Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion

AIRism และ HEATTECH จาก Uniqlo เสื้อบางๆ ที่รื้อสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เป็นมหาอำนาจ

Fashion

มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นที่ถูกกฎระเบียบบริษัทบังคับให้ใส่สูทผูกเน็ก บีบอัดตัวเองขึ้นรถไฟใต้ดินไปทำงานไม่ว่าจะร้อนแซ่บแค่ไหน ส่งผลให้เกิดเสื้อผ้าเนื้อบางระบายอากาศ AIRism จาก Uniqlo และรัฐบาลฉวยโอกาสใช้แฟชั่นชุดทำงานลำลองเป็นตัวผลักดันพนักงานบริษัทให้ก้าวออกจากกรอบเดิมๆ การเปลี่ยนยูนิฟอร์มครั้งนี้สำคัญในระดับรื้อสร้างธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้เชียวหนา

ค่านิยมแห่งชาติ: ปลอดไว้ก่อน – หน้าไม่อาย

คติพจน์ประจำใจคนญี่ปุ่นก็คือ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ (อันเซ็นไดอิจิ anzen dai-ichi) นอกจากมีไว้เพื่อให้บ้านเมืองและสถานที่ทำงานปลอดภัยไร้อันตรายจากอุบัติเหตุและอาชญากรรม ช่วยคุ้มครองกลุ่มเสี่ยง อย่างคนงาน สตรี เด็ก และคนเดินถนนแล้ว คำขวัญประจำชาตินี้ยังทำให้องค์กรญี่ปุ่นจะทำอะไรทีต้องมีเอกสารมากมาย

มีคนลงนามกำกับยาวเป็นตับ และมีกระบวนการที่ยืดยาด แต่รัดกุมขั้นสุดเสียจนกระทั่งทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงช้าจนประเทศเกือบพังทลายในยุค 1990 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตช้าจนนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นทศวรรษแห่งความสูญเสีย (Lost Decade)

โปสเตอร์ในรถไฟใต้ดินญี่ปุ่น
โปสเตอร์ในรถไฟใต้ดินญี่ปุ่น

นอกจาก อันเซ็นไดอิจิ หรือ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ คนญี่ปุ่นยังใส่ใจเรื่องความเป็นระเบียบในที่สาธารณะและไม่ทำอะไรรบกวนคนอื่น แม้ในยามเกิดภัยพิบัติ แผ่นดินไหว สึนามิถล่ม บ้านเมืองหกคะเมนตีลังกา ขึ้นรถไฟฟ้า คนญี่ปุ่นยังคงเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ไม่โหวกเหวกโวยวาย นั่นเพราะคำบริภาษผู้อื่นที่รุนแรงที่สุดคำหนึ่งในญี่ปุ่นคือ ‘หน้าไม่อาย’ (haji-shirazu) การทำตัวน่าอายจะทำให้เสียหน้าและเป็นที่รังเกียจ

ไคชา: แบรนด์ญี่ปุ่นขวัญใจชาวโลก

ค่านิยมเหล่านี้ที่ถือปฏิบัติกันอย่างเข้มงวดส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งเมื่อญี่ปุ่นพยายามรื้อสร้างธุรกิจของประเทศหลังยุค 1990 เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค จำพวก ทีวี ตู้เย็น วิทยุ เครื่องซักผ้า ไปเป็นผู้ส่งออกสารเคมีและวัตถุดิบทำสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ จอภาพและเซมิคอนดักเตอร์

รัฐบาลและ ไคชา (kaisha) บริษัทญี่ปุ่นที่เคยกุมหัวใจผู้บริโภคทั่วโลกได้ อาทิ Sony, Hitachi, Panasonic, Toshiba ไปจนถึงผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Toyota, Honda, Nissan และ Mazda ซึ่งเจอคู่แข่งจากจีนและเกาหลีใต้ ใช้หลายวิธีการมากระแซะให้พนักงานออฟฟิศญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และโฟกัสที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ เช่น เปลี่ยนผังห้องทำงาน ให้เป็นฟลอร์โล่งกว้าง ทุกคนเห็นหน้าค่าตากัน มีมุมทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเป็นโต๊ะทำงาน แม้จะไม่ชิลเหมือนออฟฟิศ Google ที่หน้าตาอย่างกับสนามเด็กเล่น แต่ก็คล้ายคลึงกันตรงบรรยากาศผ่อนคลาย และอีกหนทางหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนยูนิฟอร์มพนักงานออฟฟิศ

AIRism จนถึง Cool Biz

ภาพมนุษย์เงินเดือนในสูท เสื้อเชิ้ต เน็กไทเต็มยศที่พยายามบีบอัดร่างเข้าไปในรถไฟฟ้าท่ามกลางอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ไปถึงออฟฟิศในสภาพอาบเหงื่อต่างน้ำ ส่งให้ Uniqlo ปิ๊งไอเดียผลิตไลน์เสื้อผ้าใหม่ที่เรียกว่า AIRism

AIRism – แอริซึ่ม เนื้อผ้าบาง ใส่แล้วเย็น ใช้เนื้อผ้าชนิดพิเศษ มีผิวสัมผัสเรียบลื่น ทำจากเส้นใยที่มีความบางขั้นเอ็กซ์ตร้าที่ดูดซับและระบายเหงื่อได้อย่างรวดเร็ว ช่วยช่วยระบายความชื้นและความร้อน ดูดซับเหงื่อ ลดความเหนียวเหนอะหนะและความรู้สึกร้อนอบอ้าว ทำให้รู้สึกแห้งสบายตลอดวัน

Uniqlo AIRism
Photo: Uniqlo

ในปี 2005 รัฐบาลนายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซูมิฉวยใช้แฟชั่นใหม่นี้ในการเปลี่ยนแปลงบริษัทต่างๆ ไปด้วยเลย จึงชูแผนรณรงค์ Cool Biz ว่าเป็นมาตรการประหยัดพลังงานเพื่อช่วยเศรษฐกิจของประเทศ บริษัทต่างๆ ออกนโยบายใหม่ให้ปรับสไตล์ยูนิฟอร์มพนักงานออฟฟิศไปตามสภาพอากาศ จากที่ทุกคนนิยมใส่สูทผูกเน็กไทกันก็ไม่ต้อง แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่เก่าแก่ก็อนุญาตให้พนักงานแต่งกายสไตล์ Cool Biz นี้ออกไปพบลูกค้าได้ด้วยซ้ำ

ถึงกระนั้น แผนกทรัพยากรบุคคลของญี่ปุ่นก็รู้จักคนทำงานของตนดีว่าอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแบบเข้มงวดมายาวนานจนแทบกระดิกตัวเป็นอื่นไม่ได้ จึงต้อง ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ โดยจัดประชุมแถลงกฎระเบียบใหม่เรื่องเครื่องแต่งกายที่อนุญาตให้ใส่ได้ออย่างเป็นทางการแก่พนักงานทุกคน

แผนรณรงค์ชุดทำงานลำลอง

Cool Biz กระตุ้นธุรกิจชุดทำงานสไตล์ลำลองให้เฟื่องฟูลอย ซึ่งตามมาด้วย Warm Biz ชุดทำงานลำลองที่ใส่แล้วอุ่นสำหรับฤดูหนาว ซึ่งรวมไปถึง Uniqlo ที่ทำ HEATTECH – ฮีทเทค เสื้อผ้าเนื้อบาง ใส่แล้วอุ่น เส้นใยดูดซับและแปลงไอน้ำที่ร่างกายขับออกมา เช่น เหงื่อ ให้กลายเป็นความร้อนสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย ขณะเดียวกันเนื้อผ้ายังดูดซับและระบายความชื้นได้ดี จึงรู้สึกแห้งสบายตัวตลอดเวลาที่สวมใส่

Uniqlo HEATTECH
Uniqlo HEATTECH
Photo: Uniqlo

หลังจากหายนภัยสึนามิถล่ม เกิดการระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะในปี 2011 รัฐบาลญี่ปุ่นเข็นแผนรณรงค์ใหม่ Super Cool Biz ที่อนุญาตให้พนักงานสวมเสื้อโปโลไปทำงานได้

จนมาถึงปี 2020 มนุษย์เงินเดือนในบริษัทญี่ปุ่นก็แทบไม่มีใครผูกเน็กไทกันแล้ว แฟชั่น Cool Biz จึงมีบทบาทสำคัญในการรูดม่านปิดยุคสมัยที่พนักงานออฟฟิศจำต้องทำตามกฎระเบียบองค์กรที่บังคับให้ใส่สูทผูกเน็กไทเป็นเครื่องแบบ ทั้งยังส่งผลให้เกิดแฟชั่นชุดทำงานที่หลากหลายขึ้น ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และตัวตนของมนุษย์แต่ละคน ที่มิใช่เป็นเพียงภาพเหมารวมที่กลืนกินความเป็นปัจเจกชนออกไป

การเปลี่ยนแปลงยูนิฟอร์มของพนักงานญี่ปุ่นนี้กินเวลายาวนานมาก หากแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ อย่างนุ่มนวลและแน่วแน่

Words: Suphakdipa Poolsap

ข้อมูลจาก: หนังสือ The Business Reinvention of Japan: How To Make Sense of The New Japan and Why It Matters โดย Ulrike Schaede หรือฉบับแปลภาษาไทย ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก สำนักพิมพ์ อมรินทร์ How To

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม