Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

BAAN YA HOM Zantiis

พลิกฟื้นบ้านยาหอมห้าแผ่นดินต้นกำเนิด “สุคนธโอสถ” ตราม้า
Art & Design / Culture

ชวนลิปสเตอร์มาเยือนบ้านโบราณห้าแผ่นดิน ที่เคยอบอวลด้วยกลิ่นหอมของยาสมุนไพรของยาหอม “สุคนธโอสถ” ตราม้า มาในบัดนี้ถูกชุบชีวิตให้กลมกลืนกับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ด้วยวิสัยทัศน์ของ ดลชัย บุณยะรัตเวช ทายาทห้างบุณยะรัตเวชผู้เป็นนักสร้างแบรนด์มือฉมัง ทั้งยังเป็นนักสะสมของแอนทีคที่เห็นคุณค่าในสิ่งของที่บรรจุไว้ด้วยความทรงจำในอดีต และภูมิปัญญาของต้นตระกูล

     “จริงๆ แล้วบ้านหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แต่สร้างไม่เสร็จ เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นเสียก่อน มาแล้วเสร็จในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เดิมเป็นบ้านของบรรพบุรุษฝ่ายหญิงของผม เป็นคุณทวด ซึ่งท่านมีน้องสาวไปแต่งงานกับเจ้าของเหมืองแร่ทางภาคใต้ แล้วจึงมาสร้างบ้านตรงนี้ ต่อมาคุณปู่ของผมมาแต่งงานกับลูกสาวของน้องสาวคุณทวดท่านนี้ ฝ่ายหญิงจึงยกบ้านนี้ให้เป็นเรือนหอของคุณปู่กับคุณย่าของผม

     …ครอบครัวของผมค้าขายยาสมุนไพรตั้งแต่รุ่นคุณปู่ทวดเดช ท่านค้าสมุนไพรอยู่ที่คลองโอ่งอ่างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ลูกคนสุดท้องของท่านชื่อบุญรอด เกิดปีม้า จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสุคนธโอสถตราม้า คุณปู่ทวดเดชท่านมีลูกๆ ซึ่งแตกสกุลออกเป็น 5 สาย ไล่มาตั้งแต่ เธียรประสิทธิ์, เศรษฐบุตร, โทณะวนิก, หงสะเดช และบุณยะรัตเวช ซึ่งเป็นตระกูลหมอมาโดยตลอดมาจนถึงรุ่นพ่อของผมจึงเบนเข็มมาทางสายวิศวกร ส่วนตัวผมเองร่ำเรียนมาทางสถาปัตยกรรม

     …เดิมทีบ้านหลังนี้เป็นที่ดำเนินกิจการยาหอมตราม้ามาโดยตลอด ทั้งผลิตยาหอม ออกแบบพิมพ์ฉลากยากันในนี้เลย ตอนเด็กๆ ผมก็เคยมาวิ่งเล่นที่นี่ ยังจำกลิ่นหอมของยาสมุนไพรจากโรงงานโม่ยาในเรือนไม้ที่ผุพังไปแล้ว ด้านหน้าตัวบ้านเป็นโรงพิมพ์ฉลาก ผมยังเคยไปช่วยเขาทาแป้งเปียกติดฉลากยาลงบนขวดอยู่เลยครับ”

     ครั้นมีพระราชบัญญัติห้ามตั้งโรงงานในย่านเกาะรัตนโกสินทร์โรงงานยาหอมตราม้าจึงย้ายถิ่นฐานไปอยู่ไกลถึงดาวคะนอง บ้านไม้สไตล์โคโลเนียลหลังนี้จึงถูกปิดตายไปกว่า 40 ปี โดยมีคุณป้าศรี เศรษฐบุตร ผู้เคยทำหน้าที่เลขานุการของห้างยาหอมตราม้าคอยดูแลด้วยความผูกพันกับตัวบ้านจวบจนวาระสุดท้าย จนมาถึงเจเนอเรชั่นที่ 5 บ้านไม้ในตรอกเล็กๆ ริมถนนตะนาวที่ถูกปิดไว้จึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง   เจ้าของบ้านคนปัจจุบันผู้พลิกฟื้นบ้านยาหอมห้าแผ่นดินให้กลับมาสดใสบอกเล่า ถึงการรีโนเวตบ้านหลังเก่าแก่ของตระกูล พร้อมย้อนนึกภาพในความทรงจำที่ยังไม่เคยเลือนหาย

     “ภาพตัวบ้านที่ผมได้สัมผัสในตอนเด็กๆ ไม่ได้ต่างไปจากภาพที่เห็นในวันนี้นัก ตัวบ้านเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล ไม้สักที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักยังอยู่ในสภาพดีทั้งพื้นทั้งผนัง แค่ปัดฝุ่น ทาสี ติดแอร์ก็กลับมาพักพิงได้สบายสิ่งที่ผมต่อเติมออกไป คือ ด้านหลังทั้งเป็นห้องครัว และห้องน้ำ”

     ดลชัยเผยว่า ขั้นตอนที่ยากในการปรับโฉมทางกายภาพของตัวบ้านไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยาก คือ การใส่วิญญาณใหม่ให้ตัวบ้าน นั่นคือ การวางคอนเซ็ปต์ในแน่นตั้งแต่แรกเริ่ม ท่ีแห่งนี้ไม่ได้เป็นแค่ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือสปา แต่เป็นทุกอย่างที่ว่ารวมไว้ในที่เดียวกันเพื่อถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาของตระกูลสู่คนยุคปัจจุบัน ความร่มเย็นชวนผ่อนคลายในตัวบ้าน ยังเปรียบเหมือนโอเอซิสใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ที่ยินดีให้คนมาพักพิงคลายความเหนื่อยล้า

     การวางฟังก์ชั่นในส่วนต่างๆ ของตัวบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งดลชัยก็จัดวางได้อย่างลงตัว โดยไม่รบกวนโครงสร้างเดิมของบ้าน

     “ขั้นแรกวางโครงในใจไว้ว่า อะไรจะอยู่ตรงไหน อย่างเหตุผลที่บาร์เครื่องดื่มต้องไปอยู่ในสวน เพราะไม่อยากให้บ้านผุพังจากน้ำหก หรือการวางท่อน้ำต่างๆ ไม่อยากให้บ้านเปลี่ยนสภาพ ตั้งใจไว้ว่าจะทำให้ตัวคาเฟ่ในบ้าน connect ไปกับบาร์ในสวนได้เลย ทำเป็นเรือนกระจกติดแอร์เชื่อมไปเลย

     …ห้องข้างล่างเป็นห้องเปิด connect กันได้หมด เลยวางฟังก์ชั่นให้เป็นคาเฟ่ ให้คนมานั่งพักผ่อน จัดวางเหมือนบ้าน ใช้เฟอร์นิเจอร์หลากหลายรูปแบบ และไม่กั้นห้องเลย ไม่มีการทุบผนังเดิมเลย พยายามใช้สเปซแบบโล่งที่สุด

     …ห้องนวดเท้าเมื่อก่อนเป็นห้องครัว จัดวางไว้ชั้นล่างให้คนสังเกตเห็นได้ง่ายว่า เรามีบริการนี้ ส่วนห้องนวดตัวที่ต้องการความเป็นส่วนตัววางไว้ชั้นบน ห้องบัญชีเก่าของโรงงานยาหอมกลายเป็นห้องจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Bangkok Treasures ห้องนอนใหญ่ที่ลูกหลานคุณปู่นอนรวมกัน 6 คน ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องอเนกประสงค์ที่สามารถใช้จัดเวิร์กช็อปขนาดย่อมๆ ได้อย่างพอเหมาะ”

     การตกแต่งยังคงสไตล์ Eclectic แบบที่ผู้ออกแบบชื่นชอบ หลากหลายสไตล์ วัฒนธรรมและสีสันถูกจัดวางรวมกันอย่างลงตัว การตกแต่งภายในเลือกใช้สีเหลือง และสีเทา ซึ่งหยิบยืมมาจากสีอัตลักษณ์ของตัวแบรนด์ สีเทา สะท้อนความเป็นปราชญ์ ส่วนสีเหลืองเป็นความจี๊ดจ๊าดสดใสที่ดลชัยเติมให้บรรยากาศภายในคาเฟ่ดูร่วมสมัยขึ้น

     ผนังบ้านทุกมุมกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของต้นตระกูล เรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของแบรนด์ยาหอมเลื่องชื่อ ส่วนผนังใหญ่ยังใช้ลวดลายขวดยาหอมและสมุนไพรตีความใหม่ด้วยลวดลายกราฟิกร่วมสมัย แฝงไว้ด้วยความหมายที่เกี่ยวพันกับตัวบ้าน

     “เราเป็นนักสะสมเฟอร์นิเจอร์แอนทีคอยู่แล้ว เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จึงแทบไม่ได้ซื้อใหม่เลย เอามาจากบ้านตัวเองบ้าง จากโรงแรม Ndol บ้างบางส่วน เก้าอี้นั่งทำบัญชีสมัยก่อนก็นำมาทาสีขาวให้ดูใหม่ขึ้น

     …พวกตู้ยาที่อยู่ชั้นบน ขวดยา ขวดน้ำอบของคุณย่า เราก็นำมาใช้ตกแต่ง สมัยก่อนตอนที่ผมมาวิ่งเล่นที่บ้านหลังนี้จำได้ว่า มีตู้ยาเยอะมาก มีปี๊ปใส่สมุนไพรตั้งไว้เป็นฉากๆ แต่ตู้ยาก็มีผุพังไปบ้าง เก็บได้เฉพาะตู้ไม้สัก แม้กระทั่งครกสากตำยาก็นำมาประดับในสวน ตราชั่ง หม้อต้มยาต่างๆ ก็นำมาตกแต่งบ้านได้หมด”

     ถึงแม้ช่วงวิกฤต Covid-19 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอาจจะหายไปบ้าง แต่ก็ยังมาแวะเวียนมาเยี่ยมบ้านยาหอมกันได้ เพราะยังเปิดให้บริการส่วนคาเฟ่ในรูปแบบ Takeaway และ Delivery ซึ่งหากคิดจะแวะมาเยี่ยมชมบ้านยาหอมแห่งนี้ แนะนำให้โทรสอบถามเส้นทางให้แน่ชัดก่อนมาเยือน เพราะตัวบ้านซ่อนตัวอยู่ในซอยดำเนินกลางใต้ ตรอกเล็กๆ ริมถนนตะนาวที่ยากจะสังเกตเห็น แต่รับรองว่า เข้ามาพักพิงแล้วจะรู้สึกชุ่มฉ่ำใจอย่างบอกไม่ถูก

BAAN YA HOM zantiis
ซอยดำเนินกลางใต้ ถนนตะนาว
โทร. 095 764 2768



┃Photography : Somkiat K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม