‘วัฏจักร’ คือคำที่ใช้อธิบายความเปรี้ยงครั้งประวัติศาสตร์ของ BLACKPINK ที่เทศกาลดนตรีโคเชลลา 2023 หลังจากที่พวกเธอไล่เก็บแต้มความสำเร็จมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่เดบิวต์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปี 2016 และนี่คือ ประวัติศาสตร์สร้างใหม่โดยสี่สาว BLACKPINK
- ใช้เวลา 7 ปีหลังจากเดบิวต์ BLACKPINK จารึกชื่อให้ตนเองว่าเป็นศิลปินเอเชียวงแรกที่เป็นเฮดไลเนอร์เทศกาลดนตรีระดับโลก ‘โคเชลลา’
- มีผู้เข้าชมการแสดงสดของ BLACKPINK ที่เวทีหลัก 125,000 คน
- โคเชลลาไลฟ์สตรีมการแสดงสดของ BLACKPINK ทางยูทูบ ซึ่งเว็บไซต์ Techradar เผยว่ามีผู้ชมคลิกเข้ามาชมรวมแล้ว 250 ล้านวิวทั่วโลก
- สี่สาวแสดงสด 2 ชั่วโมง ขนเพลงฮิต 18 เพลงไปโชว์ ได้แก่ Pink Venom, Kill This Love, How You Like That, Pretty Savage, Kick It, WHISTLE, WHISTLE (Dance remix), You & Me (Jennie solo), FLOWER (Jisoo solo), Gone + On The Ground (Rosé solo), MONEY (Lisa solo), BOOMBAYAH, Lovesick Girls, PLAYING WITH FIRE, Typa Girl, Shut Down, TALLY, DDU-DU DDU-DU, FOREVER YOUNG
- Visibrain แพล็ตฟอร์มมอนิเตอร์สื่อออนไลน์เผยสถิติว่า โพสต์ในโซเชียลมีเดียกล่าวถึง BLACKPINK 7,557,072 โพสต์ หรือคิดเป็น 78.1 เปอร์เซ็นต์ หรือจากโพสต์ทั้งหมด 9,674,274 โพสต์ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลดนตรีโคเชลลา
BLACKPINK ที่โคเชลลาปี 2023
- กินเนสเวิลด์เร็กคอร์ดบันทึกว่า BLACKPINK เป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่มียอดสตรีมเพลงสูงที่สุดในแพลตฟอร์ม Spotify และช่องทางการของ BLACKPINK ในยูทูบมียอดวิวรวมกันมากกว่า 3,000 ล้านวิว แซงหน้าแชมป์เก่า Justin Bieber
- ปี 2022 BLACKPINK เป็นศิลปินเคป็อปหญิงวงแรกที่อัลบั้มขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งอัลบั้มชาร์ตฝั่งอังกฤษและอเมริกา
- ปี 2020 เพลง How You Like That เป็นเพลงที่มียอดวิวสูงสุดภายใน 24 ชั่วโมงบนยูทูบ (ซึ่งสี่สาวสวมฮันบกสไตล์โมเดิร์นออกแบบโดย Kim Danha ในเอ็มวีเพลงนี้ด้วย)
- ปี 2019 BLACKPINK คือเกิร์ลกรุ๊ปเคป็อปวงแรกที่ได้ขึ้นแสดงสดในเทศกาลดนตรีโคเชลลา และเป็นศิลปินหญิงเกาหลีวงแรกที่ได้ขึ้นแสดงสดบนเวทีในเทศกาลดนตรีในอเมริกา
BLACKPINK ที่โคเชลลาปี 2019
ปัจจัยความปังอันยั่งยืนของอุตสาหกรรมเคป็อป
ทำไมอุตสาหกรรมเพลงป็อปของเกาหลีใต้จึงมีภาพหรือวิชวลที่เตะตรึงมาก เป็นเพราะในโลกตะวันตกเสพสื่อบันเทิงจากวิทยุ อย่างเพลง Video Killed the Radio Star ของวง The Buggles วิพากษ์ปรากฏการณ์ที่โทรทัศน์เริ่มเป็นสื่อกระแสหลักแทนที่วิทยุเอาไว้ซึ่งเป็นจริงเมื่อ MTV ถือกำเนิดในปี 1981 ศิลปินฝั่งตะวันตกจึงไม่ได้มีวิชวลจัดจ้านมากนัก
ผิดกับเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามมาตลอด ดังที่ยุนยอจอง นักแสดงเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Minari ในปี 2021 อธิบายไว้ในรายการ Youn’s Unexpected Journey ว่า สงครามทำให้คนเกาหลีมี han หรือ sorrow ที่ทำให้พวกเขาแสดงออกอย่างมีน้ำหนัก เวลาแสดงก็แสดงอย่างดิ่งลึก เวลาเต้นหรือร้องเพลงก็ทำอย่างสุดชีวิต เพื่อให้เสียงหรือการแสดงออกของพวกเขาได้ปลดเปลื้องออกมา เพื่อให้ถูกเห็นและถูกได้ยิน
อุตสาหกรรมเพลงป็อปของเกาหลีจึงเริ่มเฟื่องฟูในยุคโทรทัศน์ นั่นทำให้เพลงเคป็อปต้องทำให้เสพได้ทั้งทางหูและทางตา ประกอบกับช่วงปลายยุค 1990 ได้เกิดคำเรียกศิลปินเพลงป็อปว่า ‘ไอดอล’ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยวงบุกเบิกในยุคนั้นก็เช่น god, H.O.T., S.E.S. และ Fin.K.L
บาดา เมมเบอร์คนหนึ่งของ S.E.S. มาออกรายการทีวีชื่อดังของเกาหลีใต้ Radio Star ที่ออกอากาศมายาวนานถึง 17 ปีในเอพิโซดที่ 811 เธอกล่าวติดตลกว่าไอดอลรุ่นน้อง (ปัจจุบันคือรุ่นที่ 4) ต้องขอบคุณไอดอลรุ่น 1 ในยุคเดียวกับเธอที่กรุยทางพาเพลงเคป็อปออกไปให้โลกรู้จัก ในสมัยที่ S.E.S. ไปโปรโมทที่ญี่ปุ่นก็ต้องนั่งรถไฟชินคันเซนและแต่งหน้าแต่งตัวกันเอง ส่วนซอนเย เมมเบอร์ของ Wonder Girls เล่าไว้ในรายการ Knowing Bros เอพิโซดที่ 375 ว่า พาดนตรีเคป็อปไปบุกตลาดอเมริกาในปี 2009 ด้วยการ “ยืนแจกแผ่นพับแนะนำให้กับคนเดินถนน” ก่อนจะได้ไปแสดงสดครั้งแรกในรายการทอล์กโชว์ของอเมริกา ‘Wendy Williams Show’
ไอดอลรุ่น 1 เป็นรุ่นแรกที่ใช้ระบบฝึกฝนจากทางค่ายเพลง ทั้งการร้องเพลง แร็ป เต้นไปจนถึงการแต่งตัวที่ต้องดีเลิศสมกับความหมายของ ‘ไอดอล’ ทุกวงพยายามทำเพลงและวิชวลของวงให้แตกต่างจากวงอื่นๆ เพื่อจะมีสีหรือเอกลักษณ์ของตนเองให้ได้ ส่งผลให้เกิด K-Fashion พร้อมๆกับการถือกำเนิดของ K-Pop
ใครที่เคยดูมิวสิควิดีโอเพลงเคป็อปเป็นครั้งแรกต้องตาถลนกันทุกรายกับโปรดักชั่นอลังการราวกับหนังฮอลลีวู้ด และเสื้อผ้าที่เหมือนขนมาทั้งปารีส อาทิ เอ็มวีเพลง Kill This Love ของ BLACKPINK ทั้งสี่สาวเปลี่ยนเสื้อผ้ากันถึง 20 ชุด ซึ่งล้วนมาจากไฮแบรนด์ต่างๆ อาทิ เดรสสีดำมูลค่า 8,000 ดอลล่าร์สหรัฐจาก Givenchy ที่จีซูใส่ หรือเดรสปักมูลค่า 15,000 เหรียญจาก Celine ของลิซ่า ขณะที่ Viviz ที่มีอดีตสมาชิกวง G-Friend 3 คนเมื่อครั้งมาออกรายการ Yong Jin’s Health Center ก็บอกว่ามีช่วงโปรโมทแค่ 2 สัปดาห์ เพราะว่างบค่าเสื้อผ้าสูงมาก สะท้อนชัดว่าแฟชั่นเป็นเรื่องใหญ่มากกับการเป็นศิลปินเคป็อป
ขอยกคำของยุนยอจองมาอีกครั้งที่ว่า ศิลปินเกาหลีก็ทำผลงานของเราดีงามกันอยู่แล้ว แต่โลกเพิ่งตื่นมาเจอเราเท่านั้นเอง ความดังของเคป็อปที่กลายเป็นกระแสหลักไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน แต่เป็นพลังสนับสนุนจาก ‘ด้อม’ ของวงต่างๆ แฟนด้อมหรือแฟนเพลงของไอดอลถือเป็นกำลังหลักที่ทำให้เคป็อปมาไกลอย่างในทุกวันนี้
แม้ในบางประเทศที่ทางค่ายไม่ได้พาศิลปินไปโปรโมท แต่แฟนๆจะตั้งวงสื่อสารส่งข่าวกันเองทางเว็บบอร์ดและต่อมาเป็นทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรียกประชากรกลุ่มนี้ว่า SNS Citizen (เนื่องจากคนเกาหลีเรียกโซเชียลมีเดียว่า Social Network Service) ที่สามารถส่งให้เพลงใหม่ของ BTS และ BLACKPINK มียอดวิวเกินร้อยล้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากคอสตูมจัดเต็มบนเวทีแล้ว ลุคสบายๆนอกเวทีจึงจำเป็นต้องแฟชั่นด้วย อันนำไปสู่ ‘ลุคสนามบิน’ ที่แฟนๆและช่างภาพจากสื่อบันเทิงสำนักต่างๆจะไปยลโฉมไอดอล ซึ่งจะกลายเป็นข่าวพาดหัวว่าวันนี้ไอดอลของคุณใส่อะไร เช่น ทิฟฟานีวง Girls’ Generation ไปสนามบินในเสื้อโค้ท Burberry ราคา 2,295 เหรียญ ส่วนแทยอน ลีดเดอร์ของวงก็ถือกระเป๋า Ralph Lauren สนนราคา 2,250 เหรียญ และ J-Hope ก็เป็นข่าวพาดหัวว่าใส่ ‘กางเกงนอน’ ราคา 990 เหรียญไปสนามบิน ทั้งที่จริงแล้วเป็นกางเกงยีนส์สีชมพูอ่อนลายการ์ตูนจาก Vetements
การที่ ‘แฟชั่นสนามบิน’ สำคัญนัก ก็เพราะไอเท็มต่างๆบนตัวไอดอลจะถูกแฟนๆซื้อหาจนหมดไปจากห้างร้านต่างๆในเวลาอันสั้น เมื่อครั้งที่ Suga BTS ใส่เสื้อเชิ้ตลายตารางของ Louis Vuitton by Virgil Abloh ก็ปรากฏว่ามีคนค้นหาเสื้อตัวนี้ใน Lyst เว็บช้อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่เพิ่มขึ้น 120% และเมื่อ RM ลีดเดอร์ของวงใส่เสื้อยืดสีชมพูจาก Adidas ยอดค้นหาก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 97% ศิลปินเคป็อปจึงส่งอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นระดับโลกอย่างวัดได้ด้วยตัวเลข ทำให้ไอดอลกลายได้ร่วมงานกับไฮแบรนด์หนาตามากในยุคนี้
แฟนเพลงจะยินดีมากหากว่าศิลปินโปรดของพวกเขาได้เป็น ‘คนแรก’ ‘คนเดียว’ หรือ ‘ล่าสุด’ ของอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องดีๆ Girls’ Generation ไปนั่งฟร้อนท์โรว์เป็นวงแรกๆที่ Burberry ในลอนดอนมาตั้งแต่ปี 2012 เมื่อต้านทานความแรงของเพลง Gee ที่ดังไปทั่วโลกไม่ไหว ส่วนองค์พ่อแฟชั่น G-Dragon ผู้มีหนังศีรษะอันทนทานต่อสารเคมีในน้ำยาทำสีผมเป็นเลิศเมื่อทำมาแล้วทุกทรง ทุกสีก็ได้กลายเป็นเพื่อน ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นชาวเอเชียคนแรกที่เป็นทูตสากลของ Chanel หลังจากไปร่วมแฟชั่นโชว์ของแบรนด์มาเกือบทศวรรษ
ส่วน Kai EXO เป็นศิลปินเคป็อปคนแรกที่ได้ทำคอลเล็กชั่นพิเศษกับ Gucci ในวาระครบ 100 ปีของแบรนด์ หรือ aespa เป็นทูตของ Givenchy กันยกวงเป็นวงแรก และ Mino วง Winner ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นศิลปินเค-พ็อพคนแรกที่เดินแบบในแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งกายชายของ Louis Vuitton ประจำฤดูร้อน 2020 เป็นต้น
ไม่แปลกใจที่ท่ามกลางผู้ชมกว่า 125,000 คนที่พาตัวเองไปยืนดูการแสดงสดของ BLACKPINK กันตัวเป็นๆ ที่โคเชลลาในปี 2023 นั้น จำนวนมากชูแท่งไฟรูปหัวใจสีชมพูของวงบ่งบอกสถานะการเป็นด้อม BLINK ที่อยากจะมาเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์นี้ของศิลปินที่รัก ซึ่งได้เป็นศิลปินเอเชีย (หรือศิลปินเค-ป๊อป) วงแรกที่ได้เป็นเฮดไลเนอร์เทศกาลดนตรีระดับโลกเช่นนี้
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก