Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

ชมภาพก่อน-หลังการรีโนเวตงานช้างของ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ ตึกอายุร้อยปี ย่านเยาวราช

Interview / People

อาคารปูนหลังคาโดมริมถนนสันติภาพ ย่านวงเวียน 22 ปรากฏอยู่ในนิตยสาร LIFE ช่วงยุค 1950 คนทั่วไปตระหนักว่านั่นคืออาคารสูงที่สุดในย่านนี้ในยุคนั้น แต่สำหรับครอบครัวหนึ่ง พวกเขาเรียกที่นี่ว่า ‘บ้าน’ ซึ่งวิน อัสสกุล ร่วมกับเหลนรุ่นที่ 4 ช่วยกันแต่งตัวใหม่ให้กับ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ และเปิดบ้านงามพริ้งต้อนรับผู้คนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปี

ท่ามกลางร้านขายธูปเทียน ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ร้านโกปี๊ และร้านขายเครื่องดื่มแบบขายส่ง อาคารปูนที่มีดวงตาเป็นหน้าต่างเรียงเป็นแนวยาวจ้องมองมาจากริมถนนสันติภาพ ราวกับทอดสะพานให้เข้าไปภายใน สีเขียวหัวเป็ดทักทายอย่างอ้อยอิ่งมาจากกรอบประตูและหน้าต่างไม้เก่าคร่ำคร่า ชายหนุ่มร่างสูงยิ้มมาจากดวงตาหลังกรอบแว่นตา วิน อัสสกุล ทายาทรุ่นที่ 4 ประกาศว่าเรายืนอยู่กลางหัวใจของ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ ซึ่งก็คือคอร์ตยาร์ดกลางบ้านที่เปิดโล่งเห็นหลังคากระจกเหนือชั้น 5

บ้านข้ามศตวรรษ

“ตึกนี้อยู่กับครอบครัวมา 100 กว่าปีแล้ว” วินบอกเล่าเรื่องราวแทนบ้าน “หลังจากมีถนนสันติภาพที่ได้ตัดใหม่เมื่อปี 1920 พื้นที่บ้านของเราได้หายไปเยอะ เพราะถนนตัดทะลุผ่ากลางบ้านเราไปเลย บ้านเรือนย่านนี้จึงต้องสร้างใหม่หมด รวมทั้งบ้านหลังนี้ด้วยที่สร้างหลังจากวงเวียน 22 เราเรียกบ้านนี้ว่า ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ ตามชื่อตรอกถั่วงอกที่อยู่ติดกัน”

“เราอยากให้คนได้มาเห็นวิธีดูแลตึกเก่า หรือเห็นกิจกรรมของที่นี่แล้วได้แรงบันดาลใจไปทำเอง”

‘บ้านตรอก’ ไม่เคยมีใครอยู่มาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่จำความได้วินและเครือญาติมารวมตัวกันที่บ้านนี้ยามโอกาสสำคัญเท่านั้น วินเองมีความทรงจำกับบ้านอย่างพร่าเลือนด้วยไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่ 9 ขวบ กระทั่งเรียนจบปริญญาตรีและโทจากโรงเรียนสถาปัตย์ชั้นนำของโลกอย่าง AA (Architectural Association School of Architecture’s London) และทำงานที่บริษัทสถาปัตย์ AL_A (Amanda Levete Architects) อยู่ 7 ปี “ชอบ สนุก แต่สุดท้ายก็ suffer เราไม่ค่อยได้นอน แก้งานตลอด ทำงาน 9 โมงเช้าถึงตี 4 เป็นเรื่องธรรมดา งานสถาปัตย์ไม่มีวันจบจนกว่าจะถึงเดดไลน์ เราให้ลูกค้าได้อีกตลอด และนี่คือคัลเจอร์ของการทำงานสถาปัตย์ที่ลอนดอน สุดท้ายเรารู้สึกว่าไม่ไหว ถึงเวลาหาทางออกอื่นที่เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้เรียนรู้มา”

‘ทางออก’ นั้นมาในรูปของบ้านตรอกที่ปิดหน้าบ้านไว้กว่า 60 ปี สถาปนิกจากลอนดอนเมื่อมาเปิดบ้านหลังเก่าเข้าก็จับมือกับน้องอีก 3 คนรวมใจกันสูบฉีดออกซิเจนให้กับบ้านตรอกอีกครั้ง “พี่น้อง 4 คนเติมเต็มกันได้ดีมาก แต่ละคนเรียนกันมาคนละด้าน วินเป็นดีไซเนอร์ ซันดูแลด้านแมเนจเมนต์ ซีทำไฟแนนซ์ แซนทำมาร์เก็ตติ้ง เรียนต่างกันโดยมิได้นัดหมาย”

ด่านแรกที่ต้องทำตกเป็นหน้าที่วินที่เป็นสถาปนิก นับจากปี 2018 เขาเดินเข้าตามตรอกออกตามประตูบ้านตรอกถั่วงอกนับครั้งไม่ถ้วน ขบคิดว่าจะรักษาความเก่าและเติมความใหม่ให้บ้านอย่างไร แต่ก็มิได้เกินมือของวิน ซึ่งใช้ชีวิตเกือบทั้งทศวรรษไปกับการบูรณะอาคารประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ทั้ง Victoria and Albert Museum และ Wadham College หนึ่งในวิทยาลัยของ University of Oxford

“สิ่งที่เห็นว่าเก่าเป็นของเก่าจริงๆ เราแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร อย่างสีเขียวที่เห็น เราเจอระหว่างรีโนเวต แรกทีเดียวจะให้ขัดสีออกให้เหลือแต่เนื้อไม้ แต่วันหนึ่งผมมาที่ไซต์และเจอประตูไม้สีเขียว ผมถามช่างว่าไม่ได้ขอให้ทาสีเขียวนะ เขาบอกไม่ได้ทา นี่คือสีเขียวเดิม เป็นสีชั้นแรก สีน้ำตาลที่ขัดออกเป็นสีชั้นที่สอง พอเจอสีเขียวนี้ เราจึงเปลี่ยน Colour Scheme ของทั้งตึกไปเลยจากจุดเริ่มต้นที่บานประตู” วินเล่าถึงความเก่าแท้ของบ้านที่ไม่ได้ทำให้ดูเก่า

ชีวิตใหม่ในตึกเก่า

“เราขึ้นไปชั้น 5 ก่อนแล้วค่อยเดินไล่ลงมา” วินบอก ถามว่าจะเดินขึ้นบันไดปูนขนาดคนเดียวเดินได้เท่านั้น เรามองไปที่ลิฟต์แทนคำตอบ

“อยากให้เห็นชั้น 5 ก่อนเพื่อจะได้เห็นว่าทำไมเราจึงทำตึกออกมาแบบนี้” เขาเดินมาถึงชั้นบนสุด ก่อนเปิดห้องโถงกว้างขวางที่อยู่ใต้หลังคาโดมพอดี เพดานของห้องนี้จึงเป็นทรงโค้งแปลกตาอย่างที่ไม่เห็นได้อีกแล้วในอาคารสมัยใหม่ “ชั้น 5 เป็นพื้นที่ไพรเวตของครอบครัว ทางครอบครัวเรายังใช้บ้านนี้อยู่ ตั้งแต่ผมเกิดก็มาไหว้ที่นี่ มาดื่มน้ำชา มารับประทานอาหารกับครอบครัว แต่ด้วยเวลาที่เราไม่ได้ดูแลตึกมา 60 ปีจึงโทรมลงไป และเราก็ใช้มันในสภาพนั้น จนเมื่อ 5 ปีก่อน เรารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำอะไรกับตึกนี้ ทางครอบครัวก็มาใช้พื้นที่น้อยลงด้วย เพราะสภาพไม่น่านั่ง” วินเล่า

“เรามีรูปเก่าเก็บไว้ตั้งแต่ปี 1950 ด้วย สมัยก่อนมีช่างภาพจากอเมริกามาถ่ายรูปบ้านนี้” วินเปิดรูปจากสมาร์ตโฟนให้ดู เผยให้เห็นหลังคาโดมที่คุ้มหัวเราอยู่ในตอนนี้ มุมล่างของภาพมีตัวอักษร 4 ตัวที่เตะลูกตาเราว่า ‘LIFE’ “บ้านนี้เคยลงนิตยสาร LIFE งั้นรึ!” เราถามแทบจะตะโกน เจ้าของบ้านยิ้มถ่อมตนว่าใช่ ก่อนพาเดินลงบันไดหนีไฟไปทัวร์บ้านต่อ

“มีคนมาขอตึกนี้ แต่ที่นี่มีความทรงจำของครอบครัวเราที่ประเมินค่าไม่ได้”

“ถ้าเราทำใหม่แล้วไม่มีกิจกรรม สุดท้ายบ้านก็จะกลับไปสภาพเดิม ดังนั้น ชั้น 1 ถึงชั้น 4 เราจึงเปิดเป็นพื้นที่ปล่อยเช่าสำหรับกิจกรรมและอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งผมกับน้องๆอีก 3 คนเป็นทีมช่วย curate ดูแลตึกและกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นที่นี่” เขาพาเดินลงบันไดไปชั้น 4 ห้องโถงยาว ซึ่งตงไม้สักบนเพดานเป็นของเดิมที่เจ้าบ้านเก็บไว้ เพียงเพิ่มระบบไฟต่างๆ เข้าไปรองรับกิจกรรมในอนาคต “เราคิดว่าจะทำเป็นพื้นที่สำหรับเวิร์กชอป จัดงานทอล์กต่างๆ การที่เราเอากำแพงภายในออกช่วยเปิดพื้นที่ให้ collaborate กันง่ายขึ้น”

“เราสังเกตว่า พื้นที่ในบ้านเราเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ทั้งหมด เราไม่เคยมีห้องรับแขก ห้องทานข้าว ห้องซักผ้า แต่ก่อนจะแชร์พื้นที่ร่วมกันหมด ระเบียงก็ใช้ทำกับข้าวไปจนถึงตากผ้า ไอเดียแบ่งห้องเป็นฟังก์ชั่นต่างๆ เป็นแนวคิดตะวันตก อย่างระเบียงชั้น 4 ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสวน แต่ก่อนเวลามาไหว้บรรพบุรุษ ผมกับพี่ๆน้องๆมาเผากระดาษกันตรงนี้”

“ชั้น 3 เมื่อก่อนมีหนึ่งห้องที่เป็นห้องนอนของคุณชวด ตอนนี้เราเปิดเป็นพื้นที่นิทรรศการของ VERNADOC ที่เก่งเรื่องวาดแบบมากๆ ผมเคยเห็นผลงานของเขามาก่อน แต่แทนที่จะเป็นดรอว์อิ้งที่ผมแค่เอามาสะสม ผมอยากให้เขาเข้ามาในกระบวนการรีโนเวทบ้านของเรา ก่อนเราจะเริ่มเข้ามาปรับปรุงบ้าน เราให้ทีม VERNADOC เข้ามาวาดรูปบ้านก่อนตอนที่ยังอยู่ในสภาพเดิม

“กระบวนการทำงานของเขาคือต้องเข้ามาค้างบ้านเรา 2 สัปดาห์ เพื่อจะเข้าใจความมืด ความสว่าง ความชื้น และบรรยากาศของบ้าน จริงๆผมถ่ายรูปก็ได้ แต่รูปถ่ายไม่สามารถเห็นภาพมุมตัดได้ กระบวนการนี้ช่วยให้เราเห็นว่าตึกของเรามีความพิเศษบางอย่าง แต่ละชั้นมีความแตกต่างกัน อย่างแนวตัดด้านยาวจะเห็นว่าหน้าต่างของบ้านมีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีหน้าต่าง คาแรกเตอร์ของบ้านจะเปลี่ยนไปเลย ดังนั้นตอนจะรื้อ เราจึงใส่บ้านประตูหน้าต่างเก่ากลับเข้าไปในกระจก มันคือวิธีการที่ยากมาก ต้องช่วยกันคิดหาวิธีกับสถาปนิก”

เจ้าของบ้านหยิบกระเบื้องปูพื้นที่จัดแสดงอยู่มาบรรยายให้ฟังว่ามันไม่ใช่กระเบื้องที่คุณจะพบเห็นได้ทั่วไปในยุคนี้ “กระเบื้องลายที่เห็นเป็นของดั้งเดิมที่บ้านนี้ ซึ่งยังได้ดีอยู่ เพราะกระเบื้องยุคเก่าหนามาก ไม่สามารถลอกออกได้ เราเลยต้องเก็บไว้ แต่ความเก่าของมันก็ทำให้บ้านมีเสน่ห์ และอยากให้เห็นกระเบื้องที่เราทำขึ้นมาใหม่ ใช้วิธีทุบกระเบื้องให้แตกเป็นชิ้นๆ แล้วเอาชิ้นกระเบื้องมาต่อกันเป็นกระเบื้องแผ่นใหม่ เพื่อให้ได้แพตเทิร์นของกระเบื้องที่ไม่ได้เรียบแบน แต่มีพื้นผิวหนาบางไม่เท่ากัน”

วินเดินจากตึกหน้าไปตึกหลัง อันเป็นที่ตั้งของห้องโถงโล่งกว้าง “พื้นที่ตรงนี้ประมาณ 32 ตารางเมตร ลักษณะเหมือนโถงแกลเลอรี เมื่อก่อนเป็นช่องประตูเก่า เราทุบออกให้กว้างขึ้น แต่ยังคงช่องลมด้านบนเอาไว้ เราจัดไว้สำหรับ Private Event เล็กๆ” เขาเดินไปเกาะระเบียง แหงนหน้ามองขึ้นไปเห็นชั้น 5 และมองลงไปเห็นผู้คนที่ชั้น 1 “บ้านนี้ใช้กระจกเยอะ อยากให้แสงเข้ามาในบ้าน และกระจกก็ทำให้ทุกคนในตึกได้เห็นกันและกันด้วย ถ้าเราอยู่ชั้น 3 มองลงไปก็จะเห็นชั้น 2 ได้ หรือมองตรงข้ามก็เห็นคนอีกฝั่ง เราอยากให้ผู้เช่าพื้นที่หรือคนที่เข้ามาทำกิจกรรมได้เชื่อมโยงกัน”

“ชั้น 2 เลย์เอาต์เหมือนกับชั้น 3 แต่มีสะพานเชื่อมตึกหน้าและตึกหลัง เราเตรียมพื้นที่ครัวไว้พร้อมจะทำเป็นร้านอาหารในอนาคต” เราลองเดินลง ‘บันไดฉายเดี่ยว’ ที่เชื่อมระหว่างชั้น 2 กับคอร์ตยาร์ดชั้นล่างสุด “บันไดแคบขนาดนี้ ผมคิดว่าเพราะสมัยก่อนคนไม่ได้เข้มงวดกับมาตรฐานการออกแบบ เช่น สัดส่วนของบันไดต้องขนาดนี้ เมื่อก่อนเลยทำอย่างไรก็ได้ ยิ่งเป็นบ้านส่วนตัวก็ทำได้เลยตามชอบ สัดส่วนสมัยใหม่คือบันไดหนีไฟ ก็จะเดินสบายหน่อย แต่บันไดนี้เป็นของเดิม แคบมากจนเดินได้แค่คนเดียว เดินสวนกันไม่ได้ ครอบครัวผมเลยผอมครับ” เจ้าของบ้านยิงมุข

“ชั้น 1 คือคอร์ตยาร์ด แต่ก่อนจะเป็นพื้นที่ที่เย็นและมืด ด้านหน้าบ้านจะปิดไว้ ตั้งแต่ผมยังเด็กก็ปิดมาตลอด ไม่มีคนอยู่บ้านนี้ ปล่อยร้างไว้มาประมาณ 60 ปี ด้านในเป็นผนังปูน มีบานหน้าต่างและประตูไม้เดิมที่เราเอาออก แล้วติดกระจก จากนั้นจึงใส่ประตูและหน้าต่างเดิมกลับเข้าไป เพื่อจะรักษาเสน่ห์ของบ้านไว้

“ในอนาคตชั้นล่างจะเป็นคาเฟ่ เราต้องมีกิจกรรมที่ทำให้คนได้ใช้เวลาด้วยกัน ไม่ใช่แค่นั่งกินกาแฟ ตอนนี้เราเปิดเป็นสเปซให้หลายๆร้านเข้ามา ร้านเหล่านี้มีการบอกปากต่อปาก เราอยากทำงานในลักษณะนี้ด้วย คือการที่ผู้เช่าพื้นที่ช่วยเรื่อง collaboration และการสื่อสาร อย่างบางทีคนนี้จะไปกินข้าวก็ฝากร้านให้ร้านข้างๆช่วยดูให้ได้ ผมคิดว่าความน่ารักตรงนี้สำคัญมาก เพราะเราอยู่คนเดียวบนถนนสันติภาพไม่รอดหรอกครับ เขามาอยู่คนเดียวก็ไม่รอดเหมือนกัน แต่ถ้าเรามีกันเป็น community ก็จะเข้มแข็งขึ้น”

“คนอื่นอาจเขียนหนังสือประวัติครอบครัว แต่เราทำในรูปแบบของการบูรณะบ้านเก่าของครอบครัว”

อนุรักษ์ไม่เท่ากับรื้อถอน

สิ้นสุดการเดินชมบ้านตรอก วินยังอุดหนุนคุกกี้มะพร้าวใส่แยมกล้วยจากร้านที่มาเปิดขายขนมปนกับกิจกรรมร้อยลูกปัด พร้อมกับคอมบูฉะลิ้นจี่ที่น้องชายทำเองมาให้รองท้อง ก่อนจะนั่งคุยกันต่อ “เราต้องดูเรื่อง Future Planning เยอะมาก เพราะตึกนี้เป็นทรัพย์สินที่เราขายไม่ได้ มีคนมาขอซื้อนะครับ แต่มันมี heritage ที่ประเมินค่าไม่ได้ เราเลยต้องหาทางที่จะสืบทอดมรดกนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ดังนั้น เราไม่ได้วางแผนเผื่ออนาคตอีก 5-10 ปี แต่เราเผื่อเป็น generation” โอ๊ย อร่อย! เราอุทานอย่างหยุดปากไม่ได้เมื่อลิ้มลองคอมโบ้เซตเด็ด คุกกี้กับคอมบูฉะ ก่อนจะคะยั้นคะยอให้เจ้าของบ้านเล่าต่อ

“คนอื่นอาจจะเขียนหนังสือประวัติครอบครัว แต่เราทำในรูปแบบของการบูรณะบ้านเก่าของครอบครัว และมันเป็นบ้านที่เราจะไม่มีวันขาย เราจึงต้องอุทิศตนให้กับโปรเจกต์นี้มากๆ ตอนนี้การออกแบบเสร็จไป 95 เปอร์เซ็นต์ แต่บ้านมีชีวิตของมัน เราจึงต้องคอยอัปเกรดอยู่เรื่อยๆ ให้บ้านเชื่อมโยงและประยุกต์ได้กับสิ่งต่างๆ ฉะนั้นงานของผมในเชิงดีไซน์ยังไม่เสร็จ” วินกล่าว ด้านหลังของเขาคือร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ด้านข้างคือตรอกถั่วงอกที่ยังมีครัวเรือนอยู่ราวๆ 10 หลังคาเรือน เราถามถึงความสัมพันธ์ของบ้านตรอกถั่วงอกกับเพื่อนบ้าน

“เรารู้ตั้งแต่แรกก่อนที่จะมาทำตึกนี้แล้วว่า การมาอัปเกรดตึกก็คือการเปลี่ยนแปลง ด้วยธรรมชาติของคนแล้ว การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะสะดวกใจ ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เพียงแต่คนละแวกนี้เดินผ่านบ้านนี้มานานแล้ว มันไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น อยู่ดีๆภายใน 5 ปีก็เปิดมามีกิจกรรม มีคนเข้าคนออก เรารู้ว่ามันจะกระตุ้นความรู้สึกต่างๆของเพื่อนบ้าน เราจึงตั้งใจว่ากิจกรรมที่เราจะจัดที่นี่หรือวิธีที่เราจะพูดคุยกับเพื่อนบ้าน เราควรจะมีความเคารพต่อเขาให้มากที่สุด เวลาเจอกันก็พูดคุยอย่างเป็นมิตร เราอยากจะพัฒนาชุมชนภายในบ้านเรา ชุมชนนอกบ้าน เราก็ต้องดูแลเหมือนกัน

“การเปลี่ยนแปลงต้องมาถึง แค่เดินเร็วหรือเดินช้าเท่านั้น และการไม่เปลี่ยนอะไร สุดท้ายอาจกลายเป็นความล้าหลัง”

“แต่หนึ่งในเรื่องที่ผมคิดมาตลอดคือเรื่อง Gentrification คือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ซึ่งเป็นได้ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ในด้านดีเรามองว่าเป็นโอกาสที่เราจะเพิ่มจำนวนคนเข้าออก เพิ่มความตระหนักรู้ในด้านต่างๆ เช่น ความสะอาดของพื้นที่ แต่อีกแง่หนึ่งคือเป็นเรื่องของ Disruption เราอาจไปทำให้มีคนแปลกหน้าเพิ่มในพื้นที่มากขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงที่บางคนอาจไม่สบายใจ อาจทำให้ค่าเช่าของเพื่อนบ้านสูงขึ้น ทำให้คนเดิมอยู่ไม่ได้ ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

“ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา การพัฒนาต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ผมคิดว่า developer ทุกคน รวมถึงเราด้วย เราพัฒนาบ้านตัวเอง แน่นอนว่าต้องกระทบคนอื่น เราเป็นส่วนหนึ่งของ Gentrification ในย่านนี้ จึงขึ้นอยู่กับเจตนาของเจ้าของโครงการเลยว่าอยากจะผลักดันไปทางไหน จะเห็นได้ว่าหน้าบ้าน เราแทบไม่แตะเลย ผมไม่อยากให้ภาพริมถนนตรงนี้เปลี่ยนไป ไม่อยากให้อยู่ดีๆกลายเป็นตึกกระจกโผล่ขึ้นมา เราไม่อยากให้ดูแปลกปลอมมากเกินไป ผมอยาก respect ต่อสิ่งที่เคยอยู่ กิจกรรมที่เราจัดที่นี่ก็ไม่ได้เสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน และไม่ได้แข่งขันกับธุรกิจเดิมในละแวกนี้ เราเป็นธุรกิจที่ต่างกัน

“การเปลี่ยนแปลงต้องมาถึง แค่เดินเร็วหรือเดินช้าเท่านั้น และการที่ไม่เปลี่ยนอะไรเลยก็เป็นเรื่องไม่ดีได้เหมือนกัน บางทีเราไปดูเมืองที่ทุกอย่างถูกฟรีซไว้ ไม่ให้แตะอะไรเลย สุดท้ายกลายเป็นความล้าหลัง” สถาปนิกสรุป

การบูรณะบ้านตรอกถั่วงอกนี้ใช้วิธีการอนุรักษ์อย่างที่ใช้กันในยุโรป ซึ่งของเก่าและของใหม่อยู่ร่วมกันอย่างไม่ประดักประเดิด ซึ่งหมายรวมไปถึงของเก่าและใหม่ทั้งในและนอกบ้าน (ชุมชน) ด้วย น่าทึ่งทีเดียวสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยได้ไม่นานอย่างวิน

“ผมไม่ได้อยู่เมืองไทยมานานมาก ไปอยู่อังกฤษตั้งแต่ 9 ขวบ แต่พอกลับมาผมก็พยายามทำให้ดีที่สุด ผมคิดว่าแถวเยาวราชยังมีตึกสวยๆอยู่อีกเยอะ แต่เจ้าของบ้านไม่เปิด หนึ่งในวิชั่นของเราคืออยากเปิดให้คนภายนอกได้เข้ามาเห็นว่าเมืองเก่ายังมีตึกสวยๆ ไม่ต้องทุบสร้างใหม่ก็ได้ วิธีอนุรักษ์บำรุงตึกไม่ต้องฟรีซของเดิมไว้ก็ได้ แต่ทั้งนี้การฟรีซก็ไม่ผิด เขาอาจจะยังไม่มีไอเดียว่าจะทำอะไรต่อ หรือตึกนั้นอาจมีความพิเศษมากจนแตะต้องอะไรไม่ได้

“ผมหวังว่าเจ้าของบ้านอื่นๆเห็นบ้านของเราแล้วก็อยากจะปรับปรุงตึกของตัวเองบ้าง ไม่ต้องให้ผมทำก็ได้ เราอยากเป็นตัวอย่างให้เห็นมากกว่า ถ้าต้องให้ทำผมไปทำโปรเจกต์ให้ ในชีวิตผมอาจจะทำได้แค่ 3-4 โปรเจกต์เท่านั้น แต่การที่คนได้มาเห็นวิธีดูแลตึกเก่า หรือเห็นกิจกรรมของที่นี่แล้วได้แรงบันดาลใจไปทำเอง ผมคิดว่าเรื่องนั้นสำคัญกว่า”

Website บ้านตรอกถั่วงอก: www.baantrok.com

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม