ด้วยประสบการณ์ในสายงานบริการร่วมสองทศวรรษ คุณกบ – อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นำมาต่อยอดด้วยการเปิด Soul Service Design บริษัทให้คำปรึกษาและอบรมการให้การบริการที่เป็นเลิศ การปรับเปลี่ยน Mindset เพื่อให้พนักงานหรือองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการจัดหลักสูตรเทรนนิ่งให้องค์กรต่างๆ ได้แก่ Empathic Leadership, Organization Behavior, Collaborative Culture, Empathic Communication and Complaint Handling
การเป็นเทรนเนอร์อบรมผู้คนต่างรุ่นต่างวัยให้กับองค์กรหลายแห่ง ทำให้ LIPS ชวนเธอมาพูดคุยถึงการทำงานร่วมกันของคนหลายเจเนอเรชั่น ซึ่งถือเป็นอีกความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเจอ มาดูกันว่าเธอมีคำแนะนำวิธีการรับมืออย่างไรบ้าง
“เจ้าของเป็นยังไง ลูกน้องเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น หากเป็นหัวหน้า จงเลือกคนที่ใช่ ส่วนพนักงาน จงพาตัวเองไปอยู่ให้ถูกที่”
LIPS: Generation Gap ปัญหาสุดคลาสสิกที่ทุกองค์กรต้องเจอ ทำอย่างไรให้คนต่าง Gen ทำงานด้วยกันได้
อาภาศิริ: สิ่งแรกเลยคือต้องเปิดใจเข้าหากัน รับฟังความเห็นของผู้อื่น การทำงานร่วมกับคนหลายเจนเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะแต่ละคนมีมุมมองต่างกัน เหมือนเราได้มีคนช่วยคิดหาทางออกในหลายๆ ทาง ทำให้การตัดสินใจจะทำอะไร เราจะมีมุมมองที่หลากหลาย แล้วเราก็แค่เลือกอันที่คิดว่าดีที่สุด
LIPS: วัยมีผลกับการเปิดใจไหม
อาภาศิริ: ไม่เลย เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากๆ อย่างกบอายุ 50 กลุ่มคนที่เราสอนมีตั้งแต่เฟรชชีปี 1 ไปถึงวัยทำงาน บางคนอาจมองกบเป็นผู้หญิงอายุ 50 ที่แก่ไปสักนิด (ยิ้ม) ในขณะที่อีกคนอาจนึกถึงประสบการณ์ชีวิตที่กบผ่านมา ซึ่งแล้วแต่เลยว่าแต่ละคนจะคิดหรือมองยังไง แต่ตัวกบเองจะเปิดใจให้ทุกคน เพราะเชื่อว่าทุกคนมีมุมมองของตัวเองที่อาจจะต่างจากเรา หรืออาจมีมุมที่เราคิดไม่ถึงเลยก็ได้
LIPS: ถ้าอย่างนั้นการเปิดใจขึ้นอยู่กับอะไร
อาภาศิริ: อยู่ที่การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ว่าเติบโตมาในบรรยากาศแบบไหนในบ้าน ถ้าบ้านไหนพ่อแม่รับฟังลูก หลานเคารพความคิดปู่ย่าตายาย ไม่ดูถูกความคิดใคร เป็นเรื่องของ Mindset เลย ส่วนตัวคิดว่าคนที่มีลูกมีแนวโน้มที่จะเปิดใจให้คนที่อายุน้อยกว่าได้ง่ายขึ้น เพราะการมีลูก ทำให้เราใกล้ชิดกับเด็ก แล้วเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมกับการเติบโตของเขา
นอกจากนี้ ยังมีความรู้สึกเอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลานด้วยที่ช่วยให้เราพร้อมจะเข้าใจและรับฟังมากขึ้น อย่างตอนที่กบเปิดอาทิตย์ธารา (บ้านพักริมแม่น้ำบางปะกง จ.ปราจีนบุรี ธุรกิจที่คุณกบกับสามี คุณอ๊าร์ต – ม.ล.อภิชิต วุฒิชัย ช่วยกันทำแต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเจ้าของแล้ว) ลูกกบอยู่นิเทศฯ ปี 1 หรือปี 2 นี่ล่ะ ลูกบอกว่า ‘แม่ต้องเปิดไอจีนะ’ ย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว อินสตาแกรมเป็นเรื่องใหม่มากนะ แต่ก็เชื่อลูก เขาก็คอยแนะนำโน่นนี่ให้เรา เพราะเห็นเรารับฟังความคิดของเขา กบมองว่า การเปิดใจรับฟังกันไม่เห็นมีข้อเสียอะไรเลย
“ต้องเลือกคนที่ใช่และเหมาะกับองค์กร ถ้าเราเลือกคนถูก ยังไงเขาก็เปิดใจและปรับตัวได้”
LIPS: ในมุมกลับกัน ทำอย่างไรให้รุ่นใหม่เห็นคุณค่าหรือยอมรับประสบการณ์ของรุ่นใหญ่
อาภาศิริ: สมมติว่าเด็กเสนออะไรมาแล้วเราไม่เห็นด้วย ต้องพูดจากันดีๆ ด้วยเหตุผลว่าเพราะอะไร แล้วเขาจะรับฟัง ต้องไม่บังคับให้เขาต้องเชื่อฟังหรือทำในสิ่งที่เราต้องการ ให้เวลาเขาได้กลับไปคิดทบทวนไตร่ตรองด้วยตัวเอง กบมีคำแนะนำเป็นทริกเล็กๆ ว่า เราต้องมีทั้ง Yes และ No ให้เขา เพราะถ้าเราปฏิเสธความคิดเด็กทุกอย่าง ก็จะถูกมองว่า ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง ต้องให้เขารู้ว่าเราเปิดรับความคิดเขานะ อันไหนไม่เวิร์กก็บอกกันตรงๆ ด้วยเหตุผล หรือมีจุดไหนที่ควรเพิ่มเติมหรือปรับลดอะไรลง ก็ให้โอกาสเขากลับไปแก้ไขก่อ อย่าปิดประตูเลย เพื่อให้เขารู้สึกว่าเราเปิดใจให้จริงๆ
LIPS: รุ่นใหญ่มักมาพร้อมบทบาทหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา
อาภาศิริ: ถ้าเราไปอยู่ในบริษัทที่รุ่นใหญ่ทำตัวเป็นไม้แก่ดัดยาก ที่ตั้งแง่มีอคติไว้ก่อนเลยว่า เด็กประสบการณ์ต่ำ ไม่น่าจะเวิร์ก สิ่งแรกที่ต้องทำเลย ก็คือ ‘ทำใจ’ แต่ถ้าโชคดีได้เจอผู้ใหญ่ที่เปิดใจ ลูกน้องไม่ว่าจะวัยไหนก็จะกล้าพูดคุยด้วยมากขึ้น เพราะอย่างพี่กบเองที่อายุ 50 ตอนประชุมกับผู้ใหญ่ก็ยังมีเกร็ง จะเริ่มคิดว่าเขาจะเข้าใจสิ่งที่เราพูดไหม มีความกังวลใจบ้าง ฉะนั้น เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเกรงเกร็งถ้าต้องทำงานกับรุ่นใหญ่ ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ แต่เมื่อไหร่ที่เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่คนนี้รับฟัง เขาจะกล้าพูดสิ่งที่เขาคิด มาขอคำปรึกษา และเห็นประโยชน์ของคำแนะนำที่มาจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่
LIPS: เทรนด์ Young Millennials บอสใหม่วัยละอ่อนกับสังคมไทยที่ยังติดกับค่านิยมความอาวุโสอยู่
อาภาศิริ: ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ไม่คิดเรื่องอาวุโสเลย เขาจะเลือกนับถือคนที่คุยกับเขารู้เรื่อง ดูที่ความสามารถ ความรู้ที่คนนั้นมี อายุไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ฉะนั้น เมื่อผู้ใหญ่ต้องกลายเป็นลูกน้อง ก็ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่สั่งสมมา แสดงให้เด็กเห็น เมื่อเขายอมรับยอมศิโรราบแต่โดยดี สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารกันด้วยเหตุผล ว่ากันด้วยเรื่องงาน และให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะช่วยให้ทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่น
LIPS: บาลานซ์ความรู้สึกทุกเจนอย่างไร ให้รู้สึกว่าพนักงานทุกวัยสำคัญสำหรับองค์กร
อาภาศิริ: ถ้าคนเรามี Empathy ทุกอย่างจะไม่มีปัญหา เด็กบางคนที่ไม่เปิดใจ ไม่มีความรักให้ผู้ใหญ่ ปิดกั้นตัวเอง เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บางคนก็ใช้แต่อำนาจ ยึดติดกับความอาวุโสกว่า โดยไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น พูดจาไม่ดี ดังนั้น ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเมตตา เอื้ออาทรกัน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ถ้ามีคุณสมบัตินี้ในตัวเอง จะอยู่ จะทำงานกับใครก็ได้ กบขอยกตัวอย่างองค์กรหนึ่งที่เคยเจอ คือ โรงพยาบาลสัตว์ Animal Space ที่นี่มีคนทำงานวัยตั้งแต่ 20-40 ทุกคนทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข เพราะใช้การปรับตัวเข้าหากันด้วยความเข้าใจ
“เราต้องมีทั้ง Yes และ No ให้เขา เพราะถ้าเราปฏิเสธความคิดเด็กทุกอย่าง ก็จะถูกมองว่า ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง ต้องให้เขารู้ว่าเราเปิดรับความคิดเขา”
LIPS: วิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร
อาภาศิริ: สำหรับองค์กร จุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการการทำงานร่วมกันของคนหลายเจน อยู่ที่วิสัยทัศน์ผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของบริษัทเลยว่าเป็นคนยังไง ต้องการพนักงานแบบไหน และต้องเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับบรรยากาศการทำงานว่าต้องเป็นไปด้วยความรัก ความเข้าใจกัน ทำงานเป็นทีม มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะถ่ายทอดมายังฝ่าย HR ซึ่งมีหน้าที่คัดสรรบุคลากรขององค์กร หากผู้บริหารเลือก HR ได้ถูกต้องถูกคนแล้ว องค์กรก็จะเป็นไปอย่างที่อยากให้เป็น เพราะ HR จะคัดสรรพนักงานที่ตรงกับความต้องการของผู้บริหาร ทั้งนี้ HR มืออาชีพจะมีทักษะการสัมภาษณ์ที่ดี แค่พูดคุยกันก็พอจะรู้เลยว่า คนคนนั้นเป็นอย่างไร เหมาะกับตำแหน่งที่เปิดรับหรือไม่
LIPS: เกิดจับพลัดจับผลู เคราะห์หามยามซวย หลุดเข้าไปอยู่ในองค์กรที่ไม่ใช่ควรทำอย่างไร
อาภาศิริ: ถ้าให้ตอบจริงๆ ก็ต้องบอกว่า “ตัวใครตัวมันล่ะ” ใครโชคดี ได้ทำงานในองค์กรที่ระบบดี ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ ต่อให้เป็นบริษัทมหาชน ถ้า HR ไม่เก่ง เทรนนิ่งไม่เจ๋ง การทำงานก็มีปัญหาได้ ซึ่งกว่าจะรู้ก็อาจจะเข้าไปทำงานแล้ว เพราะบริษัทเล็กจะดูง่ายหน่อย แค่ดูที่เจ้าของกับ HR ก็พอจะบอกได้
หลายคนเมื่อมีปัญหาในการทำงานกับคนต่างเจน เลือกที่จะทน มีทั้งตั้งใจปรับปรุงตัวเองและตั้งความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร กบขอบอกว่า ปัญหามีไว้แก้ ถ้าแก้ไม่ได้ นั่นไม่ใช่ปัญหา ถ้าต้องเจอแบบนี้ คิดว่าการถอยและโบกมือลาน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เปลี่ยนที่ทำงาน หางานใหม่ทำเลย แต่จะให้ดีควรดูลาดเลาก่อนเข้าไปทำงานน่าจะดีกว่า ด้วยการศึกษาวิสัยทัศน์ผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจ
เจเค โรว์ลิง และ รอเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์
LIPS: รู้สึกอย่างไรกับข้อกล่าวหาเหมารวมว่า ‘เด็กยุคนี้….’
อาภาศิริ: เคยได้ยินหลายคนมักพูดว่า เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยอดทน เปลี่ยนงานบ่อย แต่ถ้าเราดูจริงๆ เด็กสมัยนี้เขาตั้งใจทำงานกันจริงจังมาก ยิ่งคนที่ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าตั้งแต่อายุยังน้อย จะยิ่งตั้งใจทำงานมากขึ้นไปอีก เพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง กบเชื่อว่า เด็กทุกคนเมื่อได้รับโอกาส เขาจะตั้งใจทำให้ดีที่สุดอยู่แล้ว อาจจะมีส่วนน้อยที่ไม่เป็นแบบนั้น หรือที่บอกว่า เด็ก เจนนี้ทำงานเป็นทีมไม่เป็น มันก็ไม่ใช่ทุกคน ฉะนั้น จะพูดเหมารวมแบบยกเจนไม่ได้ ต้องดูกันเป็นคนๆ ไป จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เห็นมาเยอะหลายองค์กร ต้องบอกว่า ก็จะวนกลับไปที่วิสัยทัศน์ของผู้นำ และความสามารถในการคัดเลือกคนของ HR อย่างที่บอกไว้
“หลายคนมักพูดว่า เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยอดทน เปลี่ยนงานบ่อย แต่จริงแล้วเขาตั้งใจทำงานมาก เพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง”
LIPS: เมื่อไรที่รู้สึกว่ามีปัญหาการทำงานร่วมกับผู้อื่น ควรทำอย่างไร
อาภาศิริ: ถ้าเป็นตัวเอง หากมีปัญหากับใครจะเดินเข้าไปถามตรงๆ เลยกับคู่กรณี ถ้าเขาบอกว่ามี ก็ง่ายเลย เราก็แค่หาทางแก้ไขด้วยกัน แต่ส่วนมากจะปฏิเสธว่าไม่มีทั้งที่จริงๆ แล้วมี ถ้าเป็นแบบนี้ กบจะถามตัวเองว่า ถ้ายังทำงานที่นี่ เราจะมีความสุขไหม เพราะเป็นคนไม่ยอมเสียเวลากับเรื่องแบบนี้ ถ้าไม่เวิร์กจริงๆ ก็ลาออกไปเลยดีกว่า
LIPS: แล้วถ้า ‘งาน’ ถูกใจใช่เลย แต่ติดปัญหาที่ ‘คน’ ล่ะ
อาภาศิริ: ต้องชั่งใจว่าอะไรคือความสุขกว่ากัน อยู่หรือไป เมื่อไรที่อยู่แล้วทุกข์ อย่าไปอยู่เลย หางานใหม่ดีกว่า ชีวิตคนเรามันสั้น คิดแบบนี้มาตลอดชีวิตการทำงานของตัวเอง จะถามอาภาศิริตอน 25 หรือ 50 ก็ยังตอบแบบนี้ และไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็คงตอบเหมือนเดิม จริงๆ เคยอยู่ในบริษัทที่ให้เงินเดือนดีมาก แต่เราไม่แฮปปี้ สุดท้ายตัดสินใจลาออกอย่างไม่ลังเลเลย เพราะเงินเป็นปัจจัยรองสำหรับตัวเอง ความสุขในการทำงานสำคัญกว่า
LIPS: เมื่อ ‘วัย’ กลายเป็นกับดักรุ่นใหญ่ให้กลัวการเปลี่ยนแปลง ยิ่งในยุคที่หลายวงการถูก Disrupt จากเทคโนโลยี ความถนัดที่เคยเก่งอาจไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไปแล้ว
อาภาศิริ: มีสองทาง อย่างแรกต้องประเมินตัวเองว่าสามารถปรับตัวได้ไหม หากกลัวกับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ถ้าทำได้ก็จบ หรือสอง ถ้าเรามั่นใจในความสามารถของตัวเอง ก็ไม่เห็นต้องกลัวเลย เสี่ยงก็ต้องเสี่ยง ยิ่งคนที่มีอายุ อย่าลืมว่า วัยก็มาพร้อมประสบการณ์ เพราะถ้าต้องทนทำงานอยู่ด้วยความเครียด กบว่าไม่คุ้ม เพราะความเครียดและความทุกข์จากที่ทำงานมักตามเรากลับบ้านด้วยเสมอทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ที่สุดอาจได้โรคซึมเศร้าแถมมาอีก
แฮร์รี สไตล์ส และริฮานน่า
LIPS: การหัวหน้าที่บริหารจัดการลูกน้องต่างเจนควรทำอย่างไร
อาภาศิริ: การเป็นหัวหน้างานที่ดีต้องเสียสละมากๆ ต้องรักลูกน้องทุกคนเท่ากัน ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง การเป็นผู้นำมืออาชีพต้องยุติธรรม เพราะต้องบริหารทีม ลูกน้องทุกคนต้องรู้ว่าเจ้านายคนนี้จะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ เป็นที่พึ่งพา คอยซัพพอร์ต ใส่ใจดูแล
คนที่เป็นหัวหน้าทีมต้องคอยสังเกตดูความเป็นไปในทีม หากมีปัญหากัน ต้องเคลียร์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ อาจจะนัดกินข้าวกัน เพื่อหาโอกาสให้ปรับความเข้าใจกัน ต้องแสดงให้ลูกน้องเห็นว่า เราต้องเห็นอกเห็นใจกัน ที่สำคัญต้องจริงใจ พูดจาดี พูดตรงจริง ไม่โกหก ต้องมืออาชีพมากๆ ถึงจะเอาทีมอยู่
กบมองว่า ถ้าทีมไม่รักกัน ผลงานก็ออกมาไม่ดี แม้จะบรรลุเป้าหมาย แต่อาจจะดีกว่านี้ก็ได้ หรือถ้าต้องตีรันฟันแทงเพื่อให้ทำงานได้ตามเป้า แบบนี้กบก็ไม่เอา เราไม่ต้องการทีมแบบนี้ ไม่ต้องการบริหารแบบนี้ เราต้องการให้คนอยู่ในองค์กรรักกัน กบเลือกที่จะออกมากกว่า แต่ก็แล้วแต่ว่าใครต้องการอะไร
อย่างกบถ้าเปิดบริษัท อยากให้พนักงานรักกัน ผลกำไรมากน้อยไม่เป็นไร แต่ถ้าต้องแก่งแย่งกันในองค์กร ทำงานอย่างไม่มีความสุขก็ไม่รู้จะเปิดบริษัททำไม เพราะกบมองว่ามันเกี่ยวโยงไปถึงครอบครัวของแต่ละคนด้วย ถ้าพนักงานทำงานแล้วไม่มีความสุข กลับบ้านไปด้วยความทุกข์ ก็จะต้องไปถึงครอบครัวเขาด้วย กบไม่ได้ต้องการบริษัทแบบนี้
“คนที่เป็นหัวหน้าทีมต้องคอยสังเกตทีม ที่สำคัญต้องจริงใจ พูดจาดี พูดตรงจริง ไม่โกหก ต้องมืออาชีพมากๆ ถึงจะเอาทีมอยู่”
LIPS: อยากให้เล่าประสบการณ์การทำงานที่อาทิตย์ธารา
อาภาศิริ: กบกับพี่อ๊าร์ตตั้งใจไว้ว่า ต้องการให้แขกที่มาพักมีความสุข ฉะนั้น เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้แขกที่จ่ายเงินมาพักกับเรามีความสุขที่สุดในช่วงที่อยู่กับเรา การเลือกคนมาทำงานด้วย กบเลือกคนที่มีความรักให้คนอื่น มีความจริงใจ พูดจาดี โดยดูจากการสัมภาษณ์ เรายกเคสต่างๆ เพื่อดูว่าเขาจะตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไง รวมถึงมีการให้ทดลองงานว่าทำได้จริงอย่างที่พูดไหม
วันแรกที่โรงแรมเปิด กบจะอยู่ข้างๆ เขาเลย อย่างการสอนเขาทำห้อง กบคิดว่าการจะสอนใคร เราต้องทำเป็น ตอนน้องจะเสิร์ฟอาหาร กบก็ยืนเสิร์ฟกับเขาเลย ถ้าแขกแต่ละโต๊ะต้องการของต่างกัน โต๊ะนี้ต้องการน้ำแข็งกับน้ำอัดลม โต๊ะนั้นต้องการข้าวเพิ่ม โต๊ะโน้นอยากได้น้ำจิ้มซีฟู้ด กบจะแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนแยกไปหยิบ แล้วมาเจอกัน เพื่อนำไปเสิร์ฟ เพื่อสอนน้องว่าถ้าเขาเจอสถานการณ์แบบนี้ต้องจัดการยังไง ตลอดสามเดือนแรก กบอยู่เคียงข้างลูกน้องตลอด เพื่อให้เขารู้ว่าเราไม่ทิ้งให้เขาเผชิญอยู่คนเดียว
ครั้งหนึ่งมีลูกค้าที่ขอกินอาหารเช้าก่อนเวลา เพราะตั้งใจไปทำบุญ กบก็บอกแม่ครัวว่าถ้าไม่ไหวให้แจ้ง แล้วกบจะมาเตรียมขนมปังปิ้งให้ลูกค้าก่อน ปกติกบให้แม่ครัวมา 8 โมง เพราะต้องทำอาหารเสิร์ฟแขกมื้อดินเนอร์ด้วย แต่สุดท้ายแม่ครัวเลือกเข้างานก่อนเวลา เพราะเขารับรู้ว่าทุกๆ ความเหนื่อยยาก เราอยู่เคียงข้างเขา เราไม่ทิ้งเขา ถ้าลูกน้องต้องตื่นเช้า กบก็ตื่นด้วย สิ่งนี้ทำให้ทีมงานรักกัน
เกรต้า ธันเบิร์ก และแอล แฟนนิ่ง
LIPS: เตรียมความพร้อมให้ลูกยังไงกับการก้าวสู่การทำงานที่มีคนหลายเจน
อาภาศิริ: บอกลูกว่า คนเราไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องมีความรักความเมตตา ให้กับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง และต้องมีแพสชั่นในการทำงาน ผลงานจะได้ออกมาดีที่สุด แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าเราต้องมีสมองและมีปัญญาด้วยว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ
สุดท้ายกบขอสรุปหลักการทำงานร่วมกับคนหลายเจเนอเรชั่น คือ ต้องเปิดใจก่อน เพื่อเข้าใจในความต่างของกันและกัน
รุ่นใหญ่กลุ่ม Baby Boomer (เกิดช่วง พ.ศ. 2489-2507) ชอบการคุยกันแบบเจอตัวเห็นหน้ากัน
Gen X (เกิดช่วง พ.ศ.2508-2522) ชอบงานที่เปิดโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมากกว่าถูกกะเกณฑ์
Gen Y (เกิดช่วง พ.ศ.2523-2540) ปรารถนาความอิสระ ไม่ชอบกฎระเบียบเข้มงวด
Gen Z (เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2540 เป็นต้นไป) จะมีความมั่นใจในตัวเองสูง เรียนรู้เร็ว เก่งเทคโนโลยี เมื่อเข้าใจแล้วจะปรับตัวเข้าหากันได้ตรงจุดและง่ายขึ้น
ที่สำคัญต้องเลือกคนที่ใช่และเหมาะกับองค์กร ถ้าเราเลือกคนถูก ยังไงเขาก็เปิดใจและปรับตัวได้ เจ้าของเป็นยังไง ลูกน้องเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น หากเป็นหัวหน้า จงเลือกคนที่ใช่ ส่วนพนักงาน จงพาตัวเองไปอยู่ให้ถูกที่ เพราะทฤษฎีบางทีก็เป็นแค่ฮาวทู
Words: Rattikarn Hana