ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้คอนเทนต์บันเทิงบนแพลทฟอร์มสตรีมมิ่งมาแรงแซงโค้งทุกความบันเทิงที่เราคุ้นเคย และท่ามกลาง ‘Ocean of Contents’ ที่เต็มไปด้วย ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดโปรดักชั่นอลังการ เอเชียนซีรีส์น้ำดี เราก็อยากเห็นคอนเทนต์ไทยๆ ในรูปแบบที่เราอยากกดเข้าไปชมด้วยโปรดักชั่นและเนื้อหาที่ดึงดูดใจเราได้จริงๆ ซึ่งก็ต้องบอกว่า Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง ซีรีส์ Netflix สัญชาติไทยเรื่องล่าสุดนั้นก็ประสบความสำเร็จในการทำให้เราเลือกกด Add to My List ไว้ล่วงหน้า เพื่อตั้งเวลารอชมซีรีส์แอ็คชั่นทริลเลอร์รสเข้มข้น ด้วยชื่อชั้นของทั้งนักแสดงนำอย่าง เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ และ ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง สองนักแสดงไทยมากฝีมือที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับโปรดักชั่นระดับสากลมาแล้วทั้งคู่ ผนวกกับฝีมือการกำกับของผู้กำกับแถวหน้าอย่าง ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้เคยฝากฝีมือไว้กับภาพยนตร์ไทยที่ได้รับคำชมล้นหลามอย่าง ‘เฉือน’ และ ‘องค์บาก’ แต่รายชื่อที่ทำให้ระดับความคาดหวังพุ่งขึ้นสูงลิบก็คือ ปราบดา หยุ่น โชว์รันเนอร์ที่หันมาจับงานซีรีส์ในฐานะโปรดิวเซอร์เป็นครั้งแรกนี่แหละ และเขาเลือกที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความลับของกรุงเทพฯ ในอีกมุมที่ถูกซ่อนเร้นไว้ภายใต้สโลแกนชีวิตดีๆ ในเมืองหลวง
แต่เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์เรื่องลับๆ จนเสียอรรถรส เราจึงขอให้พระนางของเรื่องๆ ค่อยๆ แง้มความลับของซีรีส์ Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง ในมุมของพวกเขา และเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ จากมุมมองของเด็กต่างจังหวัดที่รู้จักและหลงรักกรุงเทพฯ มานานเกือบจะเท่าชีวิตในวงการบันเทิงของพวกเขา
ลิปส์ : ทั้งสองคนเข้าวงการบันเทิงมานานทั้งคู่ เคยติดตามผลงานกันมาก่อนบ้างไหม
ศุกลวัฒน์ : ผมเคยเห็นผลงานของเขาอยู่บ้างครับ แต่ไม่ค่อยได้ติดตาม จริงๆ ขนาดละครที่ตัวเองเล่นก็ยังไม่ได้ดูเลย เพราะเราก็ทำงานตลอด แต่ก็เห็นตามหน้าหนังสือ ในทีวี ก็จะเห็นเขาตลอด รู้จักกันว่า ใครเป็นใคร แต่ไม่เคยมาร่วมงานกันจริงๆ จังๆ สักครั้ง
ลิปส์ : ถ้าให้นึกถึงผลงานของแต่ละคนจะนึกถึงอะไร
สุชาร์ : หนังเรื่อง ‘มะลิลา’ เรื่องนั้นเข้าขั้น masterpiece เลยนะ
ศุกลวัฒน์ : ผลงานของออมนี่ผมก็ได้ดูอยู่หลายเรื่องเลย จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจเข้าไปดูหรอก แต่มันแมสจนเพื่อนเขาส่งมาให้ดูว่า ตอนนี้ออมเขาไปโกอินเตอร์แล้วนะ แล้วผมก็เป็นแฟนของ Netflix ด้วย ซีรีส์ที่เขาเล่นก็มาอยู่ในนี้เยอะ ก็ต้องกดเข้าไปดูหน่อย ชอบอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน แต่เรื่องที่แซวเขาอยู่ประจำก็คือ ‘Full House’ เพราะคาแร็กเตอร์ต่างกับเรื่องนี้มาก พอรู้ว่าต้องมาร่วมงานกันก็เลยต้องกลับไปดูอีกรอบหนึ่ง
ลิปส์ : หลายคนก็คงจับตามองและรอชมซีรีส์ ‘Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง’ เพราะว่าแต่ละชื่อที่มาร่วมงานกันก็ถือว่าเป็น Big Name ไม่น่าจะเป็น โชว์รันเนอร์อย่าง คุ่น-ปราบดา หยุ่น และผู้กำกับ ก้องเกียรติ โขมศิริ ซึ่งทั้งคู่ก็น่าจะติดตามผลงานของทั้งสองคนอยู่แล้ว มีผลงานอะไรของทั้งสองคนนั้นที่เราชอบกันบ้าง
ศุกลวัฒน์ : ถ้าพูดถึงพี่คุ่น ผมยังคุยกับออมเลยว่า เขาเป็นไอดอลของยุคเราในช่วงปี 90s เขาเป็นนักคิดนักเขียน ยุคนั้นเขาเท่น่ะ เขาเป็นคนที่ฉีกออกมาแบบว่า “เฮ้ย! พี่คนนี้แม่งเจ๋ง” ผมชอบสไตล์แล้วก็แนวคิดของเขา อย่างพี่โขมนี่เขาก็สายเรียล ทำงานทั้งเขียนบทและกำกับ ผมก็ชื่นชอบผลงานของเขาหลายเรื่อง ยังเคยคิดเลยว่า จะผ่านมาเจอกันบ้างไหม กลายเป็นว่าเจอทีเดียวสองคนเลย
สุชาร์ : เป็น combination ที่ลงตัวสุดๆ เลย เหมือนสายบู๊กับสายบุ๋นน่ะค่ะ แต่อย่างออมเองออมจะติดตามผลงานพี่โขมจากหนังเรื่อง ‘เฉือน’ เพราะเพื่อนออมเล่นเรื่องนั้น เราก็ตามไปดูหนังตั้งแต่ตอนนั้น งานของพี่โขมเจ๋งน่ะ มันเท่ แล้วก็เป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่ง ต้องยอมรับว่า ผู้กำกับเก่งมาก แล้วพอรู้ว่า จะได้ร่วมงานกับพี่โขม ออมก็มีความสบายใจเปราะหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเราเชื่อในงานเขาอยู่แล้วค่ะ
ลิปส์ : ประสบการณ์ที่คาดหวังว่า เราจะได้รับจากการทำงานร่วมกับสองคนนี้คืออะไร
“เวลาที่เราได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ ไม่ว่าจะเป็น นักแสดง ผู้กำกับ หรือโปรดิวเซอร์ มันทำให้เราได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ได้รับจากครั้งนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ”
แล้วเราก็ไม่คิดว่า เราจะได้มีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์มากขนาดนี้ เวลาเรามีไอเดียเราก็แชร์กับเขาได้ บทบางอย่างเราคิดว่า ถ้าปรับแบบนี้มันน่าจะเข้ากับตัวละคร หรือเข้ากับเรื่องมากกว่า เราก็นำไปขายพี่คุ่น แล้วพี่คุ่นเขาก็ซื้อ เหมือนเขาเปิดรับความคิดเห็นเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้มีส่วนร่วมมากจริงๆ
ศุกลวัฒน์ : จริงๆ แล้วผมถือว่า ใหม่มาก สำหรับการถ่ายซีรีส์ เพราะโดยปกติงานหลักๆ ถ้าไม่เป็นละครทีวี ก็จะเล่นเป็นภาพยนตร์ความยาว 1-2 ชั่วโมง แต่พอมาเป็นซีรีส์ ซึ่งจริง ๆ มันก็เป็นสิ่งใหม่นะ ซีรีส์แนวนี้ในไทยก็ยังไม่ค่อยมี เพราะมันทำยาก ผมเลยรู้สึกว่า สิ่งที่เราจะได้เจอแน่ๆ ก็คือสิ่งที่มันต่างจากที่เราเคยทำงานมา มันเหมือนกับภาพยนตร์น่ะ แต่มาอยู่ในรูปแบบเป็น episode แล้วทั้งงานภาพเอย โปรดักชั่นต่างๆ ในการทำงาน ผมว่า มันเกินกว่าที่ผมคาดหวังเอาไว้ในแง่ดีนะครับ ในแง่เหนื่อยก็โคตรเหนื่อยเลยเอาจริงๆ
สุชาร์ : สงสารพี่เวียร์มาก ออมว่า พี่เวียร์หนักจริงๆ เรื่องนี้
ศุกลวัฒน์ : หนักทั้งแอ็คชั่น หนักทั้งแอ็คติ้งด้วย ทั้งเรื่อง emotional ต่างๆ แล้วก็ส่วนใหญ่เราถ่ายกันกลางคืนด้วย
ลิปส์ : นอกจากจะถ่ายทำในช่วงกลางคืน และถ่ายทำในโลเกชั่นกลางแจ้งเป็นส่วนใหญ่ยังเป็นการถ่ายทำระหว่างช่วงโควิด-19 ด้วยใช่ไหม ทำให้การทำงานยากขึ้นหรือเปล่า
ศุกลวัฒน์ : เริ่มมีโควิดฯ เข้ามาบ้าง แต่เราก็ยังถ่ายทำได้อยู่ โดยมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการที่มาจากต่างประเทศด้วย ซึ่งค่อนข้าง strict มากๆ เราก็เลยสบายใจที่จะมาทำงาน
ลิปส์ : มีฉากที่เสี่ยงอันตราย หรือมีการบาดเจ็บ ผิดคิวเกิดขึ้นบ้างไหม
สุชาร์ : ฉากออมจะโดนรถชน แล้วพี่เวียร์วิ่งเข้ามาดึง ฉากนั้นห่างแค่คืบจริง เราเอามืออาชีพมาขับจริงก็เลยเซฟมาก แต่สำหรับคนที่ต้องเข้าฉากถือเป็นการวัดใจได้เลยเหมือนกัน ออมบอกกับพี่เวียร์ “ถ้าพี่เวียร์ไม่ทันหนูโดนรถทับนะ”
ศุกลวัฒน์ : ใช่ ก็คือชีวิตออมอยู่ที่พี่เวียร์กับพี่หนึ่ง พี่คนขับรถที่เป็นสตั๊นท์ ถ้าพี่หนึ่งไม่หลบ พี่เวียร์ก็ต้องดึงออมออกไปให้ทัน
สุชาร์ : เราจะมีทีม Medic ที่ช่วยดูแลเวลามีนักแสดงประสบอุบัติเหตุ ทุกคนมีประสบการณ์อุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ในกองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรรุนแรงมาก
ลิปส์ : ทราบมาว่า บทบาทที่ทั้งสองได้รับ มีทั้งมุมที่ตรงกับตัวเองอย่างของคุณเวียร์เป็นเรื่องความเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ในส่วนของคุณออมอาจจะห่างไกลในเรื่องของอาชีพ เตรียมตัวทำการบ้านกันอย่างไรบ้าง มีพาร์ทไหนที่ต้องทำการบ้านหนักเป็นพิเศษบ้าง
สุชาร์ : ออมจะมีเวิร์กช็อปกับพี่นักข่าวตัวจริงเลย เหมือนไปดูวิธีการทำงานเขาเวลาที่เขา onsite เป็นอย่างไร เขาใช้อุปกรณ์อะไร ทำงานอย่างไร สายตาเขาเป็นอย่างไร ในเรื่องคาแร็กเตอร์เราอาจจะไม่ได้เป็นนักข่าวที่เก่งเหมือนเขา แต่อย่างน้อยเรามีความพยายามที่จะเป็นเหมือนเขา เราก็รู้สึกว่า พอได้ไปเห็นการทำงานแล้วมันดูตื่นเต้น ไม่ใช่ความเหนื่อย แต่ต้องมีไหวพริบมากๆ เลยค่ะ
เราจะคุ้นเคยกับนักข่าวสายบันเทิงใช่ไหมคะ เพราะเราเป็นนักแสดง แต่นี่คือเป็นนักข่าวในอีกพาร์ทหนึ่งน่ะค่ะ ซึ่งมีความเสี่ยงเหมือนกันนะคะ มันไม่ได้เป็นแค่การเรียบเรียงแล้วก็มาเล่า แต่มันเป็นเรื่องความปลอดภัยหลายๆ อย่างด้วย ทำไมถึงแชร์โลเกชั่นไม่ได้ ต้องขับรถตามกันเท่านั้นใช่ไหมอะไรอย่างนี้ค่ะ
ศุกลวัฒน์ : อย่างผมก็ไม่มีประสบการณ์การเป็นกู้ภัยมาก่อนเลย ต้องเข้าเวิร์กช็อปใหม่ทั้งหมดเลยเหมือนกันครับ
ลิปส์ : เมื่อก่อนนี้คุณมองอาชีพกู้ภัยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
“ผมว่า มันเป็นการเสียสละครับ เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ใช่อาชีพหลัก ถึงแม้บางคนก็อาจจะทำเป็นอาชีพหลัก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาสาสมัคร แล้วเรารู้สึกว่า กลางวันทำงานก็เหนื่อยอยู่แล้ว แต่กลางคืนก็ต้องออกไปช่วยเหลือคนอีก ดังนั้น เขาต้องทำเพราะความชอบจริงๆ ต้องมีจิตอาสา หรือชอบช่วยเหลือคนจริงๆ ผมก็เลยรู้สึกว่า เจ๋งดี”
แล้วเมื่อก่อนนี้คนที่เป็นนักแสดงเนี่ย เขาจะมีเสื้อกู้ภัยให้ เขาจะมีรหัสให้ แต่ว่าเราไม่ได้ทำเกี่ยวกับเรื่องของการกู้ภัย กู้ชีพ เราจะทำเรื่องของการประชาสัมพันธ์ช่วยหารายได้เข้ามูลนิธิ ผมก็เคยไปนั่งดูนั่งคุย แต่ถ้าออกเคสจริง ๆ ผมก็ยังไม่เคย แล้วรู้สึกว่า อาชีพนี้จะมีแค่ในประเทศไทยประเทศเดียวด้วยนะครับ ต่างประเทศเขาให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่ครับ
สุชาร์ : ประเทศอื่นพอเขาเห็นว่า บ้านเรามีหมวดอาชีพนี้อยู่ เขาก็งงเหมือนกันนะคะว่า นี่คือองค์กรอะไร แล้วทำไมไม่มาจากโรงพยาบาลล่ะ แล้วทำไมไม่เป็นตำรวจล่ะ แต่ในมุมมองของออมน่ะ ก็คือ โอเค…องค์กรแบบนี้มีอยู่นานแล้ว บางทีเราขับรถไปตอนกลางคืน เราก็จะเห็นว่า เขาก็จะมีจุดปักหลักอยู่ แต่มันก็มีอีกมุมมองหนึ่งที่คนก็ไม่เก็ตจริงๆ ว่า องค์กรนี้คืออะไร
ลิปส์ : ได้ลองไป survey เคสจริงบ้างไหม
ศุกลวัฒน์ : ด้วยความที่ในเรื่องเป็นเหมือนกับว่า เราเพิ่งจะไปฝึก แล้วก็ไม่เคยเห็นเคสจริงๆ มาก่อน ผมก็เลยคิดว่า ผมไม่ควรรู้เยอะดีกว่าจะได้ดูเรียล แล้วอีกอย่างในเรื่องนี้ด้วยความที่มันก็เป็นเรื่องราวที่หลายๆ อย่างเราเพิ่มขึ้นมาเพื่อความบันเทิงนั่นแหละ ไม่ได้ based on true story ไปเสียทั้งหมด เราเขียนทุกอย่างขึ้นมาใหม่เพื่อให้คนสนุกและมันขึ้น เราไม่อยากจะไปพาดพิงใครครับ เพราะเราต้องการให้เราสนุกกับมันได้เต็มที่
แต่ก็มีไปฝึกเรื่องการปฐมพยาบาลบ้าง ช่วงระหว่างถ่ายทำก็จะมีพี่ๆ ที่เขาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยมาคอยดูความถูกต้องตลอด เพราะงานโปรดักชั่นระดับนี้ถ้าเราไปทำท่าผิด ไปช่วยเหลือผิดก็จะดูไม่ดี เราอยากให้สมจริงที่สุด
ลิปส์ : ในแง่ของนิสัยของคาแร็กเตอร์ในซีรีส์ค่อนข้างตรงกับตัวเองอยู่แล้วหรือเปล่า
ศุกลวัฒน์ : สำหรับผมก็ไม่ขนาดนั้นนะครับ ส่วนออมเขาบอกว่า ตัวละคร ‘แคต’ เหมือนเขาในมุมที่อยู่กับเพื่อนสนิท
สุชาร์ : คนไม่ค่อยเห็น ไม่ได้เป็นออม-สุชาร์ ที่ออกสื่อ ขนาดนิสัยการขับรถของตัวละครยังเหมือนออมเลย ออมเป็นคนขับรถสวี๊ดสว๊าด ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์เล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่ในบทอยู่แล้ว ฉากขับรถออมขับจริง ขับเองหมดเลย เพราะออมขับเก่งที่สุดแล้ว ออมซิ่งอยู่แล้วค่ะ (หัวเราะ) ตอนแรก เขาก็ไม่มั่นใจในตัวออม เขามีจัดวันให้ไปฝึกขับรถด้วยนะคะ ออมก็บอกว่า ทำไมต้องฝึก ทำไมต้องขับรถให้ดูก่อน เขาบอกว่า เขาอยากรู้ว่า สไตล์การขับรถเราเป็นอย่างไร เราก็เลยลองขับให้เขาดู เขาบอก “โอเค เล่นเองเลย”
ลิปส์ : ทำงานในวงการบันเทิงมาเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไปทั้งคู่ มองว่าวิธีการทำงานของเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างถ้าเทียบกับสมัยก่อน
ศุกลวัฒน์ : ก็โตขึ้นล่ะครับ จากเมื่อก่อนเรารู้สึกว่า เรากำลังศึกษาอยู่ว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ตอนแรกๆ เราก็ปรับตัว ค่อยๆ พัฒนาตัวเองน่ะครับ ถ้าเป็นในส่วนของผมเองนะครับ ตอนเข้ามาใหม่ๆ เราจะเรียนช้ากว่าเพื่อน เหมือนเราไม่ค่อยเข้าใจ สมมติ ถ้าคนอื่นแค่หนึ่งเทคผ่าน ผมอาจจะสักสิบกว่าจะได้เท่าคนอื่น ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองช้าอาจจะเป็นเพราะว่า เรายังปรับตัวไม่ได้
สุชาร์ : แต่คนอื่นเขาอาจจะมีประสบการณ์กันมาก่อนแล้ว
ศุกลวัฒน์ : บางคนไม่มีประสบการณ์ แต่ว่าบางคนมาถึงได้เลย เทคเดียวผ่าน แต่เรา 10เทคยังไม่ผ่านเลย เราทำอะไรผิดหรือเปล่า ก็ค่อยๆ มาเรียนรู้ สุดท้ายมารู้ว่า ตัวเองน่ะ เรียนรู้ช้า แต่เป็นคนละเอียด และชอบสังเกต อาจจะเพราะว่าเราเรียนวิศวะฯ มาเนอะ เลยชอบเรียงลำดับความสำคัญในหัวตลอดเวลา แต่มันไม่สามารถนำมาใช้ในการทำงานในวงการบันเทิงได้ตลอด พอเราเริ่มรู้จักการทำงานมากขึ้นก็เริ่มสนุกแล้ว เราเริ่มรู้สึกว่า เราอยากพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะมันยังรู้สึกว่าสนุก เรายัง challenge ตัวเองได้ตลอดเวลา แล้วมันไม่มีทางพัฒนาถึงจุดสูงสุดได้ มันไม่มีทางที่เราจะเก่งที่สุดแล้ว อาชีพนี้ไม่มีใครเก่งที่สุดน่ะ เพราะบทบาทมันเปลี่ยนไปตลอด
สุชาร์ : จริงๆ ออมก็คล้ายๆ กับพี่เวียร์ค่ะ เหมือนเวลาเราเข้าวงการมาตอนอายุ 18 ปีน่ะ เราจะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เราจะสนุกอีกแบบหนึ่ง แล้วพอเราโตขึ้นไป เราได้เจอกับกลุ่มคนที่มีวิธีคิดแบบหนึ่ง บางทีเราก็ซึมซับมาเหมือนกันนะคะ วิธีคิดเรามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันทำให้เราโตขึ้น เข้าใจการทำงานมากขึ้น จากเด็กๆ เหมือนเราไปทำงานแล้วสนุกน่ะ พอมีงานมาเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ทำไปเรื่อยๆ
“พอโตขึ้นเราเริ่มอยาก challenge ตัวเอง อยากเลือกงานที่มีคุณภาพ งานที่จะอยู่ได้ตลอดไป และสามารถพัฒนาความเป็นนักแสดงในตัวเราได้ วิธีคิดของเราละเอียดขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็คล้ายๆ กับที่พี่เวียร์บอกว่า ทุกครั้งที่เริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ มันก็เหมือนนับหนึ่งใหม่ เหมือนล้างน้ำใหม่ เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ค่ะ”
ลิปส์ : เหมือนเราต้องเลือกบทที่เหมาะกับตัวเราที่เติบโตมากขึ้นด้วย
สุชาร์ : ใช่ค่ะ อะไรที่เราคิดว่า เราสนุกที่จะทำมัน เพราะละคร ซีรีส์ หรือหนังเรื่องหนึ่งเนี่ย มันค่อนข้างใช้เวลาในชีวิตเราเยอะ ถ้าเราไม่เอ็นจอยในการที่จะอยู่ในโปรเจ็กต์นั้นตั้งแต่แรก มันจะทรมานตัวเอง ออมจะคิดอย่างนี้ตลอดว่า ออมจะเล่นเรื่องที่ออมแฮปปี้เท่านั้น แล้วออมจะรู้ตัวเองว่า มันจะมีจุดอะไรที่ทำให้ออมแฮปปี้ เพราะเราจะต้องใช้เวลาอยู่กับมันเยอะค่ะ โดยออมจะดูเรื่องทีม เรื่องบท อย่างเรื่อง Bangkok Breaking พอรู้ว่า ได้ทำงานกับพี่คุ่น พี่โขม ออมแทบจะไม่ต้องอ่านบทแล้วค่ะ มันจะมีองค์ประกอบที่นักแสดงเราจะรู้เองว่า ถ้าเป็นโปรเจ็กต์ของเขาน่ะ ถึงอย่างไรก็น่าเล่น
ลิปส์ : กลับมาโฟกัสในเรื่องของความเป็นกรุงเทพฯ กันบ้าง สำหรับทั้งสองคน เสน่ห์ของกรุงเทพฯ คืออะไร
ศุกลวัฒน์ : มันก็เป็นเมืองหลวง ซึ่งแน่นอนว่า เป็นเมืองที่ใหญ่ที่มีทุกอย่าง ถ้าพูดตรงๆ เป็นเมืองที่คนเข้ามาหาเงินน่ะ มาเป็นสาวโรงงาน หนุ่มโรงงาน เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ในกรุงเทพฯ มีทุกอย่าง มีห้างสรรพสินค้า เป็นเมืองที่เรียกว่าศิวิไลซ์ นั่นคือมุมมองของผมตั้งแต่เด็ก ซึ่งพอเข้ามาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็มีความวุ่นวาย เพราะคนยิ่งเยอะ ความซับซ้อนมันก็ต้องเยอะตามอยู่แล้ว มันก็เป็นเหตุเป็นผลซึ่งก็โอเค เข้ามาก็ไม่ได้แปลกใจ แล้วมันก็มีหลายด้าน
ลิปส์ : เราเดาว่า ส่วนตัวคุณคงชอบต่างจังหวัดมากกว่าในเมืองหลวง
ศุกลวัฒน์ : เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมชอบแคมป์ปิ้ง ชอบไปอยู่ตามต่างจังหวัด เที่ยวทะเลป่าเขา แต่ก็ยังชอบเดินห้างสรรพสินค้า แต่ผมไม่ได้ชอบแสงสีกลางคืนนะ ผมใช้เงินเพื่อซื้อสิ่งของที่อยากได้ ผมเป็นคนติดดินนะ แต่ฉันก็อยากจะช้อปปิ้งของฉันบ้างเหมือนกัน
สุชาร์ : สำหรับออมคิดว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองของความฝัน ความหวัง หรือโอกาสสำหรับหลายๆ คน เหมือนเราเข้ามาเพื่อจะให้ชีวิตเราดีขึ้น ทุกคนเขาหวังว่า คงจะมีโอกาสอะไรที่มากกว่าต่างจังหวัด ใน perception ของคนไทยมันเป็นอย่างนี้มาตลอดอยู่แล้ว แต่มันก็มีความหลากหลาย ออมว่ามันก็แล้วแต่ความชอบ หรือไลฟ์สไตล์ของคนเราไม่เหมือนกัน อย่างพี่เวียร์ชอบต่างจังหวัดใช่ไหมคะ แต่ออมชอบความเป็นเมือง ออมชอบความศิวิไลซ์ ออมเลือกที่จะอยู่กรุงเทพฯ แล้วไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่ออมว่า พี่เวียร์เลือกที่จะอยู่ต่างจังหวัด แล้วมาเที่ยวกรุงเทพฯ มันแล้วแต่ความชอบของคนค่ะ
ลิปส์ : นอกจากเสน่ห์ของกรุงเทพฯ แล้ว มองว่า แง่มุมของความน่ากลัวของกรุงเทพฯ อยู่ที่ตรงไหน
สุชาร์ : พอเป็นเมืองที่ผสมผสานน่ะค่ะ ไม่ได้มีแค่ความหลากหลายทางภาค ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสานที่มารวมกัน ยังมีความหลากหลายของทั้งโลกมารวมกันอีกน่ะ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนหลายเชื้อชาติมากๆ มาอยู่ใช่ไหมคะ มันก็แน่นอนว่า ต้องเกิดความไม่เข้าใจของการอยู่ร่วมกันในสังคมขึ้นบ้างแหละค่ะ อยู่ที่การปรับตัวมากกว่า
ศุกลวัฒน์ : ใช่ เมืองใหญ่น่ะครับ คนเยอะ ความซับซ้อนก็เยอะอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกๆ สังคม ทุกๆ อาชีพ อยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า เราจะยอมให้มันเอาชนะเรา หรือเราอยากจะเอาชนะมัน หรือเราจะปล่อยมันไปเฉยๆ
“จริงๆ แล้วตอนผมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ผมก็จะเจออะไรหลายๆ อย่าง ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ซึ่งผมว่า มันก็มีข้อดีข้อเสีย อยู่ที่ว่าเราเลือกที่จะอยู่ตรงไหนมากกว่า บางอย่างมันเปลี่ยนไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเรา”
ผมว่าไม่ยากหรอก ผมเองก็จากเด็กขอนแก่น ออมเองก็เด็กโคราช เราอยู่กรุงเทพฯ มาจะ 20 ปีแล้ว
สุชาร์ : อยู่จนชินแล้ว แต่ออมยังคิดเลยนะ คนต่างชาติมาอยู่กรุงเทพฯ นี่ออมว่ามันไม่ได้ง่าย แต่เราชินแล้วไง แต่ถ้าพูดถึงคนต่างชาติมาอยู่ เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรนะ แค่ขับรถก็ลำบากแล้ว
ลิปส์ : ตอนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ ต้องเจอกับ culture shock เรื่องไหนบ้าง
ศุกลวัฒน์ : จริงๆ ก็หลายอย่าง ผมอยู่ขอนแก่นก็จริง แต่ผมก็เดินทางมากรุงเทพฯ ตลอด มันก็มีบางอย่างที่เรารู้สึกว่า มีอย่างนี้ด้วยเหรอ เราก็งงๆ อย่างการขับรถในกรุงเทพฯ ตอนที่ขับเข้ามาก็แบบร้องไห้น่ะ (หัวเราะ)
สุชาร์ : ออมก็ร้องไห้ เพราะออมเข้ามากรุงเทพฯ ปุ๊บ พ่อไม่กล้าให้ออมใช้ขนส่งสาธารณะ แล้วพ่อมาส่งที่กรุงเทพฯ พร้อมรถหนึ่งคัน แล้วตอนนั้นมันไม่มี Google Map ออมก็จะร้องไห้น่ะ คือ เราอายุแค่ 18 ปี ต้องขับรถไปเรียน แล้วก็หลงทาง แค่จากพระราม 9 มาอโศกออมยังหลงแล้วหลงอีก
ศุกลวัฒน์ : มันมีเรื่องตลกอยู่รอบหนึ่ง วันนั้นมากับพ่อสองคน ก็ขับรถเข้ากรุงเทพฯ กันมาจากขอนแก่นนั่นแหละ ป้ายทะเบียนรถเรานี่ก็ขอนแก่นเลยนะ ขับออกมาถึงประมาณสักช่วงดอนเมืองน่ะ แล้วแบบ “เฮ้ย! มีรถตำรวจมานำเว้ย” เขาก็เปิดกระจกบอกว่า ให้ตามมา พ่อผมก็บอกว่า “เออ! ดีเว้ย” ผมก็นิ่งๆ ไม่อะไร ก็ขับตามเข้าสน. ไปเลย สงสัยพ่อไปเหยียบเส้นทึบ (หัวเราะ) ตอนแรกก็นึกว่า เท่น่ะ พ่อเรารุ่นใหญ่นี่หว่า สรุปโดนจับจ่ายค่าปรับเสีย เราก็ “โธ่เอ้ย! นึกว่าจะเก๋า”
ลิปส์ : ทั้งสองคนอยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปในมุมไหนบ้าง
ศุกลวัฒน์ : เปลี่ยนได้เหรอครับ ผมไม่รู้เหมือนกันนะ
สุชาร์ : เอาเรื่องง่ายๆ ก่อนไหม แบบรถไม่ติด เลิกทำถนนอะไรที่มันฝุ่นเยอะ
ศุกลวัฒน์ : นั่นยากสุดแล้วล่ะ ผมว่า ปรับยาก สิ่งที่อาจจะพอทำได้คือปรับที่ตัวเรานี่แหละ สมมุติว่าถ้าเรารู้สึกไม่สบายใจที่จะอยู่ เราก็ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด แล้วเราก็แค่คิดว่ากรุงเทพฯ เป็นต่างจังหวัด แล้วก็เข้ามาเที่ยวในกรุงเทพฯ เสร็จแล้วก็กลับต่างจังหวัดไป ไม่รู้สิ ผมรู้สึกว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ในเรื่อง Bangkok Breaking เนี่ย จะทำให้เห็นว่า เด็กต่างจังหวัดตัวเล็กๆ แต่ก็สามารถที่จะ…อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาแก้ได้ แต่มาลุ้นกันดีกว่าว่า เขาจะทำได้หรือไม่
อย่างไรก็ฝากติดตามดู Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง ทาง Netflix ด้วยครับ ความยาวแต่ละตอนจบภายในหนึ่งชั่วโมง นัดเพื่อนมาดู กำลังดีครับ ดูวันเดียวจบเลย แล้วก็แชร์บอกต่อกันไป มันเป็นซีรีส์ที่เป็นความภูมิใจนะที่ชาวต่างชาติ 190 ประเทศจะได้เห็นซีรีส์ไทย ที่เรามีโปรดักชั่นคุณภาพสูง นำเสนอเรื่องราวเป็นประเด็นที่น่าสนใจ แล้วก็เราได้นักแสดงระดับบิ๊กๆ ทีมผู้กำกับ ผู้เขียนบททั้งหมด เรารู้สึกว่า เราโชคดีที่เราได้สร้าง Bangkok Breaking ขึ้นมา แล้วเราก็รู้สึกว่าอยากส่งต่อให้คนทุกคนเลย อยากให้ทุกคนได้ชมว่า Bangkok Breaking มันมีอะไรน่าสนใจกว่าที่ทุกคนรู้
เชื่อว่า กว่าบทสัมภาษณ์นี้จะเผยแพร่ไปยังผู้อ่าน หลายคนคงได้คลิกเข้าไปชมผลงานชิ้นนี้กันแล้ว แต่ไม่ว่าคุณจะหมวดหมู่ซีรีส์ไทยเรื่องนี้ไว้ในลำดับไหนในใจ หรือบางคนอาจจะยังลังเลใจที่จะคลิกเข้าไปชม ด้วยมองว่า ซีรีส์แนวนี้ไม่ใช่ทางของตัวเองตั้งแต่แรก แต่เราก็อยากให้ลิปสเตอร์ลองเคลียร์สมองให้โล่งๆ แล้วเปิดใจลองไปค้นพบคำตอบของตัวเองถึงจะรู้ว่า ตรงกับจริตในการเสพคอนเทนต์ของตัวเองหรือไม่ แล้วความลับที่ซุกซ่อนไว้ในเมืองหลวงที่เราคิดว่า รู้จักเป็นอย่างดีแล้วจะเซอร์ไพรส์เราได้หรือเปล่า ลองเข้าไปลุ้นด้วยตัวเองดู
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ใน LIPS Digital Cover
Photography : Nucha J.
Styling : Chanasorn P.
Makeup : Naruchat J. , Jirayu Desara
Hair : Paiboon C. , Manaswee K.
Wearing : Dior, Givenchy, Calvin Klein, Migar