“เอาดีๆ แม่ริห์เป็นนักร้องหรือแม่ค้า” ประโยคแซวติดขำเมื่อซีน Rihanna หยิบแป้ง Fenty Beauty รุ่น Invisimatte Blotting Powder ราคา 1,660 บาท ขึ้นมาทัชอัพพักครึ่ง (นาทีที่ 8:20) ก่อนร้องเพลง All of The Light ต่อใน Super Bowl Halftime Show 2023 กลายเป็นมีมดังที่ทุกคนกล่าวถึง แต่ปังยิ่งกว่าคือหลังจากโชว์จบภายใน 12 ชั่วโมง แบรนด์ของแม่ริห์กวาดยอดขายไปถึง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 193 ล้านบาท) และ “Fenty Beauty” เป็นคำค้นหาพุ่งขึ้นกว่า 833% นี่แค่ 13 นาทีนิดๆ ของการโชว์เท่านั้น
คลิปโชว์เวอร์ชันเต็ม Rihanna’s FULL Apple Music Super Bowl LVII Halftime Show
จุดประกายความปังของแม่ค้าในคราบนักร้อง
ด้วยชื่อเสียงของการเป็นนักร้องดังระดับโลกที่ได้รับการจับตามองเป็นทุนเดิม สู่การต่อยอดเป็นธุรกิจความงามในคอนเซ็ปต์เจ๋งๆ แฝงไว้ด้วยการเคลื่อนไหวประเด็นความหลากหลาย (Diversity) เป็นความสำเร็จที่คุณแม่ริฮันน่าบุคคลตำนานสลัดคราบนักร้องมาสวมวิญญาณแม่ค้าร่วมกับอาณาจักร LVMH สร้างปรากฏการณ์ ‘Fenty Effect’ ให้ Fenty Beauty by Rihanna ด้วยยอดขายในปีแรกกว่า 532 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 18,444 ล้านบาท) กับการเปิดตัวครีมรองพื้น Pro Filt’r Soft Matte Longwear Foundation ถึง 40 เฉดสี และปัจจุบันนี้ได้พัฒนาเพิ่มอีกเป็น 59 เฉดสี พร้อมทั้งลิปกลอสสีฉ่ำมงลง อย่าง Fenty Beauty Gloss Bomb Universal Lip Luminizer ก็ถูกใจเป็นบิวตี้ไอเท็มฮิตทันทีที่วางขาย รวมถึงเมคอัพชิ้นอื่นๆ ให้สายบิวตี้หลากสีผิวได้สวยแบบจัดเต็ม
เมื่อรุ่นพี่เขาปังแล้ว ถึงคราว ‘Rare Beauty’ ของรุ่นน้องแผลงฤทธิ์กันบ้าง
ในปี 2020 Selena Gomez ป็อปสตาร์วัยใสก็ออกมาสบัดแปรงปฏิวัติมาตรฐานความสวยหรือ Beauty Standard ด้วยชื่อแบรนด์ ‘Rare Beauty’ ที่แปลตรงตัวว่า “ความสวยที่ไม่เหมือนใคร” กลายเป็นคอนเซ็ปต์สุดปังที่มีทิศทางเดียวกันกับรุ่นพี่อย่างแม่ริห์ มาสร้างกระแสติดตลาด พร้อมทั้งเปิดตัวรองพื้น Liquid Touch Weightless Foundation ที่จัดเต็มมาถึง 48 เฉดสี (ในไทยวางขายเพียง 32 เฉดสี )ครอบคลุมทุกโทนสีผิว รวมถึงไอเท็มเด่นอย่าง คอนซีลเลอร์ปกปิดชั้นเลิศ บลัชพิกเมนต์สีชัดติดทนที่บิวตี้บล็อกเกอร์ต่างปิ๊ง และอุปกรณ์เมคอัพแบบครบครัน ด้วยความปังของคอนเซ็ปต์ที่เซลีน่าตั้งไว้บวกกับเครื่องสำอางคุณภาพทำให้ปีแรกของเธอทำเงินไปถึง 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,955 ล้านบาท)
เจ้าของแบรนด์ คือจุดขายชั้นดีของ Fenty Beauty และ Rare Beauty
จุดตั้งต้นการสร้างแบรนด์ให้มีชีวิต (Brand as a Person) เป็น ‘ตัวตน’ ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน พวกเขานำจุดบกพร่อง หรือ Pain Point ของตัวเองที่ค้นพบอย่าง แม่ริห์ก็มีปัญหาเรื่องรองพื้นที่มีน้อยไม่ตอบโจทย์ผิวของตัวเอง หรือเซลีน่าที่นำเรื่องการบูลลี่หน้าตา รูปร่างที่ทำให้เธอต้องพบจิตแพทย์อยู่บ่อยครั้ง มาแก้ไขและพัฒนากลายเป็นแก่นแท้ของแบรนด์ (Brand Essences) ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สอดแทรกบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) ที่เป็นตัวตนของพวกเขา แล้วนำมาถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ (Brand Storytelling) ผ่านไลฟ์สไตล์ส่วนตัวในสื่อออนไลน์ที่มีผู้ติดตามหลักล้าน
Notes: นอกจากนี้เซลีน่ายังตั้งกองทุนที่ชื่อว่า “Rare Impact” มาช่วยเหลือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาจากช่องทางการหักยอดขาย 1% ของแบรนด์ Rare Beauty มาเข้าสมทบในกองทุน โดยเธอวางแผนว่าจะระดมทุนให้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,247 ล้านบาท) ภายในเวลา 10 ปี เป็นการสนับสนุนภาพลักษณ์ของแบรนด์เธอได้อย่างน่าสนใจ
Fenty Beauty และ Rare Beauty กลายเป็นบิวตี้แบรนด์ที่ให้มากกว่าความสวย
ถ้าเปรียบให้เห็นชัดเจน Fenty Beauty คงเป็นทางเลือกที่หลากหลาย และเข้าถึงง่ายกับทุกคนบนโลกนี้ สร้างความเท่าเทียมผ่านการทัชอัพความสวยด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ส่วน Rare Beauty คือการเคารพตัวเองในแบบที่เป็นตามกฎที่ตัวเองสร้างให้โลกน่าอยู่แบบโนบูลลี่
Words: Patsaraporn Chanamueng
ข้อมูลจาก