อาคารแห่งนี้เดิมคือที่อยู่อาศัยของคุณพระเจริญวิศวกรรม หรือ เจริญ เชนะกุล อดีตคณบดีคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นบิดาแห่งวิศวกรไทย ทั้งยังเป็นบ้านหลังแรกบนถนนสุขุมวิทที่ครอบครองสถานะบ้านเลขที่ 1 ก่อนที่ความเจริญจะขยายตัวจนสถานที่แห่งนี้กลายเป็นบ้านเลขที่ 67 แทน
ปริย เชนะกุล ภูมิสถาปนิกผู้เป็นทายาทรุ่นที่สามของครอบครัว มีความประสงค์จะอนุรักษ์อาคารหลังนี้เพื่อเป็นตัวอย่างทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม วิศกรรม และภูมิสถาปัตยกรรม จึงได้ปรับปรุงและก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม และเปิดให้บริการในฐานะบูทีคโฮเทลภายใต้ชื่อว่า อริยาศรมวิลล่า (AriyasomVilla) ที่ปัจจุบันดำเนินกิจการมายาวนานถึง 11 ปี ทายาทรุ่นที่สามผู้นี้เลือกที่จะอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวให้คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด ด้วยความตั้งใจที่จะเผยแพร่ความงามของสถาปัตยกรรมยุคอดีตกาลแก่สาธารณชน
“เราสร้างโรงแรมแห่งนี้ให้สอดคล้องกับแนวทางเดิมของบ้าน โดยเลือกที่จะทิ้งสเปซไว้ให้คนได้หายใจ ไม่รู้สึกบีบคั้นอึดอัด เนื้อที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินจึงเป็น open space อีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นอาคาร หลายคนคิดว่าเราต้องมีอย่างน้อย 5 ไร่
ถึงจะเหลือสัดส่วนได้ประมาณนี้ แต่จริงๆ เรามีแค่ไร่ครึ่ง”
โครงสร้างที่แข็งแรง และประณีต
“ในส่วนของอาคารเก่า 3 ชั้น เราเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา ทาสีใหม่ ปรับสภาพให้ดูดี ซึ่งด้วยความที่คุณปู่เป็นบิดาวิศวกรไทย ในแง่โครงสร้างบ้านหลังนี้จึงไม่มีแม่แต่ hairline crack (รอยแตกร้าวขนาดเล็ก) คุณปู่ยังใช้บ้านหลังนี้เป็นกรณีศึกษาให้นิสิตมาดูงานระหว่างการก่อสร้าง ทั้งยังมอบหมายให้คุณย่าเป็นโฟร์แมน ซึ่งคุณย่าเป็นคนที่ระเบียบมาก คนสมัยโบราณระเบียบมากทุกคน เวลาจะเทปูน กรวดทุกบุ้งกี๋ต้องล้างกันเป็นอย่างดี ห้ามมีเศษดินหรือเศษอะไรเลย เพราะจะทำให้ปูนไม่แข็งแรง ไม่เกาะตัวกันดี แล้วไม้ทุกแผ่นในนี้เป็นไม้สัก คุณย่าต้องไปเลือกที่โรงเลื่อยด้วยตัวเองทุกกระดาน จึงไม่มีตาไม้หรือกระพี้ให้เห็น”
หลังคาสูงปลายโค้ง อันเป็นกลิ่นอายของบ้านไทยสมัยโบราณ
“หลังคาโค้งๆ นั่นเป็นรอยต่อของสถาปัตยกรรมจากบ้านไม้ฝาปะกนมาเป็นบ้านปูน ก่อนจะเป็นบ้านปูนทั้งหลังแบบ
ยุคปัจจุบัน แล้วบ้านไทยสมัยก่อนตรงไหนมีช่องเปิด ตรงนั้นต้องมีชายคาที่ยื่นเยอะๆ และมีค้ำยันของแต่ละชายคาเอาไว้กันแดดและฝน ส่วนหลังคาของบ้านจะมี dormer window หรือหน้าต่างที่อยู่ในหลังคาอีกที ซึ่งเป็นรูปแบบตามอย่างยุโรป แต่คุณปู่ออกแบบให้อยู่ในหลังคาแบบไทย เป็น East meets West ที่น่ารักลงตัวมากๆ “
ซุกซ่อนความประณีตอยู่ในทุกรายละเอียด นับตั้งแต่คานบ้านเรื่อยไปถึงบานหน้าต่าง
“คานของบ้านนี้มี “ย่อมุม” คือแทนที่เขาจะตัดไม้เป็นเหลี่ยมมุมแบบธรรมดา เขาก็ทำหนึ่งมุมให้งอกให้กลายเป็นสองมุม สองมุมก็งอกให้กลายเป็นสี่มุม อย่างพระเจดีย์ก็จะย่อถึงสิบสองมุมเลย เป็นฝีมือของช่างโบราณ แล้วคุณย่าเป็นคนเชื้อสายจีน ตอนทำบ้านก็ปรึกษาอาจารย์ฮวงจุ้ย สัดส่วนของประตูหน้าต่างจึงเป๊ะมาก นอกจากนี้มุมของผนังห้องยังเป็นทรงโค้ง เพื่อให้พลังชี่ไหลเวียนได้สะดวก ส่วนตัวบ้านจะไม่มีเสาแต่ใช้กำแพงรับน้ำหนัก เราจึงไม่เห็นคานใหญ่ๆ อ้วนๆ เป็นปูนเทอะทะ”
หน้าต่างทึบซ่อนลูกเล่นบานกระทุ้งไว้ภายใน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานในภูมิอากาศเมืองไทย
“หน้าต่างมีบานกระทุ้งข้างใน ออกแบบมาเพื่อระบายความร้อนและความอับชื้น หน้าต่างลักษณะนี้จะมีในบ้านร่วมสมัย แต่ยุคหลังคนไม่ทำเพราะสิ้นเปลือง อีกทั้งคนยุคใหม่ไม่นิยมใช้หน้าต่างบานทึบแต่ใช้ผ้าม่านแทน คนโบราณเน้นความโฟลว์ของอากาศมีลมเข้าลมออก อย่างบ้านหลังนี้ถูกออกแบบแต่ละชั้นให้เล่นระดับกันเพื่อให้ลมเลื่อนไหลได้สะดวก เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่ตู้เย็นก็ยังไม่มี คนไปสิงคโปร์ต้องเอาน้ำแข็งใส่กล่องไม้กลับมาฝากกัน เวลาจะทานก็ทุบๆ กันในกล่องไม้”
ห้องนอนเก่าของคุณพระเจริญวิศวกรรม
“ภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแบบลอยตัว มีเตียงสี่เสาสวยตระหง่านรอต้อนรับผู้มาเยือน โดยทางโรงแรมได้ปรับเปลี่ยนห้องหนังสือเดิมของคุณพระเจริญวิศวกรรมให้กลายเป็นห้องน้ำที่บรรจุสุขภัณฑ์แบบโบราณ รวมถึงอ่างอาบน้ำรูปทรงอ่อนช้อย”
ห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่สำหรับครอบครัว
“แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้นภายในยูนิตเดียว โดยชั้นล่างใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นหย่อนใจ และมีบันได้เชื่อมต่อไปยังชั้นลอยที่เป็นส่วนของห้องนอน”
ถ้าอยากลองมาเช็คอินเพื่อสัมผัสบรรยากาศอบอุ่นของบ้านหลังงามที่มากด้วยประวัติศาสตร์แวะเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่
AriyasomVilla
สุขุมวิทซอย 1
โทร 0 2254 8880-3, 0 2253 8800
www.ariyasomvilla.com
Text : THANYALAK
Photography : TINNAKARN