Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Culture / Dining

ธรรมเนียมที่สายดื่ม(ชา) ควรรู้และปฏิบัติเมื่อร่วม ‘การชงชา’ ที่ไม่ใช่พิธีแต่คือ ‘วิถีแห่งชา’

Culture / Dining

เข้าใจผิดมาตลอดว่า Tea Ceremony คือ พิธีชงชา แต่คุณน้ำ – จิตชญา สาระสมบัติ คนรักชาและเจ้าของร้าน Chaya Teahouse ผู้ที่สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทยยังเชิญตัวไปสาธิตการชงชาแบบญี่ปุ่นอธิบายว่า มันหาใช่ ‘พิธีชงชา’ ไม่ ทว่าแก่นแท้ของการแสดงน้ำใจในการต้อนรับแขกขั้นสูงสุดและการใกล้ชิดชื่นชมธรรมชาตินี้เรียกว่า ‘วิถีแห่งชา’

คุณน้ำ - จิตชญา สาระสมบัติ คนรักชาและเจ้าของร้าน Chaya Teahouse
คุณน้ำ – จิตชญา สาระสมบัติ คนรักชาและเจ้าของร้าน Chaya Teahouse

ชะโนะยุ – ที่ไม่ได้ว่าพิธีชงชา

“ในภาษาญี่ปุ่น ‘ชะโนะยุ’ ไม่ได้แปลว่าพิธีชงชา” คุณน้ำขอทำความเข้าใจกันก่อน “ชะโนะยุ แปลว่า วิถีแห่งชา วัตถุประสงค์ คือการแสดงน้ำใจในการต้อนรับแขกขั้นสูงสุด ดังนั้น ทุกองค์ประกอบในการชงชาล้วนมีตำแหน่งแห่งที่และมีความหมาย เช่น ทำไมจึงต้องมีโถน้ำเย็น ก็เพื่อบ่งบอกว่าเจ้าบ้านพร้อมต้อนรับ และยังมีโถน้ำไว้เติมน้ำเย็นในโถน้ำเย็นอีกทีเตรียมไว้อีก เนื่องจากจะเป็นการเสียมารยาท ถ้าหากว่าน้ำหมดแล้วเจ้าภาพจะลุกออกไปหยิบน้ำมาเติม เจ้าภาพต้องคิดเผื่อในทุกสถานการณ์ จึงต้องเตรียมของเอาไว้ให้พร้อมและไม่ให้พร่อง ต่างแขก ต่างการชง ต่างฤดูกาล เราสามารถสร้างธีมให้แตกต่างกันไปก็ได้เช่นกัน”

เจ้าภาพ 70 แขก 30

ขั้นตอนการชงชามีผู้เขียนไว้แล้วมากมาย แต่เรื่องการปฏิบัติตนหรือมารยาทของแขกไม่ใคร่จะมีคนรู้กันนัก คุณน้ำจึงอยากยกเรื่องนี้มาแบ่งปันกัน เพราะแท้จริงแล้ว ในการชงชาเป็นเรื่องการปฏิบัติตัวของแขก 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ

ห้องตาตามิสำหรับชงชา

“ห้องตาตามิทั่วไป เส้นบนเสื่อจะมีหลากหลายสีสันได้ แต่ถ้าเป็นห้องชงชา เส้นบนเสื่อจะเป็นสีดำเท่านั้น” คุณน้ำชี้ให้เห็นความต่างประการแรก “การชงชาคือการแสดงน้ำใจของเจ้าภาพในการต้อนรับแขก และการอยู่ใกล้กับธรรมชาติ ดังนั้นคนชงจะไม่ใส่เครื่องประดับใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผม หู คอ มือ ไม่แต่งหน้าจัด ไม่แต่งตัวฉูดฉาด อาจแต่งตามฤดูกาลได้ แต่จะอยู่ในทิศทางของความเรียบง่ายและถ่อมตน

“ห้องชงชามีหลายขนาด เล็กสุดคือ 2 เสื่อ คนชง 1 เสื่อ แขก 1 เสื่อ แต่ไม่จำเป็นต้องชงในห้องเสมอไป สามารถยก ‘ชาบาโกะ’ หรือกล่องใส่อุปกรณ์ชงชาไปชงในสวนก็ได้ ในความมีพิธีรีตอง มีธรรมเนียมปฏิบัติก็มีความยืดหยุ่น แต่แก่นแท้จะต้องคงอยู่เสมอ คือการทำตัวใกล้ชิดกับธรรมชาติและพร้อมต้อนรับแขก” คุณน้ำย้ำถึงแก่นแท้ของวิถีแห่งชา

วิถีของผู้มาเยือน

เรือนชงชาเรียกว่าชาชิสึ เป็นกระท่อมในสวน ถ้ามีอาวุธให้วางไว้ข้างนอก ในห้องจะเป็นพื้นที่สันติ” คุณน้ำค่อยๆพาไปให้รู้จักมารยาทการปฏิบัติตนของแขกในการชงชา “อุปกรณ์ที่เป็นของส่วนตัวซึ่งแขกจะต้องพกไปเองคือกระดาษและที่ตักขนม แขกจะคีบขนมมาวางไว้บนกระดาษที่เตรียมมา เอาไว้เช็ดขอบถ้วยชา หรือห่อขนมถ้ากินไม่หมด

เวลาแขกจะเข้าห้องชงชา จะต้องเข้าประตูของแขกซึ่งเป็นประตูเตี้ยๆ แขกจะวางพัดไว้บนเสื่อ เอามือประสานไว้บนเสื่อแล้วค้อมศีรษะเพื่อทำความเคารพ จากนั้นย่อตัวลงให้พื้นอยู่ในระดับสายตา เพื่อดูว่า ‘โตโกะโนะมะ’ หรือแท่นวางของตามธีมงาน ซึ่งมักมีภาพแขวนอยู่ตรงไหน นั่นจะเป็นทิศทางที่เรามุ่งไป

“จากนั้นจึงคุกเข่าแนบพื้น กำมือสองข้างแนบลำตัว แล้วสไลด์ตัวไปตามเสื่อ แต่ละครั้งที่ไถตัวไปจะต้องเลื่อนพัดให้วางไว้ด้านหน้าเข่าเสมอ เหตุที่ต้องไถตัวในท่าคุกเข่าแบบนี้ เพราะบริเวณประตูทางเข้าเพดานจะเตี้ย เป็นการบังคับกิริยาให้นอบน้อม

“เมื่อถึงบริเวณที่พอจะลุกขึ้นได้ก็ให้ลุกเดินไปนั่งหน้าแท่น แล้วพิจารณาภาพแขวน ซาบซึ้งกับสิ่งที่เจ้าภาพได้เตรียมไว้ ซึ่งภาพแขวนจะมีความหมายตามฤดูกาลหรือตามโอกาส จากนั้นดูดอกไม้ที่จัดไว้ว่าเป็นดอกอะไร ธีมอะไร ซึ่งไม่ใช่การจัดแบบอิเคบานะ แต่เป็นดอกไม้เรียบๆ เรียกว่า ‘ชาบานะ’ ใช้ดอกไม้ไม่เกิน 3 สีที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูนั้นและไม่ต้องหรูหรา เช่น ในฤดูใบไม้ผลิ เรามีซากุระก็นำมาปักแจกันได้ หรือฤดูฝนมีใบไม้สีเขียวเยอะก็นำมาปักได้

“แล้วให้เดินย้อนกลับไปนั่งในตำแหน่งคนชงชาหน้าเตา เพื่อชมลายคามะบนหม้อน้ำ และชมวิธีการเรียงถ่าน เมื่อชมเสร็จให้เดินกลับไปนั่งประจำที่ของแขกคนแรก ก็คือเสื่อที่อยู่ติดกับแท่นแขวนภาพ จุดที่นั่งให้นับจากเส้นสีดำบนเสื่อ 1 คืบแล้วนั่งคุกเข่า เว้นที่ว่างด้านหลังประมาณ 1 คืบเพื่อวางพัด พัดที่แขกพกติดตัวมาจะไม่เอาออกมากางเด็ดขาด แขกคนต่อไปจะปฏิบัติตามลำดับเช่นนี้ คือชมภาพแขวน ชมเตา แล้วกลับมานั่งประจำที่ของตนจนครบจำนวนคน โดยแขกคนสุดท้ายเข้ามาจะเป็นผู้ปิดประตูห้อง แขกคนแรกมีหน้าที่ชวนคนอื่นพูดคุยทักทายกัน แต่ไม่ส่งเสียงดัง

การนั่งบนเสื่อตาตามิต้องใส่ถุงเท้า ห้ามเท้าเปล่าไปทั้งคนชงและแขก เวลาเดินคนไทยต้องเดินเงียบๆ แต่เวลาเข้าบ้านคนญี่ปุ่นต้องเดินให้มีเสียง โดยใช้ปลายถุงเท้าไถไปกับเสื่อ เพื่อให้เกิดเสียงสวบสาบเบาๆ บอกให้เจ้าภาพรู้ว่าแขกมาถึงแล้ว ถ้าเราเดินเบาๆ เขาจะนึกว่าเราไปย่องเบาบ้านเขา ดังนั้นตลอดช่วงที่แขกชมภาพแขวนและเดินไปชมกาจะเกิดเสียงลากถุงเท้าในห้องชงชา

เมื่อเสียงในห้องชาเงียบลง เจ้าภาพจะรับรู้ได้ว่าแขกพร้อมแล้ว จึงค่อยเปิดประตูด้านหลังออกมา ซึ่งเป็นคนละประตูกันกับประตูของแขก เพื่อนำขนมออกมาเสิร์ฟให้ แขกต้องกินให้หมด ถ้าไม่หมดต้องใช้กระดาษห่อใส่แขนเสื้อกิโมโนกลับบ้าน แต่ถ้าจะให้ดีควรกินให้หมด ไม่อย่างนั้นเจ้าภาพจะคิดว่าขนมไม่อร่อย

“เมื่อเจ้าภาพชงชาเสร็จจะวางถ้วยชาไว้นอกเสื่อของตนเอง เพราะว่าเป็นของ ‘คนอื่น’ แขกจะต้องหยิบมาไว้ที่ตัวเอง นั่นก็จะกลายเป็นของ ‘ของแขก’ เส้นสีดำบนเสื่อคือเส้นแบ่งเขตแดนของเจ้าภาพและแขก ทั้งนี้เจ้าภาพจะไม่เสิร์ฟชาให้ แขกคนแรกมีหน้าที่ต้องไถตัวไปนำถ้วยชามา หรือบางทีเจ้าภาพอาจมี ‘ฮันโต’ ออกมาช่วยยกถ้วยชาไปเสิร์ฟให้แขก แขกจะไถตัวไปในลักษณะเดียวกับที่ไถตัวตอนเข้ามาให้ห้อง และไถตัวไปในทิศทางที่ถ้วยชาวางอยู่ หยิบถ้วยมาวางไว้หน้าเข่าแล้วไถตัวถอยหลังกลับ โดยไม่ลุกขึ้นหรือหันหลัง

“จากนั้นแขกจะวางถ้วยไว้บนเสื่อด้านหน้าตนเอง (นอกเส้นสีดำที่ไม่ใช่เสื่อของตนเอง) แล้วหยิบถ้วยชาไปวางไว้ข้างตัว หันไปขออนุญาตแขกที่นั่งถัดไป แล้วจึงวางถ้วยชาบนเสื่อของตน คำนับขออนุญาตและขอบคุณเจ้าภาพที่ชงชาให้

แขกจะวางถ้วยชาบนมือซ้าย แล้วใช้มือขวาหมุนตามเข็มนาฬิกา 2 ครั้ง เพื่อหันหน้าถ้วยชาออก แขกจะไม่ดื่มชาทับหน้าถ้วย แล้วจึงยกดื่ม จะดื่มกี่ครั้งก็ได้ อึกสุดท้ายจะต้องทำเสียงสูดชาหมดถ้วย เพื่อสื่อสารกับเจ้าภาพว่าเราดื่มหมดแล้ว

“จากนั้นใช้กระดาษที่เตรียมมาเช็ดขอบถ้วย แล้วหมุนทวนเข็มนาฬิกา 2 ครั้งเพื่อหันหน้าถ้วยกลับ วางถ้วยชาบนเสื่อนอกเส้นสีดำ แล้วก้มลงพิจารณลวดลายก้นถ้วยชา สามารถยกถ้วยชาขึ้นมาดูได้ในลักษณะเอาศอกสองข้างวางไว้บนเข่าแล้วค้อมตัวลงมา มือทั้งสองโอบประคองถ้วยชาไว้ให้อยู่เหนือเสื่อเล็กน้อย ป้องกันไม่ให้ทำถ้วยชาหล่นแตก เหตุผลที่ต้องดื่มชาให้หมดก็เพื่อให้เห็นลวดลายก้นถ้วยชาได้นั่นเอง และสามารถคว่ำถ้วยเพื่อชมตราประทับของช่างฝีมือทำถ้วยชาจากตระกูลต่างๆได้

“ระหว่างที่แขกดื่มถือว่าเป็นครึ่งหนึ่งของการชงชาแล้ว จากนั้นแขกจะนำถ้วยชาไปวางคืนให้เจ้าภาพ โดยย้อนลำดับขั้นตอนที่ไปรับถ้วยชามา จะนำถ้วยชาไปวางไว้ตรงไหนให้หันเข่าและไถตัวไปทางนั้น โดยวางถ้วยชาไว้หน้าเข่าเสมอ ก่อนจะไถตัวไปทีละครั้ง จะไม่มีการถือถ้วยชาไปด้วย ไถตัวไปด้วย จึงต้องถัดตัวหลายรอบ

“เมื่อไปถึงบริเวณเยื้องข้างเตาซึ่งเป็นจุดที่จะวางถ้วยชาคืนเจ้าภาพ ก่อนจะวางถ้วยบนเสื่อ หน้าถ้วยหันเข้าหาตัวแสดงว่าถ้วยนี้เป็นของแขก จึงต้องหันถ้วย 2 รอบตามเข็มนาฬิกาเพื่อหันหน้าถ้วยคืนให้เจ้าภาพ เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการปฏิบัติตัวของแขกในการดื่มชา

ตาตามิ: พื้นที่ของคอมมูนิตี้

“ในการมาดื่มชาที่ร้าน แขกไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ ทางร้านจะอธิบายเพื่อเป็นการเรียนรู้ แขกจะรู้สึกสนุกขึ้นเมื่อได้รับรู้ความหมายของกิริยาท่าทางต่างๆ และสามารถนั่งดื่มที่โต๊ะได้ แก่นแท้ไม่ได้อยู่ที่การนั่งเสื่อ แต่คือการแสดงน้ำใจต้อนรับแขก” คุณน้ำตบท้ายหลังจากสาธิตมารยาทของแขกในการชงชาเสร็จแล้ว

“พอเราทำพื้นที่ห้องชงชา เรารู้สึกว่าได้สร้างคอมมูนิตี้ที่ไม่จำเป็นต้องมีแต่คนที่ชอบดื่มชามาก็ได้ บางทีคนชอบเครื่องปั้นดินเผาก็มานั่งคุยกัน คนชอบกิโมโนก็ใส่ชุดมานั่งดื่มชากัน แม้แต่คนที่ชอบวาดอนิเมะก็มานั่งใช้จินตนาการกัน มีผู้คนที่สนใจวัฒนธรรมหลากหลายหมุนเวียนกันมาพบเจอกันบนเสื่อนี้ ซึ่งหลายครั้งก็นำไปสู่การทำเวิร์กชอปในเรื่องต่างๆ

“การเรียนรู้เรื่องวิถีแห่งชาไม่ได้เรียนเพื่อให้ชงเป็นเท่านั้น แต่เรียนเพื่อให้รู้องค์ประกอบและความหมายต่างๆ เช่น ขนมที่กินกับชา ฉะเซ็นหรือไม้ไผ่ที่ใช้ตีชา สิ่งที่เรานำเสนอจริงๆแล้วไม่ใช่ชา แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์และสิ่งที่รายรอบชามากกว่า ฉะนั้นบนเสื่อตาตามินี้” คุณน้ำตบเสื่อเบาๆ “คือพื้นที่เรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน”

แผนที่ Chaya Teahouse ถนนประดิพัทธ์ ซอย 14

Website: chayaandco.com
Facebook: Chaya Teahouse

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม