุรกิจ ‘PANK’ จึงเป็นค่านิยมทางเลือกให้กับผู้หญิงที่ต้องการทุ่มเทให้กับการเป็นมืออาชีพและผู้ประกอบการ สำหรับผู้หญิงกลุ่มนี้ สตาร์ตอัปคือลูกที่พวกเธอเลือกที่จะฟูมฟักมาด้วยตัวเอง
PANK คือไลฟ์สไตล์ทางเลือกของผู้หญิงเอเชียที่ไม่อยากอีหลักอีเหลื่อจับปลาสองมือกับการรับผิดชอบในฐานะแม่และผู้หญิงทำงานพร้อมกัน แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่สามารถทำงานและเป็นแม่ไปพร้อมๆ กันได้ดีและประสบความสำเร็จ แต่โลกของการทำงานและธุรกิจในปัจจุบันนั้นช่างซับซ้อนและต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ต่างจากการเลี้ยงเด็กในฐานะพ่อแม่เลย
การทำทั้งสองอย่างพร้อมกันจึงเปรียบเสมือนกับต้องรับภาระหนักเป็น 2 เท่า ความพยายามในการสร้างความสมดุลของเงื่อนไขหฤโหดทั้งสองด้านนี้จึงมีผลเสียต่อคุณภาพชีวิตอย่างช่วยไม่ได้ เช่นการนำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาต์ และความเสี่ยงทางสุขภาพร่างกายต่างๆ
ทัศนคติในการหาความสุขที่เปลี่ยนไปก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ PANK เติบโต คนเจนวายให้ความสำคัญกับการได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย เช่น การท่องเที่ยว หรืองานอดิเรกที่เป็นความชอบเฉพาะมากขึ้น เว็บไซต์ท่องเที่ยว Trip advisor พบว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของนักเดินทางหญิงอยู่ในกลุ่ม PANK และมีการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทัศนคติที่อยากมีลูกไว้ดูแลในวัยชราก็เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่สนใจลงทุนใน Passive Income เพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณมากกว่า
ส่วนของชีวิตครอบครัว ค่านิยมดั้งเดิมโดยเฉพาะในเอเชียเชื่อกันว่า ผู้หญิงที่ไม่มีลูกจะมีชีวิตครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ นำมาซึ่งความรู้สึกเว้าแหว่งของผู้หญิงคนนั้น แต่ในความเป็นจริง PANK ในปัจจุบัน (หรือแม้แต่ในอดีต) ที่อยู่ในสถานะอาอี๊คนเก่งหรือ Cool Aunt ของหลานๆ นั้นมีข้อได้เปรียบที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่มี ซึ่งดีต่อทั้งตัว PANK เองและการพัฒนาการของเด็กๆ
ในขณะที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายหลักๆ ของเด็ก แต่ PANK สามารถใช้เงินเหล่านี้ได้อย่างอิสระและมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ซึ่งก็มีด้านดีสำหรับเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับเด็กๆ เพราะสำหรับพ่อแม่ค่าใช้จ่ายบางอย่างอาจจะถือว่าสิ้นเปลืองหรือแพงเกินไป ทำให้หลานๆ รู้สึกพิเศษทุกครั้งที่ได้รับของขวัญจากอาอี๊ของเค้า
ในฐานะน้าสาวหรือป้า PANK อยู่ในภาพลักษณ์และความสัมพันธ์พิเศษกับเด็กๆ ในฐานะผู้ใหญ่ที่รักและต้องการปกป้องดูแลเด็กๆ จากภัยอันตราย และไม่ได้ถูกแปะป้ายที่แสนเคร่งเครียดว่า ‘พ่อแม่’ ดังนั้นคำแนะนำต่างๆ ที่คุณมีให้กับเด็กๆ จะมีมู้ดที่แตกต่างจากพ่อแม่ไปโดยปริยาย และด้วยความคาดหวังที่น้อยกว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ ทำให้ความรักระหว่างน้าหลานมักจะมีเงื่อนไขน้อยกว่า แน่นอนว่าไม่แนบแน่นลึกซึ้งเท่า แต่ความผ่อนคลายยืดหยุ่นก็มาพร้อมกับบรรยากาศอบอุ่นซึ่ง healthy มากๆ สำหรับความรักของคนในครอบครัว
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องไม่จริงเลยที่คนไม่มีลูกจะขาดความรักจากเด็กๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวขยายแบบเอเชีย PANK คือค่านิยมที่เติมเต็มให้กับผู้หญิงรุ่นใหม่ ที่ healthy มากๆ สำหรับทั้งเด็กๆ และอาอี๊ทุกคน
Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก: