Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Artificial Nature by Mary Pakinee & Nakrob Moonmanas

Curated by Waiting You Curator Lab
Art & Design / Culture

วรรณกรรมเรื่อง “ชีวิตของฉันลูกกระทิง” เป็น 1 ใน 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ตามการจัดอันดับของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหนังสืออ่านนอกเวลาในวัยเยาว์ของใครหลาย ๆ คน นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักธรรมชาติวิทยา คนสำคัญของประเทศไทยได้ประพันธ์ด้วยการใช้วิธีที่ชื่อว่ามานุษยรูปนิยม  (Anthropomorphism) ทำให้ลูกกระทิงที่เป็นตัวเอกและสรรพสัตว์ในป่ามีความนึกคิดและสามารถใช้ภาษาแบบมนุษย์ เขาให้ลูกกระทิงนำพาผู้อ่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ประเภทต่าง ๆ ในป่าเมืองไทย วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวพลิกความเข้าใจเกี่ยวกับป่าดงพงไพรที่ลี้ลับเกินกว่าจะเข้าใจ โดยเปลี่ยนมันเป็นธรรมชาติที่เป็นวิทยาศาสตร์และสามารถเข้าใจได้ หนังสือเล่มนี้ยังแสดงภาพของมนุษย์หรือสัตว์ร้ายสองขาบนหลังของช้างทรยศ สัตว์ร้ายดังกล่าวพรากชีวิตด้วยเสียงราวฟ้าผ่า

นายแพทย์บุญส่งใช้วรรณกรรมที่เหมือนกับการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์เพื่อเปิดให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาและการกระทำของมนุษย์ภายในระบบดังกล่าว ถือว่าหนังสือดังกล่าวก้าวหน้ามากแม้แต่ในเวลาของเรา

ในปัจจุบัน บทสนทนาระหว่างธรรมชาติกับสุนทรียศาสตร์ที่ไปไกลมากกว่าความสวยงามและซับไลม์ กระบวนการทางศิลปะได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งพ้นมนุษย์ ศิลปะช่วยให้คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติในโลกที่ยากจะมีสิ่งใดไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์ ในการนี้ Waiting You Curator Lab เชิญ นักรบ มูลมานัส และแมรี่ ภาคินี ศิลปินไทยสองคนมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยแรงบันดาลจาก ชีวิตของฉันลูกกระทิง ในพื้นที่จัดแสดงของวารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทำงานของนายแพทย์บุญส่ง

ในนิทรรศการ “ธรรมชาติประดิษฐ์” นี้ นักรบ มูลมานัส ได้ใช้กระบวนการทางประวัติศาสตร์ เดินทางย้อนกลับไปในวรรณกรรมสัตวาภิธานก่อนเวลาของนายแพทย์บุญส่ง ศิลปินนำเสนอผลงานจัดวางเชิงปฏิสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของปัญญาชนสยามในการทำความเข้าใจ นกการเวก ในวรรณคดีซึ่งมีเสียงไพเราะที่สุด และตั้งคำถามถึงที่ทางของ ความลี้ลับ และความเชื่อในพงไพรผ่านการทำอนุกรมวิธาน หลังจากที่วิทยาศาสตร์เปลี่ยนมุมของที่เรามีกับธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน แมรี่ ก็ได้สร้างโลกจำลองจากห้องสมุดดิจิทัล เธอได้รับแรงบันดาลใจมากจากการสร้างสรรค์เกมส์ด้วยการออกแบบเชิงโอเพ่นเวิล์ด วิธีการสร้างสภาพแวดล้อมในเกมส์เพื่อให้ผู้เล่นสามารถท่องเที่ยวไปได้อย่างอิสระ ผลงานของเธอ นอกจากแสดงให้เห็นถึงความขาดแคลนซึ่งพื้นที่ธรรมชาติในโลกกายภาพแล้วก็แสดงให้เห็นถึงความกระหายความรุนแรงของมนุษย์ที่ข้ามผ่านไปยังธรรมชาติประดิษฐ์ในโลกดิจิทัลอีกด้วย นิทรรศการนี้ทำการสำรวจหน้าที่ของศิลปะในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และตั้งคำถามว่ามีอะไรที่หายไปบ้างจากความเข้าใจสมัยใหม่ 

นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “The Tropics” โครงการศิลปะระยะยาว ของ Waiting You Curator Lab ที่มุ่งสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและสิ่งแวดล้อมในโซนเส้นศูนย์สูตร 

นิทรรศการ: Artificial Nature (ธรรมชาติประดิษฐ์)

ศิลปิน: นักรบ มูลมานัส และ แมรี่ ภาคินี

จัดแสดงวันที่ 9 กรกฎาคม – 27 สิงหาคม 2565 (10.30 – 19.30 น.)

ณ Waiting You Curator Lab (เข้าชมฟรี)

เกี่ยวกับศิลปิน:

นักรบ มูลมานัส สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักรบสนใจภาพความเป็นไทยที่ปรากฏในศิลปวัฒนธรรม, วรรณคดีไทย, และพระราชพิธี เขาสร้างภาพปะติดหรือคอลลาจ ด้วยการนำภาพที่เขาพบจากหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย, หนังสือ, และฉลากผลิตภัณฑ์มาผสมรวมเข้ากับภาพเหตุการณ์ร่วมสมัยหรือภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ นักรบเคยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยว Sacrifice ที่ People’s Gallery ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ปี 2017, Coronets ที่ ThongLor Art Space ปี 2018, นิทรรศการกลุ่ม In-betweenness ที่ The Prelude One Bangkok ปี 2019, และนิทรรศการกลุ่ม The Immeasurable and World’s End ที่ JWD Art Space เขาได้รับคัดเลือกจาก Cité Internationale des Arts ให้เป็นศิลปินพำนัก ณ กรุงปารีส ในปี 2020 โดยความสนับสนุนของ Institute Français และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย 

เกี่ยวกับศิลปิน:

แมรี่ ภาคินี (ภาคินี ศรีเจริญสุข) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาทัศนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แมรี่เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยวิธีการอันหลากหลาย เพื่อใช้ในการสำรวจความสลับซับซ้อนของเรื่องเล่า, ข้อมูล, การบริโภค, และการรับรู้ เธอสนใจประเด็นเรื่องความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ด้วยการนำเสนอเรื่องราวผ่านการวาดภาพเหมือนจริงจากการสังเกต เพื่อสร้างภาพลักษณ์และภาพแทนความจริงในเรื่องราวนั้นๆ ในปี 2016 เธอแสดงนิทรรศการเดี่ยว My Hands Remember How Your Body Felt ที่ Bangkok University Gallery (BUG) กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการ BrandNew Art Project 2017 นอกจากนี้ยังมีผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่มทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น the end is now, now is here: the exploration of drawing ที่ SAC gallery กรุงเทพมหานคร ปี 2020 และ They Have Brought Erasers With Them ที่ A+ WORKS of ART Gallery ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปี 2020

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม