สัญลักษณ์ทำพิษอีกแล้ว สำหรับพรรคส้มๆ อดีตอนาคตใหม่ที่เคยโดนร้องเรียนเรื่องโลโก้สามเหลี่ยมไปละม้ายคล้ายสัญลักษณ์สมาคมลับอิลลูมินาติ มาคราวนี้หลังจากเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกลก็ไม่วายมีปัญหาเชิงสัญลักษณ์อีก เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กตต.ส่งหนังสือสอบถามถึงโพสต์ของพรรคที่ปรากฏสัญลักษณ์ค้อนเคียว ส่อว่าอาจสื่อไปทางกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง
หลายคนรวมทั้งผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังกตต. อาจมองว่า ค้อนเคียวคือสัญลักษณ์ของระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ก่อนที่ประเทศคอมมิวนิสต์จะหยิบค้อนเคียวไปใช้ในธงชาติและสื่อโฆษณาชวนเชื่อ เคียวและค้อนคือสัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงคนธรรมดาที่เป็นแรงงาน เคียวหมายแทนถึงผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรม และค้อนเป็นตัวแทนของแรงงานภาคอุตสาหกรรม การไขว้กันสื่อถึงความร่วมแรงร่วมใจของทั้งสองภาคการผลิต
สัญลักษณ์ค้อนเคียวเป็นองค์ประกอบที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะและงานดีไซน์หลากหลายรูปแบบ แน่นอนว่าในสื่อโฆษณาชวนเชื่อสุดโต่งอย่างคอมมิวนิสต์จีน/รัสเซีย จนถึงสื่อสาธารณะทั่วไปของสังคมนิยมรัฐสวัดิการกรุบกริบหวานเย็นในสแกนดิเนเวีย และหนึ่งในศิลปินที่หยิบเอาค้อนเคียวมาใช้ก็คือ Andy Warhol เจ้าพ่อแห่งป๊อปอาร์ต
ภาพชุด Hammer and Sickle ของแอนดี้ วอร์ฮอล ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี 1976 หลังจากที่เขาเดินทางไปอิตาลีในช่วงที่การประท้วงของขบวนการฝ่ายซ้ายกำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศ กราฟิตีรูปค้อนเคียวปรากฎอยู่ทั่วทุกมุมถนน วอร์ฮอลมองภาพนี้ในฐานะศิลปะป๊อป หรือภาพสัญลักษณ์ที่มวลชนผลิตซ้ำไปมาด้วยเจตจำนงบางอย่าง สื่อถึงสำนักรวมหมู่ที่ก่อตัวในกลุ่มคนหมู่มาก
หลังจากกลับมาถึงสหรัฐ วอร์ฮอลจึงรวบรวมตัวอย่างภาพค้อนเคียวจากหนังสือและงานอ้างอิงจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธงและสื่อโฆษณาของประเทศสังคมนิยม เขามองว่าภาพที่รวบรวมมายัง “แบน” เกินไป และต้องการความแตกต่าง จึงให้ผู้ช่วยของเขา Ronnie Cuttrone หาซื้อค้อนสองหัวและเคียวมาจากร้านขายเครื่องมือช่างแถวบ้าน นำมาจัดวางในหลากหลายมุม แล้วถ่ายเป็นภาพด้วยกล้องถ่ายรูป ก่อนจะลงสีเพื่อเติมอย่างฉูดฉาดด้วย สีแดง ขาว ดำ แล้วผลิตออกมาเป็นงานภาพพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา
ภาพพิมพ์ชุดนี้ถูกจัดแสดงภายใต้ชื่อ Still Life ที่แกลเลอรี Leo Castelli เมืองนิวยอร์กในปี 1977 ด้วยบรรยากาศของยุคสงครามเย็น วอร์ฮอลปฏิเสธความเชื่อมโยงทางการเมืองใดๆที่มีต่องานของเขา
อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่งานชิ้นเดียวของวอร์ฮอลที่มีองค์ประกอบจากฝ่ายสังคมนิยม โดยในปี 1972-1973 วอร์ฮอลผลิตภาพพิมพ์ เหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกมาถึง 199 ภาพ ในขนาดแตกต่างกันถึง 5 ไซซ์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการเยือนจีนของ Richard Nixon ประธานาธิบดีสหรัฐในปี 1972 และในช่วงบั้นปลายของชีวิต วอร์ฮอล ยังสร้างงานชุดภาพเหมือน Vladimir Lenin ผู้นำคนแรกของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นงานชุดสุดท้ายก่อนที่วอร์ฮอลจะเสียชีวิตไม่นาน
ในทางกลับกัน ความเป็นป๊อปอาร์ตในงานของวอร์ฮอลก็มีองค์ประกอบระบอบทุนนิยมด้านตรงข้ามของสังคมนิยมอย่างชัดเจน เช่น ภาพพิมพ์กระป๋องซุปแคมป์เบลอันลือลั่น หรือผลงานจำนวนมากที่เป็นภาพเหมือนบุคคลของไอคอนในวัฒนธรรมอเมริกัน อาทิ Elvis Presley ราชาร็อกแอนด์โรลม, Marilyn Monroe นักแสดงตำนานของฮอลลีวูด หรือ Jackie Kennedy ภริยาของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy นอกจากนั้นยังมีผลงานอีกหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์ทางสังคม อาทิ ภาพการล่าสังหารคนผิวดำ ภาพเก้าอี้ไฟฟ้า และภาพระเบิดปรมาณู เป็นต้น
การตีความความหมายทางการเมืองในผลงานของแอนดี้ วอร์ฮอลอาจไม่ใช่เรื่องที่หาข้อสรุปชัดเจนได้ เราคงไม่อาจฟันธงได้ว่าวอร์ฮอลเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิทางการเมืองแบบไหนในบริบทนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจากภาพรวมก็คือ งานของเขาสะท้อน “สิ่งที่น่าสนใจ” ของวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งประเด็นการเมืองก็มีบทบาทอยู่อย่างสม่ำเสมอ
การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของ Pop Culture เสมอ ไม่ว่าใครจะอยากให้มันเป็นหรือไม่ก็ตาม
Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก