‘ปล่อย! กูไม่เป็นกะXรี่!’… ผู้ชมอึ้ง! กรรมการอึ้ง! เรียกได้ว่าหลังจากทีเซอร์รวมซีรีส์ปี 2024 เผยในงาน ‘ปรากฏการณ์ one สนั่นจอ’ ทำเอาแฟนๆ ในฮอลล์และแฟนๆ ที่นั่งชมไลฟ์อยู่ทางบ้านอ้าปากค้างแบบกรามถึงพื้น!
เพราะครั้งนี้ ซีรีส์พีเรียดดราม่าจอมขโมยซีนอย่าง ‘บางกอกคณิกา’ ที่สะท้อนชีวิตของ ‘นางคณิกา’ หรือ ‘โสเภณี’ ในเมืองบางกอกสมัยอดีต เผยนักแสดงนำดีกรีรองชนะเลิศอันดับหนึ่งมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2022 อย่างอิงฟ้า วราหะ มาร่วมแสดงในบทบาทสั่นคลอนโลกีย์
ซึ่งหลังจากทีเซอร์ปล่อยออกไปส่งผลให้แฮชแท็ก #ENGFAXONED2024 พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ (X) ในประเทศไทยแบบไม่มีข้อกังขา
ตัวอย่างซีรีส์เข้มข้นในปี 2024 ทาง oneD Original
เหล่านักแสดงตัวแด๊ด…ตัวมัม
โดยทีเซอร์เผยให้เห็นเหล่านักแสดงตัวจี๊ดมากมายไม่ว่าจะเป็นอ้อม-พิยดา จุฑารัตนกุล กับบทบาทแม่เล้า-แม่หอ และฉัตรชัย เปล่งพานิช กับซีนที่สะท้อนความกดขี่ทางเพศและชะตากรรมของสตรีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
รวมไปถึงการรับบทนักแสดงในซีรีส์ครั้งแรกของอิงฟ้าที่เล่นเป็นหนึ่งในนางคณิกา ปรากฎตัวพร้อมกับสไบสีบานเย็นสุดร้อนแรง ร่วมด้วยก้อย-อรัชพร โภคินภากร กับอินเนอร์ฟาดๆ ที่แฟนๆ ต่างบอกว่าทั้งคู่เตรียมเป็นมือตบตัวแม่ในหอคณิกาแห่งนี้
ทั้งนี้ทีเซอร์เผยรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็กลายเป็นซีรีส์ฟอร์มดีที่แฟนๆ ต่างรอคอย ในปี 2024 อีกด้วย
หรือนี่คือ ‘ยายแฟง’ คังคุไบเมืองไทย
แม้ว่าพลอตเรื่องยังไม่มีการเปิดเผยที่แน่ชัด แต่เหล่านักสืบโซเชียลฯ ก็พุ่งเป้าไปที่ตำนาน ‘ยายแฟง’ แห่งวัดคณิกาผล ที่ถูกขนานนามว่าเป็นคังคุไบ เมืองไทย
ยายแฟง แม่เล้าเจ้าของโรงโสเภณีเลื่องชื่อในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงรวบรวมเงินจากเหล่าโสเภณีทั้งหลายมาสร้างวัดแห่งนี้ในปี 2376 ซึ่งคำว่า ‘คณิกาผล’ ก็แปลตรงตัวว่า ‘ผลที่ได้จากการค้าประเวณี’
ปัจจุบันภายในวิหารของวัดคณิกาผล ก็ปรากฏรูปหล่อของยายแฟง พร้อมระบุข้อความบนป้ายว่า “รูปหล่อของย่าแฟง เปาโรหิตย์ ผู้สร้างวัดคณิกาผล ๒๓๗๖”
และหากเนื้อเรื่องเป็นการนำเสนอประวัติของยายแฟงจริงๆ กระแสการตอบรับของแฟนๆ คงทวีคูณ เห็นได้จากกองเชียร์ทางทวิตเตอร์ (X) ที่หลายคนเคยไปมูฯ กับยายแฟงเพื่อขอคนรัก ขอคนอุ้มชูอุปถัมภ์ ของาน ขอโชคลาภ เป็นต้น
โสเภณี สร้างวัดไทย! แล้วไทยให้อะไรกับโสเภณี?
หลังจากทีเซอร์ถูกปล่อย ความน่าสนใจแรกเลยคือการโคจรมาปะทะกันระหว่างนักแสดงเบอร์ใหญ่ที่ไม่ต้องมีอะไรมาการันตี ผู้ชมก็เข้าใจได้ว่าต้องครบเครื่องกินแซ่บ!
อย่างที่ฉากของอ้อม-พิยดา เปิดตัวมาด้วยการนั่งบนตั่ง ใส่แว่นตาดำพร้อมคาบไปป์ ก็สื่อถึงว่า เธอคือเจ้าแม่คอยควบคุม ณ สถานที่แห่งนี้
เช่นเดียวประเด็นละเอียดอ่อนของสตรีที่โดนกดขี่ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ในอดีต ปรากฏในเห็นในฉากของฉัตรไชย เปล่งพาณิช และยังมีฉากการบังคับสตรีให้มาเป็นโสเภณีโดยไม่เต็มใจ ซึ่งตอกย้ำประเด็นในโลกจริงของอาชีพ ‘Sex Worker’ ได้อย่างน่าติดตาม
ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากซีรีส์ออนแอร์ อาจทำให้สังคมตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมของกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงมาตรการการป้องกันการค้ามนุษย์ในบริบทการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ที่ควรจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสังคมในปัจจุบัน
‘โสเภณี’ เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ได้ไหม?
ดูเหมือนว่าจั่วหัวแรงเกิน! แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนหนึ่ง (หลายคนอยู่) เข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพราะเขาเข้าใจในบริบทของไทยแลนด์ดินแดนแห่ง…(เซนเซอร์ให้ค่ะ)
แล้วหากแต่ว่านิยามของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ คืออะไร? หลังจากเราเปิดอากู๋ดู ก็พอจะเข้าใจได้ว่าซอฟต์พาวเวอร์ คือพลังเย็นที่ส่งต่ออิทธิพลทางวัฒนธรรม อาหาร เครื่องดื่ม วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ ความเชื่อ ฯลฯ นำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เพื่อโน้มน้าว เปลี่ยนแปลงความคิดหรือตอกย้ำ ให้มาสนใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้กันมากขึ้น
ดังนั้น ‘บางกอกคณิกา’ หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์รางวัลที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์อยู่ขณะนี้อย่าง ‘DOI BOY-ดอยบอย’ ในบทของ ‘ศร’ (รับบทโดยอัด-อวัช รัตนปิณฑะ) เด็กหนุ่มจากรัฐฉานที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็น Sex Worker
ไปจนถึง ‘ซ้อเรณู’ (รับบทโดย เบลล่า-ราณี แคมเปน) ในละครเรื่องกรงกรรมทางช่อง 3 และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต่างก็บอกเล่าเรื่องราวของ ‘โสเภณี’ ในสังคมไทยเป็นระลอกๆ
ดังนั้นในยุคที่สื่ออย่างภาพยนตร์และซีรีส์ ตลอดจนศิลปินเองต่างผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในหมวดต่างๆ ถ้าดูจากนิยามและบริบทของการแสดงออกผ่านสื่อแล้ว ‘โสเภณี ทำไมจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์บ้างไม่ได้’ ในเมื่อปัจจัยส่งมาครบแบบนี้
หากจะว่าเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการนำมาซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือนำมาซึ่งความยุ่งเหยิงในโครงสร้างทางครอบครัว หรือสังคม อันนี้ไม่น่าจะใช่ประเด็นที่นำมาเหมารวม นั่นขึ้นอยู่กับการจัดการ การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ และจะง่ายขึ้นถ้าทุกอย่างถูกทำให้โปร่งใส ไม่ใช่ใต้ดิน
หรือว่าเป็นเพราะอาชีพโสเภณีเท่ากับ ‘ความต่ำต้อย’? เป็นอาชีพที่ผิดศีลธรรม? แล้วนิยามคนศีลธรรมสูงคืออะไร? พระวิญญาณบริสุทธิ์จากไหนกันที่อาจหาญมาชี้ว่าสิ่งนี้ถูกสิ่งนี้ผิด?
ในเมืองที่ไม่เคยตรวจพบว่ามีโสเภณี
ย้อนกลับไปในปี 2562 ที่สื่อประโคมข่าวชวนหัวร่อว่าเจ้าหน้าที่ประจำเมืองหนึ่งๆ ลงพื้นที่ตรวจอาชีพค้าบริการ แต่ก็ไม่พบว่ามีอาชีพดังกล่าว (จ้าๆ เชื่อๆ) แท้จริงแล้ว…มันไม่มี หรือมันคือความหน้าบางเกินกว่าที่จะยอมรับ?
เราต่างเอามาตรวัดทางศีลธรรม (ที่ไม่รู้ว่าของใครหรือใช้เกณฑ์อะไร) จึงทำให้ล้วนแล้วแต่หน้าบางเวลากล่าวถึงอาชีพ ‘โสเภณี’ จนไม่สามารถมองได้ว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่ควรค่ากับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ในบริบทบนดิน ในที่ที่มีแสงสว่าง!
หากมาตรวัดทางศีลธรรมของพวกเราผู้สูงส่ง และให้คะแนนเต็มกับกุศลใหญ่อย่างการสร้างวัดสร้างวิหาร (ยกตัวอย่าง) และถ้าหากมีโสเภณีทำการสร้างวัดสร้างวิหารคุณจะตัดแต้มไหม? อันนี้ถามเล่นๆ
เช่นกันหวังว่า ‘บางกอกคณิกา’ จะเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่พาคุณไปโลดแล่นอยู่ในสภาพแวดล้อมของหญิงงามเมืองในอดีตอย่างโขลกพริกถึงเครื่อง! รวมถึงจุดประกายให้พวกเราตั้งคำถามสำคัญว่าแท้จริงแล้ว พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 (ฉบับปัจจุบัน) ตอบโจทย์การขับเคลื่อนสังคมเพื่อไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี แบบครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นจริงๆ หรือไม่?
ลองเปิดใจมองเหล่าคณิกาในฐานะ ‘มนุษย์’ อย่างน้อยก็เริ่มด้วยอะไรมันๆ สนุกๆ อย่างซีรีส์ ‘บางกอกคณิกา’ ในปีหน้า ก็แล้วกัน!
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก: